ไต้หวันมีพื้นที่เพาะปลูกสตรอว์เบอร์รีประมาณ 530 เฮกตาร์ ผลผลิตแต่ละปีมูลค่าสูงถึง 1,400 ล้านเหรียญไต้หวัน ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ และช่วงนี้เป็นฤดูสตรอว์เบอร์รี ผู้คนมักชื่นชอบไปเก็บผลในฟาร์มหรือในไร่ อย่างไรก็ตาม สตรอว์เบอร์รีเป็นผลไม้ที่กลัวฝน หากช่วงไหนฝนตกเยอะก็จะสร้างความเสียหายหนัก เพราะฉะนั้นจึงมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบัน
สตรอว์เบอร์รีเฮยจ้วน(黑鑽) สีเข้มกว่า เนื้อแน่น กรุบอร่อย ทนต่อการขนส่ง
ในไต้หวันมีเกษตรกรท่านหนึ่งชื่อ “สวี่หมิงซิง許明興” เป็นเกษตรกรที่มีความเชี่ยวชาญในการเพาะพันธุ์สตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์ใหม่ต่อเนื่องอย่างไม่ขาดสาย โดยก่อนหน้านี้ได้ใช้เวลา 5 ปี พัฒนาสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ “อิวเสวี่ย優雪” ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ “ผิงกั่ว蘋果” และ “เซียงมี่蜜香” มีความทนต่อฝน ไม่เละง่าย มีกลิ่นหอม รสหวาน อร่อย และมาในปีนี้ท่านได้เปิดตัวสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์ใหม่อีก โดยตั้งชื่อว่า “เฮยจ้วน黑鑽” และยังเป็นพันธุ์ที่เกิดจากการผสมระหว่างผิงกั่วและเซียงมี่ แต่พันธุ์ใหม่เฮยจ้วน มีข้อดีกว่าพันธุ์อิวเสวี่ยคือ สีเข้มกว่าเดิม เนื้อแน่นกว่า กรุบอร่อย ทนต่อการขนส่งมากกว่า
สตรอว์เบอร์รีปลูกในเรือนกระจก
สวี่หมิงซิง มีประสบการณ์ปลูกสตรอว์เบอร์รีนานกว่า 30 ปี มีแปลงเพาะต้นกล้าตั้งอยู่บนภูเขาหม่าลาปัง(馬拉邦山) เมืองเหมียวลี่ ท่านเป็นผู้ที่ชอบพัฒนาสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์ใหม่ๆ และแจกจ่ายให้กับเกษตรกรปลูก เคยได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่น จนได้รับฉายา “บิดาต้นกล้าสตรอว์เบอร์รี” ปัจจุบันยังมีฟาร์มสตรอว์เบอร์รีท่องเที่ยวสตอเบอรี่ชื่อ strawberryworld อยู่ที่ไทจงอีกด้วย
สตรอว์เบอร์รีปลูกในเรือนกระจก
สวี่หมิงซิงยังบอกด้วยว่า การปรับปรุงสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ใหม่ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลา 5-6 ปี มีขั้นตอนมากมาย ตั้งแต่ผสมพันธุ์ เพาะปลูก จนถึงได้ผลผลิต ทดลองกิน ทดลองปลูก ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกได้ 500 ต้น สุดท้ายคัดเหลือประมาณ 10 ต้นเท่านั้น ในปีนี้ สตรอว์เบอร์รีพันธุ์เซียงสุ่ยได้รับผลกระทบจากหนอนแมลงรบกวน ผลผลิตลดลง จึงมีการปลูกทดแทนด้วยพันธุ์อิวเสวี่ย,ผิงกั่ว และเฮยจ้วน เขาบอกว่า สตรอว์เบอร์รีไม่กลัวความหนาว แต่กลัวฝน ช่วงที่ผ่านมา อากาศกลางวันประมาณ 20 องศาเซลเซียส กลางคืนประมาณ 10 องศา ถือเป็นสภาพอากาศที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของสตรอว์เบอร์รีมากที่สุด หลังกลางเดือนกุมภาพันธ์ เป็นฤดูกาลของสตอเบอรี่ในไต้หวัน คาดว่าจะมีผลผลิตมากจนถึงต้นเดือนเมษายนนี้