1. ก. แรงงานไต้หวันเรียกร้องนายจ้างว่าจ้างแรงงานต่างชาติของตนเป็นแรงงานกึ่งฝีมือมากขึ้น ล่าสุด อนุมัติแรงงานกึ่งฝีมือภาคการผลิตแล้ว 1,352 คน แรงงานไทย 323 คน มีสัดส่วนได้รับอนุมัติมากสุด
กระทรวงแรงงานไต้หวันเดินสายประชาสัมพันธ์เรียกร้องนายจ้างว่าจ้างแรงงานกึ่งฝีมือมากขึ้น ด้วยการยกระดับแรงงานต่างชาติทั่วไปของตนที่มีคุณสมบัติให้เป็นแรงงานกึ่งฝีมือ ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะของนายจ้าง ยังเป็นผลดีต่อการพัฒนาชีวิตการทำงานของแรงงานด้วย ได้รับประโยชน์เต็ม ๆ ทั้งสองฝ่าย
การว่าจ้างแรงงานกึ่งฝีมือ ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะของนายจ้าง ยังเป็นผลดีต่อการพัฒนาชีวิตการทำงานของแรงงานด้วย ได้รับประโยชน์เต็ม ๆ ทั้งสองฝ่าย
กระทรวงแรงงานเปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ปรากฏว่า มีนายจ้างยื่นขอว่าจ้างแรงงานต่างชาติทั่วไปและแรงงานที่ทำงานครบ 12 ปีเดินทางกลับประเทศเป็นแรงงานกึ่งฝีมือแล้วจำนวน 4,676 คน เป็นนายจ้างภาคการผลิต 1,998 คน และผู้อนุบาล 2,677 คน ในจำนวนนี้ อนุมัติให้ว่าจ้างแล้ว 2,786 คน เป็นภาคการผลิต 1,352 คน ภาคสวัสดิการสังคม 1,433 คน
แรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน
ในจำนวนแรงงานกึ่งฝีที่อนุมัติในภาคการผลิต 1,352 คน เป็นแรงงานเวียดนามมากที่สุด 451 คน ตามด้วยแรงงานฟิลิปปินส์ 380 คน แรงงานไทย 323 คน อินโดนีเซีย 151 คน นอกจากนี้ เป็นลูกเรือประมง 47 คน เป็นลูกเรืออินโดนีเซีย 35 คนและลูกเรือฟิลิปปินส์ 12 คน โดยส่วนใหญ่ว่าจ้างด้วยเงื่อนไขค่าจ้าง 35,000 เหรียญต่อเดือน ไม่ต้องแนบหลักฐานด้านทักษะฝีมือใด ๆ
แรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว นครเถาหยวน
ด้านภาคสวัสดิการสังคมอนุมัติแล้ว 1,433 คน เป็นผู้อนุบาลอินโดนีเซีย 1,059 คน ฟิลิปปินส์ 231 คน เวียดนาม 96 คนและผู้อนุบาลไทย 10 คน
หากเทียบกับยอดจำนวนแรงงานของแต่ละชาติแล้ว แรงงานไทยถือว่าได้รับอนุมัติในสัดส่วนมากที่สุด โดยล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2565 ยอดจำนวนแรงงานแรงงานต่างชาติในไต้หวัน มี 728,081 คน ทำงานในภาคการผลิต 506,223 คน เวียดนามมีจำนวนมากสุด 228,577 คน ได้รับอนุมัติเป็นแรงงานกึ่งฝีมือแล้ว 451 คน คิดเป็นอัตราส่วน 0.197% ฟิลิปปินส์ 126,643 คน ได้รับอนุมัติเป็นแรงงานกึ่งฝีมือแล้ว 380 คนคิดเป็นอัตราส่วน 0.30% อินโดนีเซีย 84,488 คน ได้รับอนุมัติเป็นแรงงานกึ่งฝีมือแล้ว 151 คน คิดเป็นอัตราส่วน 0.178% ส่วนยอดจำนวนแรงงานไทยในไต้หวันมี 66,512 คน ได้รับอนุมัติแล้ว 323 คน อัตราส่วนในการได้รับอนุมัติ 0.485% สูงที่สุดในบรรดา 4 ชาติ
แรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว นครเถาหยวน
โครงการยกระดับแรงงานต่างชาติเป็นแรงงานกึ่งฝีมือ อนุญาตให้แรงงานต่างชาติที่มีอายุการทำงานในไต้หวันต่อเนื่องครบ 6 ปีขึ้นไป หรือแรงงานเก่าที่ทำงานครบ 11 ปี 6 เดือนขึ้นไปและเดินทางกลับประเทศแล้ว หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างตามกำหนดและมีทักษะฝีมือตามเกณฑ์ นายจ้างสามารถยื่นขอว่าจ้างเป็นแรงงานกึ่งฝีมือได้ โดยทำสัญญาครั้งละ 3 ปี เมื่อครบกำหนดสามารถต่อสัญญาใหม่ได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยไม่จำกัดระยะเวลาการทำงาน 12 /14 ปี เหมือนแรงงานต่างชาติทั่วไป แต่เพื่อป้องกันส่งผลกระทบต่อโอกาสทำงานของแรงงานท้องถิ่น มีการจำกัดสัดส่วนที่ยื่นขอได้ไม่เกิน 25% ของโควตาแรงงานต่างชาติที่ได้รับอนุญาตว่าจ้าง ยกตัวอย่างเช่น นายจ้างได้รับอนุญาตว่าจ้างแรงงานต่างชาติ 50 คน สามารถยื่นขอยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือได้ไม่เกิน 25 คน นอกจากนี้ แรงงานต่างชาติทั่วไปและแรงงานกึ่งฝีมือรวมกันแล้ว ต้องมีอัตราส่วนไม่เกิน 50% ของแรงงานท้องถิ่น เช่นนายจ้างที่มีแรงงานท้องถิ่น 100 คน สามารถว่าจ้างแรงงานต่างชาติทั่วไปและแรงงานกึ่งฝีมือรวมแล้วไม่เกิน 50 คน
แรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้าถาน เขตกวนอิน นครเถาหยวน รวมกันแล้วมีจำนวนกว่า 1,000 คน
กระทรวงแรงงานกล่าวว่า สนับสนุนให้นายจ้างว่าจ้างแรงงานกึ่งฝีมือมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งนายจ้างและตัวแรงงานต่างชาติ ผลดีที่ต่อนายจ้างได้แก่ ไม่จำกัดระยะเวลาการจ้างงาน ไม่กระทบโควตาแรงงานต่างชาติทั่วไป สามารถนำเข้าแรงงานคนใหม่มาทดแทนโควตาเดิมได้ จ่ายค่าจ้างตามกำหนด สามารถยกระดับแรงงานต่างชาติที่ว่าจ้างอยู่แล้ว เป็นแรงงานกึ่งฝีมือได้ทันทีและที่สำคัญนายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนคุ้มครองการทำงานของแรงงานท้องถิ่น ประหยัดได้เดือนละ 2,000 เหรียญต่อคน ส่วนผลดีที่มีต่อแรงงานได้แก่ ไม่ถูกจำกัดระยะเวลาการทำงาน ยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือจากนายจ้างเดิมได้ มีทักษะฝีมือ ได้รับค่าจ้างสูงกว่า สามารถเข้าร่วมประกันสุขภาพ ประกันภัยแรงงานและระบบเงินบำเหน็จ/บำนาญอย่างต่อเนื่อง (สำหรับกิจการที่อยู่ในขอบข่ายการบังคับใช้ของกฎหมายมาตรฐานแรงงาน) และทำงานในฐานะแรงงานกึ่งฝีมือครบ 5 ปี มีสิทธิ์ยื่นขอถิ่นที่อยู่ถาวรได้ (รวมถึงยื่นขอถิ่นที่อยู่ให้กับครอบครัวได้ด้วย)
2. นายจ้างไต้หวันต้องการว่าจ้างแรงงานไทยที่มีทักษะและทำงานครบ 12 ปีกลับมาเป็นแรงงานกึ่งฝีมือด้วยค่าจ้าง 35,000 เหรียญมากขึ้น ณ 31 ม.ค. 66 นำเข้าแล้วกว่า 50 ราย
โครงการยกระดับแรงงานต่างชาติเป็นแรงงานกึ่งฝีมือ นอกจากแรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในไต้หวันมีอายุการทำงานต่อเนื่องครบ 6 ปีขึ้นไป นายจ้างยอมจ่ายค่าจ้างประจำ 33,000 เหรียญต่อเดือน และมีคุณสมบัติด้านทักษะหรือจ่ายค่าจ้างประจำ 35,000 เหรียญ ไม่ต้องมีหลักฐานแสดงทักษะฝีมือใด ๆ สามารถยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือได้แล้ว แรงงานเก่าเคยที่ทำงานสะสมครบ 11 ปี 6 เดือนขึ้นไปและเดินทางกลับประเทศแล้ว หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างตามกำหนดและมีทักษะฝีมือตามเกณฑ์ นายจ้างสามารถยื่นขอว่าจ้างและนำเข้ามาเป็นแรงงานกึ่งฝีมือได้เช่นกัน ไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขแรงงานต่างชาติทั่วไปที่ทำงานในไต้หวันได้เพียง 12 ปี
นายจ้างไต้หวันนำเข้าแรงงานไทยที่ทำงานครบ 12 ปี เดินทางกลับประเทศไปแล้วกว่า 50 คน
ในจำนวนแรงงานต่างชาติที่ทำงานครบกำหนดและเดินทางกลับประเทศไปแล้ว นายจ้างต้องการนำเข้าแรงงานมากที่สุด ได้แก่แรงงานไทย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะแรงงานไทยเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันเป็นเวลานาน คนที่ทำงานครบกำหนด 12 ปีเดินทางกลับแล้ว และนายจ้างชื่นชมฝีมือมีจำนวนมากกว่าชาติอื่น จากข้อมูลพบว่า ณ วันที่ 31 มกราคม 2566 มีนายจ้างไต้หวันยื่นขอและได้รับอนุญาตนำเข้าแรงงานไทยคนเก่าที่ทำงานครบกำหนดเดินทางกลับประเทศแล้วกว่า 50 คน ทั้งหมดว่าจ้างด้วยค่าจ้างประจำ 35,000 เหรียญ ไม่ต้องแสดงหลักฐานด้านทักษะฝีมือใด ๆ
ภาพบรรยากาศแรงงานไทยนั่งรอเพื่อขอวีซ่าเดินทางมาทำงานที่ไต้หวัน (ภาพจาก บจง. Thai Allright)
สำหรับการนำเข้าแรงงานชาติอื่นที่ทำงานครบกำหนดเดินทางกลับประเทศไปแล้วให้เดินทางกลับมาเป็นแรงงานกึ่งฝีมือ เท่าที่ทราบแรงงานฟิลิปปินส์และเวียดนามมีบ้างเพียงหลักหน่วยเท่านั้น และยังประสบปัญหาด้านขั้นตอนการเข้านำ ส่วนแรงงานอินโดนีเซีย เนื่องจากเพิ่งจะเดินทางมาทำงานในภาคการผลิตมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เนื่องจากแรงงานไทยลดน้อยลง นายจ้างจำเป็นนำเข้าแรงงานอินโดนีเซียทดแทนแรงงานไทย จึงยังไม่มีการนำเข้าแรงงานเก่ามาเป็นแรงงานกึ่งฝีมือ ประกอบกับกระทรวงแรงงานอินโดนีเซียยังไม่อนุญาตให้มีการส่งออกแรงงานเก่า โดยตั้งเงื่อนไขหลายอย่าง ผิดไปจากการนำเข้าแรงงานกึ่งฝีมือจากประเทศไทยที่มีขั้นตอนการนำเข้าเหมือนกับแรงงานไร้ฝีมือทั่วไป ต่างกันแค่ค่าจ้างเป็น 35,000 เหรียญไต้หวันต่อเดือนเท่านั้น
แรงงานไทยที่ทำงานเป็นที่ประทับใจนายจ้าง แม้จะทำงานครบ 12 ปีไปแล้ว นายจ้างสามารถว่าจ้างกลับมาเป็นแรงงานกึ่งฝีมือได้ ค่าจ้างเริ่มต้นที่ 35,000 เหรียญไต้หวัน
นายไช่ม่งเหลียง อธิบดีกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงานกล่าวว่า นอกจากส่งเสริมให้นายจ้างยกระดับแรงงานต่างชาติทั่วไปในโรงงานให้กลายเป็นแรงงานกึ่งฝีมือแล้ว สำหรับแรงงานต่างชาติที่เคยทำงานสะสมครบ 11 ปี 6 เดือนขึ้นไป และเดินทางกลับประเทศไปแล้ว หากนายจ้างประสงค์จะว่าจ้างเป็นแรงงานกึ่งฝีมือ ซึ่งมีคุณสมบัติสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ สามารถว่าจ้างให้เดินทางกลับมาทำงานที่ไต้หวันต่อไปได้ในฐานะแรงงานกึ่งฝีมือ
แรงงานไทยที่เดินทางมาทำงานก่อสร้างที่นครไทจง (ภาพจาก บจง. Yang Luck)
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติ สภาบริหารพบว่า เมื่อปี 2565 ไต้หวันขาดแคลนแรงงานกึ่งฝีมือกว่า 130,000 คน สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง มาจากการจำกัดระยะเวลาการทำงานของแรงงานต่างชาติ และจากการที่มีการจำกัดระยะเวลาการทำงาน ทำให้แรงงานต่างชาติที่มีอายุงานครบ 6 ปีขึ้นไปลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันครองสัดส่วนเพียง 33.7% แรงงานต่างชาติที่ทำงานครบ 9 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนเหลือ 11.7% ขณะที่ประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ใช้มาตรการที่น่าสนใจดึงดูดแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงาน โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มแรงงานต่างชาติที่เคยผ่านการทำงานจากไต้หวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานมีทักษะฝีมือ หากสภาพการณ์เช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไป จะทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในไต้หวันรุนแรงขึ้นและไม่สามารถแก้ไขได้ จึงมีโครงการแรงงานกึ่งฝีมือดังกล่าวเกิดขึ้น
แรงงานไทยที่ทำงานดี ฝีมือเยี่ยมมีจำนวนมาก ในภาพคือนายชัยณรงค์ ไชยขันธุ์ จากจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับเลือกเป็นแรงงานดีเด่นระดับประเทศประจำปี 2565 (ภาพจาก คุณชัยณรงค์)
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานตั้งเป้าหมายไว้ว่า ก่อนปี 2573 จะอนุมัตินายจ้างว่าจ้างแรงงานกึ่งฝีมือจำนวน 80,000 คน หรือปีละประมาณ 10,000 คน ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด กระทรวงแรงงานอนุญาตให้มีการขยายระยะเวลาทำงานในไต้หวันจาก 12 ปี หรือ 14 ปีออกไป รวมสะสมแล้วเป็นเวลา 3 ปี เมื่อขยายสัญญาต่อไปได้ ส่งผลให้นายจ้างจำนวนมากยังรอดูท่าที แต่มาตรการดังกล่าว สิ้นสุดลงแล้วเมื่อสิ้นปี 2565 คาดว่า กระทรวงแรงงานคาดว่า ต่อแต่นี้ไป ยอดจำนวนการยื่นขอว่าจ้างแรงงานกึ่งฝีมือจะทยอยเพิ่มมากขึ้น
3. เตือน! ดื่มสุราจัดเสี่ยงตายสูง คนงานไทยผิดกฎหมายหนีไปทำงานบนเขาหลีซาน ช่วงตรุษจีนอากาศหนาวดื่มจัดเสียชีวิตในเพิงพักกลางสวน
นายไชย (นามสมมุติ) อายุ 57 ปี มาจากจังหวัดลำปาง เดินทางมาทำงานที่ไต้หวันตั้งแต่ปี 2544 ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2547 เดินทางมาทำงานที่โรงงานฟอกย้อมที่เขตหนานข่าน นครเถาหยวน เนื่องจากในสมัยนั้นครบสัญญา 3 ปี ต้องเดินทางกลับประเทศไปทำเรื่องเสียค่าหัวคิวมารอบใหม่ ดังนั้น เมื่อทำงานครบสัญญาหลบหนีก่อนจะถูกส่งกลับ นายไชยจึงหลบหนีกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2550
ในภาพเป็นแรงงานไทยที่ไทจงดื่มสุราเมาขี่จักรยานไฟฟ้าชนรถยนต์ข้างทางกลางดึกได้รับบาดเจ็บสาหัสเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
ชีวิตหลังหลบหนีลำบากมาก หางานทำไม่ง่ายนัก รับจ้างทำงานตามไซต์งานก่อสร้างไปเป็นวัน ๆ ไม่มีเงินส่งกลับบ้าน ภรรยาและลูกอีก 2 คนที่บ้านต้องอยู่อย่างยากลำบาก ในที่สุดหลบหนีไปรับจ้างทำงานบนภูเขาหลีซานในนครไทจง รายได้จากการรับจ้างพอเลี้ยงชีพเท่านั้น ไม่มีเงินเหลือเก็บส่งกลับบ้านให้ลูกเมีย แถมคนงานไทยผิดกฎหมายบนดอยเมื่ออยู่รวมกันนิยมดื่มสุรา นายไชยก็เช่นกัน โดยเฉพาะช่วงวันหยุดตรุษจีนที่ผ่านมา ดื่มทุกวันแต่เช้ายันค่ำ ประกอบกับในช่วงนั้นบนเขาหลีซานอากาศหนาวจัด อุณหภูมิบางวันติดลบ เมื่อเมาสุรานอนหลับไม่ได้ห่มผ้าก็ไม่รู้ตัว อีกทั้งดื่มสุราจัดส่งผลให้สุขภาพย่ำแย่อยู่แล้ว เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อนคนไทยที่นอนพักที่เดียวกัน ตื่นเช้ามาพบนายไชยนอนแข็งตัวอยู่บนเตียงเสียแล้ว จึงติดต่อกับทายาทและโทรศัพท์ขอให้ชาวไต้หวันบนเขาแจ้งความ ตำรวจและอัยการมาถึง ชันสูตรศพแล้วสันนิษฐานว่า เกิดจากอากาศหนาวจัดส่งผลต่อเส้นเลือดหัวใจตีบตันทำให้ให้เสียชีวิต
สุรา เป็นภัยคุกคามสุขภาพและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ของแรงงานไทย
เนื่องจากเป็นแรงงานผิดกฎหมายจากการหลบหนีนายจ้างและถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงานไปแล้วตั้งแต่หลบหนีไปแล้ว 3 วัน จึงไม่มีสิทธิ์ยื่นขอสิทธิประโยชน์ใด ๆ ตามกฎหมาย แม้แต่ค่าทำศพก็มาจากการเรี่ยไรและบริจาคของเพื่อนคนไทยและคนไต้หวัน และด้วยความช่วยเหลือจากสำนักงานแรงงานไทย ได้จัดการฌาปนกิจศพและส่งอัฐิกลับประเทศมอบให้ทายาทเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผานมา แรงงานไทยรายนี้มีญาติทำงานอยู่ในไต้หวันเล่าว่า....ฟังจากรายการออนไลน์
บนภูเขาสูงมีหมู่บ้านชาวเวียดนาม ชาวอินโดนีเซียและไทย จำนวนหลายพันคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย