แขกรับเชิญในสัปดาห์นี้ มาร่วมพูดคุยกับคุณพูนสิน กันทา นักศึกษาไทยที่เพิ่งได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวัน (NTNU) สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพ วันนี้เขาจะมาเล่าชีวิตการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในไต้หวัน ไปจนถึงความแตกต่างของการเรียนการสอนของไทยและไต้หวัน นอกจากนี้ เราจะมาชวนคุยชีวิตในไต้หวันในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ว่ามีความประทับใจหรือไม่ประทับใจอะไรเกี่ยวกับที่นี่บ้าง ถ้าพร้อมแล้ว คลิกฟังรายการที่นี่เลยค่ะ

เล่าประวัติโดยย่อให้ฟังหน่อย
เรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คณะประมง สาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หลังจากนั้น ได้สมัครทุน ICDF (International Cooperation and Development Fund: ICDF) เป็นทุนสำหรับปริญญาโทและปริญญาเอกจากรัฐบาลไต้หวัน เดินทางมาเรียนต่อระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัย National Taiwan Ocean University (NTOU) ตั้งอยู่ที่เมืองจีหลง พอเรียนจบปริญญาโทโดยใช้เวลา 2 ปี ก็หาทุนเรียนต่อปริญญาเอก ในตอนนั้น Academia Sinica ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยแห่งชาติไต้หวันมีโครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรับสมัครนักศึกษาปริญญาเอกและให้ทุนวิจัย จึงได้ไปสมัครขอทุน และศึกษาต่อระดับปริญญาเอก จนในที่สุดก็เรียนจบเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยใช้เวลาเรียน 6 ปี
ทำไมถึงมาเรียนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ตอนเด็กๆ ชอบเลี้ยงปลา ชอบน้ำ ชอบสัตว์ที่อยู่ในน้ำ เพราะรู้สึกว่าพวกมันมีอิสระในพื้นที่ของตนและน่ารัก แล้วเลี้ยงไม่ยากด้วย ในตอนนั้น เราก็มีการเพาะพันธุ์ปลาไปขาย เรียกได้ว่าเป็นความชื่นชอบตั้งแต่สมัยเด็กก็ว่าได้
สิ่งที่เรียน เรียนเกี่ยวกับอะไร
ปริญญาโทเรียนสาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยตรง และเรียนเรื่องเทคโนโลยีและการจัดการด้วย ตอนนั้นวิจัยเรื่องการทำอควาโปนิกส์ (Aquaponics) เป็นการที่เราปลูกพืชเลี้ยงร่วมกับปลา เพื่อให้พืชดูดซึมสารอาหารที่หลงเหลือจากอาหารปลา หรือสิ่งปฏิกูลให้กลายเป็นปุ๋ย และทำให้พืชผลเจริญเติบโต พอเรียนระดับปริญญาเอก ก็เปลี่ยนสายมานิดหนึ่ง เรียนสาขาวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ ( biodiversity ) ซึ่งปริญญาเอกเราสามารถเลือกได้ว่าเราอยากทำการวิจัยทดลองเกี่ยวกับอะไร ขึ้นอยู่กับอาจารย์ที่เลือก ตอนนั้นเราได้เลือกอาจารย์ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับปลา และเราก็ได้ทำการวิจัยตัวอ่อนปลาม้าลาย โดยงานวิจัยล่าสุด คือผลของโพลีสไตรีนนาโนพลาสติกต่อตัวอ่อนปลาม้าลาย (Effects of polystyrene Nanoplastics on Zebrafish (Danio rerio) Embryos) เป็นเรื่องการทดลองว่าสารพิษมีผลกระทบต่อตัวอ่อนปลาอย่างไร เป็นการศึกษาเชิงสิ่งแวดล้อม
ความแตกต่างของการเรียนการสอนมหาวิทยาลัยในไทย VS ไต้หวัน
ถึงแม้เราจะเรียนปริญญาโทที่นี่ แต่ก็ยังได้เห็นสภาพแวดล้อมและวิธีการศึกษาของนักเรียนระดับปริญญาตรีในไต้หวัน จึงเห็นถึงความแตกต่าง สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ระดับปริญญาตรีที่ไต้หวัน จะเรียนเข้มข้นกว่า และเคร่งเครียดกว่า นอกจากนี้ ตอนเรียนที่ไทย ข้อสอบที่ไทยมักจะเป็นข้อสอบปรนัย ในขณะที่ไต้หวันส่วนใหญ่เป็นการสอบแนวอัตนัย หรือไม่ก็ทำรายงาน ซึ่งวิธีแบบนี้จะเป็นการทดสอบความรู้ของเด็ก เพราะในบางครั้ง คำถามกับคำตอบที่อาจารย์ต้องการอาจไม่ตายตัว เราสามารถตอบตามความเข้าใจ เป็นการสอบที่เปิดกว้าง หากคุณศึกษามามาก ตอบได้ละเอียด ตอบได้มากและตรงคำถาม ก็จะได้คะแนนเยอะกว่า
โดยส่วนตัวไม่แน่ใจว่าการเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกที่ประเทศไทยเป็นอย่างไร แต่ที่ไต้หวันจะมุ่งเน้นเรื่องเกี่ยวกับการอ่าน Paper หลังจากนั้นก็จะมา discuss ถกเถียงกันในห้องเรียน เพื่อทำความเข้าใจและหาแนวทางร่วมกันเราจะพัฒนางานวิจัยของเราอย่างไร
ชีวิตในไต้หวันเป็นยังไงบ้าง
อยู่ไต้หวันมา 8 ปี มีทั้งเรื่องที่ประทับใจและไม่ประทับใจ หากจะพูดถึงเรื่องที่ไม่ประทับใจ คงหนีไม่พ้นเรื่องอาหาร เรายังหาอาหารไทย คนไทยติดกินเผ็ด เค็ม เปรี้ยว แต่ที่นี่ไม่ค่อยมีอาหารที่มีทุกรสชาติรวมกัน มักจะมีแต่รสมันกับรสเค็ม หรือไม่ก็รสจืดกับรสเค็ม มิกซ์อยู่ประมาณ 2 รสชาติ การจะหาเมนูอาหารที่รวมหลายๆรสชาติเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เป็นหนึ่งในอุปสรรคของการใช้ชีวิต ทำให้ต้องทำอาหารทานเอง ซึ่งตอนที่อยู่หอพักมหาวิทยาลัย จะมีเพื่อนชาวไทย ชาวอินโดนีเซีย ชาวเวียดนามที่จะมาทำอาหารทานร่วมกัน ก็สนุกดี
เรื่องประทับใจในไต้หวัน
ไต้หวันเป็นเกาะที่มีพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก ด้านการท่องเที่ยวสามารถเที่ยวภูเขา ทะเล ห้างได้ภายใน2-3วัน หรือวันเดียวจบได้ ตัวอย่างเช่น หากเราไปเที่ยวอุทยานหยางหมิงซาน ตอนกลางวันขึ้นไปบนภูเขา ตอนเย็นลงมาจากเขา สามารถไปถึงชายหาดได้เลย เป็นการเที่ยวสไตล์ all in one แต่ก็จะมีข้อเสียตรงที่ฝนตก หากมาช่วงมรสุมเข้าก็อาจจะต้องเจอกับฝนตกตลอด
สิ่งที่ชอบที่สุดในไต้หวัน ยกให้ที่ไหน
ชอบเกาะของที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นเกาะลวี่เต่า(綠島) หรือเสี่ยวหลิวชิว (小琉球) ที่อยู่ทางตอนใต้ ซึ่งทรัพยากรทางทะเลของที่นี่ เช่นปะการัง อาจจะไม่เหมือนของประเทศไทย เพราะไต้หวันไม่ได้อยู่ในโซนร้อนที่ทะเลโดนแดดเยอะ แล้วปะกะรังจะบานสวยงาม แต่ว่าเราชอบการจัดการที่เขามีทรัพยากรเป็นเกาะเล็กๆ แต่ว่าเขาสามารถจัดระบบสถานที่ท่องเที่ยวหรือรีสอร์ทได้ดี ซึ่งแต่ละครั้งที่ไปและพักโรงแรมต่างกัน ก็ได้รับความรู้สึกที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ ไต้หวันยังสามารถจัดการทรัพยากรทางทะเลได้ดีมาก ถึงแม้จะมีคนไปเที่ยวเยอะแยะมากมาย แต่พวกเขาก็ยังคงรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีขนาดนี้ได้ จึงเป็นสิ่งที่รู้สึกประทับใจมาก
เรื่องราวของคุณพูนยังไม่จบเพียงเท่านี้ ตอนหน้าเราจะมาพูดคุยในประเด็นวิธีการตั้งเป้าหมายในชีวิตและมีสิ่งที่หน้าสนใจอื่นๆอีกมากมาย อย่าลืมรอติดตามชมนะคะ