close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

สารานุกรมสุขภาพประจำวันที่ 18 กันยายน 2566

  • 18 September, 2023
สารานุกรมสุขภาพ
สารานุกรมสุขภาพประจำวันที่ 18 กันยายน 2566

สัปดาห์นี้สารานุกรมสุขภาพจะมาต่อกับ 10 อันดับสุดยอดอาหารที่จัดอันดับโดยนักโภชนาการไต้หวัน ตอนที่ 2 (อันดับที่ 5-7)

อันดับที่ 7 เห็ดหอม

     ในด้านของรสชาติ เห็ดหอมนั้นเหมือนกับผงชูรสธรรมชาติที่ช่วยทำให้อาหาร น้ำซุปเกิดรสกลมกล่อมและมีกลิ่นหอมน่ารับประทานมากขึ้น นั่นเป็นเพราะเห็ดหอมมีกรดอะมิโนอยู่ถึง 21 ชนิด กรดอะมิโนที่มีมากที่สุดคือ กรดกลูตามิค ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของผงชูรสนั่นเอง ในเห็ดหอมมีองค์ประกอบของพฤกษเคมีที่ชื่อว่า โพลีแซคคาไรด์  Polysaccharide ซึ่งจะทำงานร่วมกันกับเซลล์คุ้มกันขนาดใหญ่ที่ชื่อ แมคโครฟาจ Macrophage ในการช่วยกระตุ้นวงจรการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

     เลนติเนน (Lentinan) และ LEM Lentinulaedodes Mycelium ในเห็ดหอม สามารถกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิต้านทานได้ดีและยังสามารถช่วยให้โปรไบโอติกในลำไส้การเจริญเติบโตได้ดีอีกด้วยของอีกด้วย

     เห็ดหอมมีปริมาณวิตามินดีสูงกว่าชนิดอื่นๆ ซึ่งวิตามันดีนั้นสามารถช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกระดูก ช่วยป้องกันโรคกระดูกบางและกระดูกพรุน นอกจากนี้วิตามินดียังมีคุณสมบัติพิเศษอีกมากมายที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ นั่นคือ วิตามินดีมีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเพศ จึงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมกระบวนการสำคัญต่าง ๆ ในร่างกาย  เช่น ช่วยลดฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Parathyroid Hormone) ป้องกันการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ช่วยปรับสมดุลน้ำตาลในเลือดและป้องกันโรคเบาหวาน

 

อันดับที่ 6 ซึ่งก็คือมะเขือเทศดำ

     มะเขือเทศดำภายนอกเป็นสีดำ มีด้านในสีแดงเหมือนกับมะเขือเทศปกติ มีประโยชน์และคุณค่าทางอาหารมากกว่ามะเขือเทศทั่วไป และมีวิตามินสูงกว่ามะเขือเทศทั่วไป 2-3 เท่า และมีสารไลโคปีนสูงกว่ามะเขือเทศสีแดง แถมยังมีน้ำตาลในปริมาณที่ต่ำกว่ามะเขือเทศธรรมดาและยังมีใยอาหารสูงกว่าด้วย ดังนั้นจึงมีประสิทธิภาพในการส่งเสริมระบบขับถ่ายและน้ำตาลในเลือดด้วย

     อย่างไรก็ตาม นักโภชนาการแนะนำว่า การทานมะเขือเทศเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรนำมาปรุงผ่านความร้อนให้สุกเสียก่อน เมื่อมะเขือเทศผ่านความร้อน จะทำให้ไลโคปีนหลุดออกมาจากเนื้อมะเขือเทศได้ง่าย เมื่อกินเข้าไปร่างกายก็สามารถดูดซึมได้ดีกว่า นอกจากนี้ ไลโคปีน เป็นสารที่สามารถละลายได้ดีในน้ำมัน ดังนั้นหากเราใช้น้ำมันในการปรุงมะเขือเทศ จะยิ่งทำให้ร่างกายดูดซึมไลโคปีนได้ดียิ่งขึ้น

 

อันดับ 5 ยอดมันเทศ

     อันที่จริงแล้วคนเราไม่เพียงแต่สามารถรับแคลเซียมได้จากการดื่มนมเท่านั้น พืชผักสวนครัวก็สามารถเติมแคลเซียมให้แก่ร่างกายได้เช่นกัน โดยเฉพาะในใบมันเทศ ซึ่งเป็นพืชผักที่มีปริมาณแคลเซียมสูงสุดในบรรดาผักใบเขียวทั้งหมดเลยก็ว่าได้ ดังนั้น สำหรับคนที่แพ้นมก็สามารถเสริมแคลเซียมให้ร่างกายโดยการบริโภคใบมันเทศได้ และในไต้หวันใบมันเทศนั้นเป็นพืชผักที่หารับประทานได้ง่ายมากแถมยังมีให้รับประทานตลอดทั้งปีอีกด้วย

     นอกจากนี้เมื่อเทียบกับผักใบเขียวชนิดอื่นๆแล้ว ใบมันเทศยังเป็นผักที่มีไฟเบอร์และวิตามินเอสูง ใยอาหารในใบมันเทศนั้นมีประโยชน์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้นใบมันเทศก็เหมาะสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานด้วย สำหรับวิตามินเอในใบมันเทศนั้น มีบทบาทสำคัญในการช่วยบำรุงสายตาและผิวพรรณ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยป้องกันการเจ็บป่วย

 

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง