close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

ไขปัญหาแรงงาน วันพุธที่ 15 มีนาคม 2566

  • 15 March, 2023
ไขปัญหาแรงงาน
ภาพบรรยากาศที่ท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวนก่อนหน้านี้

1. กลับสู่ภาวะปกติ! เริ่ม 20 มี.ค. แรงงานต่างชาติเดินทางเข้าไต้หวัน ไม่ต้องฉีดวัคซีนโควิดก่อน ยกเลิกสังเกตอาการตนเอง ผู้ป่วยอาการเบาไม่ต้องรายงาน ยกเลิกกักตัว กลับสู่ภาวะปกติก่อนเกิดการระบาดเมื่อปี 62

          กระทรวงแรงงานไต้หวันประกาศในวันที่ 17 มี.ค. นี้ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคของศูนย์บัญชาการควบคุมโรค ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 20 มี.ค. 66 ยกเลิกมาตรการสังเกตอาการตนเอง 7 วันของผู้เดินทางเข้าไต้หวันทุกคน ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่ต้องแจ้งหรือรายงานและไม่ต้องกักตัวอีกต่อไป แรงงานต่างชาติก็เช่นกัน เดินทางเข้าไต้หวันไม่ต้องสังเกตอาการตนเองอีกต่อไป เมื่อเดินทางถึงไต้หวัน สามารถไปพักในหอพักสถานที่ทำงานเหมือนในอดีตได้เลย

20 มี.ค. 66 เป็นต้นไป แรงงานต่างชาติเดินทางมาทำงานที่ไต้หวัน ยกเลิกมาตรการป้องกันโรคทั้งหมด กลับสู่ภาวะปกติก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปี 62

          หลังโควิด-19 เกิดการระบาดรุนแรงไปทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2562 ไต้หวันทยอยประกาศมาตรการควบคุมพรมแดนและมาตรการป้องกันโรคหลายประการ โดยมีการจำกัดและระงับการเดินทางเข้าไต้หวันของแรงงาน ต่อมาในปี 2564 กระทรวงแรงงานไต้หวัน เปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติได้อีกครั้ง แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคหลายมาตรการ ทั้งก่อนการเดินทางและเมื่อเดินทางเข้าไต้หวันแล้ว เช่นต้องกักตัวและสังเกตอาการตนเอง แม้ระยะหลังจะยกเลิกการกักตัวไปแล้ว แต่ยังต้องสังเกตอาการตนเองในห้องพักเดี่ยวที่มีห้องน้ำในตัว ซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ ทำให้ต้องไปพักที่ห้องพักโรงแรม ส่งผลให้นายจ้างและแรงงานต่างชาติที่ลากลับไปพักร้อนมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น กระทรวงแรงงานเพิ่งจะประกาศเมื่อ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ผ่อนปรนให้แรงงานต่างชาติเดินทางเข้าไต้หวัน ไม่บังคับต้องพักในห้องพักมีห้องน้ำในตัว และห้องพักไม่ต้องลงทะเบียนหรือได้รับการรับรองจากกองแรงงานก่อนอีกต่อไป แต่โดยหลักการ ยังแนะนำให้พักในห้องพักเดียวที่มีห้องน้ำในตัว อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 66 นี้เป็นต้นไป ยกเลิกทั้งหมด กลับสู่ภาวะปกติเช่นเดียวกับก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปี 2562

ภาพบรรยากาศเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานไปรับและพาแรงงานต่างชาติผ่านด่าน ตม. ในท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวนเมื่อปีก่อน 

        อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ที่ให้บริการอบรมสิทธิประโยชน์แก่แรงงานต่างชาติที่เดินทางมาใหม่ โดยในระยะแรกจำกัดเฉพาะผู้อนุบาลในครัวเรือนก่อน การนำเข้าแรงงานในภาคการผลิต รวมทั้งผู้อนุบาลในองค์กรที่เดินทางมาใหม่ นายจ้างยังต้องลงทะเบียนข้อมูลที่เว็บไซต์ศูนย์บริการแรงงานต่างชาติประจำท่าอากาศยานของกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงาน ก่อนการเดินทาง 3 วัน กรณีที่เป็นผู้อนุบาลในครัวเรือน ต้องลงทะเบียนก่อนการเดินทาง 5 วัน

20 มี.ค. 66 เป็นต้นไป แรงงานต่างชาติเดินทางมาทำงานที่ไต้หวัน ยกเลิกมาตรการป้องกันโรคทั้งหมด กลับสู่ภาวะปกติก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปี 62

          กระทรวงแรงงานขอความร่วมมือจากแรงงานต่างชาติว่า เมื่อโดยสารระบบขนส่งสาธารณะและเข้าออกสถานพยาบาล ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคด้วยการสวมสวมหน้ากากอนามัย แนะให้หมั่นล้างมือ รักษามารยาทการไอ/จาม ดูแลสุขภาพของตนเอง ด้านนายจ้างควรส่งเสริมให้แรงงานต่างชาติของตนรับวัคซีนต่อไป เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน และกรณีที่แรงงานต่างชาติมีอาการไม่สบายหรือมีความประสงค์จะรับวัคซีน นายจ้างหรือบริษัทจัดหางานควรให้ความช่วยเหลือ

สื่อประชาสัมพันธ์ยกเลิกการสังเกตอาการตนเอง กลับสู่ภาวะปกติ จากกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงาน

2. สารพัดปัญหากับเงินบำเหน็จชราภาพ เคยหลบหนีหรือติดคดีถูกจำคุก มีสิทธิ์ขอรับไหม? คำตอบคือ ได้ในช่วงที่อยู่อย่างถูกกฎหมาย ส่วนตายก่อนถึงเกณฑ์อายุ ทายาทไม่มีสิทธิ์รับแทน

           มีแรงงานไทยถามปัญหาข้องใจเกี่ยวกับเงินบำเหน็จชราภาพของไต้หวันหลากหลายคำถาม จึงรวบรวมเงื่อนไขและคุณสมบัติในการขอรับเงินบำเหน็จชราภาพจากกองทุนประกันภัยแรงงานของไต้หวันมาเล่าให้ฟังดังนี้ :

สวี่หมิงชุน (ซ้ายมือ) รมว. กระทรวงแรงงาน เดินทางไปตรวจเยี่ยมไซต์งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้าถาน ได้สอบถามปัญหา พร้อมให้กำลังใจในการทำงานแก่แรงงานไทย ซึ่งมีจำนวนนับพันคน

          1️⃣ ใครบ้างมีสิทธิ์ยื่นขอรับเงินบำเหน็จชราภาพจากกองทุนประกันภัยแรงงานของไต้หวัน?

          แรงงานไทยที่เคยเดินทางมาทำงานในไต้หวัน (ภาคการผลิต ก่อสร้างและผู้อนุบาลในองค์กร) ซึ่งเคยเข้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันภัยแรงงานของไต้หวัน มีสิทธิ์รับเงินบำเหน็จชราภาพจากกองทุนประกันภัยแรงงานเมื่ออายุครบ 60 ปีขึ้นไป (ยกเว้นผู้อนุบาลในครัวเรือนและผู้ช่วยงานบ้าน ซึ่งไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายมาตรฐานแรงงาน) 

แรงงานไทยในโรงงานผลิตล้อแม็กซ์

          2️⃣ ต้องมีอายุครบกี่ปีจึงจะยื่นขอได้ จะยื่นรอไว้ก่อนเลยได้ไหม?  

          จะต้องมีอายุตามเกณฑ์กำหนดดังนี้ จึงจะมีสิทธิ์ยื่นขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ จะยื่นรอไว้ก่อนไม่ได้

          3️⃣ เงินบำเหน็จชราภาพจะได้เท่าไหร่?

          ได้ตามอายุการเป็นสมาชิกกองทุนประกันภัยแรงงาน (อายุงาน) ซึ่งสามารถรวมสะสมได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนายจ้างรายเดียวกันและไม่จำเป็นต่อเนื่องกัน อายุงาน 1 ปีจะได้ 1 เดือนของค่าจ้างที่แจ้งเอาประกัน เช่นมาทำงานที่ไต้หวัน 3 ครั้ง รวม 9 ปี จะได้ 9 เดือนของค่าจ้างเฉลี่ยที่แจ้งเอาประกันใน 60 เดือนของขณะนั้น ส่วนที่ไม่ครบปี จะได้รับตามสัดส่วน

          4️⃣ เคยหลบหนีถูกส่งกลับ หรือเคยติดคดีถูกจำคุก มีสิทธิ์ขอรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ไหม? 

          ผู้ที่หลบหนีนายจ้างกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย หรือเคยทำผิดคดีอาญา ถูกจำคุก มีสิทธิ์ยื่นขอรับเงินบำเหน็จชราภาพตามอายุงาน ช่วงก่อนกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายหรือก่อนก่อคดีได้เช่นเดียวกับแรงงานทั่วไป ทั้งนี้เพราะกองทุนประกันภัยแรงงานจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ โดยดูจากเคยเป็นสมาชิกกองทุน เคยจ่ายเบี้ยประกันภัยแรงงานและมีคุณสมบัติยื่นขอได้แล้วหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับการหลบหนีกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย เคยทำผิดคดีหรือเคยถูกจำคุก

คนงานผิดกฎหมาย หรือเคยติดคดี ต้องโทษ มีสิทธิ์ขอรับเงินบำเหน็จชราภาพช่วงที่ทำงานอย่างถูกกฎหมายเช่นเดียวกับแรงงานทั่วไป (ในภาพเป็นคณะเจ้าที่สำนักงานแรงงานไทย ไทเป เดินทางไปเยี่ยมแรงงานไทยในสถานกักกันซานเสีย นครนิวไทเป)

          5️⃣ แรงงานเสียชีวิตก่อนถึงเกณฑ์ยื่นขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ ญาติสามารถยื่นขอรับแทนได้ไหม? 

          ญาติไม่สามารถยื่นขอรับแทนกันได้ เพราะเงินบำเหน็จชราภาพ เป็นเงินเลี้ยงชีพในยามชราสำหรับผู้เคยจ่ายเงินกองทุนฯ ไม่ใช่เป็นเงินประกันชีวิต เสียชีวิตแล้วไม่สามารถยื่นขอแทนได้ ดังนั้น จึงขอให้ดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง มีอายุยืนยาวที่สุด

แรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว นครเถาหยวน

          6️⃣  อยู่ในประเทศไทยจะยื่นขอได้ที่ไหนและยื่นขออย่างไร? 

          แรงงานไทยที่เคยเดินทางไปทำงานที่ไต้หวัน เมื่อถึงเกณฑ์อายุตามตารางข้างบน ให้ไปติดต่อสอบถามวิธีและขั้นตอนและยื่นเอกสารขอรับบำเหน็จชราภาพได้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดท้องที่ หรือที่กระทรวงแรงงาน ประเทศไทย

แรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว นครเถาหยวน

          7️⃣ เอกสารประกอบการขอรับเงินบำเหน็จชราภาพมีอะไรบ้าง?

          🔸 สำเนาใบถิ่นที่อยู่ (บัตร ARC)

          🔸 สำเนาหนังสือเดินทาง

          🔸 หนังสือรับรองบัญชีเงินฝากจากธนาคารที่เปิดบัญชีในประเทศไทย (ออกเป็นภาษาอังกฤษ)

          🔸 สำเนาทะเบียนบ้าน ขอฉบับภาษาอังกฤษจากสำนักงานทะเบียนราษฎร์ท้องที่ (ต้องตรวจดูการสะกดชื่อภาษาอังกฤษให้ตรงตามในหนังสือเดินทาง)

          🔸 ประวัติการทำหนังสือเดินทางจากกรมการกงสุล  กระทรวงการต่างประเทศ (สำหรับผู้เคยเปลี่ยนหนังสือเดินทางหรือเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลในการกลับเข้าไปทำงานที่ไต้หวัน)

          🔸 ใบเปลี่ยนชื่อ (เฉพาะผู้เปลี่ยนชื่อ-นามสกุล หลังกลับจากการทำงานที่ไต้หวันถึงช่วงยื่นคำร้องขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ)

แบบคำร้องขอรับเงินบำเหน็จชราภาพจากกองทุนประกันภัยแรงงานไต้หวัน (จัดทำโดยสำนักงานแรงงานไทย ไทเป)

          8️⃣ การแปลและรับรองเอกสาร

          🔸 เอกสารที่กล่าวมาทั้งหมด หากไม่ได้ขอฉบับภาษาอังกฤษ ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ (การสะกดชื่อ-นามสกุลต้องตรงตามในหนังสือเดินทาง โดยผ่านการรับรองจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ยกเว้น สำเนาใบถิ่นที่อยู่ หรือบัตร ARC สำเนาหนังสือเดินทางและประวัติการทำหนังสือเดินทางที่ออกโดยกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (สำนักงานแรงงานไทยในไต้หวัน เมื่อได้รับใบคำร้องและเอกสารประกอบแล้ว จะช่วยแปลเป็นภาษาจีนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย)

          9️⃣ ข้อแนะนำ ควรเก็บใบถิ่นที่อยู่ หรือบัตร ARC ฉบับจริงหรือถ่ายสำเนาเก็บไว้ทุกใบ รวมทั้งหนังสือเดินทางให้ครบทุกเล่ม เพื่อใช้ประกอบการยื่นขอเงินบำเหน็จชราภาพ และเพื่อความสะดวกในการตรวจสอบข้อมูลของเจ้าหน้าที่กองทุนประกันภัยแรงงานไต้หวัน

โปสเตอร์จัดทำโดยกระทรวงแรงงานไทย ประชาสัมพันธ์เรื่องเงินบำเหน็จชราภาพจากกองทุนประกันภัยแรงงานของไต้หวัน

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง