พลังไร้เสียง ไร้ขีดจำกัด - อันชิ่งหลง โค้ช “มนุษย์เหล็ก” Summer Deaflympics สานฝันสู่โอลิมปิก
นักกรีฑาระยะสั้นวัย 33 ปี ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงขาลงของชีวิตนักกีฬาของตน การแข่งขันกีฬาผู้ทุพพลภาพทางหู Summer Deaflympics ที่จัดให้มีขึ้นเมื่อปี 2009 เดิมคุณอันชิ่งหลงกำลังคิดที่จะขอเกษียณอายุก่อนเวลา แต่ในฐานะเจ้าของเหรียญทอง Summer Deaflympics เหรียญแรกของไต้หวัน จึงแบกภารกิจในฐานะนักกีฬาเจ้าภาพ กลายเป็นนักกีฬาที่มีอายุมากที่สุดที่ลงแข่งขันในครั้งนั้น และเพื่อเก็บ “เหรียญทองให้อยู่ในไต้หวันต่อไป” เขายังต้องกัดฟันสู้ตาย ฝึกซ้อมอย่างหนักจนมีรอยบาดแผลอยู่ทั่วร่างกาย จนถูกสื่อไต้หวันตั้งสมญานามว่า “หมีเหล็ก” มิเพียงเปรียบเทียบรูปร่างภายนอกที่เต็มไปด้วย “กล้ามเนื้อคนหนุ่ม” เท่านั้น แต่ยังได้แสดงให้เห็นถึงสปิริตเหล็กกล้าเอาชนะ “ความเป็นไปไม่ได้”
การลงแข่งขันทศกรีฑา นักกีฬาต้องเข้าร่วมการแข่งขันรวม 10 รายการ ภายใน 2 วัน ทดสอบทั้งทางด้านความเร็ว พลังและความอึด ส่วนที่มีความสำคัญและเป็นปมเงื่อนสำคัญยิ่งกว่านี้ก็คือจะสามารถรับมือกับการใช้กำลังอย่างมากมายมหาศาลต่อเนื่อง ท้าทายจุดสูงสุดของความอดทนของร่างกาย
เมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขันรายการสุดท้ายคือวิ่ง 1500 เมตร คุณอันชิ่งหลง ก็นอนแผ่บนลานวิ่งหายใจหอบแฮ๊ก ๆ เขาทุบสถิติของตัวเองอีกแล้ว โดยคว้าเหรียญทองแดงด้วยคะแนน 6106 คะแนน มากกว่าคะแนนที่ผู้คว้าเหรียญทองในปี 2001 ที่กรุงโรม ที่ได้คะแนนเพียง 5407 คะแนน ขณะเดียวกัน เขายังสามารถคว้าเหรียญเงินในการแข่งขันค้ำถ่อด้วยสถิติ 4.55 ม.
ในฐานะตัวเก็งเหรียญทองในปีนั้น และแขวนรองเท้าจากการเป็นนักกีฬามายึดอาชีพโค้ช ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ความเร็วเพื่อชัยชนะในการแข่งขันวิ่งระยะสั้น ก็ดูเหมือนว่าโค้ชอันชิ่งหลงที่น่าจะมีความ “ทรหด” มากกว่า เป็นโค้ชมาอย่างยาวนานถึง 20 ปี ให้กำลังใจแก่นักเรียนนับไม่ถ้วนให้สานฝันก้าวสู่ “นักกีฬา Summer Deaflympics ” ห้องฝึกฝนกำลังร่างกายอย่างหนักที่ตั้งอยู่ชั้นใต้ดินโรงเรียนคนหูหนวกหรือ ฉี่ชง ไทเป หรือ Taipei School for the Hearing Impaired บนกำแพงติดคำขวัญตัวโตไว้ ว่า “พลังแห่งความไร้เสียง” ด้านข้างยังมีโปสเตอร์การแข่งขันSummer Deaflympics ไทเป ในปีนั้น คุณอันชิ่งหลง ไม่เพียงแต่ถ่ายทอดวิทยายุทธกรีฑาให้แก่บรรดาเด็ก ๆ และเยาวชนมานานกว่า 14-18 ปีเท่านั้น แต่ยังได้ให้คำแนะนำให้พวกเขา “ต้องกล้าหาญ” “สามารถทำได้ด้วยตนเอง” เสมือนหนึ่งเป็นโค้ชแห่งชีวิตหรือ life coach ของบรรดาเด็ก ๆ
คุณอันชิ่งหลง
ก้าวแรกในการเปิดประตูหัวใจของเด็ก ๆ คือการเรียนภาษามือ
เมื่อกล่าวถึงความแตกต่างของ “การสอนคนประสาทหูดี 1 ครั้ง แต่ผมต้องสอนเด็ก ๆ อย่างน้อย 3-5 ครั้ง” คุณอันชิ่งหลงเล่าว่า ผู้ทุพพลภาพทางหูต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจต่อคำสั่งมากกว่าคนปกติ สิ่งที่ท้าทายงานโค้ชมากที่สุดก็คือการทำความเข้าใจกัน
อุปสรรคในการฟังแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เป็นมาแต่กำเนิด และเป็นหลังกำเนิด ผู้มีปัญหาด้านการฟังบางส่วนอาจคุ้นเคยกับใช้ภาษาปาก บางส่วนก็คุ้นเคยกับการใช้ภาษามือ ส่วนคุณอันชิ่งหลงมิได้มีปัญหาประสาทหูมาแต่กำเนิด เริ่มมีอาการประสาทหูบกพร่องตอนอยู่ชั้นประถมปีที่ 4 มีอาการเป็นไข้สูงกระทบต่อประสาทหู เขาจึงไม่ได้เรียนภาษามือมาตั้งแต่เด็ก “บางครั้งผมไม่เข้าใจว่า พวกเขา (นักเรียน) คิดอะไรกัน บางคนไม่สามารถฟังสิ่งที่คุณพูดได้ ได้แต่ออกเสียงเท่านั้น ความจำก็ไม่สู้ดีด้วย” คุณอันชิ่งหลงยกตัวอย่างว่า อย่างออกคำสั่งให้ไปเวิ่งรอบสนาม 6 รอบแล้วค่อยมาวอร์มร่างกาย แต่พวกเขากลับนั่งพักอยู่ที่ขอบสนาม พอเดินเข้าไปถามจึงทราบว่า “สิ่งที่สั่งไปเมื่อสักครู่นี้ พวกเขาฟังไม่เข้าใจ และก็ไม่ถามให้แน่ใจด้วย”
ปี 2004 คุณอันชิ่งหลง จากเวทีการแข่งขัน Summer Deaflympics บกพร่องทางประสาทหูมายังโรงเรียนคนหูหนวกไทเป นักเรียนส่วนใหญ่ใช้ภาษามือ ไม่ค่อยมีใครใช้ภาษาพูดกัน ส่วนตัวเขาที่เพิ่งหัดเรียนภาษามือมักจะมองภาษามือจนตาลาย แถมเดาไม่ถูกว่าอีกฝ่ายต้องการสื่อความหมายอะไร
สิ่งที่เขาประทับใจเป็นอย่างมากก็คือ ได้มีโอกาสคุยกับนักเรียนในโรงเรียน รู้สึกได้อยา่งดีว่า “อีกฝ่ายอยากให้ผมไปเรียนภาษามือให้มากกว่านี้” และเพื่อให้อีกฝ่ายมีความรู้สึกว่า “ได้รับการเคารพ” คุณอันชิ่งหลงต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ภาษามือแบบ “คำต่อคำ” ตั้งแต่เริ่มต้น เริ่มจากคำว่า “มีความสุข” “ขอบคุณ” จนสามารถใช้ภาษามือถ่ายทอดความรู้สึกของตัวเองได้อย่างคล่องแคล่ว และเข้าใจความหมายของฝ่ายตรงข้าม
“อยากออกเสียงก็ใช้วิธี ตะโกน ออกมา จึงมีพลังออกมา” เมื่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 ขาดการฟังไป คุณอันชิ่งหลงจึงเสริม “ประสาทตา” และ “ประสาทสัมผัส” ซึ่งทุกวันนี้ เขาใช้ภาษามือกับภาษาพูดสลับกันสื่อสารกับลูกศิษย์ ให้คำแนะนำเทคนิคการทุ่มน้ำหนัก ปรับท่าการทุ่มของนักกีฬา ซึ่งยากที่จะจินตนาการได้ว่า “ภาษามือ” มิใช่ภาษา “แม่” ของเขา คุณอันชิ่งหลงบอกกับพวกเราด้วยความเชื่อมั่นในตัวเองว่า “ภาษามือก็คือวัฒนธรรมของพวกเรา” ปกติเขาจะไม่ใช้เครื่องช่วยฟัง ใช้ภาษามือสื่อสารกับเพื่อน ๆ ไม่มีช่องว่างระหว่างกัน
“เคยมีนักเรียนถามผมว่า “คุณครูครับ ทำไมสายตาของทุกคนจึงจับจ้องมาที่ผมครับ?” ผมจึงบอกกับเขาว่า “คนมองเธอใช้ภาษามือเพราะรู้สึกว่าเธอมีความพิเศษ เท่ห์มาก ไม่ต้องกลัวว่าไม่เหมือนกับพวกเขา”
ตอนที่คุณอันชิ่งหลงรุ่นราวคราวเดียวกับเด็ก ๆ พวกนี้ ก็ซุกซนเหมือนกัน แต่ตอนเข้าทีมกรีฑาโรงเรียนมัธยม ในทีมมีเขาคนเดียวที่มีอุปสรรคทางหู ทำให้เขายากที่จะเป็นส่วนหนึ่งของทีมได้ โค้ชก็ไม่ค่อยทำความเข้าใจกับเขานัก
ในช่วงที่เรียนระดับมัธยม 3 ปีเต็ม ๆ เขาต้องวิ่งตามเงาของเพื่อน ๆ มาโดยตลอด อาศัยความรู้สึกไปทำความเข้าใจ ไปจินตนาการ ไม่ง่ายที่จะสู้จนได้โอกาส แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถคว้ารางวัลอะไรมาได้เลย
ความหลังวัยเด็กช่วงนี้ ทำให้คุณอันชิ่งหลงมีความต้องการ “ถูกเข้าใจ” มากกว่าเพื่อนนักเรียนคนอื่น ๆ เขาไม่เพียงแต่สร้าง “มหัศจรรย์” ทางการกีฬา และยิ่งกลายเป็นพลังหนุนกำลังใจให้แก่วัยเด็กของบรรดาเด็ก ๆ เหลา่นี้
โค้ชชั้นยอดเป็นแบบอย่างและพลังให้แก่เขา
เปลี่ยนจากนักกีฬามาเป็นโค้ช ความคิดและอุดมการณ์ของคุณอันชิ่งหลง ได้รับผลอย่างลึกซึ้งจากโค้ช “หวางเหวินเสียง” ที่มีความผูกพันเสมือพ่อกับลูก ที่เป็นแบบอย่างสำหรับเขา
โค้ชในยุคแรก ๆ จะค่อนข้างเข้มงวด ไม่ค่อยสังเกตเห็นว่าบนร่างกายของลูกทีมมีบาดแผล” ตอนนั้น โค้ชหนึ่งคนต้องสอนนักกีฬาเกือบ 20 คน ทำให้โค้ชมักจะทำงานจนไม่มีเวลา และยิ่งไม่ต้องไปกล่าวถึงความต้องการของนักกีฬาว่าได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงหรือไม่ คุณอันชิ่งหลงฟื้นความทรงจำว่า ในตอนนั้น หากเกิดอุบัติเหตุจนบาดเจ็บก็ต้องกัดฟันอดทน หากทนไม่ไหว หรือหมดแรงก็จึงจะส่งไปโรงพยาบาล
ต่อมาเมื่อถูกโค้ชที่รู้จักส่งไปอยู่ภายใต้การฝึกสอนของโค้ชหวางเหวินเสียง โรงเรียนมัธยมปลายเถาหยวน เพื่อเตรียมเข้าร่วมการแข่งขัน Summer Deaflympics ปี 2009 “อัน ไปด้วยกันนะ” โค้ชหวางเหวินเสียงเชื้อเชิญคุณอันชิ่งหลงให้ร่วมฝึกกรีฑากับเพื่อนร่วมทีม แม้จะมีเพียงเขาคนเดียวที่มีปัญหาทางประสาทหู แต่บรรยากาศของการฝึกซ้อมที่นี่ดีมาก โค้ชหวางเหวินเสียงจึงดูแลเขาเป็นอย่างดี เพื่อให้เขา “ฝึกซ้อมอย่างมีความสุข”
“โค้ชหวางเหวินเสียงไม่เคยใช้อารมณ์ เขาจะบอกกับผมว่า “โอเค เจ็บขาก็ไม่ต้องฝึกกระโดดสูง ไม่งั้นขาจะเจ็บมากขึ้น” คุณอันชิ่งหลงศึกษาหลาย ๆ อย่างจากตัวโค้ชหวางเหวินเสียง โค้ชทำให้นักกีฬามีความรู้สึกใกล้ชิดกัน ปรับทุกข์กันได้ ส่วนนักกีฬาก็ต้องบอกถึงความต้องการของตน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันต้องเป็นไปอยางใกล้ชิด และมีอุณหภูมิด้วย
ในช่วงแรกยังมีพื้นฐานไม่ดีพอ คุณอันชิ่งหลงดูเหมือนว่าจะเริ่มต้นจากการสังเกตและการเลียนแบบ ท่ามกลางการให้คำแนะนำจากโค้ชหวางเหวินเสียงค่อย ๆ ฝึกการค้ำถ่อ ซึ่งเป็นกีฬาที่ตนไม่ถนัดมากที่สุด แต่ก็ปรากฎว่าในการแข่งขัน Summer Deaflympics ปี 2009 ที่ไทเป คุณอันชิ่งหลงไม่เพียงแต่คว้าเหรียญรางวัลมาครองได้ในการแข่งขันทศกรีฑา คว้าเหรียญเงินในประเภทค้ำถ่อด้วยสถิติ 4.55 ม. โค้ชกับนักกีฬากอดกันกลมแน่นด้วยความดีใจ ตื้นตันจนน้ำตาไหล
แต่ในวันนี้ คุณอันชิ่งหลงได้ปวรณาตนว่าจะสามารถสร้างผลงานแซงหน้าผลงานในอดีตของโค้ชหวางเหวินเสียง กลายเป็นเสาค้ำนักกีฬารุ่นใหม่ ๆ ทุกครั้งที่เข้าร่วมการแข่งขันก็จะนัดกับเพื่อน ๆ ที่หน้าโรงเรียน ขึ้นรถเมล์ไปสนามแข่งขัน และเมื่อแข่งขันเสร็จแล้ว ก็จะช่วยเพื่อน ๆ เก็บอุปกรณ์ข้าวของต่าง ๆ กินข้าวกล่อง คุยกัน และเขามักจะชวนรุ่นพี่ที่จบกาศึกษาไปแล้ว “กลับมาเยี่ยม” โรงเรียน นอกจากจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การฝึกซ้อมแล้ว ยังเป็นการสร้างความสามัคคีให้แก่ทีมกรีฑาของโรงเรียนด้วย นักกีฬาร่วมทีมมีความรู้สึกว่าคุณอันชิ่งหลง อารมณ์ขันและเข้าหาง่าย แต่ในสายตาบุคคลภายนอกเห็นว่าเขาได้ใส่ใจและทุ่มเทความรักให้แก่ลูกทีมเป็นอย่างดี “เขามิได้เป็นเพียงโค้ชเท่านั้น แต่เวลาส่นใหญ่ผมเห็นว่าเขามีบทบาทเป็นพ่อด้วย” คุณจางเจิ้นอวี่ เลขาธิการสมาคมกีฬาผู้พิการทางหู สาธารณรัฐจีน ได้กล่าวถึงคุณอันชิ่งหลงดังกล่าวข้างต้น
ยืนบนเวทีเดียวกันกับคนปกติ เพื่อ “การแข่งขันที่เป็นธรรม”
ในการแข่งขัน มักจะเห็นคุณอันชิ่งหลงใช้กล้องในโทรศัพท์มือถือเก็บภาพบรรดานักกีฬา เสมือน “พ่อ” คนหนึ่ง นอกจากจะเป็นการเก็บบันทึกเรื่องราวของบรรดานักกีฬาแล้ว ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ก็คือเพื่อปรับปรุง “ท่าทาง” สำคัญในขณะแข่งขันให้มีความถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น “การบริหารร่างกาย” หรือให้ความสำคัญกับการ “วิ่งจ็อกกิ้ง” เพื่อวอร์มร่างกาย เป็นการฝึกฝนการออกแรงของนักกีฬาและเป็นปมเงื่อนสำคัญที่จะส่งผลต่อความเร็วในการวิ่งด้วย
“ตอนพุ่งแหลน ผมจะให้ความสำคัญไม่ใช่ว่าจะพุ่งได้ไกลแค่ไหน? แต่ท่าการพุ่งแหลนต้องปรับให้ถูกต้อง” เป็นสิ่งที่คุณอันชิ่งหลงให้ความสำคัญมากกว่าผลการแข่งขัน รวมทั้งให้ความสำคัญกับความสามารถพื้นฐานและการฝึกท่าพื้นฐานให้ถูกต้องมากกว่า ซึ่งเป็นพื้นฐานที่โค้ชหวางเหวินเสียงใช้เวลาอย่างมากในการปลูกฝังให้แก่เขาในปีนั้น ต่อมาจึงกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลงานโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
บนกำแพงในห้องฝึกร่างกายชั้นใต้ดินโรงเรียนคนหูหนวกไทเป นอกจากจะมีโปสเตอร์การเข้าร่วมการแข่งขัน Summer Deaflympics ปี 2009 ของคุณอันชิ่งหลง ด้านข้างยังมีรายชื่อผลงานของรุ่นพี่ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเมื่อ ม.ค. ปีนี้ เขาเพิ่งพาทีมไปร่วมการแข่งขัน Summer Deaflympics เยาวชน ครั้งที่ 1 ที่เซ็นต์เปาโล ประเทศบราซิล มีหลายคนที่เข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก แต่สร้างผลงานได้ค่อนข้างโดดเด่น ซึ่งคุนอันชิ่งหลงกำลังวางแผนที่จะนำเอาผลการแข่งขันในครั้งนี้ ติดไว้บนกำแพงด้วย “ที่ผ่านมาไม่เคยมีการนำผลงานมาแปะไว้บนกำแพง ทำให้ไม่มีใครเชื่อว่าโค้ชอย่างตัวเขาเคยคว้าเหรียญทองในการแข่งขันเมื่อปี 2001
ทีมนักกรีฑาของโรงเรียนคนหูหนวกไทเปจำนวนไม่น้อยที่ยึดถือเอาคุณอันชิ่งหลงเป็นเป้าหมายของตน แต่นอกจากจะสั่งสมประสบการณ์การแข่งขัน และเสริมเทคนิคการแข่งขันของตนแล้ว คุณอันชิ่งหลงยังหวังว่า เด็ก ๆ เหล่านี้จะไม่แข่งแต่กับเฉพาะคนหูหนวกเท่านั้น แต่ยังสามารถแข่งกับคนปกติได้อีกด้วย ที่ผ่านมา การแข่งขันกีฬาระดับมัธยมไทเป หรือชิงถ้วยเยาวชนแห่งชาติกับถ้วยจงเจิ้ง ก็จะได้เห็นพวกเขาเข้าร่วมการแข่งขันด้วย
ก.พ. ปีนี้ ก่อนที่การแข่งขันกีฬาระดับมัธยมกรุงไทเปจะเริ่มต้นขึ้น เด็ก ๆ จากโรงเรียนคนหูหนวกไทเปได้กล่าวถึงการแข่งขันนี้เซ็งแซ่และเสียงดังฟังชัดมากกว่านักเรียนโรงเรียนอื่น ๆ แต่ก็เป็นไปอย่างเงียบ ๆ ด้วย คุณเฉินเหวยไข่ นักกีฬาทีมกรีฑาของโรงเรียน สูดดมกลิ่นน้ำมันนวดกล้ามเนื้อในสนามไปพร้อม ๆ กับการกุมถุงน้ำแข็งเพื่อทำให้จิตใจสงบลงบ้าง “นอกจากความเครียดแล้ว ก็คือความเครียด เพราะนักกีฬาที่มีร่างกายปกติมีเป็นจำนวนมาก แต่ผมเป็ยนักกีฬาคนหูหนวก” คุณเหลียงโย้วฉี นักกีฬาที่สามารถใช้ภาษาพูดสื่อสารได้ ช่วยแปลความในใจของคุณเฉินเหวยไข่
ในการแข่งขันครั้งนั้น สิ่งที่โค้ชอันชิ่งหลงใช้ทดสอบนักกีฬาในทีมก็คือ “สื่อสารด้วยตนเอง” เนื่องจากการแข่งขันของบุคคลทั่วไปไม่เหมือนกับการแข่งขันของผู้พิการทางหูที่ต้องมีการติดตั้ง “ระบบช่วยการมอง” เพื่อช่วยให้นักกีฬาสามารถตัดสินได้อย่างถูกต้อง คุณอันชิ่งหลงให้กำลังใจก่อนเริ่มออกสตาร์ทจากลู่วิ่ง ให้ทำความเข้าใจกับกรรมการเรื่องธงที่ใช้นำทาง และตำแหน่ง เพื่อสร้างโอกาสที่เป็นธรรมให้แก่การแข่งขัน เนื่องจากการโบกธงจะช้ากว่าเสียงปืนออกสตาร์ทเล็กน้อย ล้วนส่งผลเป็นอย่างมากต่อผลการแข่งขัน
คุณอันชิ่งหลงยืนยันว่า “ในอีก 20 ปีข้างหน้า ตนจะยังคงเป็นโค้ชต่อไป นักกีฬามีแรงขับเคลื่อน มีเป้าหมาย เราก็จะพยายามร่วมกันต่อไป งานของผมก็เป็นแบบนี้ วิธีเดียวกันไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือต้องช่วยเหลือพวกเขา”