1. พุ่งไม่หยุด ยอดผู้ป่วยโควิดรายวันทะลุ 4,000 รายแล้ว ผู้เชี่ยวชาญเผย มีแนวโน้มทะลุหลักหมื่นภายในเดือนเมษายนนี้
สถานการณ์โควิด-19 ในไต้หวันเป็นที่น่ากังวลมาก การระบาดทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ยอดผู้ป่วยยืนยันรายวันยังอยู่ที่พันกว่าราย แต่เริ่มจากวันพุธที่ 20 เมษายนเพิ่มเป็น 2,000, 3,000 ราย และวันเสาร์ที่ 23 เม.ย. เพิ่มเป็น 4,126 ราย ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า มีโอกาสเพิ่มเป็นหมื่นรายต่อวันในช่วงสิ้นเดือนนี้
วันเสาร์ที่ 23 เม.ย. ยอดผู้ป่วยยืนยันรายวันเพิ่มเป็น 4,126 ราย ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า มีโอกาสเพิ่มเป็นหมื่นรายต่อวันในช่วงสิ้นเดือนนี้
นายเฉินสือจง (陳時中) ผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการควบคุมโรคไต้หวัน ( CECC ) ซึ่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด- 19 ในไต้หวันน่าจะมีสภาพการณ์คล้ายคลึงกับการระบาดในฮ่องกงและนิวซีแลนด์ ซึ่งมียอดผู้ป่วยยืนยันประมาณ 15-16 % โดยหากคำนวณจากประชากรไต้หวัน 23 ล้านคน คาดว่าจะมีคนติดเชื้อประมาณ 3.45-3.68 ล้านคน จากปัจจุบันที่มียอดผู้ป่วยสะสมเพียง 40,000 กว่ารายเท่านั้น แสดงว่า นับจากนี้ไป 3-4 เดือน จะเป็นช่วงที่การระบาดรุนแรงที่สุด ยอดผู้ป่วยรายวันเป็นหมื่น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้
โควิดรอบใหม่มาแรง สถานีรถไฟฟ้าในไทเปที่ปกติจะเนื่องแน่นไปด้วยผู้คน กลายเป็นพื้นที่โล่ง ผู้โดยสารลดลงอย่างมาก
2. ไต้หวันเริ่มนโยบายอยู่ร่วมกับโควิด ประกาศให้ทุกเมืองใช้ระบบดูแลที่บ้าน (Home Isolation) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ไม่มีอาการหรืออาการไม่มาก ยารักษาไข้หวัดและชุด ATK ขาดตลาดทันที
แม้ยอดผู้ป่วยรายวันจะพุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจ แต่เนื่องจากผู้ป่วยยืนยันส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มาก จึงไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคประกาศให้ทุกเมืองเริ่มใช้ระบบดูแลที่บ้าน (Home Isolation) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ ภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากที่นครนิวไทเปซึ่งพบการระบาดของโควิด-19 รุนแรงที่สุดในไต้หวัน ได้เริ่มใช้ระบบ Home Isolation ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา
ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคไต้หวันประกาศให้ทุกเมืองเริ่มใช้ระบบดูแลที่บ้าน (Home Isolation) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไมมีอาการหรืออาการไม่มาก (ภาพจาก The Marit Times)
อย่างไรก็ตามมาตรการนี้ กลับทำให้ผู้คนในไต้หวันกังวลมากยิ่งขึ้น เพราะการให้ผู้ป่วยอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการอยู่รักษาตัวที่บ้าน ซึ่งไม่มีการกำหนดว่าต้องอยู่คนเดียว หมายความว่าสามารถพำนักร่วมกับผู้อื่นได้ แต่ผู้ที่พำนักร่วมด้วยก็ต้องถูกกักตัวอยู่ในบ้านเช่นกัน ประชาชนทั่วไปหวั่นวิตกว่า อาจจะมีการแพร่เชื้อให้คนที่อยู่บ้านเดียวกัน แล้วก็มีการแพร่ระบาดออกไปเป็นวงกว้างขึ้น ความหวาดผวาของผู้คนส่งผลให้มีการแห่ซื้อประกันโควิด จนบริษัทประกันภัยหลายรายยกเลิกการจำหน่ายกรมธรรม์ดังกล่าว ในขณะที่ยาแก้ไข้หวัด ยาลดไข้ ยาแก้ไอและชุดตรวจ ATK ขาดตลาดทันที เพราะผู้คนแห่ซื้อกักตุน เกรงว่าหากติดเชื้อและต้องรักษาตัวที่บ้านจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษาตามอาการ แม้รัฐบาลประกาศว่าจะมีเจ้าหน้าที่จัดส่งยาให้ถึงบ้าน แต่บรรดาเภสัชกรและร้านขายยาที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดส่งยาให้ผู้ป่วยโควิดถึงบ้านต่างโอดครวญว่า คนติดเชื้อเยอะถึงขนาดนี้จะจัดให้ยังไงไหว
ชาวไต้หวันแห่ซื้อยาแก้ไข้หวัด ยาลดไข้ ยาแก้ไอและชุดตรวจ ATK เกลี้ยงแผง
ครอบครัวที่ในบ้านมีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบ เนื่องจากไม่ได้ฉีดวัคซีน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่นครนิวไทเปมีเด็กอายุ 2 ขวบติดเชื้อและเสียชีวิตหลังจากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 6 วัน อีกทั้งทยอยพบเด็กเล็กติดเชื้ออีกหลายราย ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า หากเกิดการระบาดในโรงเรียนอนุบาลหรือประถมศึกษาอาจส่งผลให้เด็กมีอาการรุนแรง เมื่อถึงเวลานั้นแผนกผู้ป่วยฉุกเฉินในสถานพยาบาลอาจรองรับไม่ไหว ด้วยเหตุนี้เองเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ประกาศอนุญาตให้ใช้วัคซีนโมเดอร์นาในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization ,EUA ) กับเด็กวัย 6-11 ขวบได้ โดยให้ฉีดเข็มที่ 1 ในปริมาณครึ่งโดส หลังจากนั้นให้เว้นระยะห่างเป็นเวลา 28 วัน จึงให้ฉีดเข็มที่ 2 อีกครึ่งโดส แต่ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองก่อน
เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบเนื่องจากไม่ได้ฉีดวัคซีนถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง (ภาพจาก Mom Baby)
สำหรับเพื่อนผู้ฟังในไต้หวัน ขอให้ปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคมและหลีกเลี่ยงเดินทางไปยังสถานที่ที่มีคนแออัด รวมถึงนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและหมั่นออกกำลังกาย เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้สามารถต้านการติดเชื้อไวรัสได้ในระดับหนึ่ง
ผู้เชี่ยวชาญคาดไต้หวันจะมียอดผู้ป่วยยืนยัน 15-16 % หากคำนวณจากประชากรไต้หวัน 23 ล้านคน จะมีคนติดเชื้อประมาณ 3.45-3.68 ล้านคน (ภาพจาก United Daily News)
3. ป้องกันดินทรุด ส่งผลต่อการเดินรถของรถไฟความเร็วสูง ไต้หวันดัน ดื่มเกาเหลียง–ช่วยเกาเถี่ย (รถไฟความเร็วสูง)
ช่วงนี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องชูคำขวัญที่น่าสนใจว่า ดื่มเกาเหลียง–ช่วยเกาเถี่ย เกาเถี่ย (高鐵) ก็คือรถไฟความเร็วสูงนั่นเอง ฟังแล้ว หลายคนอาจแปลกใจว่า ดื่มเหล้าเกาเหลียงจะช่วยรถไฟความเร็วสูงได้อย่างไร?
ชาวนาในเมืองหยุนหลินสูบน้ำบาดาลขึ้นมาทำนา ทำให้ดินทรุดลงปีละประมาณ 6.5 ซม. ส่งผลกระทบต่อการเดินรถของรถไฟความเร็วสูง
ปัญหาที่เกิดกับรถไฟความเร็วสูงในขณะนี้ คือพื้นที่บริเวณรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่าน โดยเฉพาะทางภาคกลางตอนล่างถึงภาคใต้ อย่างที่หยุนหลิน เจียอี้และไถหนาน มีสภาพการทรุดตัวของดินค่อนข้างจะเด่นชัด โดยเฉพาะที่หยุนหลิน ดินทรุดลงปีละประมาณ 6.5 ซม. สาเหตุมาจากเกษตรกรในพื้นที่เหล่านี้ สูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เพื่อการเพาะปลูกหรือทำบ่อเลี้ยงปลา รัฐบาลนอกจากหามาตรการป้องกัน เช่น มีตรวจวัดภาวะการทรุดตัวของดินตลอดเส้นทาง ห้ามมีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ ส่งเสริมให้ปลูกพืชทนแล้งหรือใช้น้ำน้อย แต่นั่นไม่ได้ช่วยสกัดการทรุดตัวได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
ชาวนาในเมืองหยุนหลินสูบน้ำบาดาลขึ้นมาทำนา ทำให้ดินทรุดลงปีละประมาณ 6.5 ซม. ส่งผลกระทบต่อการเดินรถของรถไฟความเร็วสูง
เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา นายเฉินจี๋จ้ง ประธานคณะกรรมการการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวงเกษตรของไต้หวัน เดินทางไปร่วมพิธีลงนามทำเกษตรพันธสัญญาปลูกข้าวฟ่าง ระหว่างสหกรณ์การเกษตรเขตเสวียเจี่ยในนครไถหนานกับโรงผลิตสุราเกาเหลียงที่ขึ้นชื่อของจินเหมิน พื้นที่ปลูกในระยะแรก 532 เฮกตาร์ หรือประมาณ 3,325 ไร่ เพื่อนำเอาผลผลิตข้าวฟ่าง หรือที่ภาษาจีนเรียกว่าเกาเหลียง ไปผลิตสุราเกาเหลียงจินเหมิน
การปลูกข้าวฟ่างที่เป็นพืชทนแล้งแทนที่พืชผลชนิดอื่น ช่วยแก้ปัญหาดินทรุดได้ ขณะที่เกษตรกรมีรายได้ดีและมั่นคง
ศูนย์ปรับปรุงพันธุ์ธัญพืชไถหนานกล่าวว่า ปกติข้าวฟ่างเป็นพืชทนแล้งอยู่แล้ว ทางศูนย์มีการปรับปรุงข้าวฟ่างพันธุ์ใหม่ ไม่ต้องให้น้ำเลย ทำให้เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวฟ่างเพื่อนำไปผลิตเหล้าเกาเหลียง นอกจากจะมีรายได้ดีและมั่นคงกว่าปลูกพืชชนิดอื่นแล้ว ยังช่วยประหยัดการใช้น้ำในการเพาะปลูก ช่วยชะลอปัญหาดินทรุด ลดความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อการเดินรถของรถไฟความเร็วสูงลงได้ด้วย
การปลูกข้าวฟ่างที่เป็นพืชทนแล้งแทนที่พืชผลชนิดอื่น ช่วยแก้ปัญหาดินทรุดได้ ขณะที่เกษตรกรมีรายได้ดีและมั่นคง
ประธานคณะกรรมการการเกษตรกล่าวว่า พื้นที่เพาะปลูกพืชผลอย่างอื่น เมื่อเปลี่ยนมาปลูกข้าวฟ่างพันธุ์ใหม่ จะช่วยประหยัดน้ำได้ 10,000 เมตริกตันต่อ 1 เฮกตาร์ หากเทียบเป็นผลผลิตสุราเกาเหลียง 1 ขวด ประหยัดน้ำได้ 3.5 เมตริกตัน โดยตั้งเป้าหมายขยายพื้นที่เพาะปลูกเป็น 10,000 เฮกตาร์ จะช่วยประหยัดน้ำได้ 100 ล้านเมตริกตัน เทียบเท่าเขื่อนหนานฮั่วได้ 1 เขื่อน อีกทั้งเกษตรกรจะมีรายได้ดี เพราะราคาประกันที่โรงสุราจินเหมินรับซื้อข้าวฟ่าง กก. ละ 21 เหรียญ รัฐบาลยังจะอุดหนุนเกษตรกรในฐานะช่วยแก้ปัญหาดินทรุด 45,000 เหรียญต่อ 1 เฮกตาร์ บวกกับเงินอุดหนุนรายการอื่น ๆ ปลูกข้าวฟ่าง 1 เฮกตาร์หรือ 6.25 ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้สูงกว่า 160,000 เหรียญไต้หวัน ดีกว่าปลูกพืชชนิดอื่น
โรงผลิตสุราเกาเหลียงจากข้าวฟ่างที่จินเหมิน เป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้กับเทศบาลจินเหมินเป็นอย่างมาก
ต่อไป คนดื่มเหล้าเกาเหลียง จะได้ชื่อว่า เป็นผู้ช่วยแก้ปัญหาให้เกาเถี่ยด้วยนะครับ
สุราเกาเหลียงชนิดต่าง ๆ จากจินเหมิน