1. รู้จักระบบช่วยเหลือแรงงานที่ถูกให้ออกจากงาน หากนายจ้างปิดหรือลดขนาดกิจการ ต้องจ่ายเงินชดเชยค่าให้ออกจากงานตามอายุงานของลูกจ้างปีละ 1 เดือน กรณีนายจ้างล้มละลาย สามารถยื่นขอเงินจากกองทุนชดเชยค่าจ้างค้างจ่าย
แรงงานต่างชาติที่เดินทางมาทำงานในไต้หวัน ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา ส่วนใหญ่อยู่ทำงานกับนายจ้างรายเดียวตลอดจนครบ 12 ปีหรือมากกว่านั้น บางรายอาจเปลี่ยนนายจ้างทำงานสะสมจนครบ 12 ปี แต่ก็อาจมีบางคนที่โชคร้าย จู่ ๆ นายจ้างประสบปัญหาด้านการเงิน จนต้องลดขนาดกิจการหรือเลิกกิจการไปเลย ซึ่งต้องให้พนักงานออกจากงาน แน่นอนแรงงานต่างชาติจะถูกให้ออกจากงานด้วย สำหรับแรงงานท้องถิ่นสามารถเข้าสู่ระบบประกันการว่างงาน ส่วนแรงงานต่างชาติ ขออย่าได้กังวลในเรื่องการทำงาน เพราะกระทรวงแรงงานมีกระบวนการช่วยเหลือย้ายไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ ซึ่งการย้ายงานของแรงงานต่างชาติเนื่องจากนายจ้างล้มละลาย ง่ายกว่าคนงานที่ขอย้ายงานกันเอง เพราะการย้ายงานที่เกิดจากความประสงค์ของคนงานเอง โดยเฉพาะย้ายงานกลางสัญญา นายจ้างส่วนใหญ่จะไม่กล้ารับ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นคนงานที่มีปัญหา ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ไม่งั้นนายจ้างเดิมจะไม่ยอมเสียโควตาให้ย้ายงานกลางคัน ผิดกับแรงงานต่างชาติที่ย้ายงานเพราะโรงงานลดขนาดหรือปิดกิจการ คนงานจำต้องย้ายงานโดยไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากตัวคนงาน นายจ้างหรือบริษัทจัดหางาน ส่วนใหญ่จะแย่งกันรับไปทำงานกับตน
ที่ทำการสำนักงานใหญ่กรมประกันภัยแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในกรุงไทเป
กรณีที่เกิดการลดขนาดกิจการหรือปิดกิจการ มีสิทธิประโยชน์สำคัญประการหนึ่ง นั่นคือเงินชดเชยให้ออกจากงาน เพราะการที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างกับลูกจ้าง โดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิด ตามกฎหมายมาตรฐานแรงงานของไต้หวัน มาตรา 16 กำหนดให้นายจ้างต้องปฏิบัติดังนี้ :
1. การบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อนายจ้างประสงค์จะบอกเลิกสัญญาจ้าง ระยะเวลาที่นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าต่อลูกจ้าง ให้เป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ :
หากลูกจ้างทำงานมาเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไปติดต่อกัน แต่ไม่เกิน 1 ปี ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า 10 วัน
หากลูกจ้างทำงานมาเกินกว่า 1 ปีขึ้นไปติดต่อกัน แต่ไม่เกิน 3 ปี ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า 20 วัน
หากลูกจ้างทำงานมาเกิน 3 ปีขึ้นไปติดต่อกัน ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน
ภายในที่ทำการสำนักงานใหญ่กรมประกันภัยแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในกรุงไทเป
เมื่อลูกจ้างได้รับแจ้งการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามวรรคก่อน ลูกจ้างอาจขอลางานเพื่อไปหางานใหม่ทำก็ได้ โดยได้รับค่าจ้าง ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 2 วันต่อสัปดาห์ หากนายจ้างไม่บอกกล่าวล่วงหน้าต่อลูกจ้างตามระยะเวลาที่กำหนดในวรรคก่อน ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง เท่ากับจำนวนวันที่ระบุให้ต้องบอกกล่าวล่วงหน้านั้นๆ
2. การจ่ายเงินชดเชยให้ออกจากงานตามอายุงาน กรณีนายจ้างเป็นผู้ยกเลิกสัญญาจ้างตามบทบัญญัติมาตราก่อน นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเงินตามที่กำหนดไว้ภายในเวลา 30 วัน ดังข้างล่างนี้ :
จ่ายเงินชดเชยให้ออกจากงานเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 1 เดือน ต่ออายุการทำงานของลูกจ้างแต่ละปีติดต่อกัน หรือจ่ายให้ปีละ 1 เดือน
กรณีอายุการทำงานน้อยกว่า 1 ปี จำนวนเงินชดเชยให้คำนวณตามส่วน เศษของเดือนหรืออายุการทำงานที่ไม่ครบหนึ่งเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน
สถานประกอบการที่ปิดหรือลดขนาดกิจการ ต้องจ่ายเงินชดเชยให้ออกจากงานและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้าง
2. หากนายจ้างล้มละลาย ไม่มีเงินจ่ายค่าเงินชดเชยให้ออกจากงาน ค้างจ่ายค่าจ้าง ควรทำอย่างไรดี? ไม่ต้องกังวล กองทุนชดเชยค่าจ้างค้างจ่ายช่วยคุณได้
นายจ้างล้มละลายหรือปิดกิจการโดยไม่มีเงินจ่ายค่าให้ออกจากงาน แม้กระทั่งค่าจ้างก็ค้างจ่าย ทำอย่างไรดี? ไม่ต้องกังวล ไต้หวันมีระบบช่วยเหลือแรงงานที่โชคร้าย นายจ้างล้มละลายหรือปิดกิจการและไม่สามารถจ่ายเงินสิทธิประโยชน์หรือค่าให้ออกจากงานได้ เรียกว่ากองทุนชดเชยค่าจ้างค้างจ่าย กองทุนฯ นี้ เป็นส่วนหนึ่งของระบบประกันภัยแรงงาน จะเก็บเบี้ยประกันเข้ากองทุนชดเชยค่าจ้างค้างจ่ายจากนายจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งไม่มาก แต่มีส่วนช่วยแรงงานได้เยอะ กล่าวคือ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนชดเชยค่าจ้างค้างจ่ายเป็นรายเดือน คิดเป็นอัตราส่วนหมื่นละ 2.5 หรือ 2.5 เหรียญต่อวงเงินที่เอาประกันภัยแรงงาน 10,000 เหรียญ ยกตัวอย่างเช่น โรงงานแห่งหนึ่ง นายจ้างว่าจ้างแรงงาน 40 คน สมมุติว่าแต่ละเดือนวงเงินประกันที่นายจ้างจะต้องเอาประกันให้แก่ลูกจ้างทั้ง 40 คน เท่ากับ 1 ล้านเหรียญ นอกจากเบี้ยประกันภัยแรงงานในส่วนที่นายจ้างต้องรับผิดชอบแล้ว นายจ้างยังต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนชดเชยค่าจ้างค้างจ่ายหมื่นละ 2.5 หรือ 250 เหรียญ จะเห็นได้ว่า จำนวนเงินที่จ่ายน้อยมาก แต่จะมีส่วนช่วยเหลือโรงงาน กรณีที่โชคร้ายต้องปิดกิจการและไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายในส่วนที่ไม่เกิน 6 เดือนและเงินให้ออกจากงาน สามารถยื่นขอจากกองทุนฯ นี้ได้ เป็นระบบคุ้มครองแรงงานกรณีที่โชคร้าย ซึ่งครอบคลุมถึงแรงงานต่างชาติด้วย
สำนักงานแรงงานไทย ไทเปและกองแรงงานนครเถาหยวน ช่วยจัดให้นายจ้างกว่า 10 รายมาสัมภาษณ์แรงงานไทยจำนวน 63 คน ของ CPT เพื่อย้ายงาน
ตัวอย่างเมื่อปี 2562 Chunghwa Picture Tube หรือ CPT บริษัทผลิตจอภาพเก่าแก่ของไต้หวัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากบริษัทแม่ ได้แก่บริษัทต้าถงที่ประสบปัญหาด้านการประกอบกิจการ ทำให้เกิดปัญหาด้านการเงิน จำต้องปิดกิจการ ส่งผลให้พนักงานกว่า 2,000 คนตกงานทันที โดยในจำนวนนี้ เป็นแรงงานฟิลิปปินส์ 200 คนและแรงงานไทย 63 คน ต่อสถานการณ์ดังกล่าว กองแรงงานนครเถาหยวน ได้จัดให้แรงงานต่างชาติทั้งหมดไปพักอาศัยที่หมู่บ้านแรงงานต่างชาติ 2 แห่งในนิคมอุตสาหกรรมผิงเจิ้นในนครเถาหยวน โดยกองแรงงานรับผิดชอบค่าอาหารและค่าที่พักทั้งหมด และร่วมกับสำนักงานแรงงานไทย ไทเป ได้จัดงานนัดพบแรงงาน โดยเปิดให้บริษัทนายจ้างไปตั้งโต๊ะสัมภาษณ์และรับสมัครแรงงานไทยและฟิลิปปินส์ ปรากฏว่าย้ายหมดในครึ่งวัน ส่วนค่าจ้างค้างจ่ายในส่วนที่ไม่เกิน 6 เดือนและเงินชดเชยค่าให้ออกจากงาน ก็ยื่นขอจากกองทุนชดเชยค่าจ้างค้างจ่าย ซึ่งได้อนุมัติและโอนเข้าบัญชีของคนงานเรียบร้อยแล้ว
แรงงานไทยที่โชคร้ายโรงงานปิดกิจการ ได้รับการช่วยเหลือจากสำนักงานแรงงานไทย ไทเป และกองแรงงานเถาหยวน กำลังรอการสัมภาษณ์จากนายจ้างใหม่เพื่อย้ายงาน
ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 เจาวั่น (Zhao Wan Industry Co., Ltd.) โรงงานฟอกย้อมที่เถาหยวนล้มละลาย มีแรงงานไทย 23 คน อินโดนีเซียประมาณ 60 คน และแรงงานท้องถิ่นอีกกว่า 200 คน เนื่องจากเอกสารและการคิดคำนวณอายุงานของแรงงานท้องถิ่นมีปัญหา เพิ่งจะอนุมัติเงินค่าจ้างค้างจ่ายและเงินให้ออกจากงานที่นายจ้างไม่สามารถจ่ายให้ได้เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้
น.ส. ประภาวดี แก้วศิริพงษ์ ผอ. สำนักงานแรงงานไทย ไทเป (แถวหน้าคนที่ 1 จากขวา) เยี่ยมให้กำลังใจแรงงานไทยใน Zhao Wan Industry Co., Ltd. ที่นายจ้างปิดกิจการ พร้อมประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยยื่นขอเงินชดเชยจากกองทุนฯ