1. ไต้หวันส่งเสริมให้แรงงานต่างชาติทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย จบแล้วยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือ ดึงดูดนายจ้างให้การสนับสนุน ด้วยการลดจ่ายเงินกองทุนความมั่นคงการทำงาน 50% หรือเพิ่มโควตานำเข้าให้อีกไม่เกิน 5%
ไต้หวันประสบวิกฤติเด็กเกิดน้อย ส่งผลต่อการพัฒนาของประเทศชาติ ไม่เฉพาะขาดแคลนแรงงาน แม้แต่สถาบันการศึกษาเนื่องจากนักเรียนนักศึกษาใหม่ลดลง ต้องเผชิญกับปัญหาการปิดตัวลง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงแรงงานกำลังพิจารณาผ่อนปรนมาตรฐาน ผู้ประกอบการใดอนุญาตให้แรงงานต่างชาติของตนทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย จะได้รับสิทธิประโยชน์ข้อใดข้อหนึ่ง ได้แก่รับโควตาพิเศษว่าจ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นจากปกติสูงสุดไม่เกิน 5% หรือลดการจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อความมั่นคงในการทำงาน 50% ซึ่งปัจจุบันนายจ้างที่ว่าจ้างแรงงานต่างชาติ จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อความมั่นคงในการทำงานของแรงงานในโควตาพิเศษ 9,000 เหรียญต่อคนต่อเดือน
แรงงานอินโดนีเซียพัฒนาตนเองด้วยการเรียนรู็ภาษาจีน (ภาพจาก https://one-forty.org/)
จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ปัจจุบันมีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่ในไต้หวันจำนวน 687,178 คน ในจำนวนนี้ ทำงานอยู่ในภาคการผลิตกว่า 460,000 คน อีกประมาณ 210,000 คน ทำงานในตำแหน่งผู้อนุบาล นายซูอวี้กั๋ว รอง ผอ. สำนักงานบริหารแรงงานข้ามชาติ กรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงานกล่าวว่า กระทรวงแรงงานส่งเสริมให้แรงงานต่างชาติทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เมื่อจบการศึกษาระดับอนุปริญญาหรือปริญญาตรี จะได้รับการยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือทันที และเพื่อให้นายจ้างให้การสนับสนุนแรงงานของตนเข้าเรียนต่อในสถาบันการอาชีวศึกษาหรือมหาวิทยาลัย กระทรวงแรงงานจะแก้ไขเกณฑ์การนำเข้าแรงงานต่างชาติและมาตรฐานในการชำระเงินเข้ากองทุนเพื่อความมั่นคงในการทำงานของแรงงาน
กระทรวงแรงงานส่งเสริมให้แรงงานต่างชาติทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย จบแล้วยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือ
รอง ผอ. สำนักงานบริหารแรงงานข้ามชาติเปิดเผยว่า แรงงานต่างชาติที่เรียนต่อ แต่ละเทอมลงทะเบียน 9 หน่วยกิตขึ้นไป นายจ้างมีสิทธิ์ได้รับโควตาพิเศษนำเข้าแรงงานต่างชาติในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 แต่ละเดือนจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อความมั่นคงในการทำงานของแรงงานในโควตาพิเศษ 9,000 เหรียญต่อคน สูงสุดเพิ่มโควตาพิเศษได้ 5% แต่ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติที่นำเข้าได้ ยังคงจำกัดไม่เกิน 40% ของแรงงานท้องถิ่น หรือนายจ้างเลือกที่จะรับการลดหย่อนการจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อความมั่นคงในการทำงานลง 50% ก็ได้ โดยเงื่อนไขทั้งสองข้างต้น นายจ้างเลือกได้ข้อใดข้อหนึ่ง
กระทรวงแรงงานส่งเสริมให้แรงงานต่างชาติทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย จบแล้วยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือ
นอกจากตำแหน่งผู้อนุบาลแล้ว ไต้หวันอนุญาตให้ผู้ประกอบการหรือกิจการที่เป็นงานหนัก สกปรกและมีความเสี่ยง หรือที่เรียกกันว่ากิจการ 3K นำเข้าแรงงานต่างชาติได้ โดยแบ่งโควตาการนำเข้าออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ร้อยละ10, 15, 20, 25 และร้อยละ 35 ของยอดจำนวนแรงงานท้องถิ่นที่ว่าจ้าง ตามแต่ประเภทกิจการ หากเป็นกิจการที่เป็นงานหนัก สกปรกและอันตรายมากยิ่งขึ้น ก็จะได้รับโควตานำเข้าแรงงานต่างชาติมากขึ้น นายจ้างที่ได้รับอนุญาตนำเข้าแรงงานต่างชาติ จะต้องชำระเงินเข้ากองทุนประกันความมั่นคงในการทำงานของแรงงานท้องถิ่นทุกเดือน ในอัตรา 2,000 เหรียญต่อการว่าจ้างแรงงานต่างชาติ 1 คน แต่สัดส่วนโควตาแรงงานต่างชาติดังกล่าว ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ประกอบการ บวกกับรัฐบาลหวังจะดึงดูดให้ผู้ประกอบการในประเทศเพิ่มการลงทุนและนักธุรกิจไต้หวันในต่างประเทศกลับมาลงทุนมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ขณะเดียวกันยังสามารถป้องกันผู้ประกอบว่าจ้างแรงงานต่างชาติเพียงเพื่อประหยัดต้นทุนด้านแรงงานเท่านั้น ตั้งแต่ปี 2554 กระทรวงแรงงาน ได้ประกาศมาตรการให้นายจ้างที่มีคุณสมบัติ นอกจากโควตาเดิมแล้ว สามารถจ่ายเงินซื้อโควตานำเข้าแรงงานต่างชาติเป็นกรณีพิเศษได้ในอัตราส่วน 5%, 10% และ 15% โดยนายจ้างต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อความมั่นคงในการทำงานของแรงงานท้องถิ่น ซึ่งโควตาปกติ ต้องจ่ายคนละ 2,000 เหรียญต่อคนต่อเดือนอยู่แล้ว หากต้องการซื้อโควตาเพิ่ม 5% ต้องจ่ายเพิ่ม 3,000 เหรียญเป็น 5,000 เหรียญไต้หวันต่อคนต่อเดือน โควตาพิเศษ 10% ต้องจ่ายเพิ่ม 5,000 เหรียญเป็น 7,000 เหรียญไต้หวันต่อคนต่อเดือน หากต้องการโควตาพิเศษ 15% ก็ต้องจ่ายเพิ่ม 7,000 เหรียญหรือต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ คนละ 9,000 เหรียญไต้หวันต่อเดือน จากสถิติพบว่า นายจ้างที่จ่ายเงินซื้อโควตาแรงงานต่างชาติต่างหาก มีร้อยละ 60 ซื้อโควตาเพิ่มขึ้น 5% ที่เหลือซื้อโควตา 10% และ 15%
แรงงานฟิลิปปินส์ในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์
2. กุนเชียงราคาแพง! แรงงานไทยในเกาสงให้แฟนส่งกุนเชียงปนเปื้อนเชื้อ ASF มาในพัสดุไปรษณีย์ถูกจับ ศาลสั่งจำคุก 2 เดือน ปรับ 30,000 เหรียญ เตือน! ผู้ฝ่าฝืนปรับครั้งแรก 200,000 เหรียญ ทำผิดซ้ำปรับ 1,000,000 เหรียญไต้หวัน และมีโทษอาญาด้วย
กรณีที่นายวันชัย แรงงานไทยโรงงานผลิตโลหะภัณฑ์ ตั้งอยู่ที่เขตเฉียวโถวในนครเกาสง ซึ่งเดินทางมาทำงานในไต้หวันเป็นเวลานานกว่า 9 ปีแล้ว ถูกจับเมื่อ 19 ม.ค. 65 ข้อหานำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่ปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ผ่านทางพัสดุไปรษณีย์ไทย โดยตำรวจยึดโทรศัพท์มือถือที่มีข้อความในไลน์ ให้แฟนสาวที่เมืองไทยส่งอาหารมาให้หลายอย่าง เช่น ปลาแห้ง กุนเชียง หมูกระจก เป็นต้น ถูกที่ทำการไปรษณีย์เกาสง ตรวจพบกุนเชียงที่ส่งมานั้น ปนเปื้อนโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ตำรวจตามไปจับถึงที่โรงงาน เมื่อมีหลักฐานมัดตัวแน่นหนา นายวันชัยจึงรับสารภาพว่า ตนทราบทางการไต้หวันรณรงค์ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อหมู แต่คิดว่า หากไม่ปนเปื้อนโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรคงไม่เป็นไร และยังคิดว่าหากถูกตรวจพบ อย่างมากก็แค่อดกิน ถูกยึดเท่านั้น ไม่นึกว่าจะถูกจับเจอโทษหนัก
แรงงานไทยในเกาสงให้แฟนส่งกุนเชียงปนเปื้อนเชื้อ ASF มาในพัสดุไปรษณีย์ถูกจับ ศาลสั่งจำคุก 2 เดือน ปรับ 30,000 เหรียญ
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลท้องถิ่นเกาสง ตัดสินจำคุกแรงงานไทยรายนี้ 2 เดือน โดยให้รอลงอาญา 2 ปี และปรับ 30,000 เหรียญไต้หวัน ในคำพิพากษาของศาลระบุว่า เนื่องจากคิดถึงอาหารบ้านเกิด เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 65 นายวันชัยส่งข้อความทางไลน์ให้แฟน ซึ่งอาศัยอยู่ที่จังหวัดลำปาง ส่งอาหารที่บ้านเกิดมาให้ทางพัสดุ ประกอบด้วยกุนเชียง 5 แท่ง หมูกระจก 5 ถุง ถูกที่ทำการไปรษณีย์เกาสงตรวจพบและตรวจสอบเบื้องต้น พบปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร จากนั้นส่งต่อให้ห้องปฏิบัติการศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยเฉิงกงและสถาบันวิจัยสุขภาพปศุสัตว์ คณะกรรมการเกษตร ตรวจสอบยืนยันพบว่า ปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรจริง แต่เนื่องจากจำเลยให้การสารภาพและให้ความร่วมมือโดยดี ประกอบกับไม่เคยมีประวัติเสียมาก่อน และผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนเชื้อมีปริมาณไม่มากนัก อีกทั้งถูกเจ้าหน้าที่การไปรษณีย์ตรวจพบตั้งแต่แรก ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง จึงลงโทษในสถานเบา ด้วยการจำคุก 2 เดือน โดยให้รอลงอาญา 2 ปี และปรับ 30,000 เหรียญไต้หวัน ยึดของกลางทั้งหมด และอนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์ได้
กุนเชียงหมูจากไทยปนเปื้อนเชื้อ ASF ที่ถูกตรวจพบ 2 ครั้งแรก จากทั้งหมด 5 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2564 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 การไปรษณีย์ไต้หวันตรวจพบกุนเชียงในพัสดุไปรษณีย์จากประเทศไทยแล้ว 5 ครั้ง ผู้รับเป็นแรงงานไทยทั้งหมด ทำงานในนครไถหนาน 3 ราย เกาสง 1 รายและเมืองหยุนหลินอีก 1 ราย
เจ้าหน้าที่กองอนามัยและตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไปตรวจสอบเนื้อหมูในซูเปอร์มาเก็ตที่บริการลูกค้าแรงงานต่างชาติ
นายเฉินจี๋จ้ง ประธานคณะกรรมการการเกษตร ซึ่งมีฐานะเทียบเท่า รมว.กระทรวงเกษตร และเป็นผู้อำนวยการศูนย์รับมือภัยพิบัติสำหรับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของไต้หวันกล่าวว่า พัสดุไปรษณีย์และพัสดุที่ส่งโดยบริษัทขนส่งระหว่างประเทศ จะถูกตรวจสอบด้วยเครื่องเอกซเรย์และสุนัขดมกลิ่น โดยขณะนี้ ไต้หวันได้จัดให้ จีน (รวมฮ่องกง และมาเก๊า) เวียดนาม และประเทศไทย เป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสุด และมีการตรวจเข้มพัสดุภัณฑ์ทุกชิ้น ทั้งที่ส่งผ่านไปรษณีย์และบริษัทขนส่งระหว่างประเทศอย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีผลิตภัณฑ์เนื้อหมูหลุดเข้ามาไต้หวันได้
ช่วงเวลา 2 เดือนเศษ การไปรษณีย์ไต้หวันตรวจพบกุนเชียงหมูติดเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) จากพัสดุไปรษณีย์ไทยเป็นรอบที่ 5
นายเฉินจี๋จ้งกล่าวเตือนว่า ผู้โดยสารที่เดินทางจากประเทศไทย ห้ามนำเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์แปรรูปเนื้อสุกรเข้าสู่ไต้หวัน หากถูกตรวจพบครั้งแรกปรับ 200,000 เหรียญไต้หวัน ทำผิดซ้ำปรับ 1 ล้านเหรียญไต้หวัน หากไม่สามารถชำระค่าปรับตามกำหนดได้ สามารถใช้การจำคุกแทนการเสียค่าปรับได้ในอัตรา 1,000-3000 เหรียญไต้หวันต่อวัน ส่วนผู้โดยสารจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าสู่ไต้หวัน จะถูกส่งกลับประเทศทันที
นายเฉินจี๋จ้ง ประธานคณะกรรมการการเกษตร (ขวาสุด) ตรวจการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ทำการไปรษณีย์ไถหนาน
กรณีที่นำเข้าเนื้อสัตว์แปรรูปจากทางบ้านที่ส่งผ่านไปรษณีย์หรือบริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ จะถูกดำเนินคดีทางอาญาด้วย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 3 ล้านเหรียญไต้หวัน หากเป็นแรงงานต่างชาติ พ้นโทษแล้วยังจะถูกเนรเทศส่งกลับประเทศ ห้ามเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันตลอดชีวิต ส่วนคนส่งก็เป็นผู้ต้องหาร่วม ในอนาคตหากเดินทางเข้าไต้หวันจะถูกจับที่สนามบินนำตัวไปดำเนินคดีทันที จึงเตือนแรงงานไทยต้องระวัง ทางที่ดีควรแจ้งให้ญาติมิตรที่บ้านทราบ อย่าส่งผลิตภัณฑ์แปรรูปเนื้อสัตว์ ยาสำเร็จรูป เป็นต้น มาที่ไต้หวันอย่างเด็ดขาด มิเช่นนั้น ความหวังดีของผู้ส่ง อาจกลายเป็นความเดือดร้อนของผู้รับ
กรมศุลกากรไต้หวันเลิกใช้วิธีสุ่มตรวจพัสดุภัณฑ์ที่ส่งผ่านบริษัทขนส่งระหว่างประเทศ หันมาตรวจสอบ 100%