:::

สารานุกรมสุขภาพประจำวันที่ 13 มีนาคม 2566

  • 13 March, 2023
สารานุกรมสุขภาพ
สารานุกรมสุขภาพประจำวันที่ 13 มีนาคม 2566

     น้ำตาลในเลือดถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะหากมีระดับน้ำตาลผิดปกติ ไม่ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นหรือลดต่ำลง ก็อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยเฉพาะบริเวณดวงตา ไต ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ป่วยควรเรียนรู้วิธีควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเสมอ การรักษาน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามที่แพทย์แนะนำอาจเป็นเรื่องท้าทายและยากลำบากสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่น้อย เนื่องจากมีปัจจัยมากมายที่ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็น อาหาร การใช้ชีวิต การใช้ยา สุขภาพร่างกาย หรืออาการป่วยบางอย่างเป็นต้น ซึ่งในแต่ละปัจจัยนี้ หากผู้ป่วยสามารถจับจุดหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองได้ การควบคุมน้ำตาลในเลือดอาจจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

     โดยทั่วไปในช่วงก่อนมื้ออาหาร ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรมีระดับน้ำตาลในเลือดที่ 80–130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ส่วนช่วงหลังมื้ออาหารไปแล้วไม่ควรเกิน 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จึงจะถือว่า มีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ ซึ่งการจะควบคุมน้ำตาลในเลือดให้ได้ผลนั้นผู้ป่วยอาจต้องใส่ใจในหลาย ๆ ปัจจัยหรือปรับพฤติกรรมในหลาย ๆ ด้านร่วมกัน ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องวางแผนการรับประทานอาหารตามคำแนะนำของแพทย์ โดยควรให้ความสำคัญกับอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตอย่างแป้งและน้ำตาลในแต่ละมื้อ เพราะสารอาหารเหล่านี้ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low GI) ซึ่งจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ และอาหารที่มีแคลอรี ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ น้ำตาล และเกลือในปริมาณต่ำ นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรเน้นการรับประทานผัก ผลไม้ ถั่ว และธัญพืชที่อุดมไปด้วยใยอาหาร มีไขมันและแคลอรีต่ำ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมั่นดื่มน้ำสะอาดแทนเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล สารให้ความหวานที่มีแคลอรีสูง หรือน้ำผลไม้ ยกเว้นในผู้ป่วยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากเครื่องดื่มดังกล่าวจะช่วยรักษาปัญหาระดับน้ำตาลได้ในเบื้องต้น

     การควบคุมอาหารที่เข้มงวดมากเกินไปก็ทำให้ผู้ป่วยกินข้าวไม่อร่อย กินอย่างไม่มีความสุข ขณะเดียวเดียวกันถ้าควบคุมไม่เข้มงวดพอ น้ำตาลในเลือดอาจไม่คงที่อีก จนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ง่าย แล้วคุณควรทำอย่างไร?

     นักโภชนาการแนะนำว่าหากคุณต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด การ "รับประทานอาหารที่ถูกต้อง" เป็นสิ่งสำคัญมาก การศึกษาส่วนประกอบของอาหารแต่ละชนิดและคำนวนปริมาณน้ำตาลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะสามารถทำให้ผู้ป่วยสามารถร่วมรับประทานอาหารกับเพื่อนฝูงและคนในครอบครัวได้ เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว จะพบว่า อาหารของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่จริงแล้วก็ไม่ต่างจากอาหารสุขภาพที่คนทั่วๆไปต้องรับประทานเลย ซึ่งอาหารที่ดีต่อสุขภาพของคนทั่วๆไปนั้น ก็ต้องปรุงด้วยน้ำมันน้อยที่น้อย เกลือน้อยๆ น้ำตาลน้อยๆ และสารอาหารก็ต้องครบทุกหมู่อย่างสมดุลด้วย แน่นอนชนิดและปริมาณอาหารที่เรารับประทานเข้าไปนั้นย่อมส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้ ดังนั้น การควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูงและต่ำลงอย่างกะทันหันทั้งนี้ก็เพื่อชะลอไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และเมื่อไหร่ที่เราเข้าใจคอนเสปในการเลือดรับประทานอาหาร การกินก็ไม่ใช่เรื่องลำบากสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานอีกต่อไป ผู้ป่วยก็จะสามารถได้ลิ้มลองรสชาติอาหารที่หลากหลายยิ่งขึ้น

     แล้วผู้ป่วยเบาหวานต้องกินอย่างไร? วันนี้ผมมี 4 กุญแจสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมาฝากครับ

1. ทำความรู้จักอาหารที่เราจะกินเข้าไป

     ในบรรดาสารอาหารทั้งหมด 6 ชนิด มีอยู่ 3 ชนิดที่มีปริมาณน้ำตาลมาก ซึ่งก็ได้แก่ ธัญพืชหรืออาหารจำพวกแป้ง ผลไม้ และผลิตภัณฑ์จากนม การรับประทานสิ่งเหล่านี้มากเกินไปย่อมจะส่งผลโดยตรงต่อน้ำตาลในเลือด ดังนั้น หากเราต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ขั้นแรก ต้องทำความรู้จักอาหารที่มีน้ำตาลเหล่านี้เสียก่อน หลายคนเข้าใจผิดว่าจัดอาหารจำพวกฟักทอง ข้าวโพด มันสัมปะหลัง รากบัว อยู่ในหมู่พืชผัก แต่อันที่จริงแล้วอาหารเหล่านั้นอยู่ในจำพวกแป้งที่เต็มไปด้วยคาร์โบไฮเดรต ดังนั้นหลายคนจึงอาจมีค่าน้ำตาลในเลือดสูงหลังจากบริโภคแป้งในคราบพืชผักเหล่านี้ได้

2. เรียนรู้ที่จะควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรต

     อาหารที่คาร์โบไฮเดรตจะถูกเอนไซม์ในร่างกายย่อยเป็นนน้ำตาลกลูโคส ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระแสเลือดแล้วก็จะส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องใส่ใจกับการบริโภคอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นพิเศษทุกวัน ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว พืชหัวที่มีรากเป็นแป้งเป็นต้น  และเรียนรู้ที่จะควบคุมและกระจายปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้เท่าๆ กันทั้ง 3 มื้อ ตลอดจนรับประทานโปรตีนและ ผักที่มีกากใยมากๆ เพียงเท่านี้ก็สามารถควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดได้แล้ว

    แล้วแต่ละวันสามารถบริโภคคาร์โบไฮเดรตได้ในปริมาณเท่าไหร่ล่ะ อันนี้นักโภชนาการบอกว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล น้ำหนักตัว ยาที่ใช้ และค่าน้ำตาลในเลือดจะเป็นตัวกำหนดปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่คุณสามารถบริโภคได้ หากไม่แน่ใจว่าเรากินเข้าไปได้เท่าไหร่ ก็ควรไปขอคำแนะนำจากนักโภชนาการเพื่อเค้าจะได้ช่วยเราประเมินและคำนวนความต้องการของแต่ละบุคคล ซึ่งจะช่วยให้เราควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดีแน่นอน

3. การกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง

     เรารู้กันอยู่แล้วว่าใยอาหารสามารถช่วยเรื่องระบบขับถ่าย รักษาสุขภาพของลำไส้ได้ แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานแล้ว ใยอาหารยังมีคุณสมบัติพิเศษที่สำคัญมาก นั้นก็คือช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหาร หลังจากดูดซับน้ำไฟเบอร์จะพองตัวขึ้น ซึ่งไม่เพียงเพิ่มปริมาตรของอาหารทำให้เรารู้สึกอิ่ม แต่ยังจะช่วยชะลอการระบายของเสียในกระเพาะอาหาร ลดความเร็วในการย่อยและดูดซึมของคาร์โบไฮเดรต และช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานควรบริโภคผักใบเขียวทุกมื้อ อย่างน้อยประมาณวันละหนึ่งชามครึ่ง 3 หน่วยบริโภค นอกจากผักใบเขียวแล้ว เรายังสามารถเพิ่มปริมาณไฟเบอร์ได้โดยเปลี่ยนจากการบริโภคข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง ถ้าเรายังไม่ชินก็สามารถค่อยๆกินข้าวกล้องผสมกับข้าวขาวไปก่อนก็ได้ 

4. ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล

     การดื่มน้ำผลไม้ ชานมไข่มุก น้ำอัดลม หรือการรับประทานเค้ก ไอศกรีม หรืออาหารและเครื่องดื่มอื่นๆที่มีน้ำตาลมาก แน่นอนย่อมส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรเปลี่ยนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นน้ำเปล่า หรือเครื่องดื่มอื่นๆที่ปริมาณแคลอรี่ต่ำ จะบอกว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องงดของหวานทั้งหมดอย่างเด็ดขาดเลยก็ไม่ใช่ นักโภชนาการบอกว่าก็สามารถกินได้นิดหน่อย จริงๆจะกินทุกวันก็ไม่มีปัญหา แต่เพียงต้องควบคุมปริมาณที่รับเข้าไปในแต่ละวันให้ได้แค่นั้น 

     การบริโภคอาหารอย่างสมดุล ควบคุมปริมาณน้ำตาลทั้งหมดในแต่ละมื้อ รับประทานผักและโปรตีนให้เพียงพอ ลดการบริโภคน้ำตาลเพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้เราควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้แล้ว อย่างไรก็ดีการออกกำลังกายเป็นประจำก็จะส่งเสริมให้เราควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้นด้วย และที่สำคัญต้องอย่าลืมปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัดด้วยนะครับ 

 

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง