EP. 1“เจ้าของร้านอาหารมุสลิม” ตั้งแต่การละหมาดไปจนถึงการปรุงเนื้อ ล้วนอยู่ในแนวทางของอัลลอฮ์
รายงานโดย แสงชัย กิตติภูมิวงศ์และรจรัตน์ ยนต์สุวรรณ
ดัชนีชี้วัดการท่องเที่ยวชาวมุสลิม Global Muslim Travel Index (GMTI) จัดให้ไต้หวันเป็นอันดับ 2 ของประเทศที่เป็นเป็นมิตรต่อชาวมุสลิมติดต่อกัน 2 ปี ในปี 2564 และปี 2565 นอกจากนี้ ร้านอาหารมุสลิมในไต้หวันยังมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ร้านอาหารเหล่านี้ต้องผ่านการรับรองฮาลาล มีการควบคุมผู้ฆ่าชำแหละและกระบวนการจัดการเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวด แม้แต่การเชือดสัตว์ก็ต้องกรีดมีดครั้งเดียวถึงชีวิตเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด
The Reporter สัมภาษณ์พิเศษสองสามีภรรยาที่เปิดร้านอาหารมุสลิมในไต้หวัน เพื่อให้ทุกคนรู้จักกับวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวมุสลิมที่มีความพิเศษ และเข้าใจร้านอาหารมุสลิมในไต้หวันดำเนินการอย่างไรในช่วง "รอมฎอน" เมื่อจำเป็นต้องถือศีลอดในระหว่างวัน
หม่าเหรินเหว่ย (馬仁偉) ชาวจีนเชื้อสายเมียนมาร์วัย 58 ปี และ จูหยุนจวี๋ (朱雲菊) ภรรยาชาวไทยเชื้อสายจีนได้เปิดร้านอาหารมุสลิมในไทเปซึ่งขายอาหารท้องถิ่นจากภาคเหนือของประเทศไทย โดยที่พวกเขาปรุงอาหารต้อนรับนักการเมืองและนักธุรกิจมุสลิมจากหลายประเทศ เช่น อาหรับ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย การประกอบธุรกิจร้านอาหารแห่งนี้ทำให้ตั้งรกรากอยู่ในไต้หวันผ่านมายาวนาน
อีกคู่หนึ่งซึ่งเปิดร้านอาหารมุสลิมคือ อาหลี่(Ali) เป็นชาวปากีสถานเชื้อสายมุสลิมที่มาตั้งรกรากในไต้หวันในปี 2559 โดยก่อนมาไต้หวันเขาเคยพำนักอยู่ในปากีสถานและมาเลเซีย หลังแต่งงานกับภรรยาชาวไต้หวัน หลี่เพ่ยหัว (李霈華) เขาได้เปิดแผงขายแกงอินเดีย พื้นที่ประมาณ 9 ตรม. ต่อมาได้เปิดเป็นร้านอาหาร ได้รับการรับรองฮาลาลเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และยังเป็นร้านอาหารที่ได้รับการรับรองฮาลาลแห่งแรกในเมืองจีหลงอีกด้วย
เมื่อพูดถึงการอาศัยอยู่ในไต้หวัน คุณหม่าเหรินเหว่ย (馬仁偉) และคุณอาหลี่(Ali) ต่างคิดว่าชาวไต้หวันเป็นมิตรกับพวกเขามาก คุณอาหลี่บอกว่าในบางครั้งที่เป็นช่วงของการละหมาด ลูกค้าชาวไต้หวันที่ไปรับประทานอาหารในร้านยินดีที่จะรอ 3 - 5 นาที ทำให้พวกเขารับรู้ถึงความมีน้ำใจและชื่นชอบที่จะคบมิตรกับชาวไต้หวัน นอกจากนี้ ไต้หวันยังมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย และให้การยอมรับความเชื่อที่ต่างกัน
การรับรองอาหารที่เข้มงวด การฆ่าที่ลดความเจ็บปวด
ที่น่าสนใจคือ เมื่อลูกค้าชาวไต้หวันเข้าไปรับประทานอาหารในร้านมักจะถามประโยคแรกว่า: อาหารมุสลิมมีเอกลักษณ์พิเศษอย่างไร? คุณ จูหยุนจวี๋ (朱雲菊) กล่าวปนหัวเราะว่า อาหารมุสลิมมีรสชาติไม่ต่างจากอาหารทั่วไป ไม่มีส่วนผสมพิเศษ เช่น ร้านอาหารที่พวกเขาเปิดมีรสชาติเหมือนกับอาหารพื้นเมืองทางเหนือของไทย เพียงแต่วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหาร เช่น เนื้อจะต้องผ่านกระบวนการที่เข้มงวดแบบชาวมุสลิม ซึ่งประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มในไต้หวันยอมลงทุนในการรับรองฮาลาลมากขึ้น
เดิมคำว่า "ฮาลาล" หมายถึง "อนุญาต" และ "ถูกกฎหมาย" ในภาษาอาหรับ และยังใช้เรียกสินค้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายอิสลาม (ชะรีอะฮ์) เช่น วัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิต และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ในประเทศที่มีประชากรมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ เนื้อสัตว์ เช่น ไก่ แกะ และวัวควาย จะถูกจัดการโดยโรงฆ่าสัตว์มืออาชีพ แต่ในไต้หวัน เนื่องจากประชากรมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย เพื่อความสะดวก ในยุคแรกจะมีชายมุสลิมเป็นผู้เชือด แต่ปัจจุบันมีผู้ผลิตที่ผ่านการรับรองฮาลาลเป็นผู้ส่งสินค้าให้
คุณหม่าเหรินเหว่ย (馬仁偉) บอกว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทั้งหมดที่ใช้ในร้านอาหารมุสลิมล้วนได้รับการรับรองฮาลาลที่ผ่านขั้นตอนที่เข้มงวดมาก ต้องมีชายมุสลิม 2 คนหันหน้าไปทางทิศตะวันตก และเชือดสัตว์ด้วยมีดครั้งเดียวเพื่อให้หมดลมหายใจเพียง 2-3 วินาที เป็นการลดการทรมานสัตว์ อีกทั้งต้องปล่อยเลือดออก เนื้อสัตว์ที่ได้จะต้องไม่มีตำหนิ และไม่ใช้สัตว์ที่ป่วยด้วย
ทำไมชาวมุสลิมต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเมื่อเชือดสัตว์และละหมาด?
คุณหม่าเหรินเหว่ย (馬仁偉) เจ้าของร้านอาหารมุสลิมอธิบายว่า นอกจากในขณะฆ่าปศุสัตว์แล้ว ชาวมุสลิมทั่วโลกยังต้องละหมาดหันทิศทางไปยัง "กะอ์บะฮ์ในเมกกะ" (หมายเหตุ กะอ์บะฮ์ แปลว่าวิหารของสวรรค์) สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไต้หวัน จะหันไปทางทิศตะวันตก ชาวมุสลิมทุกคนติดตั้งแอพที่เกี่ยวข้องกับกะอ์บะฮ์ในโทรศัพท์มือถือ เมื่อไปถึงประเทศใดประเทศหนึ่ง พวกเขาสามารถรู้ได้ทันทีว่าควรละหมาดในทิศทางใดโดยเปิดแอพนี้
วัตถุดิบอื่นๆ ที่ใช้ในร้านอาหารมุสลิมสามารถใช้ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านการรับรองจากประเทศอื่นได้ เช่น อาหารฮาลาลที่ไทยนำเข้า และปัจจุบันไต้หวันก็มีวัตถุดิบอาหารที่ผ่านการรับรองฮาลาลบ้างแล้ว มีความสะดวกมากขึ้น แต่แน่นอนว่าราคาต่อหน่วยก็สูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ในห้องส้วมจะต้องมีอุปกรณ์ชำระล้าง ชาวมุสลิมต้องชำระร่างกายส่วนล่างด้วยน้ำสะอาดเมื่อเข้าส้วม ไม่สามารถใช้เพียงกระดาษเช็ดเท่านั้น
บุคคลสำคัญจากประเทศมุสลิมมาเยือนไต้หวัน พวกเขาละเว้นที่จะไปรับประทานอาหารในโรงแรมหรู แต่เลือกรับประทานอาหารในร้านอาหารที่ได้ผ่านการรับรองฮาลาลของชาวมุสลิม ซึ่งคุณหม่าเหรินเหว่ย (馬仁偉) บอกว่า พวกเขาไม่กล้ารับประทานอาหารในโรงแรมหรู เพราะความเคร่งครัดต่อศาสนา แต่ถ้าเข้าไปใน ร้านอาหารชาวมุสลิมจะรับประทานได้อย่างสบายใจ
เดือนรอมฎอนยังคงเปิดร้านอาหารตามปกติ อธิษฐานขอขมาในใจ
ในช่วงรอมฎอนประจำปี ชาวมุสลิมจะงดการรับประทานอาหารในระหว่างวัน แต่ร้านอาหารสามารถเปิดบริการได้หรือไม่? ทุกเช้าในช่วงต้นเดือนรอมฎอนของปีนี้ คุณอาหลี่(Ali) ยังคงเตรียมเปิดร้านแกงอินเดียของเขาในเมืองจีหลงตรงเวลา และเปิดทำการตามปกติเพื่อต้อนรับลูกค้า แต่ที่ต่างกันคือก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า เขาจะดื่มนมสดผสมกับน้ำผักและผลไม้ เพื่อรับมือกับการอดอาหารและงานที่ยุ่งตลอดทั้งวัน
ร้านอาหารส่วนใหญ่ในประเทศมุสลิมจะปิดให้บริการในช่วงเดือนรอมฎอน แต่ในไต้หวัน ร้านอาหารมุสลิมส่วนใหญ่ต้องดูแลลูกค้าที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม แม้ในช่วงเดือนรอมฎอนก็ยังเปิดให้บริการตามปกติ ซึ่งจะต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติบ้าง
คุณอาหลี่(Ali)เสริมว่า: การถือศีลอดเป็นความรับผิดชอบต่ออัลลอฮ์ (หมายเหตุ. อัลเลาะห์ (Allah) เป็นชื่อของพระเจ้าในภาษาอาหรับ และยังหมายถึงพระผู้สร้างด้วย) ซึ่งทุกอย่างเริ่มจากใจ ในประเทศมุสลิม เมื่อถึงเดือนรอมฎอน ทุกคนต้องถือศีลอด ทุกคนปฏิบัติพร้อมกัน แม้ใครจะหิวเกินไป หรือมีสุขภาพผิดปกติ ก็ต้องหลบซ่อนเพื่อกินและดื่มไม่ให้ผู้อื่นหรือตำรวจเห็น แต่ในไต้หวัน ชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย การถือศีลอดจะต้องปรับตัวเข้ากับกับวิถีชีวิตของไต้หวัน
ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ต้องทำงานและกินไม่ได้ ร่างกายจะทนไหวไหม? เมื่อได้ยินคำถามนี้ คุณอาหลี่(Ali)พูดอย่างเคร่งขรึมว่าเขาต้องถือศีลอด แต่บางครั้งเขาก็วุ่นอยู่กับการรับลูกค้าที่เป็นหมู่คณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยืนข้างเตาอบเพื่ออบขนมและบาร์บีคิว จนเหงื่อไหลไคลย้อย และเหนื่อยล้าจากทำงานทั้งวัน เมื่อร่างกายรู้สึกอิดโรยและวิงเวียน เขาจะขออภัยโทษในใจ และรีบดื่มน้ำหรือเติมพลังอย่างรวดเร็ว หลังถือศีลอดเสร็จสิ้นแล้ว เขาจะชดเชยด้วยการละหมาดหรือชดเชยการอดอาหาร ในตอนท้ายของวันหลังพระอาทิตย์ตกดิน คุณอาหลี่ และคุณหลี่เพ่ยหัว จะรีบกินอินทผลัมเพื่อเสริมแคลอรี
แม้ว่าฉันจะเป็นโรคเบาหวาน แต่ฉันก็รู้สึกผิดที่ต้องดื่มน้ำเมื่อฉันยุ่ง
เนื่องจาก คุณหม่าเหรินเหว่ย (馬仁偉) ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เดือนรอมฎอนจึงเป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับเขา“ปกติแล้วช่วง 2-3 วันแรกของการถือศีลอดจะไม่ชิน” คุณหม่าเหรินเหว่ย กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ตัวอย่างเช่น เขายุ่งอยู่กับการเข้าออกครัวในช่วงเที่ยง พอหันกลับมา เขาก็หยิบน้ำขึ้นมาดื่มโดยลืมไปว่ากำลังถือศีลอดอยู่ " ฉันจะขอขมาพระเจ้าเพราะไม่ระวังตัวจริงๆ "
วันแรกของการถือศีลอดสิ้นสุดลงในวันที่ 23 มีนาคมปีนี้ หลังเวลา 18:11 น. จูหยุนจวี๋ (朱雲菊) ภรรยาของเขาได้เตรียมเส้นก๋วยเตี๋ยวจำนวนเล็กน้อยและทั้งคู่กำลังเตรียม "ละศีลอด" แต่ขณะนั้นมีลูกค้าเข้าร้าน 1 โต๊ะ คุณหม่าเหรินเหว่ยจึงรีบดื่มน้ำ กินอินทผลัม แล้วไปแนะนำเมนูให้ลูกค้าทันที
"คุณจะรู้สึกว่าฉันหงุดหงิดเล็กน้อย" เพราะวันแรกของการอดอาหารฉันกินอาหารเช้าตอนตี 3 และไม่กินหรือดื่มเลยจนถึงกลางคืน "ฉันหิวและเหนื่อย น้ำตาลในเลือดของฉันต่ำ และอารมณ์ของฉันก็ได้รับผลกระทบด้วย”
คุณหม่าเหรินเหว่ย (馬仁偉) กล่าวขณะรับประทานก๋วยเตี๋ยวว่า "ตั้งแต่ฉันยังเด็ก การถือศีลอดแทบไม่ถูกขัดจังหวะเลย" หากร้านเปิดในวันเดียวกัน จะต้องตั้งนาฬิกาปลุกเวลา 03.00 น. เพราะต้องรีบกินอาหารเช้าให้เสร็จก่อนเวลา 04.20 น.ที่พระอาทิตย์ขึ้น หลังจากนั้นต้องอดอาหารจนถึงเวลา 18 .10 น. และควรเตรียมตัวเข้านอนเวลา 21.30 น. เพื่อเติมพลังงานให้กับตัวเอง
การปฏิญาณตน การละหมาด การถือศีลอด การบริจาคทาน และการประกอบพิธีฮัจญ์ หลัก 5 ประการในการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิม
คุณหม่าเหรินเหว่ย (馬仁偉) ป่วยเป็นโรคเบาหวานตั้งแต่อายุยังน้อย และคุณจูหยุนจวี๋ (朱雲菊)มักจะกังวลอยู่เสมอ เพราะแม้ในยามปกติคุณหม่าเหรินเหว่ยจะมีอาการตัวสั่นเมื่อเขาหิวเป็นเวลานาน แต่เธอยังบอกด้วยว่าในช่วงเดือนรอมฎอนของทุกปีไม่ว่าร้านอาหารจะยุ่งแค่ไหนสามีของเธอก็อยู่ในสภาพที่ดี เหตุผลเป็นเพราะความศรัทธา โชคดีที่ไม่มีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นในช่วงถือศีลอด อย่างไรก็ตาม หากเป็นช่วงที่กำลังยุ่ง ขอเพียงไม่ได้เห็นเขาช่วงหนึ่ง เธอก็จะเรียกสามีเพื่อให้แน่ใจว่าเขาไม่เป็นลม
คุณหม่าเหรินเหว่ย (馬仁偉) คอยสังเกตุร่างกายของตนเอง โดยก่อนถือศีลอดในตอนเช้าและหลังละศีลอดในตอนกลางคืน เขาจะต้องฉีดอินซูลินก่อน ถ้าเขารู้สึกไม่สบายมาก ก็จะไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลเพื่อฉีดยารักษา มิเช่นนั้นเขาจะถือศีลอดต่อไป แต่ถ้ามีการให้น้ำเกลือจะถือว่าศีลขาด
คุณหม่าเหรินเหว่ย (馬仁偉) เริ่มถือศีลอดเดือนรอมฎอนกับพ่อแม่ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ถ้าไม่มีเหตุการณ์สุดวิสัย เขาจะถือศีลอดตลอดไป ส่วนคุณจูหยุนจวี๋ (朱雲菊) เริ่มถือศีลอดเดือนรอมฎอนตั้งแต่อายุ 9 ขวบ และพ่อแม่สอนเธอว่า "จงท่องในใจเงียบๆ ปล่อยให้ใจสงบเพื่อเสร็จสิ้นภาระกิจการถือศีลอด
นอกจากการถือศีลอดแล้ว การละหมาดก็เป็นสิ่งสำคัญ คุณหม่าเหรินเหว่ย (馬仁偉) บอกว่าตนได้ใช้พื้นที่ใต้ดินของร้านอาหารทำเป็นที่ละหมาดโดยจัดให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นสถานที่สะดวกสำหรับสองสามีภรรยาเท่านั้น แต่บางครั้งแขกที่เป็นชาวมุสลิมก็มาละหมาดร่วมกันที่นี่ด้วย
เพราะในหนึ่งวันมีการละหมาดถึง 5 ครั้ง ยกเว้นตอนเช้าและก่อนนอน ที่เหลือจะละหมาดอยู่ในร้าน คุณหม่าเหรินเหว่ย (馬仁偉) บอกว่าจะมีการละหมาดหลังเลิกศีลอดตอน 6 โมงเย็นด้วย แต่ต้องชำระร่างกายให้สะอาดก่อนละหมาด หากเป็นช่วงลูกค้ากำลังเข้าร้านพอดีก็จะรอกลับบ้านในตอนกลางคืนชดเชยการละหมาดอีกครั้ง
การละหมาดมีความสำคัญมากสำหรับชาวมุสลิม คุณหม่าเหรินเหว่ย (馬仁偉) กล่าวอย่างเคร่งขรึมว่า "อัลกุรอาน" ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าในฐานะชาวมุสลิมจะต้องปฏิบัติหลักการ 5 ประการ ได้แก่ "การปฏิญาณตน การละหมาด การถือศีลอด การบริจาคทานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น และการประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมกกะห์ครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งทั้ง 5 สิ่งนี้จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้สำหรับพวกเขา