close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

บันทึกชีวิตในไต้หวัน : ไต้หวันกับการให้ความสำคัญด้านภาษา จากนโยบายภาษาแห่งชาติ สู่นโยบายภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่

  • 26 February, 2023
บันทึกชีวิตในไต้หวัน
ไต้หวันกับการให้ความสำคัญด้านภาษา จากนโยบายภาษาแห่งชาติ สู่นโยบายภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ (ภาพจาก กระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน)
     สืบเนื่องจากวันภาษาแม่สากลที่ผ่านมา สัปดาห์นี้ เราจึงอยากจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับนโยบายภาษาไต้หวัน รู้หรือไม่ว่าในอดีต ไต้หวันเคยผ่านช่วงเวลาบังคับใช้นโยบายภาษาแห่งชาติ เป็นการบังคับให้คนในประเทศพูดภาษาจีนกลาง และห้ามพูดภาษาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นภาษาไถอวี่ ภาษาฮากกา รวมถึงภาษาชนพื้นเมือง  ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก ความสำคัญของแต่ละภาษาที่ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนภาษานั้นๆ ไม่ว่าภาษาไหนล้วนมีคุณค่าและความสำคัญในตัวเอง เพราะภาษาเปรียบเหมือนวิธีคิดและมุมมองที่มีต่อโลกของกลุ่มคนที่ใช้ภาษานั้น ไต้หวันเองก็เห็นถึงความสำคัญนี้ และมีการปรับนโยบายภาษามาโดยตลอด  จนกระทั่งปัจจุบัน ไต้หวันมีประชากรที่เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นักเรียนที่เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่ 2 ก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ความสำคัญของการเรียนภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม ไต้หวันจึงบรรจุภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เข้าสู่หลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ 12 ให้นักเรียนได้มีวิชาเลือก มีโอกาสเรียนรู้ภาษาแม่ของตนจากในโรงเรียน คลิกฟังรายการที่นี่ค่ะ
 

 

ประวัติความเป็นมาของวันภาษาแม่สากล 

     วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ตรงกับวันภาษาแม่สากล หรือ International Mother Language Day ที่กำหนดโดยองค์กรการศึกษาและวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 เพื่ออนุรักษ์และปกป้องภาษาทุกภาษาของคนบนโลก และสนับสนุนให้ทุกคนเห็นตระหนักถึงความสำคัญของภาษาแม่ ซึ่งถือเป็นมารกดทางภาษาของแต่ละวัฒนธรรม 

     จุดเริ่มต้นเกิดจากเหตุการณ์เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการใช้ภาษาบังคลา หรือภาษาเบงกาลี ที่เป็นภาษาแม่ของนักศึกษาชาวบังกลาเทศ ในประเทศปากีสถาน ในปี ค.ศ.1947 อังกฤษถอนตัวออกจากอินเดีย อินเดียและปากีสถานได้รับเอกราชในปีนั้น หลังจากนั้นในปี ค.ศ.1948  รัฐบาลกลางของปากีสถานในตอนนั้นได้กำหนดให้ภาษาอูรดูเป็นภาษาราชการ และบังคับให้ทุกคนใช้ภาษานี้ แต่ประชาชนที่อยู่ในปากีสถานตะวันออก ซึ่งปัจจุบันคือประเทศบังกลาเทศ พวกเขาใช้ภาษาบังคลาหรือภาษาเบงกาลีเป็นหลัก ประชาชนจึงเกิดความไม่พอใจต่อการบังคับใช้อำนาจรัฐของปากีสถาน จนนำไปสู่เหตุการณ์เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการใช้ภาษาบังคลาหรือภาษาเบงกาลีของนักศึกษาชาวบังกลาเทศ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1952 ภายหลังรัฐบาลปากีสถานจึงยอมถอย และกำหนดให้ภาษาเบงกาลี เป็นภาษาราชการคู่กับภาษาอูรดูเมื่อปี ค.ศ.1956 เหตุการณ์ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นเหตุการร์เรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการใช้ภาษาครั้งแรกของโลก 

นโยบายภาษาแห่งชาติของไต้หวัน

     ไต้หวันเคยมีนโยบายภาษาแห่งชาติ ที่ดำเนินการภายใต้รัฐบาลเจียงไคเช็ก โดยนโยบายดังกล่าว มีขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในไต้หวัน ที่ในห้วงเวลานั้นแต่ละชาติพันธุ์ ต่างมีภาษาเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นภาษาฮกเกี้ยน ภาษาฮากกา ภาษาชนพื้นเมืองต่างๆ รวมไปถึงชาวจีนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ต่างก็มีภาษาถิ่นของตน ให้หันใช้ภาษาจีนกลางที่ถูกกำหนดให้เป็นภาษาราชการในการติดต่อสื่อสาร

     อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่า ในอดีตชาวไต้หวันส่วนใหญ่อพยพมาจากมณฑลฮกเกี้ยน มีกลุ่มคนที่ใช้ภาษาฮกเกี้ยน หรือภาษาไถอวี่ในปัจจุบัน บางส่วนเป็นจีนแคะ ใช้ภาษาฮากกา นอกจากนี้ยังมีชนเผ่าพื้นเมืองที่มีภาษาเป็นของตัวเอง อีกทั้งก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไต้หวันตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่นเป็นเวลานานกว่า 50 ปี ผู้คนในสมัยนั้นจึงมีการใช้ภาษาญี่ปุ่นด้วยส่วนหนึ่ง  ทั้งนี้ ในกระบวนการผลักดันนโยบายภาษาแห่งชาติ ที่ดำเนินการโดยเฉินอี้(陳儀) ผู้ว่าการเกาะไต้หวันในตอนนั้น กลับไม่ฟังคำแนะนำจากนักภาษาศาสตร์ ไม่ทำความเข้าใจความยากลำบากของชาวไต้หวันในตอนนั้นที่ต้องปรับตัวกับการใช้ภาษาจีนกลาง ประกอบกับช่วงเวลานั้น มีการบังคับใช้กฎหมายอัยการศึก  นโยบายนี้จึงถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวด โดยบังคับให้นักเรียนพูดแต่ภาจีนกลาง ห้ามพูดภาษาถิ่น หากใครพูดภาษาถิ่น ก็จะมีการลงโทษ เช่น ให้วิ่งรอบสนาม ให้แขวนป้ายประจาน รวมถึงปรับเงินคนที่พูดภาษาถิ่น สถานการณ์ในตอนนั้นสร้างความตึงเครียดให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ผู้คนต่างกลัวที่จะพูดภาษาถิ่น เพราะกลัวโดนประจาน จึงต้องหันมาพูดภาษาจีนกลาง ส่งผลให้เด็กนักเรียนไต้หวันในตอนนั้น สนทนาภาษาถิ่นกับที่บ้านน้อยลง จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน คนหนุ่มสาวโดยเฉพาะเด็กที่เติบโตในเมืองหลวง จะพูดภาษาถิ่นไม่ค่อยได้ สิ่งเหล่านี้เป็นผลพวงมาจากนโยบายภาษาแห่งชาติในยุคนั้น

ยุคที่ห้ามพูดภาษาถิ่น คนพูดจะถูกแขวนป้ายประจาน

     หลังจากไต้หวันยกเลิกกฎอัยการศึกในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ส่งผลให้ภาษาถิ่นต่างๆ ในไต้หวันมีพื้นที่เสรีมากขึ้น ต่อมาในปี ค.ศ.1993 ภายใต้การนำของรัฐบาลหลี่ เติงฮุย กระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาษา จึงบรรจุให้ “ภาษาถิ่น” เป็นวิชาเลือกในหลักสูตรการศึกษาโรงเรียนประถมและมัธยมตอนต้นของไต้หวันอย่างเป็นทางการ โดยนักเรียนสามารถเลือกเรียน ภาษาฮกเกี้ยนและภาษาฮากกาได้อย่างเสรี และเพิ่มภาษาพื้นเมืองเข้าไปในภายหลัง

     ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไต้หวันมีประชากรที่เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นักเรียนที่เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่ 2 ก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน รัฐบาลไต้หวันในปัจจุบันเล็งเห็นความสำคัญของภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ในปี ค.ศ.2019 จึงกำหนดหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ 12 ปีให้มีการเรียนภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ 7 ภาษา ได้แก่ ภาษาเวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย และภาษาฟิลิปปินส์ เพื่อให้ลูกหลานผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ มีโอกาสเรียนรู้ภาษาแม่ของตน ขณะเดียวกัน ถือเป็นการผลักดันให้เด็กนักเรียนได้อยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมของความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม ก้าวสู่สังคมแห่งความหลากหลายในภายภาคหน้า

กิจกรรมวันภาษาแม่สากลในไต้หวัน

     สืบเนื่องจาก “วันภาษาแม่สากล” กระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน ร่วมกับองค์กรด้านการศึกษา 10 องค์กรและห้องสมุดประชาชนในเมืองต่างๆ จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวันภาษาแม่สากลกว่า 462 กิจกรรม อาทิ งานบรรยาย กิจกรรมเล่านิทาน งานแสดงดนตรี งานแสดงหนังสือภาษาแม่ เป็นต้น

     โดนนายหลินหมิงอวี้ (林明裕) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ไต้หวันเพิ่งเปิดภาคเรียนใหม่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คุณครูทุกคนจะส่งเสริมการใช้ภาษาแม่ ผ่านกิจกรรมต่างๆในโรงเรียน ทั้งด้านงานชมรม กิจกรรมสัมผัสวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้ใช้ภาษาแม่ในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น

     ห้องสมุดประชาชน ณ เมืองไทจง จัดกิจกรรม “ฤดูกาลอ่านแห่งความหลากหลายปี 2023 อ่านด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า ชีวิตดีๆกับภาษาแม่” ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม โดยในห้องสมุดจะมีการจัดโซนหนังสือภาษาถิ่นไต้หวันและหนังสือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ทุกคนได้เรียนรู้วัฒนธรรมเหล่านั้นผ่านภาษาแม่ นอกจากนี้ในห้องสมุดยังมีนิทรรศการต่างๆ และกิจกรรม DIY ที่ใช้ภาษาแม่ในการสื่อสาร รวมถึงกิจกรรมเล่านิทานเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา โดยทางกองวัฒนธรรม นครไทจงเผยว่า กิจกรรมฤดูกาลอ่านในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการใช้ภาษาแม่ให้อยู่ในชีวิตประจำวันของการอ่านอย่างมีชีวิตชีวา รวมถึงเพื่ออนุรักษ์ภาษาแม่และส่งเสริมการสืบทอดวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายของไต้หวันต่อไป

     ทางด้านศูนย์การศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ(National Taiwan Science Education Center,NTSEC) ก็จัดกิจกรรม เรียนรู้วิทยาศาสตร์ ผ่านภาษาถิ่นด้วยเช่นกัน โดยวิทยากรจะใช้ภาษาฮกเกี้ยน หรือภาษาไถอวี่ พาทุกคนเยี่ยมชมศูนย์การศึกษาวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ในศูนย์ให้ทุกคนได้เล่นสนุกผ่านการฟังภาษาไถอวี่อีกด้วย เห็นได้ว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไต้หวันมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและผลักดันการเรียนรู้ภาษาที่หลากหลายอย่างมาก

ครูสอนภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หายาก ( ภาพจาก thewatchmedia)

ความสวยงามและสิ่งที่น่าหดหู่ของครูสอนภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่

     ข้อมูลล่าสุด จากกระทรวงศึกษาธิการชี้ว่า ไต้หวันมีนักเรียนที่เป็นลูกหลานผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่สูงถึง 296,000 คน คิดเป็นมากกว่า 7% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด การเรียนภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลไต้หวันมีการผลักดันมาตลอด โดยในปี  ค.ศ.2019 รัฐบาลได้บรรจุภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ 7 ภาษา เข้าสู่หลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี เพื่อปลูกฝังให้ลูกหลานผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เหล่านี้ได้เรียนรู้ภาษาแม่ของตน และมีโอกาสนำไปต่อยอดในอนาคต

     กวออวี้ซาน(郭翊姍) หัวหน้าที่ปรึกษา กลุ่มแนะแนวการศึกษาภาษาสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ เมืองซินจู๋เผยว่า หลังจากกระทรวงศึกษาบรรจุภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ลงในหลักสูตรการศึกษา พบว่านักเรียนที่มีความต้องการเรียนภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในเมืองซินจู๋มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เธอเผยว่า การที่รัฐบาลให้ความสนใจและส่งเสริมรผลักดันสิ่งสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่ากังวลคือขาดแคลนครู  เผิงลี่ฉิน (彭麗琴) หนึ่งในครูสอนภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ของโรงเรียนประถมปี้หัว ในนครนิวไทเป เปิดเผยว่า ช่วงนี้หาครูภาษาไทย และครูภาษาอินโดนีเซียได้ยากมาก

     เธอกล่าวว่า หนึ่งในสาเหตุเกิดจาก การสอนภาษาได้ค่าตอบแทนน้อยเกินไป ปัจจุบัน ครูโรงเรียนประถม ได้ค่าตอบแทนเพียงชั่วโมงละ 336 เหรียญไต้หวัน แต่หากรับงานล่ามให้กับศาล จะได้ค่าตอบแทนถึง 2500 เหรียญไต้หวัน อีกหนึ่งสาเหตุ คือไม่มีเงินอุดหนุนการเดินทางสำหรับครู ครูบางคนต้องเดินทางไปสอนยังโรงเรียนที่อยู่ไกล และต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง เมื่อเทียบกับเวลาที่เสียไปในการเตรียมการเรียนการสอน และเวลาที่ต้องเดินทางแล้ว ทำให้หลายคนรู้สึกไม่คุ้ม จึงไม่อยากมาทำงานเป็นครูสอนภาษา อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้ เป็นปัญหาที่รัฐบาลคงต้องหาวิธีแก้ไขกันต่อไป

 

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง