เพียงต้องการให้รุ่นน้องไม่ต้องเปียกฝนระหว่างเดินทาง คาดไม่ถึงว่าชาวไทเปจะได้รับประโยชน์ด้วย โครงการร่มแชร์ริ่งในสถานีรถไฟฟ้า ที่เสนอโดยนักเรียน ร.ร.มัธยมปลายเจี้ยนกั๋ว
ระหว่างเดินทางไปโรงเรียน ถ้าเกิดฝนตกกะทันหันแต่ไม่ได้พกร่ม จะทำยังไงดีล่ะ? ปัญหานี้เป็นเหมือนฝันร้ายของนักเรียนหลายคนที่ต้องเดินทางประจำ สมัยที่ อวี๋เฉิงซี (余承熹) เรียนอยู่มัธยมปลาย เขาเองก็พบเจอปัญหานี้อยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเจี้ยนกั๋ว ในไทเปที่เขาศึกษาอยู่ ไม่ถือว่าอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า เขาเล่าว่า “ทุกครั้งที่ต้องเดินตากฝนไกลๆ ผมต้องวางแผนหาเส้นทางที่มีทางเดินใต้ชายคาของอาคารให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้เปียกน้อยลง” เขารู้สึกว่าการทำแบบนี้ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีนัก จึงคิดขึ้นได้ว่า “ในเมื่อมีการแชร์พาวเวอร์แบงค์และจักรยาน แล้วทำไมจะแชร์ร่มไม่ได้ล่ะ?”
“ช่วยถือไว้ 10 วินาที” ดึงดูดความสนใจจาก Taipei MRT
คุณเคยใช้ “ร่มแชร์ริ่ง” ของสถานีรถไฟฟ้า Taipei MRT ในวันที่ฝนตกกระทันหันไหม? บริการที่แสนใส่ใจของบริษัทรถไฟฟ้า มีที่มาจากแนวคิดและความพยายามของกลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมปลายเจี้ยนกั๋ว
เมื่อปี 2023 อวี๋เฉิงซี (余承熹) ซึ่งขณะนั้นเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเจี้ยนกั๋ว มักเจอปัญหาไม่ได้พกร่มในวันที่ฝนตกกะทันหันระหว่างเดินทางไปเรียน จึงได้เสนอไอเดีย “ร่มแชร์ริ่ง” ในคาบเรียน “งบประมาณแบบมีส่วนร่วม” ไอเดียนี้ได้รับความสนใจจากเพื่อนนักเรียนจำนวนมาก เขากับเพื่อนอีก 5 คนจึงร่วมกันระดมความคิดและนำเสนอโครงการ “ช่วยถือไว้ 10 วินาที” และเสนอให้รัฐบาลกรุงไทเปจัดตั้งจุดบริการร่มเช่า เพื่อแก้ปัญหาความไม่สะดวกของประชาชนที่ไม่ได้พกร่มในวันที่ฝนตก ข้อเสนอนี้ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดในชั้นเรียนและได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนในการแข่งขันเสนอโครงการของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในกรุงไทเป
ในแผนข้อเสนอ “ช่วยถือไว้ 10 วินาที” กลุ่มนักเรียนชั้น ม.6 ได้คิดรายละเอียดวิธีดำเนินการอย่างรอบคอบ เช่น ค่าเช่า โดยชั่วโมงแรกไม่คิดค่าบริการ และคิดค่าบริการ 10 เหรียญไต้หวันต่อชั่วโมงในการเช่าต่อ สำหรับวัสดุของร่ม พวกเขาหวังว่าจะใช้เส้นใยรีไซเคิลจากขวดพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังวางแผนใช้โครงร่มและผ้าร่มเป็นพื้นที่โฆษณาหรือประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐบาล เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับ “ร่มแชร์ริ่ง”
จากปัญหาเล็ก ๆ ที่เจอระหว่างการเดินทางไปโรงเรียน พัฒนาออกมาเป็นข้อเสนอที่รอบคอบได้อย่างไร? อวี๋เฉิงซี (余承熹) อธิบายว่า “พวกเราลองคิดถึงปัญหาที่อาจพบเจอดู แล้วคิดถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหานั้นๆ” พวกเขาใช้วิธีระดมความคิดโดยไม่มีระบบ เพียงแค่เสนอไอเดียต่างๆออกมา จากนั้นค่อยออกแบบมาตรการรองรับทีละข้อ จากโปสเตอร์ข้อเสนอในชั้นเรียน ก็พัฒนากลายมาเป็นแผนโครงการความยาวถึง 12 หน้า
ในท้ายที่สุด โครงการ “ช่วยถือไว้ 10 วินาที” ซึ่งมีความโดดเด่นที่สุดในบรรดา 23 โครงการที่เสนอโดยนักเรียนมัธยมปลายทั่วกรุงไทเป จึงประสบความสำเร็จในการคว้ารางวัลที่ 3 ในข้อเสนอโครงการการศึกษาเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณของกรุงไทเปปี พ.ศ. 2567 และยังมีโครงการอื่นๆที่น่าสนใจ เช่น “ไฟจราจรบนพื้นถนน” จากนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาสตรีจงซาน เพื่อป้องกันไม่ให้คนเดินเท้าก้มหน้าดูโทรศัพท์จนเกิดอุบัติเหตุ โครงการ “คาเฟ่ที่เป็นมิตรต่อการสอนพิเศษ” จากโรงเรียน Taipei City Fanghe Experimental High School ฯลฯ
ตามเกณฑ์การคัดเลือกของเทศบาลกรุงไทเป ทีมที่ได้รับรางวัลต้องมีความสามารถที่โดดเด่น ทั้งในด้านความเป็นไปได้ ความมีอิทธิพล และความเป็นมืออาชีพ ความสามารถในการนำเสนอและการตอบคำถามก็ต้องดีเยี่ยมด้วย
หลังจากที่โครงการ “ช่วยถือไว้ 10 วินาที” ของนักเรียนโรงเรียนมัธยมปลายเจี้ยนกั๋วได้รับรางวัลไม่นาน ก็ได้รับความสนใจจากบริษัทTaipei MRT ซึ่งในขณะนั้นกำลังร่วมมือกับทีมสตาร์ทอัพ ในการเตรียมโครงการร่มแชร์ริ่ง “Raingo” โดยวางแผนที่จะติดตั้งจุดบริการร่มเช่าตามสถานีรถไฟฟ้า จากแนวคิดโครงการของนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเจี้ยนกั๋ว ทำให้มีการจัดตั้งจุดบริการร่มเช่าในโรงเรียน และเป็น Raingo แห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในโรงเรียนทั่วไต้หวัน
ด้วยการประสานงานจากทางเทศบาล นักเรียนจากโรงเรียนมัธยมปลายเจี้ยนกั๋วกลุ่มนี้ได้รับเชิญให้พบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทีม Raingo แถมยังได้ทดลองใช้ร่มแชร์ริ่งที่ในขณะนั้นยังไม่เปิดให้บริการจริง เฉินหงกวง (陳虹光) หนึ่งในนักเรียนที่ร่วมเสนอแนวคิดนี้ เล่าว่า เขายังจำความตื่นเต้นเมื่อได้ถือร่มที่ตนกับเพื่อนๆร่วมกัน “อธิษฐานจนบังเกิดผลสำเร็จ” แถมยังเล่าอีกด้วยว่า “ร่มนั้นใช้งานดีมาก แข็งแรงทนทาน แถมยังไม่หนักเกินไป และพื้นที่ร่มก็ใหญ่อีกด้วย!”
หลังจากทดลองใช้ร่มแล้ว นักเรียนต่างชื่นชมและให้คะแนนคุณภาพร่มในระดับที่สูงมาก และเห็นด้วยกับแนวทางความร่วมมือระหว่างบริษัทรถไฟฟ้ากับทีมงานสตาร์ทอัพ ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินงานที่พวกเขาได้เสนอไว้ อย่างไรก็ตาม พวกเขายังได้ให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการออกแบบ เช่น การเพิ่มวิธีการชำระเงินด้วยบัตร EasyCard เพื่อให้นักเรียนมัธยมสามารถยืมใช้งานได้สะดวกขึ้น รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สำหรับโฆษณาบนร่ม
ส่วนที่สำคัญและยากที่สุดในการจำลองการเสนอแนวคิดโครงการ “งบประมาณแบบมีส่วนร่วม” คือ “การประเมินงบประมาณ” อวี๋เฉิงซี (余承熹) เล่าว่า พวกเขาได้เปรียบเทียบข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ เช่น การจัดตั้งระบบ YouBike และต้นทุนการผลิตร่มในท้องตลาด คาดว่าการพัฒนาระบบบริการร่มแชร์ริ่งจะใช้งบประมาณประมาณ 100,000 เหรียญไต้หวัน โดยราคาซื้อร่มอยู่ที่ คันละ 300 เหรียญไต้หวัน เมื่อรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ งบประมาณทั้งหมดสำหรับการทดลองใช้ 100 จุดในเขตจงเจิ้ง กรุงไทเป จะอยู่ที่ประมาณ 3,000,000 เหรียญไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม หลังจากพวกเขาได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกับทีม Raingo จึงได้ทราบว่าการติดตั้งจุดบริการร่มเช่าในเมืองนั้นไม่ง่ายเลย หากต้องการให้ผู้ใช้จ่ายเงินผ่านบัตร EasyCard จะต้องออกแบบตู้เช่าขึ้นใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนอย่างมาก และหากต้องการติดโฆษณาบนร่ม ก็จะต้องคำนึงถึงความสวยงามและค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนผ้าร่ม ซึ่งใช้งบประมาณมากกว่าที่คิดไว้มาก อวี๋เฉิงซี (余承熹) กล่าวว่า “ทางทีม Raingo ดูเหมือนจะตั้งงบประมาณไว้ที่หลายสิบล้านเหรียญไต้หวัน ซึ่งมากกว่าของพวกเราถึง 10 เท่า”
สนับสนุนข้อเสนอของตนเองด้วย "การลงมือทำ" แอบทำสัญลักษณ์บนร่มแชร์ริ่ง
ขณะให้สัมภาษณ์กับ "The Reporter for Kids" นายอวี๋เฉิงซี (余承熹) ซึ่งปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สอง คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ย้อนมองกลับไปถึงวิธีคำนวณต้นทุนในช่วงมัธยมปลายของเขา เขาเล่าว่า “ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการสร้างเครื่องจักรเครื่องนึง เป็นประสบการณ์ที่ยากสำหรับนักเรียนในการจัดการ” และเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สุดที่พวกเขาเผชิญในการลงมือทำ“งบประมาณแบบมีส่วนร่วม”
เฉินหงกวง (陳虹光) เพื่อนในกลุ่มที่ร่วมเสนอแนวคิดได้เขียนความรู้สึกหลังเข้าร่วมการแข่งขันไว้ว่า “ปกติแล้วชอบตำหนิว่ารัฐบาลคิดไม่รอบคอบ แต่เมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมการเมืองสาธารณะอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก กลับได้รู้ว่าแม้แต่คนธรรมดาก็ยากที่จะทำให้นโยบายของตนเองครอบคลุมในทุกด้าน แล้วนับประสาอะไรกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารที่ต้องทำงานอย่างหนัก”
แม้ว่าตอนที่มีการติดตั้งจุดบริการร่มเช่าในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเจี้ยนกั๋ว พวกเขาจะเรียนจบไปแล้ว แต่จุดเริ่มต้นจากความไม่สะดวกเล็กน้อยในชีวิตของตัวเอง เพื่อเสนอวิธีแก้ไขและสร้างประโยชน์ให้แก่รุ่นน้อง ถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากสำหรับพวกเขา อวี๋เฉิงซี (余承熹) เชื่อว่า “งบประมาณแบบมีส่วนร่วม เชื่อมโยงระหว่าง 'ความไม่สะดวกของผม' กับ 'ความไม่สะดวกของคุณ' ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ดีในการแก้ไขปัญหาสาธารณะ”
ทุกครั้งที่เดินผ่านสถานีรถไฟฟ้า อวี๋เฉิงซี (余承熹) ก็จะสังเกตจุดเช่าร่มของ Raingo เป็นพิเศษ ถึงขั้นเคยแอบทำสัญลักษณ์บนร่มเพื่อสังเกตจำนวนการใช้งานอีกด้วย เขาหวังว่าแนวคิดที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี้จะได้รับการยอมรับจากผู้คนมากขึ้น เมื่อฝนตกและไม่มีร่ม คนจะเลือกใช้บริการร่มแชร์ริ่งกัน
ข้อเสนอแก้วรีไซเคิล ของโรงเรียนมัธยมปลายสตรีไทเปที่ 1
อีกหนึ่งข้อเสนอที่ประสบความสำเร็จจากโครงการ “งบประมาณแบบมีส่วนร่วม” มาจากโรงเรียนมัธยมปลายสตรีไทเปที่ 1 ซึ่งสังเกตเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการใช้แก้วพลาสติกในเครื่องดื่มที่สั่งผ่านบริการเดลิเวอรี่ จึงเสนอแนวคิด “แก้วรีไซเคิล” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดขยะพลาสติก ข้อเสนอนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลาม และได้ร่วมมือกับกองอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของกรุงไทเป โดยในปี 2021 ได้เปิดตัว “โครงการทดลองใช้แก้วรีไซเคิลเดลิเวอรี่” และได้ติดตั้งจุดให้บริการยืมและคืนแก้วรีไซเคิลหลายแห่ง
โครงการ "แชร์ร่มกับคนแปลกหน้า" ของโรงเรียนมัธยมปลายต้าถง
นักเรียนจากโรงเรียนมัธยมปลายต้าถงได้เสนอโครงการสร้างสรรค์ชื่อว่า "แชร์ร่มกับคนแปลกหน้า" ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาฝนตกแล้วไม่มีร่มใช้งาน (โดยได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ “ช่วยถือไว้ 10 วินาที” ของ ร.ร.มัธยมปลายเจี้ยนจง ) พวกเขาออกแบบร่มที่มาพร้อมกับหลอดไฟพิเศษที่สามารถควบคุมผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ หลอดไฟสามารถแสดงสถานะว่ายินดีแชร์ร่มกับคนแปลกหน้าหรือไม่ โดยสีเหลืองหมายถึงพร้อมแชร์ร่มแต่ไม่ต้องการพูดคุย ส่วนสีเขียวหมายถึงพร้อมแชร์ร่มและสามารถพูดคุยกันได้ โครงการนี้ไม่เพียงแต่ใช้เทคโนโลยีในการส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ แต่ยังเพิ่มฟังก์ชัน GPS เพื่อป้องกันไม่ให้ร่มสูญหาย ในที่สุดโครงการนี้ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันข้อเสนอของนักเรียน และได้รับการชื่นชมจาก เจี่ยงว่านอัน (蔣萬安) ผู้ว่าการกรุงไทเป ในด้านความคิดสร้างสรรค์
ความสนใจของนักเรียนต่อนโยบายสาธารณะที่หลากหลาย และอุปสรรคในการเข้าร่วม
หัวหน้าฝ่ายบริหารกองกิจการพลเรือน กรุงไทเป ฟางอิงจู่ (方英祖) สังเกตเห็นว่า ข้อเสนอที่ประชาชนยื่นเข้ามามักเกี่ยวข้องกับการบริหารในท้องถิ่นของผู้ใหญ่บ้าน โดยกรณีที่มีมากที่สุดคือการปรับปรุงสวนสาธารณะ ในขณะที่ นักเรียนมีความสนใจต่อนโยบายสาธารณะที่หลากหลาย เช่น สิ่งแวดล้อม การคมนาคม และวัฒนธรรม แต่ระบบการยื่นข้อเสนอยังไม่เป็นมิตรกับเยาวชน
อวี๋เฉิงซี (余承熹) เชื่อว่า การออกแบบของระบบได้จำกัดโอกาสในการมีส่วนร่วมของเยาวชน เช่น การจัดกิจกรรมในเวลาทำงาน ทำให้นักเรียนและคนทำงานไม่สามารถเข้าร่วมได้
ทางเทศบาลกรุงไทเปพบว่า พลเมืองที่เข้าร่วมโครงการงบประมาณแบบมีส่วนร่วมลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี จึงได้ผลักดันให้มีการสอนในโรงเรียนมัธยมปลายเพื่อเพิ่มความเข้าใจและความสมัครใจในการเข้าร่วมของเยาวชน
ข้อเสนอของนักเรียนได้รับการยอมรับ แต่ยังขาดการสนับสนุนทางการเงิน
แม้ว่าข้อเสนอของนักเรียนในไต้หวันจะได้รับการยอมรับ แต่ก็อาจไม่ได้รับเงินสนับสนุน กรุงไทเปได้ผลักดันโครงการงบประมาณแบบมีส่วนร่วมในโรงเรียนมัธยมปลายมาแล้ว 7 ปี โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการเรียนรู้ แต่ข้อเสนอที่ถูกนำไปใช้จริงมีเพียงเล็กน้อย ขณะที่นครนิวไทเปมีโครงการให้เงินอุดหนุน แต่งบประมาณจำกัดอยู่ที่ไม่เกิน 80,000 เหรียญไต้หวัน รองศาสตราจารย์ เย่ซินอี๋ (葉欣怡) ภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งชาติไทเป ( National Taipei University) ชี้ให้เห็นว่า โครงการงบประมาณแบบมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในไต้หวันมักเป็นเพียงประสบการณ์แบบครั้งเดียว แทบไม่มีการผลักดันให้สานต่อ
ขณะเดียวกันศาสตราจารย์ลวี่เฉาเสียน (呂朝賢) ภาควิชาสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยตงไห่ (Tunghai University) ได้ให้สัมภาษณ์แก่"The Reporter for Kids" ว่า นโยบายสาธารณะทั้งหมดถูกตัดสินใจโดยผู้ใหญ่ ขาดความคิดเห็นจากเด็กและเยาวชนที่ไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียง "หากจะทำให้เสียงที่หลากหลายถูกเปล่งออกมา ก็ต้องฝึกฝนให้กับเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้รับรู้ว่าเขาสามารถแสดงความคิดเห็นได้ และเสียงของพวกเขาจะได้รับการสนใจ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งนี่คือจิตวิญญาณของการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม"