close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

The Reporter เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้แก่เยาวชน EP.7

  • 03 August, 2023

The Reporter เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้แก่เยาวชน ตอนที่ 7

วัย 14 ปีของ หวังเจี้ยนหมิน: เส้นโค้งที่รอความแข็งแกร่งเป็นเส้นตรง

บทความนี้นำเสนอการบอกเล่าของหวังเจี้ยนหมิน นักเบสบอลชื่อดังของไต้หวัน

     แม้ว่าผมจะเป็นพิทเชอร์คนแรกในไต้หวันที่ชนะในเมเจอร์ลีกเบสบอล (MLB) เมื่อผมอายุ 25 ปี อยู่ใน MLB ถึง 9 ฤดูกาลและคว้าชัยชนะ 68 ครั้ง อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจไม่เชื่อว่า เมื่อผมอายุ 14 ปี การขว้างลูกเบสบอลของผมล้วนเป็นเส้นโค้ง ขว้างอย่างไรก็ไม่ดี ไม่สามารถเลื่อนเป็นพิชเชอร์ได้เลย ได้แต่ดูการขว้างบอลอันทรงพลังของรุ่นน้อง กัวหงจื้อ (郭泓志) มีโอกาสน้อยมากที่ผมจะได้เข้าเล่นในสนาม

ปัจจุบัน หวังเจี้ยนหมิน เป็นพิชเช่อร์โค้ชของ CTBC Brothers หากมองย้อนกลับไปในอาชีพนักเบสบอลของเขาตั้งแต่เด็กจนโตเขาไม่มีพรสวรรค์โดยธรรมชาติ (ภาพ / เฉิน เสี่ยวเหวย)

     ในช่วงเวลาที่สำคัญของครึ่งแรกของฤดูกาลแข่งขัน Chinese Professional Baseball League – CPBL (中華職棒) ในปี 2023 CTBC Brothers (中信兄弟) ได้ย้ายผมจากทีมที่สองไปยังทีมที่ 1 แม้ว่าผมจะยังคงเป็นผู้ฝึกสอนการขว้างแต่รูปแบบการทำงานของผมก็เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ผมเคยรับผิดชอบหลักในการฝึกฝนและพัฒนาพิชเชอร์รุ่นเยาว์ แต่ตอนนี้ผมต้องเป็นผู้วางแผนกำหนดตัวผู้เล่นในการแข่งขัน ต้องแบกรับความกดดันมาก กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนไปมากเช่นกัน มันเป็นความท้าทายใหม่สำหรับผม แต่การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ผมชอบเสมอ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ผมยังมีกังวลในอีกเรื่องหนึ่ง

     ลูกชายคนโตของผมจะจบการศึกษาในโรงเรียนมัธยมต้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงซัมเมอร์นี้ เดิมที ผมและภรรยาวางแผนที่จะให้เขากลับเรียนต่อในโรงเรียนอเมริกันในไต้หวัน จบแล้วอาจจะกลับไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้เขาบอกแม่ของเขาว่า ต้องการเรียนต่อในสหรัฐฯ และเล่นเบสบอลต่อไป ผมกับภรรยาจะคล้อยตามลูกให้ทำในสิ่งที่พวกเขาชอบ และแน่นอนว่าเราจะช่วยเหลือเขาในขั้นตอนการตัดสินใจ

     ลูกชายผมกำลังจะเข้าชั้นมัธยมปลาย ทำให้หวนคิดถึงตัวผมเองในวัยนี้ สภาพแวดล้อมที่ลูกชายเติบโตขึ้นมานั้นแตกต่างกับสมัยของผม ภูมิหลังทางวัฒนธรรมการเรียนและการเล่นเบสบอลในไต้หวันและสหรัฐฯ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด เราจะต้องรู้ว่าทัศนคติของตนเองเป็นอย่างไร

 

คนทั่วไปมองว่า หวังเจี้ยนหมินเป็นนักเบสบอลอาชีพที่ยอดเยี่ยมมาก แต่เขาบอกว่า ตนเองในสมัยยังเด็กเป็นเพียงผู้เล่นธรรมดา ต้องผ่านการฝึกฝนปรับปรุงเทคนิคอย่างต่อเนื่อง  ในภาพคือหวังเจี้ยนหมินในวัยมัธยม (ภาพ : หวังเจี้ยนหมิน)

ในสมัยเรียนมัธยม หวังเจี้ยนหมิน มุ่งเป้าไปที่เบสบอลอาชีพ นอกจากการเข้าร่วมฝึกซ้อมแล้ว เขายังไปที่สนามกีฬาในฐานะเด็กเก็บลูกบอลเพื่อชมการแข่งขันอีกด้วย  หวังเจี้ยนหมิน เริ่มเล่นเบสบอลตั้งแต่ชั้นประถม แม้จะต้องฝึกซ้อมหนักจนปืนบันไดไม่ไหว แต่เขาไม่เคยละทิ้งการเล่นเบสบอล ในภาพคือหวังเจี้ยนหมินในวัยมัธยม (ภาพ : หวังเจี้ยนหมิน)

ในสมัยเรียนมัธยมความสามารถผมล้าหลัง กัวหงจื้อ อย่างมาก

     เส้นทางการเล่นเบสบอลของผมไม่ได้ราบรื่นนัก ผมไม่ได้หมายถึงตอนไปเล่นลีกใหญ่ที่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานเพราะอาการบาดเจ็บที่เท้าและหัวไหล่ แล้วจึงกลับไปเล่นลีกระดับรองหลายปี ซึ่งหลายคนได้เห็นข่าวอยู่แล้ว ที่จริง หลังจากที่ผมเข้าโรงเรียนมัธยม ช่วงอายุ 12 ถึง 15 ปี ผมก็เป็นเพียงผู้เล่นธรรมดาๆ

     ผมเป็นนักขว้างลูกเมื่ออยู่ชั้นประถม ผมถนัดการขว้าง และมีพื้นฐานที่ดี แต่หลังจากเข้าชั้นมัธยมต้น ได้เปลี่ยนจากซอฟต์บอล เป็นเบสบอล ผมรู้สึกว่า ไม่ว่าจะขว้างลูกบอลอย่างไร มันก็เป็นเส้นโค้งนุ่มนวล ไม่มีพลัง และไม่สามารถไต่สู่พิชเชอร์อันดับต้น ๆ ของทีมได้ หลังจากเรียนชั้น ม. 2 กัวหงจื้อซึ่งเป็นรุ่นน้อง ม. 1 เล่นเก่งกว่าผมที่เป็นรุ่นพี่ และได้รับเลือกออกแข่งขันอยู่เสมอ

     ผมเริ่มเป็นพิชเชอร์ดีขึ้นตอนมัธยมปลาย ซึ่งมีการซ้อมขว้างมากขึ้น แรงมือและเทคนิคดีขึ้น ยังมีการฝึกช่วงกลางคืนในสมัยมัธยมปลาย รุ่นพี่ฝึกตีบอลเป็นพิเศษ พวกเรารุ่นน้องต้องโยนบอลให้พวกเขา ในแต่ละครั้งต้องโยนบอล 2 ตะกร้าใหญ่ รุ่นพี่มักจะเร่งเร้า "โยนเร็วขึ้น! โยนเร็วขึ้น!" ทำให้ผมทุ่มสุดกำลังที่มี แต่ตั้งแต่นั้นมา พลังขว้างของผมก็ดีขึ้นเรื่อยๆ

ในการฝึกพิชเชอร์รุ่นใหม่ หวังเจี้ยนหมินจะให้คำแนะนำผู้เล่นเป็นรายบุคคล (ภาพ / เฉิน เสี่ยวเหว่ย)

ทุ่มเทมุ่งสู่เบสบอลอาชีพ CPBL ฝึกฝนจนขาอ่อนแรง ใช้ "ก้น" ไต่บันได

     ในสมัยเรียนอยู่ที่โรงเรียนประถมศึกษาโฉงเสวีย (崇學) ที่ไถหนาน ผมเข้าร่วมทีมบาสเก็ตบอลก่อน เพราะผมตัวสูง ผมจำได้ว่าขณะเล่นอยู่ที่สนามบาสเก็ตบอลตอน ป. 4 โค้ชที่สอนทั้งบาสเก็ตบอลและเบสบอลเห็นผม ได้เข้ามาถามผมว่าอยากเล่นเบสบอลไหม หลังจากผมเข้าร่วมทีมเบสบอล ผมได้เข้าสู่เส้นทางอาชีพเบสบอลจนถึงปัจจุบัน เมื่อเข้าสู่โรงเรียนมัธยมเจี้ยนซิง (建興) แล้ว แน่นอนว่าผมยังคงเล่นเบสบอลต่อไป

     ตอนนั้นผมขี่จักรยานจากบ้าน จากเขตตะวันออก (東區) ไปโรงเรียนทุกวัน เรียนหนังสือจนถึงเที่ยง แล้วก็ขี่จักรยานไปซ้อมที่สนามเบสบอลไถหนาน เป็นช่วงเริ่มก่อตั้ง CPBL ได้ไม่กี่ปี พวกเราไปฝึกซ้อมที่สนามกีฬาไถหนานในช่วงที่ไม่มีการแข่งขันเบสบอลอาชีพ หากมีการแข่งขันพวกเราก็จะฝึกซ้อมกันที่โรงเรียน

     เนื่องจากการเก็บลูกบอลในสนามแข่งขันที่ไถหนานเป็นภาระหน้าที่ของเด็กนักเรียนมัธยมเจี้ยนซิง พวกเขาไปที่สนามกีฬาหลังการฝึกซ้อมและมีหน้าที่รับผิดชอบในการเก็บลูกและไม้ตีในเกมเบสบอลมืออาชีพ ในเวลานั้น ผมมักจะดูการฝึกซ้อมรุ่นพี่ และดูเกมของพวกเขา บรรยากาศดีมาก ข้อดีของการเป็นเด็กเก็บลูกบอลไม่ใช่เพีงเท่านี้ รุ่นพี่ยังใจดีกับเรามากและบางครั้งเขาก็ให้ไม้ตีหักๆ แก่เรา หลังจากกลับถึงบ้านทุกคนจะตอกตะปูเหล็กที่ไม้ตีแล้วพันด้วยเทป และนำไปตีบอลได้

        ในวัยผู้ใหญ่ผมได้เข้าแข่งขันมากมายในเมเจอร์ลีกเบสบอลที่สหรัฐฯ เป็นผลจากการตั้งเป้ามายตอนที่ผมเข้าเรียนชั้นมัธยมต้น คือการเป็นนักเบสบอลมืออาชีพของไต้หวัน ผมจำได้ว่าที่สนามกีฬาไถหนาน ผมมักจะดูเกม Uni-President Lions และคนที่ทำให้ผมประทับใจที่สุดคือ Jose Nunez (หวังฮั่น-王漢) ผมรู้ว่าตอนนี้แฟน ๆ หลายคนบอกว่าเขาเป็น "เทพอสูรโบราณ" สำหรับผม  หวังฮั่น เป็นนักขว้างลูกคนแรกในชีวิตของผม ที่ผมคิดว่าแข็งแกร่งมาก ผมจำได้ว่าเขาขว้างชนะ 22 ครั้งในปีแรก เมื่อผมอายุ 14 ปี เขาแข่งขันดุเดือดกับรุ่นพี่ เฉินอี้ซิ่น (อดีตสังกัดทีม CTBC Brothers) เป็นภาพการแข่งขันยากที่จะลืมจริงๆ

        แม้ว่าตอนนั้นผมจะยังเด็ก แต่ผมก็ยังรู้สึกว่าท่าทางการขว้างลูกของ หวังฮั่น ดูแล้วสบายๆ พิชิตผู้ตีลูกได้โดยง่าย และชนะเกมหลายครั้งมาก ความเร็วลูกที่เขาขว้างเร็วมาก ลูกบอลพุ่งลอยทำให้ผู้ตี ตีอากาศบ่อยครั้ง เหมือนเขาหลอกผู้ตีได้อย่างง่ายดาย

        หากไม่มีการแข่งขันที่สำคัญจะซ้อม 5 หรือ 6 วันต่อสัปดาห์ แต่เมื่อต้องลงเล่นเกมเบสบอลชิงถ้วย การฝึกซ้อมจะเข้มข้นขึ้น และบางครั้งมันก็ลำบากจริงๆ ตอนที่ผมอยู่มัธยมต้น ผมมุ่งความสนใจไปที่การตีลูก และพ่อแม่ก็คุ้นเคยกับกิจวัตรของผม จำได้ว่าตอนที่ผมเข้าร่วมทีมโรงเรียนประถมครั้งแรก ต้องฝึกซ้อมหนัก เมื่อกลับถึงบ้านเหนื่อยจนไม่มีแรงจะขึ้นบันได ต้องนั่งลงและขยับบั้นท้ายเพื่อขึ้นบันไดทีละขั้น ในตอนนั้น พ่อแม่ของผมคิดว่าผมฝึกซ้อมหนักเกินไป พวกเขาถามผมว่าเลิกเล่นเบสบอลจะดีกว่าไหม แต่ผมชอบเล่นมาก หลังจากผ่านช่วงยากลำบากที่สุดในวัยเด็กไปแล้ว เมื่อมาถึงมัธยมต้นจึงกลายเป็นเรื่องเล็กไปแล้ว

        อีกเหตุผลหนึ่งคือตอนนั้นผมไม่ชอบเรียนหนังสือ ตั้งแต่อยู่ชั้นประถมผมจะอยู่ในห้องเรียนถึงตอนเที่ยงเท่านั้น เพราะตอนบ่ายจะต้องซ้อมบอล พอขึ้นม.ต้น ผมก็ยังคงอยู่ในห้องเรียนตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงเท่านั้น ผมชอบเล่นบอลข้างนอกกับเพื่อนร่วมชั้น

        เมื่อผมอยู่มัธยมต้น นักกีฬาในทีมเบสบอลทั้งหมดถูกจัดให้เรียนในชั้นเรียนเดียวกัน ขณะเดียวกันยังมีชั้นเรียนทักษะอื่นในโรงเรียนคือการทำอาหาร ซึ่งนักเรียนทั้งสองชั้นเรียนล้วนเป็นเด็กที่ไม่ชอบเรียนหนังสือ และผมก็เช่นกัน ผมอ่านเฉพาะประเด็นสำคัญระหว่างการสอบ แต่ก็ยังผ่านเกณฑ์คะแนนต่ำสุด 60 คะแนน แม้ไม่ชอบเรียนแต่ก็ยังนั่งฟังครูสอน แต่มีเพื่อนบางคนไม่ตั้งใจเรียนแล้วยังแอบเอาการ์ตูนมาอ่านหรือทำอย่างอื่น

หลังจากการฝึกซ้อมในสนามจบลง หวังเจี้ยนหมินและผู้เล่นรุ่นน้องพากันเก็บอุปกรณ์ (ถ่ายภาพ / เฉิน เสี่ยวเหว่ย)

ทำสิ่งที่คุณต้องทำแล้วชีวิตจะก้าวไปข้างหน้าเล็กน้อย

     พ่อแม่ของผมต้องทำงานหนักมากเพื่อให้ผมได้เรียนหนังสือ แต่การเล่นเบสบอลนั้นมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ดังนั้นผมจึงสามารถเข้าสู่เส้นทางนี้และเรียนต่อได้ ในภาวะปัจจุบันสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปแล้ว การสอนเด็ก ควรบอกให้เขาใส่ใจทั้งสองด้าน คือ เล่นบอลด้วย เรียนด้วย อย่าบอกว่าเล่นบอลอย่างเดียว หากเล่นบอลแล้วไม่สำเร็จจะทำอย่างไร? ดังนั้น ยังต้องเรียนรู้สิ่งอื่นๆ ด้วย หมั่นศึกษาหาความรู้ให้มากขึ้น แล้วเมื่อถึงจุดหนึ่งจะคิดถึงอนาคตได้โดยธรรมชาติ ยกตัวอย่าง ตอนที่ลูกชายคนโตเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น เขาถูกกดดันทั้งเรื่องการบ้านและเกรด ผมเลยบอกเขาว่าเรียนให้มากที่สุด อย่าคิดว่าจะต้องได้ A+ หากเรียนรู้ได้ทุกอย่างและได้ความรู้ด้วยจะเป็นสิ่งดี

        สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของลูกผมในสหรัฐฯ แตกต่างจากเด็กไต้หวัน ในไต้หวันหลังเลิกเรียนพ่อแม่จะส่งไปยังสถานดูแลเด็ก หรือโรงเรียนกวดวิชา แต่ในสหรัฐฯ เด็กต้องทำการบ้านด้วยตัวเอง ผมมักจะบอกเขาว่าลูกมีความสุขมากกว่าเด็กๆ ในไต้หวัน เพราะพวกเขากว่าจะกลับถึงบ้านก็เป็นเวลา 21.00 น.หรือ 22.00 น. แต่ลูกกลับบ้านได้ในเวลา 15.00 น.จึงมีเวลาทำในสิ่งที่อยากทำ

        เขาต้องการเข้าสู่เส้นทางของเบสบอล และได้รับเลือกให้เข้าร่วมทีมเบสบอลของโรงเรียน พวกเราสนับสนุนการตัดสินใจของเขา แต่ก็ยังมีเงื่อนไขว่าจะต้องส่งการบ้านที่โรงเรียนให้ตรงเวลา และทำในสิ่งที่ควรจะทำให้ดี ถ้าอยากเล่นเบสบอลก็ไปเล่นได้ แต่ต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อนจึงจะไปเล่นเบสบอล

        บางครั้งนึกแล้วก็อิจฉาลูกๆ จากมุมมองของผม เขามีตัวเลือกมากมายกว่าผมในสมัยเด็ก เพราะได้รับข้อมูลข่าวสารที่มากกว่า เด็กๆ ในรุ่นของผมที่เล่นแต่เบสบอลด้วยกันมีน้อยคนนักที่จะเป็นนักเบสบอลมืออาชีพ และโอกาสในการทำงานไม่มาก เพราะงานที่เกี่ยวข้องกับเบสบอลอื่นๆ มีไม่มาก แต่ผมค่อนข้างโชคดีที่ได้มาถึงตำแหน่งนี้

        เมื่อถ้ามองย้อนกลับไปตอนที่ผมอายุ 14 ปี ซึ่งขณะนั้นผมอยู่ระหว่างลองผิดถูกและเรียนรู้ ตอนอยู่ที่โรงเรียน ผมเข้าชั้นเรียน ถึงผมจะไม่ชอบเรียน แต่อย่างน้อยผมก็สอบผ่านได้ ผมเชื่อฟังโค้ชและฝึกซ้อม แม้ว่าตอนนั้นผมจะไม่ใช่ผู้เล่นที่โดดเด่น แต่อย่างน้อยผมก็ไปต่อได้

        เป็นเพราะทำไปเรื่อย ๆ แม้ว่ายังไม่มีเหตุผลอื่น แต่อย่างน้อยก็สามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างช้าๆ ต่อมาผมได้เผชิญกับอุปสรรคมากมาย แต่ใช้หลักการที่ว่าทำในที่ควรทำ จึงทำให้ผมสามารถประคับประคองจิตใจและมองโลกในแง่ดีในยามที่จิตใจหดหู่ ดังนั้นแม้ได้รับบาดเจ็บ ต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน แต่ก็ยังสามารถทำต่อไปได้

        ตัวอย่างเช่น ในปี 2016 ผมกลับมาที่ Kansas City Royals และเล่น 38 เกม ชนะ 6 ครั้ง ทุกคนคิดว่านี่เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ แต่จริงๆ แล้ว การพักฟื้นที่ยาวนานและต้องทำซ้ำๆ เป็นสิ่งที่นานมาก เมื่อทีม Royals ใกล้เริ่มฤดูการแข่งขัน แต่มือของผมยังเจ็บเล็กน้อย แม้ผมดีใจที่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อ 25 คนสำหรับเริ่มฤดูกาลของเมเจอร์ลีกหลังห่างหายไป 7 ปี แต่ผมก็อยู่กับ ดิลลอน จี( Dillon Gee)ซึ่งอยู่ในตำแหน่งผู้ปล่อยบอลยาวและพิชเชอร์หมายเลข 6 อาจกล่าวได้ว่าเป็นตำแหน่งสุดท้ายในกลุ่มพิทเชอร์ หากทำผลงานไม่ดี ก็จะถูกย้ายออกเมื่อใดก็ได้ แต่ผมยังคงทำต่อไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น นำสิ่งที่เรียนรู้ในโรงเรียนเบสบอลปรับให้เข้ากับการฝึกซ้อมในฤดูใบไม้ผลิ

หวังเจี้ยนหมิน ขว้างบอลที่สนาม Baltimore Orioles ในทีม New York Yankees วันที่ 8 เมษายน 2009 (ภาพถ่าย / Getty Images / G Fiume)

ชีวิตคนเปรียบเสมือนการเดินทางบนเส้นทางต่างๆ จึงจะรู้ว่าไปถึงไหนแล้ว

     เมื่อมองย้อนกลับ ในอาชีพการขว้างลูกของผม ไม่ว่าจะเผชิญสถานการณ์ใดๆ ผมจะมีความคิดเช่นนี้ในการรับมือ ในขณะอยู่เมเจอร์ลีกในปี 2005 ตอนที่ผมจะได้รับบาดเจ็บที่ต้นขาในปี 2008 ในช่วงเวลาที่ดีที่สุดกับทีมแยงกี้ส์ก็เช่นกัน แม้ว่าจะต้องเผชิญกับแรงกดดันมากมาย แรงกดดันจากการมีชื่อเสียง การจับตารายงานข่าวของสื่อ ฯลฯ ผมจะทำต่อไปตามจังหวะของผมเอง วิธีการอาจแตกต่างกันเนื่องจากแต่ละช่วง แต่ความคิดยังเหมือนเดิม นอกจากนี้ การอยู่ในต่างประเทศ ไม่เหมือนกับในไต้หวันที่ออกจากบ้านทุกคนก็รู้จัก ดังนั้น การอยู่ในสหรัฐฯ จะรู้สึกผ่อนคลายกว่า

        ก่อนหน้านี้ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมรายการทีวี ผมไปที่บ้านของฉีฉี(琪琪) หัวหน้าเชียร์ลีดเดอร์ ทีม WeiChuan Dragons และพูดคุยกับเสียงเสียง(翔翔) น้องชายของเธอที่ป่วยเป็นโรคสมองพิการและสมาชิกในครอบครัว เสียงเสียงได้ถามผมตรงๆว่า “ปี 2008 หลังจากที่ได้รับบาดเจ็บแล้วคุณรู้สึกล้มเหลวแล้วใช่หรือไม่” ที่จริง ถ้าผมไม่บาดเจ็บในครั้งนั้น ผมคงอยู่ในทีมแยงกี้ส์อย่างราบรื่น แต่เนื่องจากได้รับบาดเจ็บ ทำให้ผมได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เหมือนกัน เรียนรู้การปรับตัว และตอนนี้ผมก็ใช้วิธีนี้สอนนักเบสบอลรุ่นใหม่ให้รู้จักปรับตัว เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลากับการเรียนรู้แบบนี้

        อย่างไรก็ตามหลังฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายมา 2 ปี หรือ 700 กว่าวัน ผมต้องทำทุกวันและทำสิ่งเดิมซ้ำๆ ทรมานกาย เหนื่อยใจ ถือเป็นความยากลำบากจริงๆ ในวันหนึ่งผมถามผู้อนุบาลว่า "วันนี้ผมหยุดฟื้นฟูได้ไหม" ผู้อนุบาลตอบตรงๆ ว่า "งั้นกลับบ้านไปเลย" อย่างไรก็ตาม วันรุ่งขึ้นผมก็กลับไปทำการฟื้นฟูอย่างเชื่อฟังเพราะหากไม่ฝืนก็จะไม่มีอะไรคืบหน้า โดยเฉพาะในช่วงที่ได้รับบาดเจ็บ มีหลาย ๆ เสียงบอกกับผมว่า "ทำไม่ได้" "ไปได้แล้ว" แต่ผมไม่ยอมรับ และอดทนเพื่อที่จะมีโอกาสกลับไปเล่นลีกใหญ่ ๆ ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ จึงต้องเพียรพยายามที่จะก้าวต่อไป

ผู้คนต้องผ่านเส้นทางชีวิตไปช่วงหนึ่ง จึงจะรู้ว่าตัวเองจะไปทิศทางไหน

        ตอนที่ผมอายุ 14 ปี หลายสิ่งหลายอย่างเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่วางแผนไว้ จะไม่ค่อยมีความคิดของตัวเอง แต่วัยนี้ควรเรียนรู้ทุกอย่าง ดูว่าชอบอะไร มองหาทิศทางในอนาคต ตราบเท่าที่คุณยังเรียนรู้และเรียนรู้สิ่งที่คุณต้องการ ผมเชื่อว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จได้

หวังเจี้ยนหมิน ปัจจุบันเป็นโค้ชเบสบอล สวมเสื้อหมายเลข 40 ของ New York Yankees เรียนรู้และพัฒนาเส้นทางการเล่นเบสบอลต่อไป (ภาพ / เฉิน เสี่ยวเหว่ย)

ผมอยากบอกตัวเองในวัย 14 ปีว่า..

รู้สึกรำคาญตัวเองหรือไม่ที่ไม่สามารถขว้างลูกบอลได้ดี? ทั้งๆ ที่ตอนเรียนประถมสามารถขว้างได้ตรงและรวดเร็ว แต่หลังเรียนมัธยมต้นแล้ว เพียงแต่เปลี่ยนมาใช้ลูกบอลแข็ง ไม่ว่าเขาจะขว้างอย่างไร ลูกบอลก็ไม่มีพลังกลายเป็นเส้นโค้ง....

        ในความเป็นจริง นี่เป็นกระบวนการอย่างหนึ่งของการเติบโต อายุแค่ 14 ปี ยังมีการสร้างมวลกล้ามเนื้อตลอดเวลา ความสูงและตัวใหญ่กว่าเพื่อนร่วมทีม ต้องใช้เวลาพัฒนาการมากกว่าคนอื่น ตอนนี้ไม่ดี ไม่ได้หมายความว่าอนาคตจะแย่ ตราบใดที่ยังชอบเล่นเบสบอลและต้องการเป็นพิชเชอร์ ต้องสะสมพลังงานให้เพียงพอต่อไป เมื่อกล้ามเนื้อและเทกนิคประสานกันและการทำงานของร่างกายสอดคล้องกันได้ จะขว้างลูกบอลที่ทำให้มั่นใจมากขึ้นเสมอ

ชีวประวัติของหวังเจี้ยนหมิน

     เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ปี 1980 ที่หมู่บ้านซินผู่(新埔里) เขตกวนเมี่ยว(關廟) นครไถหนาน

ช่วงเบสบอลในวัยเรียน

【อายุ 10 ปี ในปี 1990】เข้าร่วมทีม Little League ของโรงเรียนประถมโฉงเสวีย ไถหนาน

【อายุ 11 ปี ในปี 1991】ได้รับเลือกให้เข้าร่วมทีมไชนีสไทเปในการแข่งขัน IBA-boys ซอฟต์บอลโลก ครั้งที่ 9

【อายุ 12 ปี ในปี 1992】เข้าร่วมทีมเบสบอลเยาวชนมัธยมต้นเจี้ยนซิง ไถหนาน

【อายุ 15 ปี ในปี 1995】เข้าร่วมทีมเบสบอลเยาวชนของโรงเรียนมัธยมจงหัว ในเทศมณฑลไทเป (หรงกง榮工)

【อายุ 18 ปี ในปี 1998】เข้าร่วมทีมเบสบอลของสถาบันกีฬาไทเป

ช่วงเบสบอลลีกเล็ก

[อายุ 20 ปี ในปี 2000] เข้าร่วมทีม New York Yankees ด้วยเซ็นสัญญา 2.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และถูกส่งไปยังทีม Staten Island Yankees ระดับไมเนอร์ลีก 1A

[อายุ 24 ปี ในปี 2004 ] เลื่อนชั้นสู่ 3A ต่อมาเป็นนักเล่นโด่งดังในเมเจอร์ลีก

 

ยุครุ่งเรืองในเมเจอร์ลีก

[อายุ 25 ปี ในปี 2005] เข้าสู่ทีม New York Yankees กลายเป็นผู้เล่นไต้หวันคนที่ 3 ที่เข้าสู่เมเจอร์ลีกต่อจาก เฉินจินโฟง(陳金鋒) และ เฉาจิ่นฮุย(曹錦輝)

[อายุ 26 ปีในปี 2006] สร้างชัยชนะแบบชัตเอาต์ครั้งแรกและกลายเป็นพิชเชอร์ชาวเอเชียคนที่ 8 ในประวัติศาสตร์ของเมเจอร์ลีกที่ชนะแบบชัตเอาต์ ในฤดูกาลแข่งขันประจำปี ชนะ 19 ครั้ง โดยมี ERA 3.63 เป็นเกียรติสูงสุด ในบรรดา "Cy Young Award" ซึ่งเป็นคะแนนโหวตสูงสุดอันดับ 2 ในลีกอเมริกัน

[อายุ 27 ปี ในปี 2007] ได้รับเลือกให้เป็น100 บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกประจำปี 2007 ของนิตยสารไทม์ เป็นชาวไต้หวันคนที่ 3 ที่ได้รับเลือกต่อจาก ปธน. เฉินสุ่ยเปี่ยน และผู้กำกับอัง ลี โดยเล่นในเมเจอร์ลีก 46 ชัยชนะใน 3 ฤดูกาล ทำลายสถิติ Park Chan-ho ผู้ขว้างเกาหลีใต้

[อายุ 28 ปี ในปี 2008] ได้รับเลือกให้เป็น100 บุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกประจำปี 2008 ของนิตยสารไทม์อีกครั้ง  เป็นนักเบสบอลคนแรกที่ได้รับเลือกเป็น Top 10 Outstanding Young Persons ของไต้หวัน แต่การบาดเจ็บที่เท้าขวาอย่างรุนแรงในขณะแข่งขัน เป็นอุปสรรค์สำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาอาชีพในเมเจอร์ลีกของเขา

 

ช่วงคัมแบ็ค

【อายุ 29 ปี ในปี 2009】ได้รับการผ่าตัดอาการบาดเจ็บเอ็นยึดข้อไหล่ และเริ่มฟื้นฟูเป็นเวลานาน The New York Yankees ไม่ต่อสัญญา และกลายเป็นนักเล่นอิสระ

[อายุ 31 ปี ในปี 2011] เอาชนะอาการบาดเจ็บและกลับสู่เมเจอร์ลีก โดยเป็นตัวแทนของ Washington Nationals คว้าชัยชนะในเมเจอร์ลีกครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี

[อายุ 32 ปี ในปี 2012] อยู่ในรายชื่อนักกีฬาบาดเจ็บถึง 3 ครั้ง ส่งผลต่อการแข่งขัน และไม่ได้รับการต่อสัญญาหลังจบฤดูกาล

[อายุ 33 ปี ในปี 2013] เป็นตัวแทนไต้หวันลงแข่งใน "World Baseball Classic"สมัยที่ 3 แข่งกันออสเตรเลียและญี่ปุ่น 6 รอบโดยไม่เสียคะแนน ได้เซ็นสัญญากับทีม Toronto Blue Jays แต่กลายเป็นนักเล่นอิสระหลังจบฤดูกาล

 

【อายุ 35 ปี ในปี 2015】ได้รับการฝึกฝนฟื้นฟูเป็นเวลา 12 สัปดาห์ที่ " Texas Bassball Ranch " และได้ผลลัพธ์ที่โดดเด่น ความเร็วของลูกที่เร็วที่สุดกลับสู่ระดับ 153 กิโลเมตร

[อายุ 36 ปี ในปี 2016] อยู่ในบัญชีรายชื่อ 25 คนของทีม Royals เมื่อเปิดฤดูกาล กลับสู่เมเจอร์ลีกหลังหยุดไป 959 วัน ชนะทีมNationals เป็นการคว้าชัยชนะอีกครั้งหลังผ่านไปในเมเจอร์ลีก แต่ออกโดย Royals หลังผ่านไป4 เดือน

 

ช่วงการเป็นโค้ช

[อายุ 38 ปี ในปี 2018] กลับไปไต้หวันในฐานะพิชเช่อร์โค้ชรับเชิญของทีมฟู่ปัง การ์เดียน 2 (富邦悍將二軍)

[อายุ 39 ปี ในปี 2019] ทำหน้าที่เป็นโค้ชทีมชาติเป็นครั้งแรก เพื่อเข้าแข่งขัน WBSC Premier 12  สมัยที่ 2

[อายุ 40 ปี ในปี 2020] ทำหน้าที่เป็นพิชเช่อร์โค้ชรับเชิญของ CTBC Brothers ทีมรอง

[อายุ 41 ปี ในปี 2021] เป็นพิชเช่อร์โค้ช CTBC Brothers Second Army อย่างเป็นทางการ

[อายุ 43 ปี ในปี 2023] เป็นโค้ช "World Baseball Classic" สมัยที่ 5 และไปเป็นพิชเช่อร์โค้ช CTBC Brothers ทีมหลัก

 

【อายุ 14 ปีของฉัน】ประวัติหวังเจี้ยนหมิน นักเบสบอลชื่อดังชาวไต้หวัน

วัย 14 ปีของหวังเจี้ยนหมิน เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เปรียบเปรยได้ว่า เป็น “ช่วงวัย ม. 2 ที่อ่อนแอ”  มีความหวังต้องการเป็นที่หนึ่งไม่เป็นรองใคร แต่ยังคาดความเชื่อมั่น ร่างกายและจิตใจยังเป็นเด็กที่ยังรอการเติบโต เป็นช่วงรอยต่อระหว่างความความไร้เดียงสาและความสุกงอม ชีวิตในวัยนี้ ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะแจ่มใสหรือมืดมน แต่ไม่กังวล ชีวิตของคนไม่มีเส้นทางที่ดีที่สุด บทความนี้เขียนขึ้นเป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับทุกคนว่า "ตอนนี้" "ครั้งหนึ่ง" หรือ "ในอีกไม่ช้านี้" ที่ย่างเข้าสู่วัย 14 ปี ที่ต่างก็เคยมีอารมณ์เดียวที่ต้องเผชิญกับปัญหา

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง