แขกรับเชิญในสัปดาห์นี้ พูดคุยกับชนากานต์ ศรีสวัสดิ์ หรือน้องพลอย นักเรียนปริญญาโทในไต้หวัน ที่ตอนนี้กำลังเรียนคณะการสื่อสารทั่วโลกและนวัตกรรมเทคโนโลยี (Global Communication and Innovation Technology ) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ(NCCU) ซึ่งเป็นคณะใหม่ที่เพิ่งเปิดเพื่อตอบรับการสื่อสารยุคดิจิทัล โดยเธอจะมาเล่าเหตุผลที่มาเรียนคณะนี้ รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตในไต้หวัน และมุมมองที่มีต่อลักษณะสังคม ที่เธอเล่าว่า ไต้หวันทำให้เธอเรียนรู้ที่จะ “แคร์”คนรอบข้าง เรียนรู้การใส่ใจคนรอบข้างมากยิ่งขึ้น และเมืองนี้ในนิยามของเธอ เป็นเมืองแห่งภูเขา เมืองแห่งคนเฟรนด์ลี่ เมืองแห่งการรักษากลิ่นอายความเป็นดั่งเดิมไว้ มาร่วมสัมผัสไต้หวันผ่านสายตาของพลอยกันเลยค่ะ คลิกฟังรายการที่นี่
ทำไมถึงมาเรียนที่นี่
พลอยมาอยู่ไต้หวันได้ประมาณ 1 ปีกับอีก 2 เดือน รู้สึกสนุกดี ได้ทำอะไรที่แปลกใหม่ ไม่เหมือนที่ไทย คณะที่เธอเรียนเป็นคณะเปิดใหม่ เธอจึงเป็นนักเรียนรุ่นแรกของคณะ สำหรับเหตุผลที่มาเรียนไต้หวัน พลอยเล่าว่า หลังจากเรียนจบปริญญาตรีที่ไทย ก็อยากเรียนต่อปริญญาโทและอยากได้ภาษาที่ 3 จึงเลือกภาษาจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ เธอเคยเดินทางมาเที่ยวไต้หวัน และรู้สึกว่าเมืองไต้หวันมีความชิว ผู้คนน่ารัก จึงเลือกมาเรียนที่ไต้หวัน
ในตอนนั้น เธอหาหลักสูตรและมหาวิทยาลัยต่างๆในไต้หวัน และเห็นโพสประชาสัมพันธ์คณะการสื่อสารทั่วโลกและนวัตกรรมเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อในเพจเรียนต่อไต้หวัน ด้วยความที่ปริญญาตรีเรียนด้าน Graphic Design พอเห็นชื่อคณะ Global Communication and Innovation Technology และรายละเอียดการเรียนของขณะ ก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจ จึงสมัครมาเรียนที่คณะนี้
ทำไมมหาวิทยาลัยเจิ้งจื้อ ถึงเปิดคณะใหม่คณะนี้ พลอยเล่าว่า จากความเข้าใจของเธอ น่าจะเป็นเพราะทางมหาวิทยาลัยต้องการขยายหลักสูตรเพิ่มเติม เพื่อรองรับนักศึกษาในอนาคต เพราะปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเจิ้งต้ามีคณะเกี่ยวกับการสื่อสารอยู่แล้ว แต่ทางมหาวิทยาลัยยังไม่มีคณะใหม่ๆ ที่รองรับสื่อหรือเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นทุกวัน ซื่อคณะที่เธอเรียนอยู่ในตอนนี้ เป็นเหมือนการประยุกต์ระหว่างการสื่อสารเข้ากับสื่อใหม่ๆ เป็นการเรียนรู้วิธีการนำเนื้อหาคอนเทนต์ที่คิดขึ้นมา ไปเผยแพร่ในสื่อใหม่ๆ เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นและพัฒนาไปทุกวัน นี่คงเป็นเหตุผลที่เขาเปิดคณะนี้ขึ้นมา เธอบอกแบบนั้น
สำหรับนักเรียนในคณะ มีทั้งชาวต่างชาติและชาวไต้หวัน นักเรียนต่างชาติในปีแรก ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนจากภูมิภาคเอเชีย มีทั้งไทย มาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย พอเข้าเทอมที่ 2 ก็มีเพื่อนต่างชาติที่มาจากฝั่งยุโรปมากขึ้น ซึ่งคณะนี้ ยังมีวิชาบังคับที่ต้องผ่านการฝึกงานจากทั้งในไต้หวันและต่างประเทศ พลอยเองก็เพิ่งหาบริษัทฝึกงานในไต้หวันได้ ถามว่าหาที่ฝึกงานยากไหม ถ้าไม่ได้ภาษาจีน ก็จะยากกว่าคนอื่นเท่าตัว เพราะเขาก็ต้องการคนที่สื่อสารภาษาจีนได้คล่อง แต่พลอยบอกว่า มันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น เพราะมันก็มีบริษัทนานาชาติ ที่เน้นไปทางภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาจีน
ปรับตัวเข้ากับเพื่อนยากไหม สังคมที่นี่เป็นยังไง
พลอยเล่าว่า ไม่ยากเลย เธอบอกว่า รู้สึกว่าตัดสินใจถูกมากที่มาเรียนไต้หวัน เพราะเพื่อนชาวไต้หวัน nice มาก เพื่อนต่างชาติก็ดีมาก เธอมีความรู้สึกว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอรู้สึกเอ็นจอยกับที่นี่ก็คือผู้คน เพื่อนค่อนข้างให้ช่วยเหลือและเข้าใจในความเป็นชาวต่างชาติ ถึงแม้ว่าภาษาจะต่างกัน แต่พวกเขาก็พยายามที่จะพูดกับเธอ และเธอก็พยายามที่จะพูดกับเขา ซึ่งเพื่อนค่อนข้างดี เลยทำให้เธอไม่รู้สึกเป็นกังวล เรียกได้ว่าไม่มีปัญหาในด้านการเข้าสังคมที่นี้เลย อาจเป็นเพราะเธอเรียนหลักสูตรอินเตอร์ เพื่อนๆจึงมีความเปิดรับความหลากหลาย เพราที่นี่ทุกคนแตกต่าง ดังนั้นมันก็เป็นเรื่องปกติที่เราต้องมาอยู่ด้วยกันกับความแตกต่าง เราก็เหมือนเรียนรู้กันและกัน
ส่วนการปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่นี่ อาจจะยากนิดหนึ่งสำหรับคนที่ไม่เคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศมาก่อน มีเรื่องหลักๆ 2 เรื่องที่ต้องปรับตัว อย่างแรกคือด้านภาษา เธอต้องเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับผู้คนที่นี่ โชคดีที่คนที่นี่ค่อนข้างเปิดรับต่างชาติ แม้ว่าเธอจะพูดภาษาเขาไม่ได้ แต่เขาเห็นว่าเธอพยายามใช้คำเล็กๆน้อยๆในการสื่อสาร คือถามว่ามันยากไหม มันก็อาจจะยากบ้างในกรณีที่ต้องพูดคุย เจรจากับอาอี๊ อาม่า ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าบางทีมันคนละวัย คนละเจเนอเรชั่น บางทีเขาก็ไม่เข้าใจว่าเป็นเธอต่างชาติ แต่พลอยเล่าว่า มันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้นหรอก ส่วนเรื่องที่ 2 คือเรื่องอากาศ พลอยคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่คนไทยบ่นกันเยอะ เพราะว่าอากาศที่นี่ไม่เหมือนเมืองไทย อย่างที่ไทยอากาศร้อน แต่ถ้าฝนตกก็จะรู้สึกเย็นสบาย ส่วนที่ไต้หวัน เมืองอื่นเราไม่แน่ใจ แต่โดยเฉพาะไทเป ฝนตกไม่ได้ทำให้รู้สึกเย็น แต่รู้สึกอบอ้าวและชื้นมาก เธอเลยมีความรู้สึกว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ปรับตัวยาก
ความเป็นไต้หวัน ที่แฝงด้วยกลิ่นอายดั้งเดิม
สำหรับพลอยที่เรียนออกแบบ คลุกคลีกับศิลปะมาตั้งแต่เด็ก คิดว่าศิลปะของไต้หวันมีความโดดเด่นในด้านไหน พลอยเล่าว่า งานศิลปะของไต้หวัน จะโดดเด่นในเรื่องของการประยุกต์ แต่คงความเป็นดั้งเดิมไว้ มีกลิ่นอายดั้งเดิมที่เยอะกว่าถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทย อย่างที่ไทย ถ้าเป็นแนวสมัยใหม่ ก็จะทันสมัยไปเลย หรือถ้าเป็นแบบดั้งเดิมก็ดั้งเดิมเลย หรือบางทีมีการผสมกัน แต่ก็จะมีกลิ่นอายที่แตกต่าง แต่ถ้าเป็นของไต้หวัน เธอสัมผัสได้ว่า ชาวไต้หวันมีความซาบซึ้ง มีความชื่นชอบสิ่งที่คลาสิก ชื่นชอบความเป็น Traditional ความเป็นแบบดั้งเดิมที่มีมาแต่โบราณ ถามว่ามีแนวสมัยใหม่ไหม ก็มีบ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่เธอสังเกตเห็น ไต้หวันจะค่อนข้างอนุรักษ์วัฒนธรรมเก่าไว้ อย่างเช่น พวกเขาจะย่านที่รักษาความเป็นโบราณของตึกเก่าๆ วัดเก่าๆที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ส่วนย่านที่ทันสมัย ก็จะทันสมัยไปเลย
เมื่อถามว่า ทำไมชาวไต้หวันถึงชื่นชอบความเป็นดั้งเดิม พลอยคิดว่าน่าจะเป็นเพราะ สภาพ ลักษณะนิสัยของคนที่นี่ด้วย เพราะว่าเขาจะชอบใช้ชีวิตแบบชิวๆ สบายๆ ชอบแนวประวัติศาสตร์ ชอบอ่านหนังสือ ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ห้องสมุด ไต้หวันมีห้องสมุกเยอะมาก และสวยทุกที่ และคนที่ไปห้องสมุดก็เยอะมากด้วยเช่นกัน ซึ่งครั้งแรกที่เธอไปห้องสมุด เธอรู้สึกแปลกใจมาก ว่าทำไมถึงมีคนมานั่งเล่นที่ห้องสมุดเยอะขนาดนี้ เพราะที่เมืองไทย พอถึงวันหยุด คนส่วนใหญ่มักจะชอบไปเดินห้างมากกว่า แต่ที่ไต้หวัน วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ห้องสมุด หรือไม่ก็พิพิธภัณฑ์ ที่มีคนไปเยอะเหมือนกัน ซึ่งบางคนก็มาเดินเล่นเฉยๆ หรือมาได้ทุกวัน เพราะเขามีสวนรอบๆ หรือไม่ก็จะมีอีกกลุ่มที่ไปปีนเขา ไปเที่ยววัด วิถีชีวิตเหล่านี้ เลยทำให้รู้สึกว่า คนที่นี่จะค่อนข้างชอบอะไรที่มีกลิ่นอายโบราณ ชอบความเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม ที่พวกเขาเองก็พยายามรักษาไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าที่ไทยเขาไม่รักษาไว้นะ เพียงแต่สไตล์การท่องเที่ยว วิธีการเสพสิ่งพวกนี้มันแตกต่างกันมากกว่า
นิยามไต้หวันว่าเป็นเมืองแห่งอะไร เรียนรู้อะไรจากที่นี่
พลอยให้นิยามว่า ไต้หวันน่าจะเป็นเมืองแห่งภูเขา เพราะว่าที่นี่มีภูเขาเยอะมาก แค่ในไทเปก็มีไม่รู้ตั้งกี่เขา และที่มหาวิยาลัยของเธอก็เป็นเขาเช่นกัน เธอเลยรู้สึกว่า ไต้หวันเป็นประเทศแห่งภูเขา เขาเยอะ ธรรมชาติสวย และผู้คนก็เฟรนด์ลี่ นิสัยค่อนข้างดี อีกทั้งพวกเขายังมีความเปิดกว้าง สามารถยอมรับความแตกต่างของคนได้หลายๆอย่างด้วย
สำหรับสิ่งที่เรียนรู้จากไต้หวัน พลอยเล่าว่า มันเยอะมากๆเลย อย่างแรกคือ มันทำให้เธอเข้าใจโลกมากขึ้น เพราะว่าต้องยอมรับว่า ตอนแรกเธธออยู่ประเทศไทย ก็จะเจอแต่สังคมเดิมๆ คนเดิมๆ ลักษณะนิสัยที่คุ้นชิน พอมาอยู่ที่ใหม่ เธอก็ต้องเรียนรู้ลักษณะสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความนึกคิดของผู้คนที่นี่ ซึ่งมันทำให้เธอรู้สึกว่า เธอปรับตัวได้ง่ายขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้นว่า โอเคเป็นอย่างนี้แหละ และการที่เราต่างกันมาก แต่เราอยู่ร่วมกันและเราก็มีความสุขแฮปปี้ดี ทำให้เธอรู้สึกอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ง่ายขึ้น ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น แล้วก็พึ่งพาตัวเองมากขึ้น เพราะพอมาอยู่ต่างประเทศ บางเรื่องเราต้องตัดสินใจเดี๋ยวนั้น ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เธอรู้สึกว่ามีความมั่นใจมากขึ้นและมีความรับผิดชอบมากขึ้น จัดแจงชีวิตตัวเองได้ดีขึ้นด้วย
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เรียนรู้จากที่นี่คือ การเรียนรู้ที่จะ “แคร์” คนอื่นมากขึ้น พลอยบอกว่าเธอเป็นลูกคนเดียว อยู่คนเดียวจนชิน แต่พอมาอยู่ไต้หวัน ความเฟรนด์ลี่ ความเป็นมิตรของคนไต้หวันที่มักจะชวนเธอไปนู้นไปนี่ หรือมักมีของฝากติดไม้ติดมือมาให้เสมอ นิสัยที่เอาใจใส่คนรอบข้างของชาวไต้หวัน ได้ส่งอิทธิพลต่อเธอ มันทำให้เธออยากจะใส่ใจคนรอบข้างด้วย ทำให้เธอแคร์คนรอบข้าง ถามไถ่ห่วงใยคนอื่นมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกว่าตัวเองพัฒนาขึ้นเยอะมาก