แผ่นฟองเต้าหู้ หรือผิวเต้าหู้ หรือฟองเต้าหู้ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ยูบะ ภาษาจีนเรียกว่า “โต้วผี豆皮” เกิดจากต้มน้ำนมถั่วเหลือง หรือน้ำเต้าหู้ โดยต้มทิ้งไว้จนเกิดแผ่นฟิล์มบาง ๆ ลอยอยู่ที่ผิวด้านบน จากนั้นก็ช้อนแผ่นฟองขึ้นมาเรียกว่าฟองเต้าหู้สดนั่นเอง นิยมนำไปทำเป็นแผ่นสำหรับห่ออาหาร เช่น ห่อกุ้งหรือที่เรียกว่าแฮ่กึ๊น ห่อหอยจ๊อ หรือเอาแผ่นฟองเต้าหู้ผัดกับผัก ใส่ในแกงจืด สลัดฟองเต้าหู้ ฟองเต้าหู้ทรงเครื่อง พะโล้ ห่อม้วนเป็นชิ้นที่เรียกว่าโต้วเปา ทำเมนูได้สารพัดอย่าง แต่ข้อจำกัดของฟองเต้าหู้สดนั้น คือ มีโอกาสเสียได้ง่าย จึงมีฟองเต้าหู้แบบแห้งหลายรูปแบบที่ยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น
ผลิตแผ่นฟองเต้าหู้ถูกหลักอนามัย ได้มาตรฐานสากล
สำหรับโรงงานแปรรูปถั่วเหลืองที่แนะนำในครั้งนี้คือ โรงงานสือเมี่ยว石廟 ตั้งอยู่ในเมืองหยุนหลิน มีการทำพันธสัญญาในรูปแบบสหกรณ์ มีประธานสหกรณ์คือ คุณเสิ่นหงจื้อ(沈泓志) เป็นโรงงานใหม่ที่เริ่มใช้ปลายปี 2021 ผ่านการรับรองจาก HACCP และ ISO22000 มีสายการผลิตที่ออกแบบป้องกันมลภาวะ พื้นที่ทำงานสอดคล้องกับเกรดของอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ฝ้าเพดานยกสูงขึ้น มีระบบไหลเวียนอากาศดี มีการติดตั้งพัดลมเป่าอากาศไว้สำหรับให้คนที่กำลังจะเข้าห้องคลีนรูม มีเครื่องจักรคัดเลือกเมล็ดถั่วเหลือง ล้างถั่วเหลือง บดโม่เป็นน้ำเต้าหู้จนกระทั่งแยกกาก ส่วนแผ่นฟองเต้าหู้ที่ทำเสร็จจะส่งไปยังเขตบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดอุณหภูมิแล้วเก็บไว้ในห้องแช่แข็ง ที่แต่ละขั้นตอนล้วนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการเก็บรักษาความเย็นและเป็นระบบปิดทั้งหมด
ผลิตแผ่นฟองเต้าหู้และผลิตภัณฑ์ที่มีการทำพันธสัญญากับเกษตรกร
คุณเสิ่นหงจื้อเล่าให้ฟังว่า ตนเองได้ทุ่มเงิน 100 ล้านเหรียญไต้หวันตั้งแต่ปี 2017 ปรับปรุงและสร้างโรงงานแห่งใหม่นี้นานถึง 4 ปี จึงสำเร็จลุล่วงโดยไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเลย เขาได้นำบ้านและที่นาไปกู้เงินมาสร้างโรงงาน ช่วง 7 เดือนแรกที่เริ่มผลิตสินค้าล้วนขาดทุน จนกระทั่งไม่นานมานี้ เริ่มเสมอทุนและขายได้มากขึ้น ถั่วเหลืองที่เป็นวัตถุดิบผลิตแผ่นฟองเต้าหู้และผลิตภัณฑ์ใช้ประมาณ 500 กิโลกรัมต่อวัน กำลังการผลิต 2.5 ตัน ครองสัดส่วน 1 ใน 5 ของการผลิตที่เต็มกำลัง ซึ่งมีคำถามว่า ทำไมทำงานประจำที่อยู่ตัว แต่หันมาทุ่มเททำแผ่นฟองเต้าหู้และผลิตภัณฑ์ที่ตนไม่คุ้นเคย? คุณเสิ่นหงจื้อบอกว่า ตนเป็นลูกชาวนารุ่นที่ 3 อาศัยอยู่ที่ตำบลโต่วหนาน เมืองหยุนหลิน สมัยหนุ่มเลือกค้าขาย เพราะไม่อยากเป็นเกษตรกร จนกระทั่งคุณพ่อป่วยนอนติดเตียงบอกว่า คนทำนาทุกคนคาดหวังลูกหลานไม่ให้ขายที่นา ให้รู้จักนำมาใช้ประโยชน์และสืบทอดให้กับรุ่นต่อไป คำพูดนี้คิดวนเวียนอยู่ในใจหลังคุณพ่อเสียชีวิตแล้ว ประกอบกับเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยด้านอาหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้คิดว่าควรสร้างโรงงานอะไรที่ให้ผลประโยชน์ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค จากนั้นจึงไปหาความรู้ด้านเกษตรจากสถานีปรับปรุงพันธุ์พืชเขตไถหนาน เรียนรู้การปลูกข้าวสลับกับการปลูกถั่วเหลืองเพื่อรักษาคุณภาพดินและเพิ่มรายได้ของเกษตรกร ในที่สุด ตัดสินใจผลักดันการปลูกถั่วเหลือง และอยากจะสร้างโรงงานผลิตแผ่นฟองเต้าหู้และผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล
แผ่นฟองเต้าหู้และผลิตภัณฑ์ ตรวจสอบย้อนกลับได้
ปี 2021 เขาได้ปลูกถั่วเหลืองเองและยังทำเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกรตำบลอี้จู๋ เมืองเจียอี้ และเขตกวนอินของนครเถาหยวนในพื้นที่ 70 เฮกตาร์ โดยปลูกถั่วเหลืองสายพันธุ์เกาสงเสี่ยนเบอร์ 10 เป็นหลัก คุณเสิ่นหงจื้อ ผู้ซึ่งเป็นประธานสหกรณ์ มักจะเข้าใจและรับรู้ปัญหาของเกษตรกร มีโอกาสก็จะไปพูดคุยกับเกษตรกร เพื่อสร้างระบบที่เป็นหนึ่งเดียว ตั้งแต่การปลูก การขาย และส่งให้กับโรงงานเพื่อผลิตแผ่นฟองเต้าหู้และผลิตภัณฑ์ ซึ่งแผ่นฟองเต้าหู้ 1 กล่องน้ำหนัก 450 กรัม ผลิตจากถั่วเหลือง non gmo ที่ปลูกในประเทศ ขายราคา 140 เหรียญไต้หวัน ในขณะที่แผ่นฟองเต้าหู้ที่ผลิตจากถั่วเหลือง non gmo ที่นำเข้ามาจากแคนาดาขายในราคา 120 เหรียญไต้หวัน ถือว่าห่างกันเล็กน้อย ปัจจุบันช่องทางการขายคือร้านค้าของสหกรณ์ในเมืองต่างๆ ทั่วไต้หวัน มีผลประกอบการดี จากสถิติพบว่า ลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ปลูกในประเทศกับนำเข้าจากแคนาดาสัดส่วนเท่ากับ 7 ต่อ 3 แสดงว่าผู้บริโภคเลือกแหล่งที่มาที่ผลิตในประเทศมากกว่า เหตุผลเพราะอร่อยกว่า และยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรในไต้หวันด้วย
แผ่นฟองเต้าหู้นำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู