๑. 2027 ไต้หวันได้รับส่วนแบ่งน้ำมันดิบ 3 ล้านบาร์เรล จากการร่วมทุนขุดเจาะน้ำมันกับออสเตรเลีย
การปิโตรเลียมไต้หวันร่วมทุนขุดเจาะน้ำมันกับบิรษัท Carnarvon ของออสเตรเลียด้วยเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 56 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการลงทุนสำรวจขุดเจาะน้ำมันบริเวณทะเล DORADO ซึ่งเป็นทะเลทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย โดยการปิโตรเลียมไต้หวันจะได้รับจัดสรรน้ำมันดิบจำนวนร้อยละ 10 ของปริมาณที่ขุดเจาะได้ และคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตน้ำมันดิบได้ในปี 2027 ซึ่งคาดว่า ไต้หวันจะได้รับจัดสรรน้ำมันดิบประมาณ 3 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะสามารถผลิตน้ำมันได้ จะต้องเพิ่มการลงทุนอีก 300 ล้านดอลลาร์
บ่อน้ำมัน DORADO ตั้งอยู่ในบริเวณแอ่งบ่อน้ำมัน Roebuck ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย ห่างจากชายฝั่งประมาณ 110 กม. ลึก 95 เมตร เริ่มสำรวจขุดเจาะและพบบ่อน้ำมันเมื่อปี 2018
คุณจางหรุ่ยจง โฆษกการปิโตรเลียมไต้หวันเปิดเผยว่า การปิโตรเลียมไต้หวันได้ลงทุนในส่วนนี้ 56 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในอนาคตยังจะต้องเพิ่มการลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นด้วย และก็จะได้รับการจัดสรรน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติตามสัดส่วนการถือหุ้นด้วย
เขาระบุว่า การลงทุนสำรวจขุดเจาะน้ำมันในทะเลจะมีต้นทุนสูงกว่าการสำรวจขุดเจาะน้ำมันบนบก อย่างของบริษัท DORADO คาดว่าต้องเจาะลงไปอย่างน้อย 4000 ม. ขึ้นไป ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนบ่อละถึง 45 ล้านดอลลาร์ และก่อนที่จะสามารถผลิตน้ำมันได้จะต้องลงทุนเพิ่มอีกอย่างน้อย 300 ล้านดอลลาร์ ส่วนที่เหลืออีก 4 เขตก็พบมีแก๊สธรรมชาติในปริมาณค่อนข้างมาก ซึ่งจะดำเนินการสำรวจขุดเจาะต่อไป
การปิโตรเลียมไต้หวันระบุว่า น้ำมันดิบที่ได้จัดสรรจะนำกลับมากลั่นเพื่อใช้ในไต้หวันหรือจะจำหน่ายให้แก่ประเทศอื่นขึ้นอยู่คุณภาพของน้ำมันดิบที่ขุดได้ ซึ่งปีหนึ่งจะได้รับจัดสรรประมาณ 3 ล้านบาร์เรล หรือประมาณ 10% ของปริมาณที่ผลิตได้
๒. ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือ 2.12% ส่วนเงินเฟ้อทะลุเพดาน
บรรยากาศทางเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะชลอตัว การค้าต่างประเทศก็ลดอุณหภูมิลง กรมบัญชีกลางไต้หวันได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP ปีนี้ลง 0.63% เหลือ 2.12% ต่ำสุดในรอบ 8 ปี
นายจูเจ๋อหมิน อธิบดีกรมบัญชีกลาง ไต้หวัน เปิดเผยว่า หากพิจารณารวมถึง 3.8 แสนล้าน ที่เป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ปีนี้ขยับขึ้นประมาณ 0.35-0.45% ก็จะทำให้ GDP ปีนี้เติบโตเป็น 2.5%
กรมบัญชีกลางไต้หวันระบุว่า ไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว จีดีพี ติดลบ 0.45% ดีกว่าที่ประมาณการไว้ในตอนแรกที่ 0.45% ทำให้ จีดีพี ปีที่แล้วอยู่ที่ 2.45% มากกว่าที่คาดไว้ในตอนแรก 0.02% ซึ่งคาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 1-4 ของปีนี้ จะอยู่ที่ติดลบ 1.2% เพิ่มขึ้น 2.73% 2.25% และ 4.55% ตามลำดับ ทำให้ตลอดทั้งปีของปีนี้ จีดีพี จะอยู่ที่ 2.12% รายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 33,044 ดอลลาร์/ปี
ส่วนทางด้านการส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ จีดีพี ปรับตัวลดลง ในขณะที่ตัวเลขการส่งออกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างสูง และ จีดีพี ก็สูงเฉลี่ยประมาณ 4% ส่วนการบริโภคของภาคเอกชนก็จะยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณเกินกว่า 4.5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่าค่อนข้างสูง จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าการส่งออกกำลังเข้าสู่ฤดูหนาว คาดว่าการส่งออกไตรมาส 4 จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิตก็จะเริ่มชัดขึ้นในไตรมาส 3 โดยรวมแล้ว ไตรมาส 2 เศรษฐกิจจะเริ่มดีวันดีคืน
กรมบัญชีกลางไต้หวันระบุว่า อุปสงค์ทั่วโลกลดลง ราคาสินค้าปรับตัวลดลง ห่วงโซ่อุปทานก็มีการปรับปริมาณสินค้าในสต๊อก การค้าระหว่างประเทศลดความร้อนแรงลง คาดว่าตลอดทั้งปีจะส่งออกประมาณ 4.515 แสนล้านดอลลาร์ ลดลง 5.84% ต่อปี ต่ำสุดในรอบ 8 ปี แม้จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาเสริมทัพให้แก่รายได้ของภาคบริการก็ตาม แต่การบริการของสายการบินและการค้า 3 ฝ่าย ลดลง คาดว่าการส่งออกในภาพรวมจะเติบโต 0.04% ปรับลดลง 3.71%
ส่วนทางด้านอุปสงค์ภายใน คาดว่าปีนี้ การบริโภคของภาคเอกชนจะมีการเติบโตประมาณ 5.24% ปรับลดลงจากที่คาดไว้ 0.24% การลงทุนของภาคเอกชนลดลง 1.13% ปรับลดลง 4.17%
๓. ภาคใต้ไต้หวันแล้งหนัก หลายบริษัทหันไปใช้น้ำรีไซเคิล
สถานการณ์น้ำทางภาคใต้ของไต้หวันเข้าสู่ขั้นวิกฤต ส่งผลให้นิคมอุตสาหกรรมสวนวิทยาศาสตร์เขตภาคใต้ของไต้หวันที่ไถหนานต้องเริ่มประหยัดน้ำอย่างน้อย 10% อย่างไรก็ดี TSMC ไต้หวันที่มีโรงงานอยู่ที่นี่ได้เตรียมการรับมือภัยแล้งไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยสร้างโรงงานรีไซเคิลน้ำที่ใช้แล้ว และเริ่มใช้แล้วเมื่อปีที่แล้ว ก็สามารถแสดงบทบาทแก้ปัญหาให้แก่โรงงานของตนไม่ต้องขาดแคลนน้ำเหมือนโรงงานอื่น ๆ ในนิคมอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยแต่ละโรงงานก็ต้องพยายามหาแหล่งน้ำมาแก้ปัญหาของตน
ขอบคุณภาพจาก LTN
ที่ผ่านมา การใช้ระบบน้ำรีไซเคิลมีต้นทุนค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ประกอบการสนใจไม่มากนัก อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่กรมชลประทานเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเกรงว่าจะไม่มีใครซื้อน้ำรีไซเคิล แต่เมื่อปีที่แล้วต้องประสบปัญหาภัยแล้งสุด ๆ ในรอบร้อยปี ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มคำนึงถึงวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น กรมชลประทานและกระทรวงมหาดไทยจึงได้เริ่มแผนการสร้างโรงงานรีไซเคิลน้ำรวม 11 แห่ง และมีผู้ประกอบการสั่งซื้อน้ำในส่วนนี้แล้ว ตอนนี้รอเพียงให้โรงงานเหล่านี้สร้างแล้วเสร็จสามารถผลิตน้ำรีไซเคิลเท่านั้น
แผนการของรัฐบาลระบุให้กรมโยธาธิการร่วมกับกรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทย วางแผนการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลน้ำจำนวน 11 แห่ง ด้วยงบประมาร 1.7 หมื่นล้าน และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2026 สามารถผลิตน้ำรีไซเคิลได้วันละ 3.34 แสนตัน นอกจากนี้ ยังร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนสร้างโรงงานผลิตน้ำรีไซเคิลโดยลงทุนร่วมกับภาคเอกชนสร้างโรงงานรีไซเคิลน้ำ คาดว่าจะเริ่มผลิตน้ำรีไซเคิลได้ในปีนี 2031 วันละ 1.32 ล้านตัน
ทางด้าน TSMC ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตแผ่นชิปและเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก ของไต้หวัน ระบุว่า โรงงานของบริษัทใน 3 สวนวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ ใช้น้ำรวม 2.8 แสนตัน โดยโรงงานในสวนวิทยาศาสตร์ภาคใต้ใช้น้ำถึง 9.9 หมื่นตัน มากจนน่าตกใจ โดย TSMC ได้สร้างโรงงานรีไซเคิลน้ำและโรงงานผลิตน้ำจืด เพื่อลดภาระน้ำของแหล่งน้ำในไถหนาน โดยโรงงานผลิตน้ำรีไซเคิลที่ไถหนานได้เริ่มผลิตน้ำรีไซเคิลแล้วเมื่อปีที่แล้ว ผลิตได้วันละ 10000 ตัน
นอกจาก TSMC แล้ว บริษัทฟอร์โมซา ไต้หวัน ก็ทุ่มงบ 5000 ล้าน สร้างโรงงานผลิตน้ำจืด กำลังผลิตวันละ 100000 ตัน แต่เนื่องจากการระบาดของโควิดทำให้ต้องเลื่อนการก่อสร้างไปจนถึงปีหน้า ส่วนบริษัทเหล็กกล้าไต้หวัน แม้จะไม่มีแผนการสร้างโรงงานผลิตน้ำรีไซเคิลแต่ก็ได้สั่งซื้อน้ำรีไซเคิลเป็นแห่งแรกในไต้หวัน แม้จะมีราคาแพงถึงหน่วยละ 18 เหรียญไต้หวัน
