close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

บันทึกชีวิตในไต้หวัน : “อยู่ร่วมกัน” กับมิติด้านศิลปวัฒนธรรมอีสานจากวัดไทยสู่คนไต้หวัน - คุยกับนักวิชาการไต้หวันและศิลปินไทย

  • 23 October, 2022
บันทึกชีวิตในไต้หวัน
ศิลปวัฒนธรรมอีสานจากวัดไทยสู่คนไต้หวัน

     บันทึกชีวิตไต้หวันสัปดาห์นี้ จะมาร่วมพุดคุยกับ คุณสวี่เหยาหรง (許瑤蓉) นักวิชาการอิสระชาวไต้หวัน และคุณผดุง จุมพันธ์ ศิลปินชาวไทย เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของงานวิจัยในหัวข้อ “ข้ามชาติและพลัดถิ่นแรงงานไทยในไต้หวัน: ศิลปวัฒนธรรมอีสานจากวัดไทยสู่คนไต้หวัน” เป็นงานวิจัยที่ทำการสัมภาษณ์วิถีชีวิตของชาวไทยในไต้หวัน มุ่งเน้นการพูดคุยและแลกเปลี่ยนมุมมมองเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมอีสานจากวัดไทยในไต้หวัน ซึ่งตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา พวกเขาได้เดินทางไปสัมภาษณ์ชาวไทยที่อยู่ทั่วทุกสารทิศในไต้หวัน มีทั้งผู้ที่เป็นแรงงานไทย ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ พระสงฆ์ไทย รวมถึงผู้จัดรายการวิทยุ นับเป็นหนึ่งในงานวิจัยที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะเป็นงานด้านวิชาการแล้ว พวกเขายังได้เผยแพร่วิดีโอการสัมภาษณ์ในงานวิจัยนี้ลงในช่องยูทูปPadung Jumpan และบนเฟสบุ๊กแฟนเพจ 暹羅貓喃吶-แมวสยามนำหน้า เพื่อให้ประชาชนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวไต้หวันได้เข้าถึง และมองเห็นมุมมองความคิดของชาวไทยในไต้หวันได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

     ไม่เพียงเท่านั้น ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่จะถึงนี้ จะมีกิจกรรม Facebook Live พูดคุยสนทนาถึงงานวิจัยในครั้งนี้ กับแขกรับเชิญ 3 ท่าน ได้แก่ คุณอโศก ศรีจันทร์ ผู้จัดรายการวิทยุ Rti  คุณชิวจื้อหัว (丘智華) ช่างภาพประจำโครงการ และคุณวรงค์ บุญอารีย์ ศิลปินและนักดนตรีชาวไทย บันทึกชีวิตในไต้หวันจึงขอถือโอกาสนี้ เรียนเชิญทั้งสองท่าน มาให้ข้อมูลและพูดคุยถึงงานวิจัยในครั้งนี้ รวมถึงประชาสัมพันธ์กิจกรรมการสนทนาเฟสบุ๊คไลฟ์ที่จะจัดขึ้นในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า ถ้าพร้อมแล้ว คลิกฟังรายการที่นี่ค่ะ 

ความร่วมมือระหว่างศิลปินไทย และนักวิชาการไต้หวัน 

     คุณผดุง จุมพันธ์ ศิลปินไทย นักเต้นนาฏศิลป์ไทย เอกโขนลิง และเป็นหนึ่งในนักเต้นหลักของบริษัท Pichet Klunchun Dance Company เล่าว่า จุดเริ่มต้นและความเป็นมาของโครงการนี้ เกิดจากก่อนหน้านี้ตนเองซึ่งเป็นผู้ที่มีศิลปวัฒนธรรมทางด้านความเป็นอีสานเป็นทุนเดิม และคุณสวี่เหยาหรง (許瑤蓉)นักวิชาการอิสระชาวไต้หวัน ที่ศึกษาวิจัยด้านดนตรีไทยและความสนใจทางด้านศิลปวัฒนธรรมความเป็นอีสาน ทั้งสองมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นประจำอยู่ก่อนแล้ว 

     ต่อมาเกิดความสนใจในประเด็นเดียวกันที่ว่า ไต้หวันมีชาวไทยพักอาศัยอยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งหลังจากศึกษาข้อมูลเบื้องต้น พบว่าในช่วงแรกๆที่ไต้หวันนำเข้าแรงงานต่างชาติ เป็นแรงงานไทยร้อยละ 70-80 และส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน ด้วยความที่มนุษย์เมื่อย้ายถิ่นฐานไปทำงานอยู่ที่แห่งใหม่ มักจะนำพาวัฒนธรรมของตนไปด้วยเสมอ และความเป็นอีสานก็มีศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ จึงเกิดความสนใจว่า เมื่อพี่น้องแรงงานไทยเดินทางมาทำงานในไต้หวัน ความเป็นอีสานและศิลปวัฒนธรรมที่พวกเขานำมาด้วย จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ปรับตัว และเกิดการ Cross cultural อย่างไร ประเด็นนี้จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานวิจัยในครั้งนี้

หาที่ปรึกษา ยื่นขอทุน ลงพื้นที่ รวบรวมข้อมูล สรุปผล

     คุณเหยา นักวิชาการอิสระชาวไต้หวันเล่าว่า หลังจากที่เธอและคุณผดุงได้พูดคุยและมีความสนใจในประเด็นเดียวกันเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทยในไต้หวัน เธอจึงขอให้คุณอโศก ศรีจันทร์ หัวหน้าภาคภาษาไทย สถานีวิทยุเรดิโอไต้หวัน และคุณยอด วรงค์ บุญอารีย์ ศิลปินพื้นบ้านและนักดนตรีชาวไทย ช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับงานวิจัยในครั้งนี้ เมื่อทั้งสองท่านตอบตกลงที่จะเป็นที่ปรึกษาแล้ว คุณเหยาจึงลงมือเขียนโครงการ เพื่อยื่นขอทุนกับมูลนิธิวัฒนธรรมไต้หวัน (The Cultural Taiwan Foundation 財團法人文化臺灣基金會)ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน 

     ในตอนนั้น พวกเขาอยากจะทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับศิลปะการแสดงของชาวไทยในไต้หวัน แต่หัวข้อนี้กล่าวได้ว่าเป็นหัวข้อที่กว้างเกินไป ทีมวิจัยจึงได้ลดขนาดการวิจัยลง โดยมุ่งเน้นด้านศิลปะการแสดงที่ทางวัดจัดขึ้น หลังจากงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ คุณเหยาจึงติดต่อคุณชิวจื้อหัว (丘智華) ช่างภาพมืออาชีพชาวไต้หวัน ให้มาร่วมเป็นหนึ่งในทีม เพื่อถ่ายภาพและวิดีโอการสัมภาษณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น

     หลังจากนั้น ได้เข้าสู่ขั้นตอนของการทำงานวิจัย มีการตั้งสมมุติฐาน คัดเลือกสถานที่ที่จะลงพื้นที่สัมภาษณ์ รวมถึงการคัดเลือกชาวไทยที่มีความหลากหลายเพื่อให้ได้ข้อมูลในมิติต่างๆ ทั้งด้านพื้นเพ อาชีพ ศาสนา อายุ มาเป็นผู้ให้สัมภาษณ์ แสดงความคิดเห็นในแง่ศิลปะการแสดงจากวัดไทย และแชร์ประสบการณ์การใช้ชีวิตในไต้หวัน   โดยข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เหล่านี้ จะผ่านกระบวนการศึกษา วิเคราะห์ สรุป และเขียนเป็นงานวิจัย ที่จะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อชาวไทยในไต้หวันต่อไป  

เกิดความเสียดาย งั้นเปิด “วงสนทนาออนไลน์” ไปเลย

     โครงการนี้นอกจากคุณผดุง คุณเหยา และช่างภาพแล้ว อีกหนึ่งคนในทีมวิจัยคือคุณเกาอี้ไข่(高翊愷)เป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิค ระบบออนไลน์ คุณผดุงเล่าว่า แรกเริ่มเดิมที โครงการในครั้งนี้ วางแผนก็คงจะดำเนินตามงานวิจัยทั่วไป รวบรวมข้อมูล บันทึกเสียงและภาพการสัมภาษณ์ หลังจากนั้นก็เข้าสู่การวิเคราะห์ สรุปผลและเขียนเป็นงานวิจัยส่งให้กับหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน

     แต่หลังจากที่ลงพื้นที่สัมภาษณ์ ก็รู้สึกเกิดความเสียดาย เพราะว่าข้อมูลการสัมภาษณ์ที่ได้มาล้วนมีความน่าสนใจในเรื่องของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเกิดขึ้น อีกทั้งผู้ให้สัมภาษณ์แต่ละคน ล้วนเป็นตัวแทนของแต่ละแง่มุมของสัมมาอาชีพ ตัวอย่างเช่น คุณชัยวุฒิ เหล่าบรรเทิง ผู้ให้สัมภาษณ์ท่านแรก เป็นตัวแทนของหนุ่มแรงงาน ได้แชร์ประสบการณ์ที่เขาได้พบเจอต่างๆนานาจากมุมมองแรงงานต่างชาติ หรือคุณหญิง รุ่งฟ้า เจรียงโรจน์ ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งตลาดนัดวัฒนธรรม ที่เห็นความเป็น Economy system  ระบบเศรษฐกิจที่หลากหลายของไต้หวันและไทย  ไปจนถึงความร่วมมือทางด้านโปรเจคต่างๆ 

 

   นอกจากนี้ อีกหนึ่งความน่าสนใจคือความเป็นวัดและวัฒนธรรมศาสนาของคนไทย ซึ่งวัดมีบทบาทและสำคัญต่อวิถีชีวิตชาวไทยเป็นอย่างมาก เปรียบดั่งศูนย์กลางวัฒนธรรมของคนไทย โดยวัฒนธรรมส่วนใหญ่ของชาวไทยจะเริ่มจากวัดไทยก่อน จากนั้นจึงขยายวงโคจรไปสู่สังคมและชุมชน ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยในครั้งนี้จึงได้สัมภาษณ์พระสงฆ์ที่อยู่ในไต้หวันหรือเคยมีความเกี่ยวข้องกับไต้หวัน อาทิ พระครูมงคล หลวงพี่มาร์ท หลวงพี่บอย เพื่อให้ได้มาซึ่งมุมมองด้านศิลปวัฒนธรรมอีสานจากวัดไทยในไต้หวันโดยตรง

     เมื่อเกิดความรู้สึกเสียดายว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่ควรกลายเป็นเพียงงานวิจัยเท่านั้น แต่มันมีคุณค่าที่จะเผยแพร่สู่สาธารณชน คุณผดุงและคุณเหยาจึงตัดสินใจเปิดวงสนทนาออนไลน์ เชื่อมวัฒนธรรมระหว่างคนไทยกับคนไต้หวัน ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้  กับแขกรับเชิญ 3 ท่าน ได้แก่ อาจารย์อโศก ศรีจันทร์  คุณยอดวรงค์ บุญอารีย์ ศิลปินชาวไทย และคุณชิวจื้อหัว ช่างภาพโครงการ เพื่อเปิดมุมมอง ให้ชาวไทยได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมไทยที่ปรับตัวและก้าวเดินไปตามสภาพสังคมในไต้หวัน และให้ชาวไต้หวันได้มองเห็นและรับรู้วัฒนธรรมของชาวไทยที่อยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสังคมของพวกเขาอย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น

จะได้อะไรจากการฟังเสวนาในครั้งนี้  

     คุณเหยากล่าวว่า จากมุมมองที่ตนเป็นคนไต้หวัน อยากให้คนไต้หวันได้เข้าใจวัฒนธรรมไทยมากยิ่งขึ้น และรับรู้ว่าในไต้หวันมีชาวไทยที่มาจากหลากหลายภาค แม้ว่างานวิจัยในครั้งนี้ จะเน้นไปทางภาคอีสานมากกว่า แต่ความจริง คนในแต่ละภาคล้วนมีเอกลักษณ์และความน่าสนใจแตกต่างกันไป นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคืออยากให้คนไต้หวันได้ทราบถึงความสำคัญของศาสนาพุทธที่ส่งอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก เพื่อที่จะได้เข้าใจสาเหตุที่คนไทยจัดกิจกรรมเหล่านี้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

      คุณผดุง แบ่งปันความเห็นว่า เขาชอบประโยคหนึ่งที่พระครูมงคลเคยกล่าวไว้ว่า “เราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราจะเดินทางไปข้างหน้าคนเดียวไม่ได้ เราต้องมีแนวร่วม เราต้องอยู่ร่วมกัน” กล่าวได้ว่าสิ่งนี้เป็นจุดมุ่งหมายสำหรับโครงการนี้เลย นั่นก็คือการที่ เราจะต้อง “อยู่ร่วมกัน” ให้ได้ 

Facebook Live การสนทนาไทย-ไต้หวัน 
“ข้ามชาติและพลัดถิ่นแรงงานไทยในไต้หวัน: ศิลปวัฒนธรรมอีสานจากวัดไทยสู่คนไต้หวัน"

     ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2565 ทีมวิจัยได้ทำการสัมภาษณ์และสำรวจภาคสนามในหัวข้อ 〝ข้ามชาติและพลัดถิ่นแรงงานไทยในไต้หวัน: ศิลปวัฒนธรรมอีสานจากวัดไทยสู่คนไต้หวัน〞 ทีมวิจัยเปิดวงพูดคุยเสวนาในครั้งนี้ เพื่ออภิปรายและวิเคราะห์ข้อมูลการสัมภาษณ์ของคนไทยที่อยู่ในไต้หวันโดยอ้างอิงข้อมูลจากผู้ให้สัมภาษณ์เป็นกรณีศึกษา เพื่อเป็นตัวแทนของคนไทยในแง่มุมต่างๆ พูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยหัวข้อการสนทนากันส่วนใหญ่เน้นไปที่ศิลปวัฒนธรรมอีสานจากวัดไทยที่อยู่ในไต้หวัน ตลอดจนความแตกต่างทางวัฒนธรรม การผสมผสาน และนวัตกรรมต่างๆ ของการใช้ชีวิตของคนไทยในไต้หวัน

ข้อมูลสถานที่และวันเวลาของกิจกรรม

วันที่จัดกิจกรรม : วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เวลาไทย 18:00-20:30 (GMT+7) เวลาไต้หวัน 19:00-21:30 (GMT+8)

รับชมออนไลน์ผ่านทาง : Facebook Live 暹羅貓喃吶-แมวสยามนำหน้า , Padung Jumpan

สถานที่จัดกิจกรรม : เลขที่ 33 ซอย 279 ถนนฟู่ซินลู่อีต้วน เขตต้าอัน กรุงไทเป (SMAJO

วิธีการเดินทาง :  สถานีรถไฟฟ้าต้าอัน ออกประตู 6 เลี้ยวขวา เดินตรงไป เลี้ยวขวาซอย 279   เดินไปอีกเล็กน้อย (ห่างจากสถานีรถไฟเพียง 350 เมตร)

หน่วยงานสนับสนุน : กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน

ผู้จัดงาน : มูลนิธิวัฒนธรรมไต้หวัน ผู้ร่วมโครงการ : SEA plateaus

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook Page : 暹羅貓喃吶-แมวสยามนำหน้า , Padung Jumpan
YouTube channel: Padung jumpan

ปล. ดำเนินการสนทนาด้วย 2 ภาษา จีน/ไทย

 

 

 

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง