1. สวัสดีปีเถาะหัวเราะร่า ขอให้ท่านสมปรารถนาในสิ่งหวัง ให้กายใจพร้อมแข็งแกร่งมีพลัง ก้าวหน้าดั่งใจหมายสุดเปรมปรีดิ์
ปีนี้เป็นปีนักษัตรปีเถาะ หรือกระต่าย (兔 อ่านว่า ทู่) ซึ่งเป็นสัตว์เล็ก ๆ กินแต่พืช ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใคร คนไทยอาจไม่คุ้นเคยกับกระต่ายเหมือนวัวที่เราใช้งาน หรือเหมือนหมาและไก่ที่เราคุ้นยิ่งกว่าคุ้น แต่ครั้งใดที่เราแหงนหน้ามองพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ เราก็จะได้เห็นรูปเจ้ากระต่ายน้อยอยู่บนดวงจันทร์สีเงินทุกครั้งไป
บรรยากาศในสถานีรถไฟไทเป ชาวไต้หวันเดินทางกลับบ้านเพื่อฉลองตรุษจีนกับครอบครัว
กระต่ายในภาษิต คำพังเพย และสำนวนจีน 兔死狗烹 (อ่านว่า ทู่ สื่อ โก่ว เพิง) แปลว่า กระต่ายตาย หมาที่ล่ากระต่ายก็ถูกฆ่า สำนวนตรรกะเดียวกับ เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพลนั่นเอง 守株待兔 อ่านว่า โส่ว จู ไต้ ทู่ แปลตรงตัวคือ เฝ้าตอรอกระต่าย ตรงกับคำพังเพยของไทยที่ว่า รอราชรถมาเกย ยังมีคำที่นิยมใช้คำพ้องเสียงกับถู่ ที่แปลว่ากระต่าย มาใช้ในสำนวนต่าง ๆ อย่างเช่น 前途似錦 อ่านว่า เฉี่ยน ถู ซื่อ จิ่น ที่แปลว่าอนาคตสดใส เป็น錢兔似錦 เงินทองและกระต่ายสดใส นอกจากนี้ สำนวนที่หนุ่มสาวในไต้หวันนิยมใช้กัน อย่าง I love you too เป็น I love you 兔 เป็นต้น
ชาวไต้หวันจับจ่ายซื้อข้าวของและอาหารเตรียมต้อนรับปีใหม่หรือตรุษจีน ปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 ม.ค. 66 (Photo Credit : AP/達志影像)
2. ระวังสุขภาพ! เช้าวันอังคารที่ 24-25 อุณหภูมิพื้นที่ราบโล่งภาคเหนือลดแตะ 3°c ยอดเขาสูง 1,500 ม. ขึ้นไป มีโอกาสเห็นหิมะตก
ในวันฉูซี่ (除夕) หรือคืนก่อนตรุษจีน ตรงกับวันเสาร์ที่ 21 มกราคม เป็นวันซึ่งสมาชิกในครอบครัวมารวมญาติเพื่อรับประทานอาหารมื้อค่ำสิ้นปี มีความหมายว่าครบถ้วนสมบูรณ์ อากาศจะเริ่มหนาวแห้ง ในวันตรุษจีนหรือวันอาทิตย์ที่ 22 อากาศดี ไม่ร้อนไม่หนาวกำลังดีและไม่มีฝนตก แต่บ่ายวันจันทร์ที่ 23 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของปีใหม่หรือวันชูเอ้อ เป็นวันกลับบ้านแม่ของฝ่ายหญิง จะมีลมหนาวกำลังแรงลูกใหม่มาเยือน ทำให้อุณหภูมิทั่วไต้หวันลดฮวบลง โดยเฉพาะเช้าวันอังคารที่ 24-25 มกราคม พื้นที่ภาคเหนืออุณหภูมิลดลงเหลือ 6-7°c พื้นที่ราบโล่งอาจแตะ 3°c ยอดเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,500 ม. ขึ้นไป อุณหภูมิลดเหลือ 0°c หากมีความชื้นเพียงพอ มีโอกาสเห็นหิมะตก ขณะที่ภาคใต้ อย่างนครเกาสง ช่วงเช้าก็ลดเหลือ 13°c วันพุธที่ 24 อากาศอบอุ่นขึ้น จนถึงวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม วันสุดท้ายของวันหยุดเทศกาลตรุษจีน จะมีลมหนาวลูกใหม่มาเยือนอีก ทำให้อุณหภูมิลดลง จะเห็นได้ว่า อากาศเดียวร้อนเดียวหนาว แปรปรวนมาก ต้องดูแลสุขภาพ
เช้าวันอังคารที่ 24-25 ม.ค. ภาคเหนืออุณหภูมิลดเหลือ 6-7°c พื้นที่ราบโล่งลดลงแตะ 3°c
3. 9 สิ่งที่ต้องทิ้งก่อนตรุษจีน หากไม่อยากโชคร้ายตลอดทั้งปี
ก่อนถึงวันตรุษจีน นอกจากต้องเตรียมอาหารและข้าวของต่าง ๆ ไว้ต้อนรับตรุษจีนแล้ว สิ่งสำคัญและเป็นประเพณีที่ต้องปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งก็คือต้าเส่าฉู (大掃除) หมายถึง การปัดกวาดทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ เพื่อรอต้อนรับวันตรุษจีนซึ่งถือเป็นวันปีใหม่ของชาวจีน โดยอย่างช้าที่สุดต้องทำความสะอาดให้แล้วเสร็จภายในวันฉูซี่ (除夕) หรือวันส่งท้ายปีเก่า ซึ่งจะเป็นวันที่ 30 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติจีน (ตรงกับวันที่ 21 ม.ค.) ถือเป็นวันสุดท้ายของปี ชาวไทยเชื้อสายจีนเรียกวันนี้ว่า วันไหว้ ประเพณีต้าเส่าฉู ยังมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ว่า เป็นการโละสิ่งเก่า ๆ ที่ไม่ดีทิ้งไปและรอรับสิ่งใหม่ที่ดีงามเข้ามา สำหรับความเชื่อในไต้หวัน การปัดกวาดทำความสะอาดครั้งใหญ่มี 9 สิ่งที่ควรจะทิ้งไป มิฉะนั้นจะสูญเสียทรัพย์สินเงินทองและโชคไม่ดีตลอดปี 9 สิ่งที่ว่านี้ประกอบด้วย
วันก่อนปีใหม่หรือวันฉูซี่ มีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งก็คือ ปัดกวาดทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่เพื่อรอต้อนรับวันตรุษจีน (ภาพจาก TVBS)
1) ถ้วยชาม แก้วที่แตกหรือบิ่น
2) ต้นไม้หรือดอกไม้ที่เหี่ยวเฉา
3) ยารักษาโรคที่หมดอายุ
4) อาหารหรือขนมที่หมดอายุ
5) เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้งานไม่ได้แล้ว
ต้าเส่าฉู มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ว่า เป็นการโละสิ่งเก่า ๆ ที่ไม่ดีทิ้งไปและรอรับสิ่งใหม่ที่ดีงามเข้ามา
6) ตุ๊กตาเก่าๆ
7) นิตยสารเก่าๆ
8) เสื้อผ้าเก่าๆ
9) ข้าวของที่เห็นแล้วทำให้จิตใจเศร้าหมอง
4. 10 ข้อห้ามช่วงเทศกาลตรุษจีน เชื่อว่าเมื่อปฏิบัติตามแล้ว ชีวิตจะราบรื่นตลอดทั้งปี
ตามประเพณีและความเชื่อในไต้หวัน ช่วงตรุษจีนมีข้อห้าม 10 ประการดังนี้ :
ประการที่ 1 ห้ามซักผ้า ตากเสื้อผ้า อาบน้ำ และสระผมในคืนวันฉูซี่ เพราะหากซักและตากเสื้อผ้าไว้ เชื่อว่าภูตผีจะเข้ามาแอบสิงสถิตอยู่ใต้เสื้อผ้าที่ตากเอาไว้บนราว จะนำความอัปมงคลมาสู่ครอบครัว และการตากผ้าที่ชื้นแฉะไว้นอกบ้านในคืนวันส่งท้ายปีเก่ายังเชื่อว่า จะทำให้สุขภาพไม่ดีตลอดปี ส่วนการอาบน้ำควรอาบน้ำให้เรียบร้อยก่อนทานอาหารมื้อค่ำ ห้ามอาบน้ำและสระผมหลังเที่ยงคืนเพราะเชื่อว่าจะชะล้างโชคลาภทิ้งไป
คืนวันฉูซี่ ห้ามตากเสื้อผ้าไว้นอกบ้าน เชื่อว่าภูตผีจะเข้ามาแอบอยู่ใต้เสื้อผ้า จะนำความอัปมงคลมาสู่ครอบครัว (ภาพจากtw.bid.yahoo.com)
ประการที่ 2 ให้ปัดกวาดทำความสะอาดบ้านทิ้งขยะก่อนทานอาหารค่ำของวันฉูซี่ ห้ามทิ้งขยะเทน้ำเสียหรือกวาดบ้านหลังเที่ยงคืนของวันฉูซี่ไปจนถึงวันที่ 5 ตามปฏิทินจันทรคติ เนื่องจากเชื่อว่าจะปัดกวาดโชคลาภและความสุขออกไป
ประการที่ 3 ห้ามทำข้าวของตกแตก เช่น จาน ถ้วยชามหรือแก้วน้ำ เพราะเชื่อว่า ปีใหม่จะโชคไม่ดี หรือต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง หากทำแตกให้ใช้กระดาษสีแดงห่อเศษถ้วยชามหรือแก้วที่แตกเอาไว้ พร้อมพูดว่า ซุ่ยซุ่ยผิงอาน (歲歲平安) แปลว่า ราบรื่นตลอดปี หรือ ลั่วตี้คายฮัว ฟู่กุ้ยหรงหัว (落地開花 富貴榮華) แปลว่า ร่วงลงสู่พื้นดิน ออกดอกออกผล ร่ำรวยรุ่งเรือง
ประการที่ 4 ห้ามทะเลาะเบาะแว้ง ดุด่าลูกหลาน หรือใช้คำพูดที่ไม่เป็นมงคลในคืนวันส่งท้ายปีเก่า เช่น เต่าเหมย (倒楣) หรือ ซวย (衰) แปลว่า ซวย เพราะจะทำให้ครอบครัวขาดความปรองดอง และขาดความผาสุก ควรใช้คำพูดที่เป็นมงคล ในสมัยก่อน คืนวันฉูซี่ยังมีชื่อเรียกว่า จี๋เสียงเย่ (吉祥夜) แปลว่า คืนแห่งความเป็นสิริมงคล
ประการที่ 5 คืนวันฉูซี่ ห้ามกินอาหารทุกอย่างจนหมดเกลี้ยง โดยเฉพาะเมนูปลา ซึ่งเป็นอาหารมงคลที่อาหารมื้อค่ำของคืนวันฉูซี่จะขาดไม่ได้ เพราะปลา ในภาษาจีนคือ อวี๋ (魚) พ้องเสียงกับคำว่า 餘 ที่แปลว่า เหลือเฟือ พ้องกับสำนวนจีนที่ว่า เนี๋ยนเนี๋ยนโหย่วอวี๋ (年年有餘 ) ที่แปลว่า มีเหลือเฟือทุกปี ดังนั้นในอาหารมื้อค่ำของคืนวันส่งท้ายปีเก่า เมนูปลา ทานได้แต่ห้ามทานหัวปลาและหางปลา บางบ้านที่เคร่งประเพณีมาก ๆ เมนูปลาให้วางไว้บนโต๊ะเฉย ๆ ห้ามแตะเป็นอันขาด
คืนวันฉูซี่ เมนูปลาเป็นอาหารมงคล ทานได้แต่ห้ามทานหัวปลาและหางปลา (ภาพจาก guide.michelin.com.tw)
ประการที่ 6 คืนวันฉูซี่ห้ามไปเยี่ยมบ้านคนอื่น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่รับประทานอาหารมื้อค่ำ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ครอบครัวของบ้านที่เราไปเยือนปราศจากความสุข จะถูกคนอื่นรบกวนตลอดปี ซึ่งธรรมเนียมนี้มีความสำคัญมากห้ามฝ่าฝืนเป็นอันขาด มิฉะนั้นถือว่าไร้มารยาท
ประการที่ 7 ห้ามกินยาในวันส่งท้ายปีเก่า คนไต้หวันเชื่อว่าหากกินยาในวันนี้จะทำให้ต้องกินยาตลอดทั้งปี สมัยก่อนคนจีนจะใช้วิธีต้มยาสมุนไพรจีน ในคืนวันนี้ก็จะต้องเทยาทิ้งให้หมด (ปัจจุบัน คนที่มีโรคประจำตัวน่าจะได้รับการยกเว้น)
ประการที่ 8 คืนวันส่งท้ายปีเก่าห้ามปิดไฟ ห้ามกลับบ้านดึกเกินไป หรือเข้านอนเร็วจนเกินไป ตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวจีนคือ วันส่งท้ายปีเก่าต้องเปิดไฟตลอดทั้งคืน เชื่อว่าปีใหม่นี้หน้าที่การงานจะรุ่งเรือง เพราะมีแสงไฟช่วยส่องนำทาง ในคืนวันนี้ห้ามกลับบ้านดึกเกินเที่ยงคืนและห้ามนอนก่อนเที่ยงคืน ต้องรอให้ผ่านเที่ยงคืนไปแล้วซึ่งถือว่าเข้าสู่วันใหม่ที่เป็นวันตรุษจีน จึงจะเข้านอนได้ ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัตินี้ภาษาจีนเรียกว่าโส่วซุ่ย (守歲) แปลว่า เฝ้าปี โดยคำว่านอน ภาษาไต้หวันคือ ขุ่น (睏) ซึ่งคำนี้เสียงจะพ้องกับคำว่า ฉงคุ่น (窮困) ที่แปลว่า ยากจน ดังนั้นการที่ไม่นอนในคืนวันสุดท้ายปีเก่า จึงเชื่อว่าจะทำให้หลุดพ้นจากความยากจน
ห้ามให้อั่งเปาเป็นเลขเดี่ยว เช่น 1,000 3,000 5,000 ต้องให้เป็นเลขคู่ เช่น 1,200 1,600 3,200 3,600 เป็นต้น (ภาพจาก cool3c.com)
ประการที่ 9 ห้ามค้างชำระหนี้สินข้ามปี ชาวจีนเชื่อว่าหากติดค้างหนี้สินผู้อื่นต้องรีบชำระก่อนวันสิ้นปี ห้ามติดค้างหนี้สินข้ามปี มิฉะนั้นจะทำให้ดวงไม่ดี ไม่มีโชคลาภและมีหนี้สินตลอดปี
ประการที่ 10 ห้ามให้อั่งเปาเป็นเลขเดี่ยว ตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวจีนหลังจากทานอาหารมื้อค่ำในวันส่งท้ายปีเก่าเรียบร้อยแล้ว จะเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญมาก คือจะต้องมีการแจกอั่งเปาให้คนในครอบครัว ผู้ใหญ่จะให้อั่งเปาแก่เด็ก คนที่ทำงานแล้วหรือมีครอบครัวแล้วต้องให้อั่งเปาแก่พ่อแม่ การให้เงินอั่งเปาห้ามให้เป็นเลขเดี่ยว อย่างเช่น 1,000 3,000 5,000 ต้องให้เป็นเลขคู่ เช่น 1,200 1,600 3,200 3,600 เป็นต้น และซองอั่งเปาก็ต้องใช้ซองใหม่ห้ามใช้ซองเก่า