
เมื่อวันที่ 15 เม.ย. นางจางซิ่วเยวียน(張秀鴛) อธิบดีกรมบริการคุ้มครอง กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน เปิดเผยในงานแถลงข่าว “ปกป้องเด็ก หยุดการทารุณเด็ก” ว่าปัญหาการทารุณกรรมเด็กจะไม่หายไปเพียงเพราะอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง จากข้อมูลพบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้ไต้หวันจะเผชิญกับวิกฤตเด็กเกิดน้อย แต่อัตราเด็กทารกและเด็กเล็กที่ถูกทารุณกรรมยังคงเพิ่มขึ้น จาก 2.26% เป็น 2.65% หรือเพิ่มขึ้น 1.2 เท่า โดยในแต่ละปี มีเด็กทารกและเด็กเล็กประมาณ 2,000 คนถูกทารุณกรรม
ในปี พ.ศ. 2567 ไต้หวันมีคดีทารุณกรรมเด็กเกิดขึ้นทั้งหมด 2,425 คดี โดย 93% เป็นคดีที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว และผู้กระทำความผิดกว่า 80% คือพ่อแม่ของเด็ก ส่วนอีก 7% เกิดขึ้นในสถานรับเลี้ยงเด็ก รูปแบบการทารุณกรรมเด็กที่พบมากที่สุดคือการทำร้ายร่างกาย คิดเป็นเกือบ 50% ตัวอย่างเช่น เมื่อเด็กงอแงร้องไห้ ผู้ดูแลควบคุมตัวเองไม่ได้ชั่วขณะ จึงอาจใช้มือตีเด็กหรือเขย่าตัวเด็ก ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เป็นอันตรายอย่างมาก
สำหรับอัตราการทารุณกรรมเด็กในไต้หวันที่เพิ่มขึ้น 1.2 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นางจางซิ่วเยวียน เน้นย้ำว่า ไม่ใช่ว่าในอดีตจะไม่มีเหตุการณ์ทารุณกรรมเด็กมากมายขนาดนี้ ปัญหาเหล่านี้มีมาโดยตลอด เพียงแต่ในปัจจุบัน ระบบการแจ้งเหตุและกฎหมายที่เกี่ยวข้องของไต้หวันมีความสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับประชาชนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมและการทารุณกรรมเด็กเพิ่มมากขึ้น การลงโทษที่ไม่เหมาะสมจึงไม่ใช่เรื่องภายในครอบครัวที่คนอื่นไม่ควรยุ่งเกี่ยวอีกต่อไป ความเต็มใจในการช่วยเด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ในการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสจึงเพิ่มมากขึ้น
งานแถลงข่าว “ปกป้องเด็ก หยุดการทารุณเด็ก” (ภาพจาก CNA)
นางจางซิ่วเยวียนระบุว่า การปฏิบัติต่อทารกและเด็กเล็กอย่างไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในช่วงที่ผู้ปกครองดูแลเลี้ยงดู สาเหตุหลักของปัญหานี้ คือการดูแลกิจวัตรประจำวันของเด็ก ทั้งการนอน การกิน การเล่นคิดเป็น 52% ของสาเหตุทั้งหมด ตัวอย่างเช่น การร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล ไม่ยอมนอนตอนกลางคืน กินไปเล่นไป ไม่เก็บของเล่น เป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นช่วงเวลาที่ทำให้พ่อแม่รู้สึกหัวเสีย รองลงมาคือ การที่พ่อแม่ทนเสียงร้องของลูกไม่ไหว ปล่อยลูกไว้ลำพัง และขาดความรู้ในการเลี้ยงดูเด็กอย่างเหมาะสม ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการดูแลเด็ก
นางจางซิ่วเยวียน เผยว่า ผู้ดูแลควรเข้าใจว่า การร้องไห้เป็นวิธีปกติที่เด็กใช้ในการสื่อสาร และการสร้างกิจวัตรประจำวันที่เป็นระบบให้แก่เด็ก จะช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัย และรับรู้ว่ามีคนคอยดูแลพวกเขา เด็กจะค่อย ๆ เรียนรู้ว่า ไม่จำเป็นต้องร้องไห้เพื่อเรียกร้องความสนใจ อย่างไรก็ดี การเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของทั้งครอบครัว ไม่ใช่หน้าที่ของแม่คนเดียว การให้แม่ได้หยุดพักจากการเลี้ยงลูกบ้าง ออกไปเดินเล่น หรือการกลับไปทำงาน ล้วนเป็นทางเลือกที่ดีในการพักผ่อนและเติมพลัง