close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

ขุนพลแรงงานไทย วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2566

  • 24 March, 2023
ขุนพล แรงงานไทย
แรงงานต่างชาติในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวัน

1. อินเดียหรือพม่า? แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน รมว. กระทรวงแรงงานไต้หวันเผย ครึ่งหลังปีนี้จะลงนาม MOU กับประเทศส่งออกแรงงานต่างชาติรายใหม่

        ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในไต้หวันยังคงรุนแรงต่อเนื่อง แม้แต่แรงงานต่างชาติ ซึ่งไต้หวันเปิดให้นำเข้าได้ 4 ประเทศ ก็เริ่มมีแนวโน้มส่งออกแรงงานมาทำงานที่ไต้หวันลดน้อยลง สวี่หมิงชุน รมว. กระทรวงแรงงานไต้หวัน กล่าวขณะประชุมสัมมนากับสื่อมวลชนว่า การเจรจาหาแหล่งที่มาของแรงงานต่างชาติประเทศใหม่มีผลคืบหน้าไปมาก แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นประเทศใด บอกได้แต่เพียงว่า ทั้งสองฝ่ายมีการเจรจาไปแล้วหลายรอบ มีความเห็นชอบในหลักการร่วมกัน และกำลังอยู่ระหว่างเจรจาในรายละเอียด คาดจะลงนามหนังสือบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากนั้น จะประกาศกำหนดเวลาให้นายจ้างไต้หวันยื่นขอนำเข้าแรงงานจากประเทศดังกล่าวได้ทั้งภาคการผลิตและภาคสวัสดิการสังคม ส่วนปัญหาขาดแคลนแรงงานของผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว กระทรวงแรงงานจะช่วยเป็นสื่อกลางจัดหางานให้แก่นายจ้างและแรงงานในประเทศต่อไป

สวี่หมิงชุน รมว. กระทรวงแรงงาน (ขวามือ) และนายหลี่จวิ้นอี้ รมช. กระทรวงแรงงาน (ซ้ายมือ)

        สวี่หมิงชุน รมว. กระทรวงแรงงาน และนายหลี่จวิ้นอี้ รมช. กระทรวงแรงงาน ตอบปัญหาเกี่ยวกับการแก้ไขภาวะขาดแคลนแรงงานในประเทศ ขณะพูดคุยกับสื่อมวลชนในงานแถลงข่าวของกระทรวงแรงงานเมื่อ 22 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ปัจจุบัน ไต้หวันอนุญาตให้นายจ้างสามารถนำเข้าแรงงานจาก 6 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซียและมองโกเลีย แต่มาเลเซียและมองโกเลีย นำเข้าในจำนวนน้อยมากเพียงแค่หลักหน่วยเท่านั้น ประเทศหลักที่ส่งออกแรงงานมาทำงานที่ไต้หวัน ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และไทย และนายจ้างไต้หวันจะนำเข้าแรงงานแต่ละประเทศตามความถนัดในประเภทงานที่แตกต่างกันไป เช่น แรงงานอินโดนีเซียจะทำงานในภาคสวัสดิการสังคม ได้แก่ตำแหน่งผู้อนุบาลมากที่สุด แรงงานเวียดนามและฟิลิปปินส์จะทำงานในภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ สำหรับแรงงานไทยจะถนัดในงานก่อสร้างและภาคการผลิต แรงงานแต่ละชาติจะมีจำนวนที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกประเทศได้ให้ความร่วมมือในการจัดส่งแรงงานมาทำงานที่ไต้หวันอย่างเต็มที่

แรงงานต่างชาติจาก 4 ประเทศในอาเซียน เริ่มมีแนวโน้มเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันลดน้อยลง

        ด้านบริษัทจัดหางานไต้หวันกล่าวว่า แม้จะไม่ได้เปิดเผยรายชื่อประเทศผู้ส่งออกแรงงานมายังไต้หวันรายใหม่ว่าเป็นประเทศใด แต่ส่วนใหญ่เห็นว่า มีตัวเลือก 4-5 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย พม่า บังกลาเทศ ศรีลังกาและกัมพูชา ในจำนวนนี้ อินเดียมีความเป็นไปได้มากที่สุด เนื่องจากมีสำนักงานตัวแทนไต้หวันตั้งอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาแรงกดดันจากจีน อีกทั้งแรงงานอินเดียส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษได้ ส่วนประเทศอื่น ไต้หวันไม่ได้ตั้งสำนักงานตัวแทน การจะตั้งสำนักงานตัวแทนใหม่เป็นเรื่องอ่อนไหวทางการเมือง ความเป็นไปได้จึงน้อยกว่า อย่างประเทศเมียนมา ซึ่งมีแรงงานจำนวนมากและประสงค์จะส่งออกมาทำงานที่ไต้หวัน ทั้งสองฝ่ายเคยเจรจามาแล้วหลายครั้ง ถึงขั้นเมียนมาได้ตั้งสำนักงานตัวแทนในกรุงไทเปเมื่อปี 2558 เตรียมจะกลายเป็นประเทศผู้ออกแรงงานมายังไต้หวันรายใหม่ แต่แล้วติดขัดที่การตั้งสำนักงานตัวแทนไต้หวันเพื่อออกวีซ่าและจัดการเรื่องการกงสุลในพม่า สุดท้ายไม่เป็นไปตามที่ฝ่ายไต้หวันคาดการ ส่วนประเทศอื่น โอกาสยิ่งน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทจัดหางานและนายจ้างไต้หวันแล้ว ขอให้มีแหล่งที่มาของแรงงานที่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานชาติไหนก็ยอมรับได้

ไต้หวันเตรียมเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2569 โดยมีผู้สูงวัย 65 ปีขึ้นไป 20.8% ของประชากร จึงต้องการผู้อนุบาลจำนวนมาก

        จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติในไต้หวันอยู่ที่ 730,804 คน ทำลายสถิติ แต่นายจ้างจำนวนมากยังคงเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานหาแหล่งแรงงานต่างชาติประเทศใหม่ สวี่หมิงชุนกล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ติดต่อเจรจากับประเทศผู้ส่งออกแรงงานรายใหม่อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะสามารถแจ้งข่าวดีให้ทราบได้ โดยจะมีการลงนามในหนังสือบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU กับประเทศผู้ส่งออกแรงงานรายใหม่ ส่วนจะเป็นประเทศใด รมว. กระทรวงแรงงานรายนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

รมว. กระทรวงแรงงานไต้หวันเผย ครึ่งหลังปีนี้จะลงนาม MOU กับประเทศผู้ส่งออกแรงงานต่างชาติรายใหม่ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

        สำหรับข้อเสนอของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวที่เรียกร้องเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาตินั้น สวี่หมิงชุนกล่าวว่า การนำเข้าแรงงานต่างชาติ ไม่ใช่แค่จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 26,400 เหรียญต่อเดือนเท่านั้น นายจ้างยังต้องชำระเงินเข้ากองทุนคุ้มครองการทำงานของแรงงานท้องถิ่น 2,000 เหรียญไต้หวันต่อคนต่อเดือน ยังมีค่าอาหารที่พักส่วนที่เกินจากความรับผิดชอบของแรงงานต่างชาติ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหาร สรุปแล้ว การนำเข้าแรงงานต่างชาติแต่ละคน มีต้นทุนประมาณ 32,000 เหรียญ แนะผู้ประกอบการว่าจ้างแรงงานในประเทศด้วยค่าจ้างเดียวกันหรือสูงกว่า จะช่วยดึงดูดแรงงานท้องถิ่นเข้าทำงานได้มากขึ้น ขณะที่กระทรวงแรงงานจะช่วยเป็นสื่อกลางในการจัดหาแรงงานให้อีกทางหนึ่งด้วย

2. จับแรงงานหญิงไทยที่เจียอี้เห็นแก่ค่าจ้าง 10,000 เหรียญ รับพัสดุจากไทยยัดไส้เฮโรอีน 12.5 กก. มูลค่า 60 ล้านเหรียญ มีหวังติดคุกตลอดชีวิต

       เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานศุลกากรไทเปและสำนักงานตำรวจท่าอากาศยานร่วมกันแถลงข่าว จับแรงงานไทยรับจ้างขนเฮโรอีน โดยรับพัสดุเป็นกระเป๋าถือโอทอปจากไทย ภายในยัดไส้เฮโรอีน 12.5 กก. ราคาท้องตลาด 60 ล้านเหรียญไต้หวัน หลังสอบสวนสืบสวนเป็นเวลานาน 4 เดือน อัยการสั่งฟ้องแรงงานไทยรายนี้ ขอให้ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต

แรงงานหญิงไทยทำงานที่เจียอี้ ถูกจับขณะเซ็นชื่อรับพัสดุจากไทยที่บรรจุกระเป๋าถือจำนวนมาก กระเป๋าแต่ละใบมีชั้นในยัดซองเฮโรอีนบริสุทธิ์น้ำหนักรวม 12.5 กก.

       แถลงการณ์ของสำนักงานศุลกากรไทเปและสำนักงานตำรวจท่าอากาศยานระบุว่า คดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ขณะที่ด่านศุลกากรและตำรวจท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน กำลังตรวจตราพัสดุไปรษณีย์จากประเทศไทยด้วยเครื่องเอกซเรย์ พบมีพัสดุส่งจากไทยจุดหมายปลายทางส่งถึงแรงงานหญิงไทยรายหนึ่งที่เมืองเจียอี้มีพิรุธ จึงแกะกล่องออกมาดู พบในกล่องพัสดุมีกระเป๋าถือถักทอจากผ้าหลายใบ กระเป๋าแต่ละใบมีชั้นในยัดซองเฮโรอีนบริสุทธิ์น้ำหนักรวม 12.5 กก. ตำรวจท่าอากาศยานจึงประสานตำรวจกองปราบเมืองเจียอี้ จับตาความเคลื่อนไหวของแรงงานไทยรายนี้ พบขณะไปรับพัสดุ เหลียวซ้ายแลขวา เมื่อไม่เห็นมีตำรวจจึงรับและเซ็นชื่อรับพัสดุ ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบที่ดักรออยู่แล้วตะครุบตัวได้ แรก ๆ แรงงานหญิงไทยรายนี้ให้การบ่ายเบี่ยง อ้างตนแค่ช่วยคนอื่นเซ็นรับของ ไม่ทราบข้างในมียาเสพติด แต่ตำรวจสอบเค้นจนเจ้าตัวไม่สามารถปิดบังได้ รับสารภาพว่า ตนเดินทางมาทำงานที่เจียอี้ได้ 2 ปีแล้ว มีคนรู้จักในประเทศไทยขอที่อยู่โดยบอกให้แค่ช่วยเซ็นรับกล่องพัสดุ จากนั้นจะมีคนมารับของ และจะให้ค่าตอบแทน 10,000 เหรียญ ตนเห็นแก่ค่าจ้างและคิดว่าคงไม่มีใครเห็น แต่ไม่นึกว่าเป็นเฮโรอีนน้ำหนักถึง 12.5 กก. และไม่นึกว่าจะถูกจับ ร้องตนตกเป็นเหยื่อเป็นผู้เสียหายเช่นกัน ตำรวจจึงควบคุมตัวส่งอัยการทำการสอบสวนดำเนินคดี และอัยการสั่งฟ้องแรงงานไทยรายนี้ ข้อหาขน ลำเลียงยาเสพติดให้โทษประเภท 1 มีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต กรณีจำคุกตลอดชีวิต ต้องปรับเพิ่ม 30 ล้านเหรียญไต้หวัน

ตำรวจกรีดกระเป๋าชั้นในแต่ละใบพบยัดซองเฮโรอีนบริสุทธิ์น้ำหนักรวม 12.5 กก.

       ช่วงนี้มีแรงงานไทยถูกจับหลายราย ข้อหาลักลอบนำเข้ายาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นโทษร้ายแรง จำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ตลอดชีวิตและประหารชีวิต บางรายถูกเพื่อนหลอกว่าส่งอาหารมาให้คนอื่น ขอใช้ที่อยู่ ขณะที่บางรายตั้งใจให้ใช้โดยหวังค่าตอบแทน แต่ขณะเซ็นชื่อรับของ จะถูกตำรวจที่ไปดักรอตะครุบจับตัวทันที สำนักงานแรงงานไทย ไทเป เตือนว่า อย่าท้าทายกฎหมายและอย่าให้ใครยืมใช้ที่อยู่ บัญชีธนาคารหรือเอกสารสำคัญของเราอย่างเด็ดขาด มิเช่นนั้น ท่านอาจถูกจับ ตกเป็นผู้ต้องหาลักลอบนำเข้าหรือค้าขายยาเสพติด ซึ่งเป็นโทษที่ร้ายแรงมาก ด้านตำรวจเตือนว่า การไปรษณีย์ไต้หวันจะตรวจพัสดุที่ส่งมาจากประเทศไทยทุกชิ้นแบบเต็ม 100% เมื่อพบยาเสพติดหรือผลิตภัณฑ์ของต้องห้าม จะแจ้งความโดยยังคงส่งพัสดุไปยังจุดหมายปลายทางตามปกติ เมื่อผู้รับเซ็นชื่อรับของแล้ว ตำรวจนอกเครื่องแบบที่ไปดักรออยู่ก่อนแล้ว ก็จะเข้าจับกุมทันที ผู้รับจะกลายเป็นผู้ต้องหาซึ่งหน้า ถูกกักขังรอการดำเนินคดีต่อไป

เฮโรอีนบริสุทธิ์หลายสิบซอง น้ำหนักรวม 12.5 กก. ถูกยัดอยู่ชั้นในกระเป๋าที่ถูกส่งมาทางพัสดุจากประเทศไทย

3. ระวังถูกหลอกมาเป็นโจรเกษตร! จับ 2 ชาวไต้หวันจ้าง 8 นักท่องเที่ยวไทยขโมยกระเทียม 3 ตัน ถูกรวบทั้งหมดพร้อมของกลาง

      ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวหัวกระเทียม เกษตรกรที่เมืองหยุนหลิน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกกระเทียมกำลังเตรียมถอนกระเทียมเพื่อนำออกขายในตลาด ซึ่งมีราคาดี ขายปลีกกิโลกรัมละ 250 เหรียญ แต่ปรากฏว่า เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม มีเกษตรกรเจ้าของสวนกระเทียมแจ้งความ กระเทียมของตนยังไม่ทันเก็บเกี่ยวถูกขโมยถอนเกลี้ยงทั้งสวนหลายคดี ตำรวจจึงตั้งหน่วยเฉพาะกิจ นอกจากเพิ่มการตรวจลาดตระเวนตามสวนต่าง ๆ แล้ว ยังตรวจดูกล้องวงจรปิดที่ติดข้างทางเข้าสวนกระเทียม พบเป็นฝีมือของกลุ่มโจรต้องสงสัยที่นำโดยหัวโจก นายหวงและนายเฉิน 2 ชายชาวไต้หวัน พร้อมด้วยชาวต่างชาติอีกหลายคน หลังจากได้ข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจน ตำรวจหยุนหลินขอหมายค้นจากศาล จู่โจมบ้านพักหลังหนึ่ง จับ 2 หัวโจกชาวไต้หวัน และชาวต่างชาติอีก 9 คน ในจำนวนนี้ที่ทำให้ตำรวจตะลึงคือ ดูจากในกล้องวงจรปิด เหมือนเป็นแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย แต่จากการตรวจสอบเอกสารประจำตัว พบเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ถือฟรีวีเซ่าเข้าไต้หวันจำนวน 8 คน แต่อยู่เลยกำหนดและทำงานในไต้หวันอย่างผิดกฎหมาย สันนิษฐานเบื้องหลังน่าจะมีขบวนการว่าจ้างให้มาทำงานอย่างผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีแรงงานเวียดนามผิดกฎหมายอีก 1 คน

จับ 2 ชาวไต้หวันจ้าง 8 นักท่องเที่ยวไทย (หญิง 6 ชาย 2) ขโมยกระเทียม 3 ตัน

      โฆษกสถานีตำรวจเป๋ยกั่ง เมืองหยุนหลินแถลงว่า หลังรับแจ้งเหตุจากเกษตรกรเจ้าทุกข์หลายราย หน่วยเฉพาะกิจได้ทำการตรวจดูจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งตามทางเข้าออกและบริเวณถนนใกล้เคียงสวนที่เกิดเหตุหลายร้อยตัว วิเคราะห์และเปรียบเทียบแล้ว พบเป็นการกระทำของกลุ่มโจรที่มีนายหวงและนายเฉินเป็นหัวโจก ว่าจ้างชาวต่างชาติขโมยถอนหัวกระเทียมตามสวนต่าง ๆ ตำรวจเป๋ยกั่ง ขอหมายจับและหมายค้นจากศาลหยุนหลิน เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา สนธิกำลังตำรวจตรวจคนเข้าเมืองหยุนหลินและเจียอี้ 25 นาย ภายใต้การนำของเจ้าพนักงานอัยการเมืองหยุนหลิน จู่โจมบ้านพักนายหวง จับหัวโจกชาวไต้หวันทั้ง 2 และชาวต่างชาติอีก 9 คน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวไทย 8 คน เป็นหญิงไทย 6 คนและชาย 2 คน นอกจากนี้ ยังมีแรงงานเวียดนามผิดกฎหมายอีก 1 คน พร้อมยึดของกลางเป็นหัวกระเทียมที่ยังไม่ทันตากแห้งอีก 3,050 กก. รถบรรทุกที่ใช้ขนกระเทียม 1 คันและอุปกรณ์สำหรับโจรกรรมอีกจำนวนหนึ่ง

ตำรวจเป๋ยกั่งที่เมืองหยุนหลิน จับ 2 ชาวไต้หวันจ้าง 8 นักท่องเที่ยวไทยและแรงงานเวียดนามผิดกฎหมายอีก 1 คนขโมยกระเทียม 3 ตัน ถูกรวบทั้งหมด

      โฆษกสถานีตำรวจเป๋ยกั่งแถลงว่า จากการตรวจสอบ ผู้ต้องหากลุ่มนี้ เลือกพื้นที่กันดาร ไม่มีถนนตัดผ่านและอยู่ใกล้คลองชลประทานเป็นเป้าหมายลงมือ และกระเทียมที่ขโมยมาได้จำหน่ายไปแล้วบางส่วนประมาณ 400 กก. ในราคาเพียง กก. ละ 45 เหรียญไต้หวัน ที่ยังไม่ทันตากแห้งนำออกขาย ยังกองอยู่ในบ้านพักของนายหวงอีก 3,050 กก. ตำรวจควบคุมตัว 2 ผู้ต้องหาชาวไต้หวันดำเนินคดีและตรวจสอบเส้นทางการรับซื้อ นักท่องเที่ยวชาวไทย 8 คน เนื่องจากเดินทางเข้าไต้หวันโดยวีซ่าท่องเที่ยวแต่ผิดวัตถุประสงค์ รวบทั้งแรงงานเวียดนามผิดกฎหมายถูกควบคุมตัวไปยังสถานกักกัน เพื่อดำเนินการตรวจสอบเบื้องหลังขบวนการหลอกให้ชาวต่างชาติถือวีซ่าท่องเที่ยวเข้าไต้หวันทำงาน จากนั้นลงโทษปรับและส่งกลับประเทศต่อไป

จับ 2 ชาวไต้หวันจ้าง 8 นักท่องเที่ยวไทย (หญิง 6 ชาย 2) ขโมยกระเทียม 3 ตัน

      ด้านนางสาวประภาวดี แก้วศิริพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานไทย ไทเปกล่าวเตือนก่อนหน้านี้ว่า ไต้หวันไม่ได้เปิดให้ชาวต่างชาติมาทำงาน ไม่ว่าจะงานเกษตร งานติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์หรืองานอุตสาหกรรม โดยไม่ผ่านการอนุญาตของกระทรวงแรงงาน ขอให้ชาวไทยอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อที่โพสต์ในสื่อโซเชียลหรือคำชักชวนของนายหน้า และเตือนแอดมินหรือเจ้าของเพจอย่าปล่อยให้มีการโพสต์โฆษณาที่ผิดกฎหมาย อาจโดนข้อหาเป็นขบวนการเดียวกันหรือเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้โพสต์ข้อความที่ขัดต่อกฎหมาย

หัวกระเทียมที่ยังไม่ทันนำไปขายจำนวน 3,050 กก.

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง