6 คีย์เวิร์ดสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจว่าทำไมอิสราเอลกับปาเลสไตน์จึงบาดหมางกัน? มีความขัดแย้งอะไรเกิดขึ้นบ้างในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา? ประชาคมระหว่างประเทศบทบาทอะไรบ้าง?
ช่วงเช้ามืดของวันที่ 7 ตุลาคม (2023) กลุ่มติดอาวุธฮามาสในปาเลสไตน์ ได้บุกโจมตีอิสราเอล โดยส่งนักรบติดอาวุธกว่า 1000 นาย ข้ามแนวกั้นชายแดนที่แน่นหนาของอิสราเอล เข้าไปโจมตี 22 พื้นที่ทางตอนใต้บริเวณชายแดนของอิสราเอล มีการสังหารตำรวจ ทหาร และพลเรือน อีกทั้งยังจับพลเรือนไปเป็นตัวประกันด้วย ปฏิบัติการอัล-อักซา ฟลัด (Operation Al-Aqsa Flood) ของกลุ่มฮามาสครั้งนี้ ถูกระบุว่าเป็น “เหตุการณ์ 911” ในเแบบฉบับของอิสราเอล ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การสถาปนาประเทศ ขณะที่อิสราเอลก็โต้กลับด้วยปฏิบัติการดาบเหล็ก (Operation Iron Swords) โดยได้ทิ้งระเบิดบริเวณฉนวนกาซาอย่างเข้มข้น ที่แม้แต่พลเรือนก็หนีไม่พ้น ส่งผลให้ในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน ทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7000 ราย นับเป็นการต่อสู้ที่นองเลือดมากที่สุดในรอบ 50 ปีของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์
การทำลายล้างและความสูญเสียเหล่านี้ มีรากฐานมาจากกรณีพิพาททางประวัติศาสตร์ในดินแดนเหนืออธิปไตยระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์เมื่อช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมี 6 คีย์เวิร์ดสำคัญที่จะทำให้เราได้มองย้อนกลับไปดูว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นได้อย่างไร
#ดินแดนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้า (ช่วงประมาณ 2000 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์เริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่มีการสถาปนาประเทศอิสราเอลในปี ค.ศ. 1984 เป็นความขัดแย้งเรื่องดินแดนที่กินเวลายาวนานกว่าเกือบร้อยปี
ดินแดนผืนนี้เป็นของใครกันแน่? ในช่วงก่อนคริสตศตวรรษที่ 20 ลัทธิไซออนิสต์ ได้นำแนวคิดเรื่อง "ดินแดนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้า" ของพระคัมภีร์เดิมในสมัยปฐมกาล ที่มีความเชื่อว่าในช่วงปฐมกาล พระเจ้าได้ประทานแผ่นดินแห่งพันธสัญญาแก่อับราฮัม(Abraham)ซึ่งเป็นผู้เผยพระวจนะ อับราฮัมยังเป็นบุคคลสำคัญในศาสนายิว คริสต์ และอิสลาม ซึ่งบุตรที่เกิดจากภรรยาคนแรกของเขามีชื่อว่าอิสอัค (Isaac) เป็นบรรพบุรุษของชาวอิสราเอล ขณะที่อิชมาเอล (Ishmael) บุตรชายที่เกิดจากภรรยานางสนมก็เป็นบรรพบุรุษของชาวอาหรับ ดังนั้นในทางศาสนาจึงอาจกล่าวได้ว่าทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์มีต้นกำเนิดเดียวกัน
แผ่นดินแห่งพันธสัญญาของพระเจ้าไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน คาดว่าน่าอยู่ภายใต้อาณาเขตของอิสราเอล ปาเลสไตน์ และเลบานอนในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเรื่องราวทางศาสนานี้ ต่อมาก็ได้กลายเป็นประเด็นพื้นฐานที่ลัทธิไซออนิสต์ ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของชาวยิวนำมาใช้โต้แย้งว่าจะสร้างสังคมและประเทศในแผ่นดินของปาเลสไตน์ โดยถ้อยแถลงทางศาสนานี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ถึงปัจจุบัน
ในช่วงประมาณทศวรรษ 70 ก่อนคริสตกาล ชาวยิวถูกข่มเหงโดยจักรวรรดิโรมัน และกลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ประเทศ จึงกระจัดจายไปอาศัยอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของโลกเป็นเวลานานหลายพันปี จนกระทั่งหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงสถาปนาประเทศอิสราเอลขึ้นบนดินแดนปาเลสไตน์ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของชนวนความขัดแย้งระหว่างชาวยิวและชาวปาเลสไตน์มานานกว่าครึ่งศตวรรษ
จนถึงวันนี้นักวิชาการจากนานาชาติที่กำลังศึกษาเรื่องความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ล้วนมีความเห็นว่า ตอนนี้โลกจำเป็นต้องเข้าใจปัญหาความขัดแย้งที่มีมานานหลายศตวรรษระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ โดยควรที่จะต้องก้าวข้ามกรอบของพรรคการเมือง เชื้อชาติ และศาสนา ที่จุดชนวนเหตุนองเลือดไปสู่เรื่องสิทธิมนุษยชน ผลกระทบด้านมนุษยธรรม และการสร้างความเสียหายอื่นๆ ตามมา
#ปฏิญญาบัลโฟร์ (ค.ศ. 1917)
ชาวยิวซึ่งกระจัดกระจายไปทั่วโลกเป็นเวลาหลายพันปี มีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้สถาปนาประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกโดยใช้ "ปฏิญญาบัลโฟร์" (Balfour Declaration) ของจักรวรรดิอังกฤษในปี ค.ศ.1917
ปฏิญญานี้มีความยาวเพียง 3 ประโยคเท่านั้น แต่เป็นเอกสารสำคัญสำหรับการสถาปนาอิสราเอลในช่วงเวลาต่อมา โดยเนื้อหาของปฏิญญาคือ “สนับสนุนลัทธิไซออนิสต์ในการสถาปนารัฐชาติของตนเองบนดินแดนปาเลสไตน์ โดยมีเงื่อนไขว่าสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมจะต้องไม่ถูกทำลาย”
ในเวลานั้นดินแดนปาเลสไตน์ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมัน ชาวยิวเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ คิดเป็นประมาณ 6% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 94% เป็นชาวปาเลสไตน์ ซึ่งหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ดินแดนก็อยู่ในความดูแลของจักรวรรดิอังกฤษ
เอกสารฉบับนี้ทำให้กลุ่มลัทธิไซออนิสต์มีความหวังอย่างมากในตอนนั้นว่าจะสามารถสถาปนาชาติขึ้นมาได้ ไซออนิสต์เป็นขบวนการชาตินิยมที่มีต้นกำเนิดในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกเมื่อศตวรรษที่ 19 เป็นขบวนการฟื้นฟูชาติ เนื่องจากในสมัยนั้นมีบรรยากาศต่อต้านชาวยิวอย่างรุนแรงในยุโรป ชาวยิวจึงถูกเลือกปฏิบัติและถูกข่มเหงรังแก ดังนั้นการเคลื่อนไหวนี้จึงหวังว่าชาวยิวจะสามารถกลับไปยัง "ดินแดนแห่งพันธสัญญา" ที่พระเจ้าประทานให้ในพันธสัญญาเดิมและสถาปนาชาติขึ้นมา หลังจากมีการออกปฏิญญาบัลโฟร์ ชาวยิวบางส่วนก็เริ่มค่อยๆ อพยพย้ายกลับไปยังดินแดนปาเลสไตน์ จนกลายเป็นรากฐานสำหรับการสถาปนาอิสราเอลในเวลาต่อมา
# มติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 181 (ค.ศ. 1947)
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศสำคัญๆ ในยุโรปและอเมริกาบางประเทศมีความเห็นใจชาวยิวที่ถูกเนรเทศมานานหลายปี และถูกสังหารหมู่โดยพวกนาซีเยอรมันถึง 6 ล้านคน ทำให้ในปีค.ศ. 1947 จึงมี "มติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 181" ถือกำเนิดขึ้น
มติฉบับนี้ถูกขนานนามว่า "มติการแบ่งแยกปาเลสไตน์" โดยรายละเอียดเป็นการสถาปนารัฐยิว (อิสราเอล) และรัฐอาหรับ (ปาเลสไตน์) บนดินแดนปาเลสไตน์
ด้วยเหตุนี้อิสราเอลจึงได้รับการสถาปนาประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1948 แต่กระนั้นมตินี้ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในหมู่ชาวปาเลสไตน์และประเทศอาหรับโดยรอบ โดยวันถัดมาหลังจากการมีสถาปนาอิสราเอลอย่างเป็นทางการ (15 พฤษภาคม) ก็ถูกกำหนดให้เป็น "วันแห่งความทุกข์ยากของกลุ่มชาติพันธุ์" เพราะชาวปาเลสไตน์จำนวน 750,000 คน ที่อาศัยอยู่ในรัฐอิสราเอลตอนนั้น ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยภายในชั่วข้ามคืน พวกเขามองว่าชาวยิวละทิ้งดินแดนผืนนี้ไปหลายพันปีแล้ว ทำไมจึงอยากกลับมาแข่งขันต่อสู้เพื่อประเทศชาติกับพวกเขา?
"การสถาปนาอิสราเอล" ยังก่อให้เกิด "สงครามอิสราเอล-อาหรับ" ครั้งแรกกับกลุ่มประเทศอาหรับด้วย ทั้งอียิปต์ จอร์แดน ซีเรีย และกองกำลังพันธมิตรอาหรับอื่นๆ บุกโจมตีอิสราเอล นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่จะกินเวลามานานกว่า 50 ปี
# สงครามหกวัน (ค.ศ. 1967)
หลังจากสถาปนาอิสราเอล ความขัดแย้งกับกลุ่มประเทศอาหรับก็ยังคงดำเนินต่อไป เดิมทีชาวปาเลสไตน์หวังจะพึ่งพาประเทศอาหรับเพื่อช่วยเหลือพวกเขาให้ได้กลับไปยังบ้านเกิด แต่หลังจากทำสงครามใหญ่ถึงห้าครั้ง นอกจากจะไม่สามารถกอบกู้ดินแดนที่สูญเสียไปให้คืนกลับมาได้แล้ว ก็ยังทำให้อิสราเอลได้ควบคุมและครอบครองที่ดินมากขึ้นกว่ามติเดิมของสหประชาชาติด้วย
สงครามใหญ่ 5 ครั้ง ประกอบด้วย สงครามประกาศอิสรภาพในปี ค.ศ. 1948, วิกฤตการณ์คลองสุเอซ ค.ศ. 1956, สงครามหกวันในปี ค.ศ. 1967, สงครามยมคิปปูร์ ค.ศ. 1973 และสงครามเลบานอนใต้ในปี ค.ศ. 1982 ซึ่งในที่นี้ เมื่อครั้งเกิดสงครามหกวัน อิสราเอลยังได้ยึดครองพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเยรูซาเล็ม เวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา ซึ่งแต่เดิมได้มอบหมายให้ปาเลสไตน์เป็นผู้ปกครองดูแลด้วย โดยหลังจากเข้ายึดครองเป็นระยะเวลานาน ก็ทำให้มีชาวปาเลสไตน์จำนวนมากถูกเนรเทศจนต้องอพยพลี้ภัย
ต่อมาคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติครั้งที่ 242 เรียกร้องให้อิสราเอลถอนตัวออกจากดินแดนที่ถูกยึดครอง แต่อิสราเอลก็ยังคงยึดครองมาเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2005 จึงถอนกำลังออกจากฉนวนกาซา อย่างไรก็ตามแม้ว่าอิสราเอลจะถอนกำลังออกมาแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วอิสราเอลได้สร้างกำแพงสูงรอบฉนวนกาซาและเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงการควบคุมพลังงานไฟฟ้า น้ำ อาหาร และสิ่งของอุปโภคบริโภคอื่นๆ ปิดล้อมแนวชายฝั่งทะเล แนวชายแดน และน่านฟ้าอย่างสมบูรณ์แบบ จนทำให้ฉนวนกาซากลายเป็น "คุกกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก"
นอกจากการยึดครองพื้นที่หลังการสู้รบแล้ว อิสราเอลยังทุ่มเต็มที่เพื่อดำเนินการตามนโยบายการบุกเบิก โดยให้ชาวอิสราเอลใช้การอพยพย้ายถิ่นฐานเจาะเข้าไปในพื้นที่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเดิมของชาวปาเลสไตน์ และค่อยๆ พยายามเปลี่ยนโครงสร้างระบบของประชากรในท้องถิ่นอย่างเป็นขั้นเป็นตอ ซึ่งการใช้นโยบายอพยพย้ายถิ่นฐานและยึดครองที่ดิน ยิ่งเป็นการเพิ่มความเกลียดชังระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ให้มากขึ้น จึงทำให้สองฝ่ายมักจะเกิดความขัดแย้งขนาดใหญ่เป็นประจำในทุกๆ 1-2 ปี ขณะที่เส้นแบ่งเขตแดนก่อนเกิดสงครามหกวัน ก็ยังกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับชาวปาเลสไตน์ที่ยินดีจะใช้เจรจาเพื่อให้เกิดสันติภาพด้วย
# กลุ่มฮามาส (ค.ศ. 1987)
ภายหลังการสถาปนาอิสราเอล ดินแดนปาเลสไตน์ก็เกิดความแตกแยกและถูกควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น นี่จึงกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กลุ่มติดอาวุธฮามาส ก่อเหตุโจมตีในปีนี้ (ค.ศ. 2023) ขึ้นมา
ฮามาสเป็นคำย่อของ “ฮารากัต อัล-มุกอวามา อัล-อิสลามเมีย” แปลว่า ขบวนการต่อต้านอิสลาม ซึ่งเป็นภาษาอาหรับ และมีแนวคิดเช่นเดียวกับกลุ่มปาเลสไตน์อื่น ๆ ว่า อิสราเอลยึดครองดินแดนของชาวปาเลสไตน์ไว้โดยมิชอบ และมีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยดินแดนปาเลสไตน์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1987 โดยในยุคแรกๆ ก็เป็นองค์กรทางศาสนา แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ค่อยๆ พัฒนาจุดยืนจนกลายเป็นกลุ่มหัวรุนแรง พวกเขาเห็นว่าอิสราเอลไม่ควรมีอยู่ ดินแดนทั้งหมดควรเป็นของปาเลสไตน์ และในช่วงหลายปีที่ผ่านก็ได้เผชิญหน้ากับอิสราเอลด้วยการใช้กำลัง ใช้การโจมตีแบบผู้ก่อการร้าย การลักพาตัว ฯลฯ ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างอย่างมากกับกลุ่มอื่นๆ ที่หวังจะเจรจาแบบสันติกับอิสราเอล
ปัญหานอกเหนือดินแดนคือกิจการภายใน สำหรับโครงสร้างการปกครองตนเองของปาเลสไตน์นั้น มี “ระบอบการปกครองฟะตะห์” (Fatah) ที่ได้การยอมรับในปัจจุบันว่ามีสถานะทางกฎหมายระดับสากล ซึ่งพวกเขาจะควบคุมทางฝั่งเวสต์แบงก์ แต่ก็ยังมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ขณะที่อีกฝ่ายคือกลุ่มฮามาสซึ่งควบคุมทางฝั่งฉนวนกาซา แต่เนื่องจากใช้วิธีการที่รุนแรง จึงถูกสหรัฐอเมริกา อิสราเอล และสหภาพยุโรป กำหนดให้เป็นกลุ่มก่อการร้าย ดังนั้นแม้ว่ากลุ่มฮามาสจะมีอำนาจในการเลือกตั้งปี ค.ศ.2006 และมีแนวทางพื้นฐานที่สอดคล้องกับความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
กลุ่มฮามาสซึ่งได้รับการเสียงสนับสนุนจากประชาชน ปฏิเสธที่จะเจรจาสันติภาพกับอิสราเอล ขณะที่ระบอบการปกครองฟะตะห์ซึ่งยินดีที่จะเจรจาสันติภาพกับอิสราเอลและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างเพียงพอ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครจะมีคุณสมบัติเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาระดับชาติ จึงได้กลายเป็นความขัดแย้งภายในปาเลสไตน์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
# ความสัมพันธ์อันดีระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิสราเอล(ค.ศ. 2023)
กรณีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่เรื้อรังมานานหลายปี อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการโจมตีครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ไว้ 2 แบบ
โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยการส่งเสริมอย่างแข็งขันของสหรัฐอเมริกา ทำให้อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการร่วมกัน โดย “สนธิสัญญาอับราฮัม”(Abraham Accords)ที่ลงนามในปี ค.ศ.2020 ที่มีใจความสำคัญมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าอับราฮัมเป็นต้นกำเนิดของศาสนายิวและศาสนาอิสลาม จึงมีความหมายชัดเจนที่สื่อว่าความขัดแย้งในตะวันออกกลางสามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่การอยู่ร่วมกันโดยสันติได้อย่างยั่งยืน
ปี ค.ศ. 2023 อิสราเอลกำลังพัฒนาไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการ “ความสัมพันธ์อันดีระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิสราเอล" หมายความว่าสถานะของประเทศงอิสราเอลค่อยๆ ได้รับการยอมรับขึ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับซาอุดีอาระเบียที่เป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาอิสลาม จึงอาจทำให้ประเทศอื่นๆ ดำเนินรอยตาม ซึ่งนั่นจะส่งผลให้การกอบกู้ฟื้นคืนดินแดนปาเลสไตน์ที่เสียไปกลายเป็นปัญหาที่ยากขึ้น และกระตุ้นให้กลุ่มฮามาสรู้สึกว่ากำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต
นอกจากนี้ ปีค.ศ. 2023 เป็นการครบรอบ 50 ปี ของสงครามยมคิปปูร์ปีค.ศ. 1973 (อีกชื่อคือ สงครามเดือนสิบ) ซึ่งเป็นสงครามที่ประเทศแนวร่วมอาหรับพยายามยึดคืนดินแดนที่ถูกอิสราเอลครอบครองในวันยมคิปปูร์ (Yom Kippur) ซึ่งเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนายูดาย และในปีนั้นตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม และยังตรงกับเดือนเราะมะฎอนศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามด้วย ดังนั้นครั้งนี้ปฏิบัติการอัล-อักซา ฟลัด (Operation Al-Aqsa Flood) จึงเลือกโจมตีในวันที่ 7 ตุลาคม เพื่อสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์นั่นเอง
# เหตุใดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์จึงยากต่อการแก้ไข?
อันที่จริงความขัดแย้งที่ยาวนานหลายปีระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เคยปรากฎช่วงเวลาสั้นๆ ของโอกาสแห่งสันติภาพ
ปี ค.ศ.1987 ความกดดันที่ชาวปาเลสไตน์เก็บสั่งสมมานานหลายปีก็ระเบิดออกมา การเคลื่อนไหวนี้เรียกว่า อินติฟาดาครั้งแรก (First Intifada) ซึ่งคำว่า อินติฟาดา (Intifada) ในภาษาอาหรับแปลว่า “โยนทิ้งไป” ด้วยความหวังว่าปาเลสไตน์จะหลุดพ้นจากการกดขี่ของอิสราเอล พวกเขาเริ่มต้นจากการออกมาร่วมตัวประท้วงครั้งใหญ่โดยไม่ใช่ความรุนแรง แต่เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นก็มักจะมาพร้อมกับรุนแรงเสมอ
การลุกฮือใหญ่ครั้งแรกกินเวลานานหลายปี จนเมื่อได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศ ก็ทำให้อิสราเอลและปาเลสไตน์พยายามเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพและยุติความขัดแย้ง โดยปี ค.ศ.1993 ก็ได้บรรลุข้อตกลงออสโลฉบับที่ 1 (Oslo I Accord) ในข้อตกลงระบุว่า อิสราเอลให้คำมั่นที่จะทยอยคืนเขตอำนาจบริหารเหนือเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาให้แก่รัฐบาลของปาเลสไตน์ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ และถอนกำลังออกจากพื้นที่เหล่านี้ ขณะที่องค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ก็ต้องยอมรับอิสราเอลในฐานะประเทศและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
เดิมที “ข้อตกลงออสโล” หวังว่าภายใน 5 ปี จะสามารถดำเนินการตามแผนไปทีละขั้นตอนเพื่อแบ่งแยกอาณาเขตระหว่างสองประเทศให้เป็นจริง แต่จะทำอย่างไรก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะนอกจากฮามาสจะไม่ยอมรับการเป็นประเทศของอิสราเอลแล้ว เขตแดนสุดท้ายของทั้งสองฝ่าย การดำเนินการกับผู้ลี้ภัย การปักหลักตั้งถิ่นฐาน และตำแหน่งของกรุงเยรูซาเล็ม ล้วนเป็นอุปสรรคปัญหาที่ทำให้กระบวนสันติภาพต้องหยุดชะงัก
หลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์ที่ “นายเอเรียล ชารอน ไปเยี่ยมชมมัสยิดอัล-อักซอ” ตามมา จึงทำให้กระบวนการสันติภาพเดินถอยหลังลงไปอีก ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ.2000 ตอนนั้นนายเอเรียล ชารอน (Ariel Sharon) เป็นผู้นำฝ่ายค้านของอิสราเอล ได้พาเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเยี่ยมชมมัสยิดอัล-อักซอ ในกรุงเยรูซาเลมตะวันออก ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม การกระทำดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการยั่วยุ และก่อให้การลุกฮือต่อต้านขนาดใหญ่เป็นครั้งที่ 2 การเจรจาสันติภาพมาถึงจุดสิ้นสุด เหลือเพียงวงจรแห่งความรุนแรงและการแก้แค้นที่ดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ การที่แหล่งผลิตน้ำมันดิบหนึ่งในสามของโลกอยู่ในตะวันออกกลาง ดังนั้นแม้ว่าอิสราเอลและปาเลสไตน์จะไม่ได้ผลิตน้ำมัน แต่ถ้าความขัดแย้งของพวกเขาก่อให้เกิดสงครามในภูมิภาค ก็จะส่งผลกระทบต่อการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) ซึ่งเป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งทางน้ำที่สำคัญของตะวันออกกลางสู่ภายนอก ดังนั้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทุกประเทศจึงมีความคิดที่อยากเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ย เพราะไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อาหรับ (กลุ่มประเทศอาหรับ), อิสราเอล-ปาเลสไตน์ หรืออิสราเอล-ฮามาส ล้วนส่งผลต่อราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่ความเชื่อมโยงไปถึงเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะเดียวกันบางครั้งความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่มีอยู่แต่เดิมในประเทศแถบยุโรปก็อาจถูกกระตุ้นด้วยเหตุการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว และทำให้บรรยากาศทางสังคมเกิดความตึงเครียดได้
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้ ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องเสียสละมากมายนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการที่กลุ่มฮามาสยิงจรวดอย่างไม่เลือกหน้า หรือการที่อิสราเอลตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศ ทั้งหมดนี้ล้วนไม่ได้มีการหลีกเลี่ยงพลเรือน จึงเป็นการละเมิดธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute) โดยศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court,ICC) ได้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.2002 ซึ่งเป็นวันที่ธรรมนูญกรุงโรมเริ่มใช้บังคับ มีเขตอำนาจดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอาญาระหว่างประเทศ คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ, อาชญากรรมสงคราม, และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน เพียงแต่ภายใต้สถานการณ์ที่ซับซ้อน อิสราเอลกลับไม่ได้เป็นสมาชิกของธรรมนูญ และปาเลสไตน์ก็เป็นเพียงองค์กรทางการเมืองไม่ใช่ประเทศ จึงทำให้กฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับมีข้อจำกัดในการเข้ามาแทรกแซง อย่างไรก็ตามแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะยอมรับสิทธิของอิสราเอลในการป้องกันตนเอง แต่ก็ทำได้เพียงเรียกร้องให้อิสราเอลปฏิบัติตามกฎแห่งสงครามเท่านั้น โดยให้มุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือตัวประกัน ส่งมอบสิ่งของ และไม่ควรจะทำการโจมตีตอบโต้ใดๆ ความต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางก้าวไปสู่สันติภาพนั้น ในระดับนานาชาติเห็นพ้องโดยทั่วกันว่า ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือให้ทั้งสองฝ่ายสามารถนั่งลงเจรจากัน