
เมื่อวานนี้ (6 ก.ค.) ศูนย์บัญชาการควบคุมโรค (ศบค.) ไต้หวัน แถลงว่า พบผู้ป่วยยืนยันในประเทศ 2 ราย ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนชนิด BA.5 ซึ่งเป็นการติดเชื้อในครอบครัวจากญาติที่เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา โดยเบื้องต้น ศบค.ไต้หวัน วินิจฉัยว่าชนิด BA.5 ยังไม่ได้แพร่ระบาดเข้าสู่ชุมชน
สถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติไต้หวัน (National Health Research Institutes) ชี้ว่า ช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนปีนี้ที่อังกฤษมีจำนวนผู้ป่วยยืนยันที่ติดเชื้อไวรัสชนิด BA.4 และ BA.5 คิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยยืนยันทั้งหมด ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature พบว่า โอไมครอนชนิด BA.4 และ BA.5 ไม่เพียงหลบภูมิคุ้มกันในร่างกายได้มากขึ้น แม้แต่เมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แล้วหลังติดเชื้อก็ทำให้แอนติบอดีในร่างกายลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ และยังมีการสันนิษฐานว่ามีการกลายพันธุ์บริเวณหนามเพื่อให้เข้าจับกับเซลล์ปอดของมนุษย์ได้ดีขึ้น และพบการกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ(Receptor binding domain) ซึ่งเฉพาะเจาะจงต่อเชื้อไวรัส
นายแพทย์หวงลี่หมิน (黃立民) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็กมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University Children's Hospital) ให้สัมภาษณ์กับสื่อพร้อมชี้ให้เห็นว่า ความแตกต่างหลักๆ ของชนิด BA.4 และ BA.5 กับ BA.1 และ BA.2 คือการป้องกันภูมิคุ้มกันของวัคซีน โดยมีอัตราภูมิคุ้มกันแย่กว่า BA.1 ประมาณ 8 เท่า ส่วน BA.2 แย่กว่าประมาณ 4-6 เท่า จึงส่งผลให้แพร่เชื้อได้เร็ว ดังนั้นหากเริ่มแพร่กระจายสู่ชุมชนก็อาจเกิดเป็นการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ช่วงเดือนสิงหาคมและทำให้มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันกลับเพิ่มขึ้นทะลุ 50000 กว่ารายต่อวันอีกครั้ง ดังนั้นการสวมใส่หน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือบ่อยๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้