อินเดียเผชิญปัญหาระดับชาติ : หากโลกติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นอีก 1 พันล้านเครื่อง จะเย็นสบายขึ้นหรือร้อนกว่าเดิม?
เรื่อง : จางเจิ้งหง
แปลและรายงานโดย เจนนรี ตันตารา
[บทนำ]
เดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ.2023 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่มีการบันทึกมา นอกจากคลื่นความร้อนรุนแรงที่แผ่ปกคลุมทวีปอเมริกาเหนือแล้ว หลายประเทศในทวีปเอเชียก็เผชิญกับอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์เช่นกัน อย่างประเทศอินเดียที่เพิ่งแซงหน้าจีนขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก ตั้งแต่เดือนเมษายนก็ประสบกับคลื่นความร้อนมาอย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิสูงเกิน 45 องศาเซลเซียสติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้มีผู้คนเสียชีวิตจากอากาศร้อนจัดนับร้อย ประชาชนแย่งกันซื้อเครื่องปรับอากาศ โดยหวังว่าจะมีลมเย็นๆจากเครื่องปรับอากาศพัดให้รู้สึกสบายตัวจากสภาพอากาศที่ร้อนระอุเพิ่มขึ้นทุกปี
ประเทศอินเดียที่มีจำนวนประชากร 1.4 พันล้านคน มีไม่ถึงร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ที่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในบ้านอยู่ก่อนแล้ว สิ่งนี้ทำให้อินเดียที่กำลังประสบปัญหาคลื่นความร้อนต่อเนื่องมานานหลายปี กลายเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากที่สุดในโลกของเครื่องปรับอากาศ แต่เมื่อโลกมีเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น 1 พันเครื่องอย่างกะทันหัน ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาคืออะไร?
[เนื้อเรื่อง]
ปีนี้หลายพื้นที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับ "คลื่นความร้อน" ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นผิดปกติ ตัวอย่างเช่น ในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา ซึ่งเป็นเมืองผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ในเดือนกรกฎาคม มีคลื่นความร้อนสูงเกิน43.3 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 31 วันติดต่อกัน ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนที่ต้องตกอยู่ท่ามกลางภัยคุกคามเท่านั้น ยังเป็นคลื่นความร้อนที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งเมืองฟีนิกซ์ ส่วนเอเชียที่อยู่อีกด้านหนึ่งของโลก ก็ประสบกับคลื่นความร้อนที่สูงผิดปกติมาตั้งแต่เดือนเมษายน ประเทศเวียดนามที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 44.1 องศาเซลเซียส ส่วนประเทศไทยก็สร้างสถิติใหม่ด้วยอุณหภูมิสูง 45.4 องศาเซลเซียส
แต่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนมากที่สุดในเอเชีย คือประเทศอินเดียที่ตั้งอยู่ในเอเชียใต้ นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา คลื่นความร้อนได้เข้าปกคลุมทั่วอินเดีย หลายเมืองต้องเผชิญกับอุณหภูมิสูง 45 องศาเซลเซียสเป็นเวลาหลายสัปดาห์ อากาศร้อนจัดไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างรุนแรง กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีประชาชนเสียชีวิตเพราะทนความร้อนไม่ไหวราว 200 คนทั่วประเทศ ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนหนักที่สุดของทวีปเอเชียในปีนี้
#InfoBox "คลื่นความร้อน"ในอินเดียเกิดขึ้นได้อย่างไร?
เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็น "ฤดูร้อน" ของอนุทวีปอินเดีย (หมายเหตุ:หรือที่เรียกว่า อนุทวีปเอเชียใต้ หมายถึง แผ่นดินใหญ่ที่ทางตอนใต้ของเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นส่วนที่ขยายออกไปทางทิศใต้ของทวีปเอเชีย) ในช่วงเวลานี้ แสงแดดในซีกโลกเหนือจะเพิ่มขึ้นและมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันนี้ มหาสมุทรอินเดียกำลังอยู่ในช่วงลมเปลี่ยนทิศ ทำให้อินเดียและปากีสถานในเอเชียใต้ มีแนวโน้มเผชิญกับคลื่นความร้อนที่เกิดจากอุณหภูมิพุ่งสูงและความแห้งแล้งในช่วงนี้เป็นประจำทุกปี
โดยทั่วไป ฤดูร้อนที่แห้งแล้งของอินเดีย เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงเดือนมิถุนายนอากาศจะเริ่มเย็นลง แต่เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพอากาศทั่วโลกแปรปรวน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากอากาศแห้งเป็นอากาศชื้นในอินเดียจึงกลายเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก ฤดูฝนมาช้า ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ฤดูร้อนในอินเดียมีอากาศร้อนกว่าปกติและยาวนานขึ้น นับเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างใหญ่หลวง
ครัวเรือนร้อยละ 80 ไม่มีเครื่องปรับอากาศ "ตากแอร์ด้วยกัน"เป็นกิจกรรมทางสังคมของอินเดีย
ท่ามกลางคลื่นความร้อนที่แผดเผา การเปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อคลายความร้อนเป็นสิ่งที่เรามักจะทำเป็นประจำ แต่ "การใช้เครื่องปรับอากาศ" กลับเป็นประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ระดับชาติของอินเดีย
คุณอาติช เทเซอร์ (Aatish Taseer) นักข่าวที่เติบโตในอินเดีย เคยอธิบายไว้ในคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ว่าด้วย "วัฒนธรรมเครื่องปรับอากาศ" ในสังคมอินเดีย “เพื่อนชาวอเมริกันของฉันเพิ่งย้ายเข้าไปพักในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ในเมืองที่ร้อนระอุแห่งนั้น คนในท้องถิ่นจำนวนมาก มักจะเชิญชวนเขาว่า "ไปตากแอร์ด้วยกัน!" เพื่อนชาวอเมริกันคนนี้คิดว่าเป็นเรื่องตลก เพราะเขาไม่เข้าใจว่า การนั่งอยู่ในห้องแอร์ที่เย็นสบาย เป็นกิจกรรมทางสังคมประเภทไหน...แต่ที่อินเดีย การตากแอร์ไม่ใช่ประสบการณ์ที่มีโดยทั่วไปสำหรับประชาชน และการเปิดเครื่องปรับอากาศเป็นเหมือนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ที่สร้างความสุขให้กับชีวิต”
ในความเป็นจริง อัตราการใช้เครื่องปรับอากาศถือเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด เพราะเครื่องปรับอากาศราคาไม่ถูก เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าาที่ใช้พลังงานมากที่สุด และมีค่าใช้จ่ายในการใช้งานสูงที่สุดในบรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ดังนั้น เงื่อนไขเบื้องต้นที่จะทำให้เครื่องปรับอากาศแพร่หลาย ประการแรกคือ พลังงานของประเทศต้องเพียงพอและมีเสถียรภาพ ประการที่สอง สภาวะเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศต้องมั่นคงในระดับหนึ่ง ต้องมีระดับการบริโภคในระดับชนชั้นกลางขึ้นไป
นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า เกณฑ์ทางเศรษฐกิจด้านความนิยมในการซื้อเครื่องปรับอากาศ คือครัวเรือนที่มีรายได้ต่อปีประมาณ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็น 313,000 เหรียญไต้หวัน) หากครัวเรือนในประเทศมีรายได้ต่อปีเกินเกณฑ์ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ การตัดสินใจซื้อเครื่องปรับอากาศในครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น หลังปี ค.ศ. 2000 ตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศจีนก็เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุกปี ส่วนอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หลังปี ค.ศ.2010 ก็เริ่มขายเครื่องปรับอากาศได้เป็นจำนวนมาก
ในฐานะที่อินเดียประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก 1.4 ล้านคน แต่ประชากรมากกว่าร้อยละ 80 ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศใช้ อย่างไรก็ตาม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการว่า GDP ต่อหัวของอินเดียในปี ค.ศ. 2023 จะเกิน 9,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าในไม่ช้าก็จะถึง "เกณฑ์รายได้ต่อปี 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องปรับอากาศของประชาชน " ดังนั้น ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกต่างเล็งเห็นโอกาสทางการตลาดในอินเดีย คาดว่าอินเดียจะกลายเป็นตลาดเครื่องปรับอากาศในครัวเรือนที่ใหญ่ที่สุดของโลก และมีแนวโน้มสร้างโอกาสทางการค้าที่ทำให้โลกนี้มีเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 พันล้านเครื่อง
ประโยชน์ของการมีเครื่องปรับอากาศ 1 พันล้านเครื่อง : พัฒนาสภาพชีวิตและเศรษฐกิจ
"ตลาดเครื่องปรับอากาศในอินเดียมีศักยภาพที่ไร้ขีดจำกัดและเต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจมหาศาล" เมื่อเผชิญกับคลื่นความร้อนที่แผ่ขยายไปทั่วเอเชียในปี ค.ศ.2023 ผู้ดูแลบริษัทผลิตเครื่องปรับอากาศระดับโลกในอินเดียรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า : ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อินเดียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ครอบครัวชนชั้นกลางมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายเครื่องปรับอากาศในอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 15 เท่า
ผู้เชี่ยวชาญอินเดียเชื่อว่า การที่เครื่องปรับอากาศได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงมีส่วนช่วยในด้านสาธารณสุข และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเท่านั้น ยังส่งผลกระทบในเชิงลึกต่อการเติบโตของผลผลิตทางเศรษฐกิจอีกด้วย
ยกตัวอย่างคนงานในโรงงานของอินเดีย ข้อมูลจากวารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง (Journal of Political Economy) ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้วิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมจำนวนมากพบว่า : ในช่วงฤดูร้อน ทุกครั้งที่อุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในอดีต 1 องศาเซลเซียส ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของอินเดียจะลดลงร้อยละ 3 หากเจาะลึกประสิทธิผลในการผลิตอย่างละเอียดโดยเฉพาะในระหว่างที่คลื่นความร้อนแผ่ปกคลุม พบว่า ผลผลิตทางอุตสาหกรรมของโรงงานที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศจะลดลงถึงร้อยละ2-8 เมื่อเทียบกับโรงงานที่เปิดใช้เครื่องปรับอากาศ
งานวิจัยนี้เผยให้เห็นว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์และมีอิทธิพลต่อการทำงาน ทำให้ไม่มีสมาธิในการทำงาน การคิดวิเคราะห์และการเคลื่อนไหวแย่ลง มีความรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลียง่าย มีอารมณ์ร้อน หุนหันพลันแล่น มักหงุดหงิด โมโหและวิตกกังวลได้ง่าย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องการความละเอียดและความแม่นยำสูง ผลผลิตในช่วงฤดูร้อนจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นการรักษาสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้มีอากาศเย็นสบาย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ
นอกจากนี้ การใช้เครื่องปรับอากาศอย่างเหมาะสม ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมคุณภาพของการนอน เพื่อให้ร่างกายและสมองได้รับการพักผ่อนและซ่อมแซมส่วนที่ซึกหรอ สิ่งนี้สำคัญอย่างยิ่งต่อกลุ่มเด็กนักเรียนที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต ตลอดจนผู้สูงอายุที่ร่างกายเริ่มเคลื่อนไหวช้าลงและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย
ความน่ากังวลเมื่อมีเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น 1 พันล้านเครื่อง : นำมาซึ่งวิกฤตพลังงานและสิ่งแวดล้อม
แม้ว่าความนิยมการใช้เครื่องปรับอากาศจะมอบความสะดวกสบายและประโยชน์ที่หาอย่างอื่นมาทดแทนได้ยาก แต่ก็อาจสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมโลกอย่างไม่อาจแก้ไขได้
ปัจจุบันแม้ว่าสารทำความเย็นที่ใช้ในเครื่องปรับอากาศจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าอดีต แต่ยังคงเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทรงพลัง หากการเติบโตของเครื่องปรับอากาศในอนาคตไม่มีนโยบายที่จะมากำกับดูแลเพียงพอและขาดความตระหนักรู้ในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศจำนวน 1 พันล้านเครื่อง อาจกลายเป็นการเพิ่มแรงกดดันที่ส่งผลต่อปรากฏการณ์โลกร้อน
นอกจากนี้ เครื่องปรับอากาศยังเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่ใช้พลังงานสูง การใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันของประชาชนในช่วงฤดูร้อนจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ส่งผลให้ประเทศประสบปัญหาพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ในช่วงฤดูร้อนมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ประมาณหนึ่งในสามของการใช้ไฟฟ้าในประเทศเป็นการใช้เครื่องปรับอากาศ แต่ในอินเดียที่มีอัตราความนิยมเครื่องปรับอากาศไม่ถึงร้อยละ20 การจ่ายไฟในช่วงฤดูร้อนก็ค่อนข้างตึงตัวอยู่แล้ว ดังนั้นในอนาคต หากมีการใช้เครื่องปรับอากาศอย่างแพร่หลาย จะส่งผลให้เกิดวิกฤตพลังงานหรือไม่ จะกลายเรื่องน่าปวดหัวระดับชาติสำหรับรัฐบาลอินเดีย
คุณอาติชกล่าวว่า“หากเราไม่พยายามเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของระบบเครื่องปรับอากาศ คาดว่าภายในปี ค.ศ. 2030 ความต้องการไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศทั่วอินเดียจะเพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ.2010 ถึง 30 เท่า” เนื่องจากคลื่นความร้อนของอินเดียส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่แห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝนน้อย การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำในช่วงนี้จึงค่อนข้างยากลำบาก ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชาชนในครัวเรือนที่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ อินเดียจึงจำเป็นต้องขยายการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำและสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนเพื่อผลิตไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งนี้จะเพิ่มมลพิษทางอากาศที่มีอยู่แล้วของอินเดียหรือไม่? หรือทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยรวมของอินเดียเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า? สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวิกฤตที่จะเกิดขึ้นตามมากับการใช้เครื่องปรับอากาศอย่างแพร่หลาย
“ก่อนที่โลกจะสุกด้วยเครื่องปรับอากาศ พวกเราจำเป็นต้องหาทางแก้ไข” Abhas Jha ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสภาพภูมิอากาศ ของธนาคารโลกกล่าว
แม้ว่าตลาดหลักของการทำให้เครื่องปรับอากาศเป็นที่นิยม ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศเกิดใหม่ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย แต่ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และสถานที่อื่นๆ เนื่องจากคลื่นความร้อนในแต่ละปีที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงมีความต้องการเครื่องปรับอากาศในสถานที่ที่ไม่เคยต้องการมาก่อน ขณะเดียวกัน แม้ว่าอินเดียจะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และจีน แต่การปล่อยคาร์บอนต่อหัวกลับมีเพียง 1 ใน 3 ของสหภาพยุโรป และ 1 ใน 7 ของสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ในขณะที่ทั่วโลกกำลังกังวลว่า "เครื่องปรับอากาศจะทำให้โลกร้อนขึ้น" ก็ควรคำนึงถึงชาวอินเดียที่มีความคาดหวังว่าอยากมีชีวิตที่สะดวกสบายเช่นกัน และร่วมเดินทางสู่การสร้างเทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศที่เป็นมิตรและยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
"ในขณะที่ประเทศเกิดใหม่มีความมั่งคั่งมากขึ้น ความต้องการเครื่องปรับอากาศของประชาชนก็จะเป็นรูปธรรมมากขึ้นเช่นกัน" ถึงแม้เครื่องปรับอากาศในอินเดียที่เพิ่มขึ้น 1 พันล้านเครื่อง อาจจะสร้างภาระให้กับโลกใบนี้ แต่ก็อาจจะส่งเสริมความก้าวหน้าให้กับเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน คุณอาติชกล่าวว่า "หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ก่อนฤดูร้อนครั้งหน้าจะมาเยือน ผู้คนที่ทำงานหนัก ต้องเผชิญกับสภาพเหงื่อไหลไครย้อย จะได้ตากแอร์เย็นสบายไปด้วยกัน และมีความรู้สึกอุ่นใจมากยิ่งขึ้น”