close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

มองปัจจุบัน ย้อนอดีต วันจันทร์ที่ 24 ต.ค.2565

  • 26 October, 2022
มองปัจจุบัน ย้อนอดีต
ผลงานประดิษฐ์หมวกเทพเจ้าด้วยฝีมือของอาจารย์กัวชุนฝู(郭春福) ที่มีความประณีต งดงาม มีชีวิตชีวา

     อาจารย์กัวชุนฝู(郭春福) เกิดในปี 1950 ที่เขตเหยียนเฉิง(鹽埕) สถานที่เคยเป็นศูนย์กลางธุรกิจตากเกลือของนครไถหนาน บิดาทำงานที่บริษัทเกลือ มีรายได้ไม่พอกับการเลี้ยงครอบครัว หลังจบชั้นประถมแล้ว เริ่มฝึกวิชาแกะสลักที่ร้านทองกับลุง ช่วงแรกเป็นลูกมือที่ทำสารพัดอย่าง ต้องตื่นนอนตั้งแต่เช้าเพื่อปัดกวาดทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม เตรียมเครื่องไม้เครื่องมือทำงาน ทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำและติดต่อหลายเดือนกว่าจะมีวันพักผ่อน ได้ค่าจ้างเดือนละ 5 เหรียญไต้หวัน อาจารย์กัวพูดปนหัวเราะว่า เงินเดือนนี้ซื้อบะหมี่ได้แค่ 10 ชาม หลังเป็นลูกมือแล้วจึงได้เริ่มเรียนวิธีการเชื่อม กว่าจะถือหัวเชื่อมจนชำนาญต้องใช้เวลานานครึ่งปี จากนั้นเริ่มจับสิ่ว เมื่อชำนาญแล้วจึงเริ่มจับหัวตอกเจาะ แค่เรียนรู้งานพื้นฐานก็ต้องใช้เวลานานประมาณ 3 ปี 4 เดือน

อาจารย์กัวชุนฝู ประดิษฐ์หมวกเทพเจ้าด้วยฝีมือยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

     ปี 1967 ตอนที่อายุ 17 ปี อาจารย์กัวชุนฝูเริ่มเปิดร้านเป็นของตัวเอง รับงานจากร้านทอง ทำแหวนทอง กำไลทอง แผ่นป้ายทอง ฯลฯ บางครั้งมีลูกค้านำหมวกเทพเจ้ามาให้ทำตามแบบ หลังเปิดร้านนาน 10 ปี เป็นช่วงที่ผู้คนคลั่งไคล้การเล่นหวย “ต้าเจียเล่อ-大家樂” ผู้ได้รับรางวัลจากการเล่นหวย นิยมสั่งทำหมวกถวายเทพเจ้า เมื่อมีลูกค้าสั่งทำหมวกมากขึ้น จึงหันมาประดิษฐ์หมวกเทพเจ้าโดยเฉพาะ ปี 1970 การทำหมวกเทพเจ้าด้วยฝีมือแบบดั้งเดิม ผลิตไม่พอกับความต้องการ จึงมีการใช้เทคนิคการหลอมที่ทันสมัยมาช่วย ในยุคนั้นช่างฝีมือทำทองจะคล้ายๆ กับช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ที่ต้องวัดขนาดศีรษะของเทพเจ้า ตัดผ้าตามแพทเทิร์น เย็บปัก เชื่อมต่อกับหมวก จากนั้นส่งโรงงานชุบสีเงิน สีทอง โครงของหมวกก็ไม่จำเป็นต้องตีจากโลหะ การทำแพทเทิร์นก็ไม่ต้องใช้งานฝีมืออะไรมากมาย จนเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง ปี 1977 อาจารย์กัวจึงหันมาทุ่มเทกับงานวิจัยพัฒนา  ปี 1980 ตัดสินใจ ยืนหยัดการประดิษฐ์หมวกเทพเจ้าที่ทำจากงานฝีมือ วางรากฐานงานสร้างสรรค์ มีการใช้วัสดุต่างๆ นำมาประดิษฐ์ ไม่ว่าจะเป็นทองคำ เงิน ทองแดง หรือแม้แต่กระดาษ จนทำให้หมวกเทพเจ้าที่ประดิษฐ์ได้มีความงดงาม มีชีวิตชีวา เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง กลายเป็นวัตถุสะสมทางด้านศิลปะ

ผลงานประดิษฐ์หมวกเทพเจ้าด้วยฝีมือของอาจารย์กัวชุนฝู  ประณีต งดงาม มีชีวิตชีวา

     อาจารย์กัวชุนฝูบอกว่า ยุคแรกของการทำงานศิลปะที่เกี่ยวกับหมวกเทพเจ้าจะไม่มีความรู้ที่เป็นระบบ ช่วงแรกต้องเดินทางไปเก็บข้อมูลกับศาลเจ้าเกือบทุกหนทุกแห่ง ยังเคยเดินทางไปสอบถามข้อมูลกับอาจารย์ช่างไม้ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงของนครไถหนาน อย่างไรก็ตาม อาจารย์กัวยังจัดเป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์หมวกกระดาษสำหรับเทพเจ้าของไต้หวันด้วย ทั้งนี้ ช่วงที่เป็นทหารเกณฑ์อยู่ที่เกาะจินเหมิน ได้รู้จักกับทหารผู้อาวุโสเชื้อสายจีนที่มีความรู้ในการทำหมวกโอเปร่าปักกิ่ง ด้วยเหตุนี้เองจึงได้นำสิ่งที่ตนรู้มาประยุกต์ใช้ทำหมวกกระดาษสำหรับเทพเจ้าในปี 1986 ทั้งๆ ที่ในสมัยนั้นหมวกกระดาษล้วนใช้ในงานด้านพิธีกรรม หลายคนมองว่ากระดาษดูแล้วไม่มีราคา แต่การยืนหยัดและผลักดันการใช้หมวกกระดาษของอาจารย์กัว ทำให้ปัจจุบันมีศาลเจ้าจำนวนไม่น้อยเจาะจงให้ทำหมวกกระดาษเทพเจ้าโดยเฉพาะ เพราะกระดาษมีน้ำหนักเบา ทนทาน ใช้งานได้นานร้อยปี

ผลงานประดิษฐ์หมวกเทพเจ้าด้วยฝีมือของอาจารย์กัวชุนฝู  ประณีต งดงาม มีชีวิตชีวา

    อาจารย์กัวชุนฝูบอกด้วยว่า เทพเจ้าแต่ละรูปล้วนต่างกัน คนรุ่นใหม่หลายคนลอกเลียนแบบแต่สู้ฝีมือไม่ได้ งานทำหมวกเทพเจ้าเสียเวลามาก บางชิ้นต้องใช้เวลานานครึ่งปีจึงทำเสร็จ ต้องละเอียดลออ การแกะสลักเทพเจ้าสมัยก่อนมีการประดับประดาที่ศีรษะ เพื่อความกระชับของหมวกให้เหมาะกับเทพเจ้า ในบางครั้งอาจารย์กัวและภรรยาต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปทั่วไต้หวัน ไปถึงเกาสง ผิงตง หรือแม้แต่เมืองอี๋หลาน บางครั้งต้องควักเงินซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อไปวัดขนาดสำหรับทำหมวกเทพเจ้า เมื่อทำหมวกเสร็จแล้ว ยืนหยัดการส่งมอบหมวกด้วยตนเอง สวมไว้ที่ศีรษะของเทพเจ้าจึงจะถือว่างานเสร็จสมบูรณ์ ฝีมือการประดิษฐ์หมวกเทพเจ้าของอาจารย์กัวชุนฝูได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงมากมาย เช่น งานฝีมือทำหมวกเทพมาจู่ขนาดใหญ่ที่สุดในศาลเจ้าเทียนโฮ่วกง ลู่เอ่อเหมินของนครไถหนาน หมวกกระดาษของเทพก่วงเจ๋อจุนหวังที่ศาลเจ้าซีหลัวเตี้ยน ล้วนเป็นฝีมือของอาจารย์กัวชุนฝูที่เป็นผู้นำทีม มีผู้ช่วยคือบุตรสาวของอาจารย์กัว และอาจารย์ช่างฝีมือท่านอื่นช่วยกันประดิษฐ์ขึ้นมา อาจารย์กัวชุนฝูผ่านการฝึกฝนนานกว่า 60 ปี งานฝีมือระดับบรมครู จนในปี 2017 ได้รับการบันทึกเป็นช่างฝีมือที่ประดิษฐ์หมวกเทพเจ้าของกรมมรดกวัฒนธรรมด้วย

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง