พาคุณผู้ไปติดดาวร่างกฎหมายใหม่ของไต้หวันที่จะช่วยคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนจากการถูกสตอล์กเกอร์คุกคาม "สตอล์กเกอร์" (stalker) หมายถึง ผู้ที่มีพฤติกรรมสะกดรอยตามหรือตามติดชีวิตผู้อื่นมากเกิน จนถึงขั้นรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหายทางจิตใจหรือทางกาย ในไต้หวันและต่างประเทศ มักเกิดคดีฆาตกรรมที่เหยื่อถูกสะกดรอยตามก่อนหน้า และถูกฆ่าทีหลังอยู่บ่อยครั้ง จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไต้หวัน ปี 2564 ระบุว่า ปีที่แล้วมีการแจ้งความเกี่ยวกับการสะกดรอยตาม, คุกคาม, ก่อกวน มากกว่า 7,600 กรณีในแต่ละปี ซึ่งปัจจุบันอำนาจของตำรวจในการจัดการกับกรณีเหล่านี้มีอยู่อย่างจำกัด ในช่วงหลายปีมานี้ มีคดีรุนแรงหลายคดีที่ผู้เสียหายถูกตาม, สะกดรอย หรือคุกคามก่อนที่เกิดเหตุร้าย และเข้าแจ้งความกับตำรวจเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เพราะกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถเอาผิดต่อการกระทำเหล่านั้น
สภาบริหารไต้หวันผ่านร่างกฎหมายต่อต้านสตอล์กเกอร์ หวังคุ้มครองสวัสดิภาพของสตรีเพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา สภาบริหารไต้หวันมีมติผ่านร่าง “กฎหมายต่อต้านการสะกดรอยตามและคุกคาม” (Anti-Stalking and Harassment Law) โดยกำหนดพฤติกรรมการสะกดรอยตามและการคุกคาม 8 ประเภทอย่างชัดเจน มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 เหรียญไต้หวัน หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้กระทำผิดมีอาวุธด้วย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 เหรียญไต้หวัน หรือทั้งจำทั้งปรับ
พฤติกรรมการสะกดรอยตามจัดเป็นความรุนแรงทางเพศอย่างหนึ่ง จากสถิติขององค์การสหประชาชาติ ภัยคุกคามต่อความปลอดภัยส่วนบุคคลของสตรี 3 ประการ ได้แก่ การข่มขืน, ความรุนแรงในครอบครัว, การสะกดรอยตามและคุกคาม โดยสัดส่วนของเหยื่อการสะกดรอยตามและถูกคุกคามนั้นเป็นเพศหญิงมากถึง 80% ถือเป็นพฤติกรรมที่มีอัตราการเกิดขึ้นสูง มีความน่ากลัวสูง และอัตราการบาดเจ็บสูง
ร่างกฎหมายของสภาบริหารของไต้หวันได้พิจารณาจากความคิดเห็นของกลุ่มสตรีและสมาชิกสภานิติบัญญัติตลอดจนกฎหมายต่างประเทศ จึงกำหนดให้การสะกดรอยตามและคุกคามจัดเป็นอาชญากรรม และกำหนดลักษณะของอาชญากรรมอย่างชัดเจน โดยให้อำนาจแก่ตำรวจในการออกหนังสือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร และพนักงานอัยการสามารถดำเนินการควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อป้องกันได้เช่นกัน หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน การคุ้มครองสวัสดิภาพของสตรีในไต้หวันจะยิ่งสมบูรณ์มากขึ้น พฤติกรรมการสะกดรอยตามและคุกคามตามร่างกฎหมายฉบับนี้ หมายถึง การกระทำโดยบุคคล, ยานพาหนะ, เครื่องมือ, อุปกรณ์, การสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์, อินเทอร์เน็ต หรือวิธีการอื่นๆ ในลักษณะกระทำซ้ำๆ หรือต่อเนื่อง เพื่อละเมิดความยินยอมและเกี่ยวข้องในทางเพศหรือเพศสภาพของบุคคลอื่นโดยเฉพาะเจาะจง จนทำให้บุคคลนั้นเกิดความกลัว และส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันหรือกิจกรรมทางสังคมของบุคคลนั้น
ส่วนคำจำกัดความของพฤติกรรมการสะกดรอยและคุกคาม มี 8 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ 1. สอดส่อง สังเกต ติดตาม หรือรู้เส้นทางการติดตามบุคคลที่เจาะจง 2. เฝ้าดู เฝ้ารอ ตามไปยังที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ซึ่งบุคคลที่เจาะจงนั้นเข้าออกอยู่เป็นประจำ 3. ใช้คำพูดในลักษณะเตือนให้ระวังตัว, ข่มขู่, หยอกล้อ, ด่าทอต่อเหยื่อ 4. ก่อกวนเหยื่อโดยโทรศัพท์ไปแล้วไม่พูด หรือส่งข้อความไปโดยไม่มีข้อความ ฯลฯ 5. เกี้ยวพาราสี ชวนออกเดท หรือมีพฤติกรรมอื่นใดๆ ในเชิงชู้สาวที่มากเกินขนาด 6. ส่งสิ่งของหรือภาพ 7. แสดงข้อมูลบางอย่างโดยเฉพาะเจาะจง 8. สั่งซื้อสินค้าหรือบริการโดยใช้ชื่อปลอม
ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดมาตรการควบคุมตัวในเชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุร้าย โดยผู้พิพากษาสามารถสั่งให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ หากไต่สวนแล้วประเมินได้ว่าผู้ต้องหามีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดซ้ำอีก เพื่อเป็นการยับยั้งเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ นอกจากนี้ ยังกำหนดบทบัญญัติให้ความคุ้มครองผู้เสียหายโดยทันที มาตรา 4 ของร่างกฎหมายฉบับนี้ บัญญัติว่า ตำรวจอาจ "ใช้มาตรการที่จำเป็นอื่นๆ เพื่อคุ้มครองผู้เสียหายได้" โดยพิจารณาอ้างอิงจากมาตรา 48 ของกฎหมายป้องกันความรุนแรงในครอบครัวและกฎหมายอื่นๆ ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน ให้คุ้มกันที่พักอาศัยของผู้เสียหายหรือใช้มาตรการด้านความปลอดภัยอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายหรือสมาชิกในครอบครัวของเขา หรือคุ้มครองผู้เสียหายและบุตรของเขาโดยส่งไปยังสถานสงเคราะห์หรือสถานพยาบาล
เจ้าหน้าที่สภาบริหารไต้หวันคาดการณ์ว่า หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาในวันที่ 28 พฤษภาคมซึ่งวันสุดท้ายของวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแล้ว ภายหลัง 6 เดือน ประธานาธิบดีจะลงนามประกาศออกกฎหมาย ซึ่งจะทำให้กฎหมายฉบับนี้สามารถบังคับใช้ได้อย่างเร็วที่สุดภายในสิ้นปีนี้