close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

ขุนพลแรงงานไทย วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม 2563

  • 01 May, 2020
ขุนพล แรงงานไทย
แรงงานไทยเมาจัดเดินขึ้นทางด่วน 5 กม. กอดราวเหล็กข้างทางและมีอาการเหนื่อยหายใจหอบ

1. แรงงานต่างชาติเข้ารับการกักตัว 14 วันกว่า 3,000 คน หากไม่ได้รับค่าจ้างและไม่หนีกักตัว ยื่นขอรับเงินชดเชยวันละ 1,000 เหรียญจากรัฐบาลได้

       จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการพบว่า ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคมเป็นต้นมา จนถึงวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา แรงงานต่างชาติที่เดินทางเข้าไต้หวันจำนวนทั้งสิ้น 3,169 คน ในจำนวนนี้ เป็นแรงงานภาคการผลิต ซึ่งนายจ้างเป็นผู้จัดหาสถานที่กักตัว 14 วัน จำนวน 2,975 คน และแรงงานต่างชาติในภาคสวัสดิการสังคม ได้แก่ผู้อนุบาล ผู้ช่วยงานบ้าน รวมถึงแรงงานต่างชาติที่กลับจากการเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวที่ต้องไปกักตัวในสถานที่กักตัวรวมของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการจำนวน  374 คน แรงงานต่างชาติที่เข้ารับการกักตัวเหล่านี้ ระหว่างที่กักตัว 14 วัน หากไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างและไม่ได้ฝ่าฝืนมาตรการป้องกันโรค หลังพ้นการกักตัวแล้ว สามารถยื่นขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาลได้ ในอัตราวันละ 1,000 เหรียญไต้หวัน

       กระทรวงแรงงานกล่าวว่า เงินชดเชยป้องกันโรคโควิด-19 มีวัตถุประสงค์ให้การชดเชยผู้ถูกตัวในช่วงระหว่าง 14 วัน สูญเสียอิสรภาพส่วนตัว และความเสียหายทางเศรษฐกิจเนื่องจากไม่มีรายได้ นายจ้างหรือบริษัทจัดหางานจะนำเงินชดเชยของแรงงานต่างชาติดังกล่าว มาจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการกักตัวไม่ได้

       กรมสังคมสงเคราะห์ของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการกล่าวว่า ณ วันที่ 16 เมษายน 2563 มีผู้ถูกตัว 14 วัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไต้หวันยื่นคำร้องขอรับเงินชดเชยแล้ว 43,830 ราย หลังจากตรวจสอบแล้วไม่พบว่าฝ่าฝืนกฎระเบียบป้องกันโรคและไม่มีรายได้จริง จะได้รับเงินชดเชยวันละ 1,000 เหรียญ รวม 14 วัน เป็น 14,000 เหรียญไต้หวัน และสำหรับผู้มีคุณสมบัติข้างต้น วันรุ่งขึ้นหลังพ้นจากการกักตัว 14 วัน สามารถยื่นคำร้องขอเงินชดเชยได้

       ด้านศูนย์บัญชาการควบคุมโรคชี้ว่า สถานกักตัวรวมของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ ไม่ได้ให้บริการฟรี ผู้รับการกักตัวต้องเสียค่าใช้จ่าย ชาวต่างชาติวันละ 4,500 เหรียญ ชาวไต้หวัน 3,000 เหรียญ แรงงานต่างชาติ 1,500 เหรียญ

       กระทรวงแรงงานชี้แจงว่า หลังจากที่ได้ต่อรองราคาแล้ว แรงงานต่างชาติที่เข้ารับการกักตัวในสถานกักตัวรวมของรัฐบาล ค่าใช้จ่ายลดลงเหลือวัน 1,500 เหรียญ ประกอบด้วยค่าที่พัก ค่าอาหาร 3 มื้อและค่าดูแลสุขภาพ 14 วันเป็นเงิน 21,000 เหรียญ เงินก้อนนี้ นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หลังจากแรงงานต่างชาติกักตัว 14 วันแล้ว กระทรวงแรงงานจะมีหนังสือถึงนายจ้างเพื่อให้ไปชำระเงิน โดยนายจ้างจะหักค่าใช้จ่ายนี้จากแรงงานต่างชาติไม่ได้

       และนั่นเป็นแรงงานในภาคสวัสดิการสังคมและแรงงานที่กลับจากการไปเยี่ยมครอบครัว ส่วนแรงงานภาคการผลิต ซึ่งนายจ้างเป็นผู้จัดหาสถานที่กักตัว 14 วัน โดยต้องเป็นห้องพักห้องละ 1 คน และมีคนควบคุมดูแลไม่ให้ผู้ถูกกักตัวออกนอกสถานที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงต้องติดตั้งอุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรค นายจ้างจะหักค่าใช้จ่ายเหล่านี้จากแรงงานต่างชาติไม่ได้เช่นกัน

2. พิษโควิด-19 ทำอัตราการว่างงานในไต้หวันเพิ่มขึ้น พ่อเมืองนครนิวไทเปแนะชะลอการนำเข้าแรงงานต่างชาติภาคการผลิตชั่วคราว

       ผลกระทบจากโควิด-19 ทำอัตราการว่างงานในประเทศเพิ่มสูงขึ้น นายโหวโหย่วอี๋ ผู้ว่าการนครนิวไทเปเสนอให้ชะลอการนำเข้าแรงงานต่างชาติชั่วคราว ส่งเสริมให้นายจ้างหันมาว่าจ้างแรงงานท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานอันเนื่องมาจากผลกระทบจากโรคโควิด-19

       ผู้ว่าการนครนิวไทเปกล่าวว่า สำนักงานสถิติและบัญชีกลาง สภาบริหารประกาศอัตราการว่างงานในเดือนมีนาคม 3.72% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง จึงเสนอว่า ชะลอการนำเข้าแรงงานต่างชาติชั่วคราว ส่งเสริมให้นายจ้างหันมาว่าจ้างแรงงานในประเทศเพิ่มขึ้น ต่อข้อเสนอของพ่อเมืองนครนิวไทเปดังกล่าว กระทรวงแรงงานยังไม่มีปฏิกิริยาเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด

นายโหวโหย่วอี๋ ผู้ว่าการนครนิวไทเปเสนอให้ชะลอการนำเข้าแรงงานต่างชาติชั่วคราว ลดปัญหาการว่างงาน

3. พ่อเมืองนครนิวไทเปเตือนสถานประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคในหอพักแรงงานต่างชาติอย่างเคร่งครัด ป้องกันเกิดการระบาดหมู่ซ้ำรอยกับสิงคโปร์

       นายโหวโหย่วอี๋ ผู้ว่าการนครนิวไทเปกล่าวเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ขณะเป็นประธานในที่ประชุมรับมือสถานการณ์โรคโควิด-19 ครั้งที่ 46 และรับฟังรายงานการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ของนครนิวไทเปว่า จะมีการตรวจสอบหอพักแรงงานต่างชาติของสถานประกอบการต่างๆ แบบจู่โจมโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า จึงขอให้ผู้ประกอบการดูแลแรงงานต่างชาติและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้ซ้ำรอยสถานการณ์ในสิงคโปร์ที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ

พ่อเมืองนครนิวไทเปตรวจมาตรการป้องกันโรคในหอพักแรงงานต่างชาติ

       ด้านนายเฉินรุ่ยเจีย ผู้อำนวยการกองแรงงาน นครนิวไทเปกล่าวรายงานต่อที่ประชุมว่า ในพื้นที่นครนิวไทเป สถานประกอบการที่ว่าจ้างแรงงานต่างชาติมากว่า 100 คนขึ้นไปมี 39 บริษัท ว่าจ้างแรงงานต่างชาติระหว่า 50-70 คน มี 57 บริษัท กองแรงงานได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปให้คำแนะนำสถานประกอบการเหล่านี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ภายในเวลา 3 วัน ส่วนสถานประกอบการที่มีจำนวนแรงงานต่างชาติต่ำกว่า 50 คน ถูกจัดให้เป็นกลุ่มเป้าหมายการตรวจสอบระลอกที่ 2 นอกจากโรงงานต่างๆ แล้ว ยังเดินทางไปประชาสัมพันธ์ตามร้านอาหาร ร้านค้าที่ให้บริการแรงงานต่างชาติ รวมถึงสถานที่ที่มีแรงงานต่างชาติไปชุมนุมกันหนาแน่น อย่างสถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้าเป็นต้น

       นครนิวไทเป มีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่มากเป็นอัน 3 ของไต้หวัน รองจากนครเถาหยวน และนครไทจง โดยมีแรงงานต่างชาติจำนวน 99,000 คน กว่าร้อยละ 50 ทำงานอยู่ในภาคการผลิตหรือโรงงานต่างๆ

นครนิวไทเปใช้วิธีตรวจมาตรการป้องกันโรคในหอพักแรงงานต่างชาติแบบจู่โจม

4. นางซือเจินหย่าง ขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงาน ไต้หวัน

       กระทรวงแรงงานไต้หวัน ได้มีคำสั่งแต่งตั้งนางซือเจินหย่าง (Shih Chen-Yang) รองอธิบดีกรมพัฒนากำลังแรงงาน ขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนากำลังแรงงาน แทนนางหวงชิวกุ้ย ที่เกษียณราชการตั้งแต่ 16 มกราคม  2563 และมีนายหลินซันกุ้ย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานรักษาราชการแทน ทั้งนี้มีผลตั้งแต่ 20 เมษายน 2563 เป็นต้นไป

นางซือเจินหย่าง อธิบดีกรมพัฒนากำลังแรงงานคนใหม่

       นางซือเจินหย่าง จบการศึกษาปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัย National Taiwan Normal University (NTNU) และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Chinese Culture University (CCU) 

       ก่อนได้รับการแต่งตั้ง เคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมพัฒนากำลังแรงงาน รับผิดชอบงานด้านการจัดหางานในประเทศ การพัฒนาฝีมือแรงงานและการทำงานของคนพิการ ฯลฯ และก่อนหน้านั้น เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสาขาภาคกลางและใต้ของกรมพัฒนากำลังแรงงาน ผู้อำนวยการศูนย์จัดหางานและศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานนครไถหนานเป็นต้น

       กรมพัฒนากำลังแรงงาน นอกจากดูแลเรื่องการจัดหางาน ปัญหาแรงงานภายในประเทศ เรื่องการเพิ่มทักษะและพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงการทำงานของคนพิการและผู้สูงอายุแล้ว ยังเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องแรงงานต่างชาติโดยตรง ดังนั้นการปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานนี้ จึงเป็นที่จับตามองของบรรดานายจ้าง และบริษัทจัดหางานว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายแรงงานต่างชาติหรือไม่? อย่างไร?

นางซือเจินหย่าง อธิบดีกรมพัฒนากำลังแรงงานคนใหม่

5. หวาดเสียว! คนงานไทยเมาจัดกลับหอไม่ถูก เดินขึ้นทางด่วน 5 กม. ถูกตำรวจช่วยเหลือลงมาได้ โดนปรับ 3,000 เหรียญ

       แรงงานไทยรายหนึ่ง ดื่มสุราเมาจนจำทิศทางกลับโรงงานไม่ได้ เดินโซเซขึ้นทางด่วนสาย 74 เชื่อมระหว่างไทจงและจางฮั่ว ท่ามกลางรถยนต์ที่แล่นผ่านไปด้วยความเร็วสูง ทำเอาผู้ขับรถตกใจไปตามๆ กัน ต่างโทรศัพท์แจ้งตำรวจไปช่วยเหลือกลับลงมาได้อย่างปลอดภัย

       เหตุการณ์ที่น่าหวาดเสียวครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา บนทางด่วนเชื่อมระหว่างไทจงและจางฮั่ว ช่วงเขตอูรื่อ มีคนเมาสุราเดินเซไปเซมาอยู่ไหลทางของทางด่วน ทำเอาคนขับรถผ่านไปมาตกใจ เพราะเสี่ยงต่อถูกรถที่แล่นด้วยความเร็วสูงเฉี่ยวชน จึงโทรศัพท์แจ้งตำรวจทางด่วน เมื่อตำรวจไปถึง เห็นคนเมาหมอบกอดราวเหล็กขอบทางด่วนและมีอาการเหนื่อยหายใจหอบ ตำรวจเปิดโทรโข่งเรียกให้มา พาขึ้นรถลงจากทางด่วนกลับไปยังโรงพักได้อย่างปลอดภัย และโทรศัพท์แจ้งพี่สาวที่มาตั้งรกรากในไต้หวันมารับกลับไป แม้จะโชคดีไม่เกิดอุบัติเหติ แต่การเดินขึ้นทางด่วนเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎจราจร ถูกปรับ 3,000 เหรียญไต้หวัน

แรงงานไทยเมาจัดเดินขึ้นทางด่วน 5 กม. กอดราวเหล็กข้างทางและมีอาการเหนื่อยหายใจหอบ

       จากการตรวจสอบพบว่า เป็นแรงงานไทยชื่อนายสมพงศ์ นามสมมุติ อายุ 34 ปี ทำงานอยู่แถวเขตอูรื่อ นครไทจง หลังส่างเมานายสมพงศ์ให้การว่า ตนเนื่องจากทะเลาะกับเพื่อน ไม่สบายใจจึงดื่มสุราที่ร้านอาหารไทยจนเมา และไม่ทราบเหมือนกันว่าเดินขึ้นทางด่วนได้อย่างไร ตำรวจแจ้งให้ทราบว่า ทางด่วนขึ้นได้เฉพาะรถยนต์เท่านั้น ยานพาหนะชนิดอื่นอย่างจักรยาน จักรยานไฟฟ้าหรือรถมอเตอร์ไซค์ รวมทั้งคนเดินเท้าขึ้นไม่ได้ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 3,000-6,000 เหรียญไต้หวัน แม้จะได้รับใบสั่งต้องไปเสียค่าปรับ 3,000 เหรียญ แต่นายสมพงศ์ก็แสดงความขอบคุณตำรวจที่ช่วยให้ตนลงมาจากทางด่วนได้อย่างปลอดภัย โดยกล่าวว่า ตำรวจไต้หวันมีอัธยาศัยดี เป็นมิตร ที่สำคัญได้ช่วยให้ตนรอดพ้นจากอันตราย ก่อนที่พี่สาวจะรับกลับไปยังโรงงาน นายสมพงศ์ขอถ่ายรูปร่วมกับตำรวจไว้เป็นที่ระลึกด้วย

       ทางด่วนของไต้หวันห้ามคนเดินเท้า รถจักรยาน รถจักยานไฟฟ้าหรือรถจักรยานยนต์ขึ้น ผู้ใดฝ่าฝืน จะถูกลงโทษปรับ 3,000 เหรียญไต้หวัน หากไม่ชำระค่าปรับตามเวลากำหนด จะต้องเสียค่าปรับเพิ่มเป็น 6,000 เหรียญไต้หวัน  ในอดีตเคยมีแรงงานไทยและเวียดนามหลงทางปั่นรถจักรยานขึ้นทางด่วนมาแล้วหลายครั้ง ถึงขั้นบางคนถูกรถชนเสียชีวิตไปแล้ว จึงเตือนเพื่อนแรงงานไทยต้องระมัดระวัง หลีกเลี่ยงดื่มสุรา อย่าเดินขึ้นหรือปั่นจักรยานขึ้นทางด่วนเด็ดขาด ไม่เพียงเสียค่าปรับ ที่สำคัญเสี่ยงต่อการถูกรถชน

แรงงานไทยขอบคุณตำรวจช่วยตนลงจากทางด่วนได้อย่างปลอดภัยและขอถ่ายรูปร่วมกับตำรวจไว้เป็นที่ระลึก

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง