close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

The Reporter เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้แก่เยาวชน EP.37

  • 16 December, 2024
The Reporter เปิดโลกทัศน์ใหม่แก่เยาวชน
The Reporter เปิดโลกทัศน์ใหม่แก่เยาวชน
คุณหลี่เจิ้นฮุย ล่ามภาษามือคนแรกในไต้หวัน ที่ทำงานให้กับภาครัฐ เพื่อสื่อสารกับผู้พิการทางการได้ยิน

ฉันในวัย 14 ปีคุณหลี่เจิ้นฮุยการสื่อสารเพื่อผู้พิการทางการได้ยิน ปลดล็อคปมด้อยในวัยเด็กของตนเอง

     สมัยเด็กผมเป็นคนที่มีผลการเรียนดีมาก แต่มีนิสัยค่อนข้างเก็บตัว เนื่องจากสภาพแวดล้อมครอบครัวไม่ค่อยดีอยู่ในเกณฑ์ครัวเรือนเปราะบาง ความเจ็บปวดภายใจที่ไม่สามารถแสดงออกมาได้จึงทำให้ผมรู้สึกมีปมด้อยมากโดยตลอด จนกระทั่งผมได้เจอกับเพื่อนที่ประสบปัญหาในชีวิตรุนแรงยิ่งกว่าผม พวกเขาเป็นคนหูหนวกที่พูดไม่ได้ ดังนั้นผมจึงตัดสินใจเรียนภาษามือตอนมัธยมปลาย เพื่อผมจะได้เข้าใจภาษาที่เพื่อนซึ่งเป็นคนหูหนวกใช้สื่อสารกัน และแม้ว่าในระดับมหาวิทยาลัยผมจะศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ แต่แล้วผมก็ตัดสินใจทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญล่ามภาษามือ เพื่อเป็นตัวแทนของผู้พิการทางการได้ยินในการสื่อสารพูดคุย

     จริงๆ แล้ว ภาษามือช่วยให้ผมเข้าใจตัวเองมากขึ้น มันเป็นเหมือนกับคบเพลิงที่ส่องแสงสว่างให้กับปมด้อยที่เคยบดบังสายตาของผม และนำทางผมให้ก้าวไปข้างหน้า

     ผมเป็นล่ามภาษามือคนแรกในไต้หวันที่อาศัยภาษามือในการทำหากิน และยังเป็นคนแรกๆ ที่ได้ออกทีวี โดยใช้ภาษามือและสายตาแสดงออกควบคู่กัน เพื่อสื่อสารให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินสามารถรับรู้ได้ถึงเหตุการณ์ที่ขึ้น ตั้งแต่พิธีเฉลิมฉลองวันชาติ การอภิปรายเลือกตั้งประธานาธิบดี ไปจนถึงการแถลงนโยบายสำคัญของสภาบริหารและสภานิติบัญญัติไต้หวัน การถ่ายทอดสดเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้จะเห็นกรอบเล็กๆ ที่มีผมอยู่ในนั้นตรงมุมจอโทรทัศน์ที่กำลังออกอากาศ

     ประสบการณ์ 38 ปี ในฐานะล่ามภาษามือ ทำให้ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมความเป็นมืออาชีพของล่ามภาษามือภายในประเทศ ในปี ค.ศ. 2020 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 การได้ไปทำหน้าที่ล่ามภาษามือในการแถลงข่าวของศูนย์บัญชาการควบคุมโรคไต้หวัน ก็ทำให้ตัวผมกลายเป็นที่สนใจของสื่อมากขึ้น มีคนจำนวนไม่น้อยที่สงสัยว่าทำไมผมซึ่งจบจากคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาแห่งชาติไต้หวัน จึงไม่เลือกทำงานเป็นทนายความหรือผู้พิพากษา แต่กลับเลือกทำอาชีพที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักแทน

 

ทั้งหยิ่งผยองทั้งมีปมด้อย “2 บุคลิกในคนเดียว”

        ผมอาศัยอยู่ในเขตชนบทของกรุงไทเป บริเวณเกาะเซ่อจื่อซึ่งถือว่าค่อนข้างห่างไกลจากตัวเมือง บริเวณใกล้บ้านล้วนเต็มไปด้วยทุ่งนา ซึ่งเมื่อเทียบกับโรงเรียนในเขตตัวเมือง ที่นี่จึงมีเด็กจำนวนไม่มากที่อ่านหนังสือได้ ในตอนนั้นโรงเรียนที่ค่อนเข้ามีชื่อเสียงคือโรงเรียนมัธยมศึกษาต้าจื๋อ และโรงเรียนมัธยมศึกษาเจี้ยโซ่ว และในแต่ละปีก็จะนักเรียนประมาณหลัก 10 คนที่สามารถสอบเข้าโรงเรียนมัธยมศึกษาเจี้ยนกั๋วของกรุงไทเปได้ โดยในตอนนั้นหลังผมจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น บนเกาะเซ่อจื่อก็มีนักเรียนเพียง 2 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือผมที่สามารถสอบเข้าโรงเรียนมัธยมศึกษาเจี้ยนกั๋ว (หรือเรียกย่อๆ ว่า โรงเรียนเจี้ยนจง) เพื่อศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้

        ตอนที่ผมอายุ 14 ปี เเศรษฐกิจของไต้หวันกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น และการรับ OEM มาทำที่บ้านก็ได้รับความนิยมในทุกครัวเรือน ซึ่งรวมถึงบ้านของผมและเพื่อนบ้านหลายหลังก็ล้วนทำ OEM เพื่อหารายได้เสริมให้กับครอบครัว ในตอนนั้นบ้านก็คือโรงงาน ดังนั้นหลังกลับมาจากโรงเรียน บ้านเราซึ่งมีพี่น้องสี่คนก็จะต้องไปหยิบไม้เทนนิสขึ้นมาร้อยเอ็น โดยเฉลี่ยแล้วหนึ่งคนจะทำได้ 10 อันต่อวัน และทำเสร็จจึงจะสามารถไปอ่านหนังสือได้ ดังนั้นหลายครั้งมักทำให้ผมไม่มีเวลาทำการบ้านให้เสร็จ หรืออ่านหนังสือไปทันการสอบในวันรุ่งขึ้น เพราะผมเหนื่อยมากจนเผลอหลับไป และเนื่องจากผมอยู่ในชั้นเรียนห้องคิง มาตรฐานในชั้นเรียนก็คือ "100 คะแนน" ดังนั้นเมื่อหายไป 1 คะแนนก็ถูกตี 1 ที แม่ของผมจึงได้โทรศัพท์มาหาคุณครูเพื่อขอโทษ และชี้แจงว่าผมต้องช่วยงานที่บ้าน คุณครูจึงเข้าใจและปฏิบัติกับผมดีขึ้น

        ในสมัยนั้นแค่เพียงมีเกรดเฉลี่ยที่ดี ก็จะทำให้ผมมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น หรืออาจจะพูดได้ว่ามันทำให้ผมมีความหยิ่งผยองในตัวเองมากขึ้น แต่เพราะภูมิหลังครอบครัวที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย จึงผลกระทบต่อสิ่งที่ผมต้องเลือก คือผมไม่เคยจ่ายเงินไปกับการซื้อหนังสือ และมักจะขาดการเข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียนที่ต้องมีการเสียเงิน ซึ่งในเวลานั้นความรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยค่อยๆ สะสมในจิตใจมากขึ้น การมีบุคลิกสองขั้วที่ขัดแย้งกันคือ “หยิ่งผยอง” และ “มีปมด้อย” ก็ทำให้ผมกลายเป็นคนเก็บตัว ทั้งที่ในใจลึกๆ ผมก็หวังเสมอว่า จะกลายเป็นคนที่มีชื่อเสียงในชั้นเรียน และถูกล้อมรอบด้วยแสงสว่าง แต่อย่างไรก็ตามผมยังคงรู้สึกตัวชัดเจนเสมอ ว่าผมไม่เคยเป็นและจะไม่มีวันได้เป็นคนเช่นนี้

        คุณครูสมัยประถมเคยพูดกับผมว่า “จริงๆ แล้วหลายอย่างไม่ใช่ว่าผมทำได้ไม่ดี แต่เพียงเพราะผมปล่อยให้ปมด้อยเดินนำผมไปข้างหน้าเท่านั้น”

        พี่ชายของผมซึ่งอายุมากกว่าผม 2 ปี ไปทำงานกับพ่อหลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาตอนต้น ส่วนพี่สาวคนโตอยากเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่เพราะกลางดึกวันหนึ่งพ่อของผมเมากลับมาบ้าน และเปิดใจถึงความยากลำบากของครอบครัว สุดท้ายพี่สาวคนโตจึงตัดสินใจเลือกเรียนต่อในระดับ ปวส. เพราะวิธีนี้จะช่วยสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวได้ทันทีหลังจากสำเร็จการศึกษา พอถึงช่วงที่ผมต้องสอบเพื่อศึกษาต่อ ฐานะทางการเงินของครอบครัวดีขึ้นมาเล็กน้อย โดยครั้งนั้นการสอบเข้าโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายและสอบ 5 ทักษะของอาชีวศึกษาต้องสอบแยกกัน กลยุทธ์ของผมคือจงใจสอบตกในการสอบ 5 ทักษะของอาชีวศึกษา ทำคะแนนสอบเพื่อศึกษาชั้น ม.ปลายให้ดี ในระดับที่สามารถเข้าเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมเจี้ยนกั๋วได้ เพื่อเป็นบีบบังคับให้พ่อของผมยินยอมที่จะให้ผมเรียนต่อระดับ ม.ปลาย ซึ่งตอนนั้นในหมู่บ้านมีเพียงสองคนที่สอบเข้าโรงเรียนมัธยมเจี้ยนกั๋วได้ แม่จึงสนับสนุนผมอย่างเต็มที่ และบอกว่าต้องไปเรียนที่โรงเรียนนี้เท่านั้น

 

แววตาของเด็กหญิงหูหนวกที่อยู่ข้างบ้าน “ปรารถนาที่จะสื่อสาร”

        ทุกครั้งที่ผมขึ้นรถประจำทางจากเกาะเซ่อจื่อไปที่โรงเรียน การได้สวมชุดเครื่องแบบของโรงเรียนดังทำให้ผมรู้สึกมีออร่า ผมหวังเสมอว่าทุกคนจะสังเกตเห็นชุดนักเรียนสีกากีที่ผมสวมใส่ แต่โรงเรียนดังอันดับต้นๆ ของกรุงไทเปแห่งนี้ แน่นอนว่าจะต้องรวมกลุ่มคนที่เป็นระดับหัวกะทิเอาไว้ ผมจึงรู้ดีว่าเด็กบ้านนอกอย่างผมเทียบไม่ได้กับเด็กในเมือง ที่ผ่านมาเรามักอาศัยท่องจำเพื่อรับมือกับทุกวิชา แต่พอขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก็เจอกับวิชาคณิตศาสตร์ที่เป็นสิ่งเข้าใจได้ยากมากขึ้น ดังนั้นเมื่อผลการเรียนของผมไม่สามารถนำพาให้ผมรู้สึกประสบความสำเร็จ แต่โรงเรียนแห่งนี้ก็ทำให้ผมพบโลกอีกใบ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผมเป็นอย่างมาก

        ที่โรงเรียนมัธยมเจี้ยนกั๋วมีชมรมอยู่มากมาย เกือบ 40 ชมรม ซึ่งแต่ละชมรมก็มุ่งเน้นทั้งด้านวิชาการ ความบันเทิง และบริการต่างๆ ที่นี่ทำให้ผมรู้สึกเหมือนได้รับอิสรภาพและได้ปลดปล่อยตัวเองจากอดีตที่เคยถูกกดขี่ ผมเข้าร่วมชมรมถ่ายภาพตอนอยู่ ม.4 ส่วน ม.5 ผมเข้าร่วมชมรมร้องเพลงประสานเสียง ขณะเดียวกันในชั้นเรียนของผมก็มีประธานชมรมภาษามือนั่งอยู่ข้างๆ ซึ่งเขาพยายามอย่างหนักเพื่อเชิญชวนเพื่อนๆ เข้าร่วมชมรม ในที่สุดเพื่อนักเรียนที่นั่งอยู่รอบตัวเขาทั้งหน้า หลัง ซ้าย และขวา รวมผมด้วยทั้งหมด 4 คน ก็ถูกลากเข้าไปอยู่ในชมรมภาษามือด้วย

        วันแรกของการเรียนรู้ภาษามือ พวกเราเริ่มต้นจากโรงเรียนเจี้ยนจงเพื่อเดินทางไปยังสมาคมวิจัยภาษามือคนหูหนวกสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที เมื่อไปถึงที่นั่น พวกเราเจอกับกลุ่มคนในวัยเดียวกัน ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนคนหูหนวกไทเป วันนั้นผมและเพื่อนอีกสามคนรู้สึกว่าได้ก้าวเข้าไปสู่อีกโลกที่ไม่มีทางสื่อสารได้ ผู้พิการทางการได้ยินทุกคนที่อยู่ที่นั่นสื่อสารด้วยภาษาซึ่งพวกเราไม่เข้าใจ แต่อาจเพราะพวกเราเป็นนักเรียนจากโรงเรียนเจี้ยนจง จึงรู้สึกว่าจะยอมแพ้ไม่ได้ ดังนั้นพวกเราทั้งสี่คนจึงเริ่มสนใจภาษามือมากขึ้น และตกลงกันว่าจะจดจำคำศัพท์ภาษามือทั้งหมดให้ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แล้วจึงค่อยทำการพูดคุยกับเพื่อนๆ ที่เป็นคนหูหนวกเหล่านี้

        ผมเก็บหนังสือภาษามือติดตัวไว้ตลอด ซึ่งผู้ที่เริ่มต้นเรียนภาษามือจะต้องเริ่มจากการนับเลขก่อน ผมนับเลข 1-100 ด้วยภาษามือทุกวัน มีครั้งหนึ่งผมนับเลขอยู่ในห้องน้ำจนลืมเวลา แม่ของผมสงสัยมากว่าทำไมผมถึงอยู่ในห้องน้ำนานขนาดนั้น และบอกว่าผมบ้าไปแล้ว มีแค่ตอนอยู่บ้านเท่านั้นที่ผมจะไม่ใช้มือ แต่เมื่อมาถึงโรงเรียนพวกเราสี่คนจะใช้ภาษามือสื่อสารกันตลอดเวลา แม้แต่ตอนครูสอนในชั้นเรียนพวกเราก็ใช้ภาษามือและท่าทางเพื่อสื่อสารกัน จนบางครั้งก็ทำให้คุณครูโมโหและตะโกนออกมาว่า “พวกเธอ 4 คนที่อยู่ชมรมภาษามือ”

        สิ่งที่น่าสนใจคือ ที่จริงแล้วตอนนั้นพวกเราไม่ได้เป็นสมาชิกของชมรมภาษามือแล้ว แต่พวกเราก็ยังคงยินดีไปที่สมาคมกันเองเพื่อไปพูดคุยเล่นกับเพื่อนๆ ที่เป็นคนหูหนวก และในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์พวกเราก็จะรวมตัวไปเที่ยวกินชาบูหม้อไป ดูหนัง และก็เล่นไอซ์สเก็ตด้วยกัน สิ่งที่ผมรู้สึกประทับใจมากคือ ในลานสเก็ตขนาดใหญ่ที่ทุกคนอยู่ห่างกันมากจนแทบไม่ได้ยินเสียงกันเลย แต่พวกเรากลับเป็นคนกลุ่มเดียวที่ไม่มีอุปสรรคและสามารถพูดคุยกันได้อย่างอิสระโดยใช้ภาษามือในขณะเล่นสเก็ต ซึ่งก็ทำให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาต่างรู้สึกอิจฉาพวกเรา

        แต่เนื่องจากพวกเราไปเที่ยวกับเด็กหูหนวก ดั้งนั้นการถูกเลือกปฏิบัติจึงเป็นสิ่งที่พวกเราต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีครั้งหนึ่งเราขึ้นรถประจำทางไปกับเพื่อนจากโรงเรียนคนหูหนวกไทเป แต่อาจเพราะเราถือกระเป๋าของโรงเรียนเจี้ยนจง จึงทำให้มีคนในรถถามขึ้นมาว่า “นักเรียน คุณไม่ได้ยินจริงๆ เหรอ” ผมจึงตอบกลับไปว่า “เราเป็นผู้ดูแลนักเรียนของโรงเรียนคนหูหนวกไทเปที่โรงเรียนเจี้ยนจงส่งมา” ไม่เท่านั้นบางครั้งก็เจอผู้ใหญ่พูดว่า “พวกเราเป็นใบ้”

        ในช่วงที่ผมกำลังเรียนภาษามืออย่างเอาเป็นเอาตาย ผมก็พบว่าผู้ที่พิการทางการได้ยินมักไม่ได้รับความเข้าใจจากสังคม ซึ่งจริงๆ แล้ว ตอนนั้นข้างบ้านผมก็มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้พิการทางการได้ยินมาตั้งแต่เด็ก เด็กหญิงคนหน้าตาสะสวยและตอนนั้นเธออยากทำ OEM แต่เพราะเธอไม่ได้ไปเรียนหนังสือ อ่านหนังสือไม่ออก ภาษามือก็ใช้ไม่ได้ เธอจึงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆ ของเธอได้เลย แววตาของเธอที่ปรารถนาอยากสื่อสารในวันนั้นเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยลืม ดังนั้นหลังจากที่ผมเริ่มเรียนภาษามือ ทุกครั้งที่ผมเจอกับสถานการณ์ที่คนในสังคมไม่เข้าใจคนหูหนวก มันจะทำให้ผมนึกถึงแววตาของเด็กผู้หญิงคนนั้นเสมอ

        แม้ว่าการเรียนภาษามือของผมจะไม่ได้มีจุดเริ่มต้นมาจากเด็กสาวคนนั้น แต่แววตาของเธอก็ส่งผลทำให้ผมไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้และใช้ภาษามือ ในปีที่ผมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็ยังคงแอบเรียนภาษามือไปด้วย และหลังจากผมสอบเข้าเรียนต่อในคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันได้แล้ว ผมก็ยังไปเป็นคุณครูภาษามือ เพียงเพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยินเข้าใจในภาษามือที่ผมต้องการจะสื่อสารมากขึ้น

การส่งเสริมของบิดาภาษามือไต้หวัน ทำให้ผมเปลี่ยนอาชีพมาเป็นล่ามภาษามือ

     ตอนที่ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนเจี้ยนจงหรือมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ผมไม่เคยคิดที่จะใช้ภาษามือมาประกอบสัมมาอาชีพเลย เพราะในสมัยนั้นสังคมไต้หวันถือว่าการแปลภาษามือถือเป็นงานบริการอาสาสมัคร มากกว่าที่จะทำเป็น “มืออาชีพ” ทุกคนที่ให้บริการภาษามือต่างทำตามความสมัครใจ แต่สำหรับตัวผมแม้เรียนเข้ามหาวิทยาลัยในคณะนิติศาสตร์แล้ว แต่ผมก็ยังค่อนข้างสับสนเกี่ยวกับอนาคตของตนเอง เพราะจริงๆ แล้วที่ผมเลือกเรียนนิติศาสตร์เพราะผลการเรียนของผมใอยู่เกณฑ์ที่จะสอบเข้าคณะนี้ได้ แต่ความสนใจจริงๆ ของผมคือด้านทักษะภาษามากกว่า ตอนที่ผมอยู่ชั้นประถมศึกษา ผมเคยเห็นพี่สาวคนโตที่เรียนอยู่ชั้น ม.ปลายอ่านหนังสือวิชาภาษาอังกฤษ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ผมจึงมักจะอยู่ข้างๆ เพื่อดูว่าเธออ่านอะไร อีกทั้งยังเคยมีคุณป้าเพื่อนบ้านที่ต้องการเขียนจดหมายเป็นภาษาอังกฤษไปหาลูก ๆ ของเธอที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา คุณป้าพูดภาษาไต้หวันส่วนพี่สาวของผมก็แปลมันเป็นภาษาอังกฤษ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าพี่สาวของผมเท่ห์มาก เพราะสิ่งที่เธอทำเป็นที่ชื่นชมของคนทั้งหมู่บ้าน หลังจากนั้นเมื่อผมโตขึ้น ผมจึงรู้ว่าสิ่งที่เธอทำนี้เรียกว่าการแปลนั่นเอง

        ตอนอยู่ชั้น ม.5 ผมคลั่งไคล้ในภาษามือ ตอนนั้นพอเลิกเรียนก็จะต้องรีบไปที่สมาคม ผมยังได้รู้จักกับคุณ Wayne H. Smith นักวิจัยชาวอเมริกันที่มาศึกษาด้านภาษามือในไต้หวัน และยังเป็นผู้เขียนหนังสือภาษามือในไต้หวันฉบับใหม่ด้วย ผมมักจะติดตามเขาเพื่อแอบฟังเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือ โดยหวังว่าจะได้เรียนรู้เคล็ดลับการใช้ภาษามือให้ได้ดียิ่งขึ้น

        หลังจบปริญญาตรี ผมก็ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และได้มีโอกาสเชิญคุณ Wayne H. Smith มาพักที่บ้าน ระหว่างที่คุณ Wayne H. Smith กำลังพูดคุยอยู่กับแม่ของผม เขาก็พูดขึ้นมาว่า ““ลูกชายของคุณสามารถเป็นล่ามภาษามือได้ในอนาคต” ซึ่งประโยคนั้นทำให้แม่ของผมรู้สึกงงมาก แต่คุณ Wayne H. Smith ก็กล่าวเสริมว่า ที่สหรัฐอเมริกาสิ่งนี้ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ดี และเมื่อผมได้ยินดังนั้นผมจึงมาคิดว่า ทำไมไต้หวันถึงไม่มีอุตสาหกรรมนี้ เพราะผมเก่งภาษามือมาก และผมมั่นใจว่าผมจะสามารถเป็นผู้นำได้ แต่แล้วก็มีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน เพราะกองกิจการสังคม กรุงไทเป ได้เปิดรับสมัครล่ามภาษามือ ผมจึงส่งเรซูเม่เข้าไปสมัคร และผมกก็กลายเป็นเป็น “ล่ามภาษามือ” คนแรกของหน่วยงานราชการในไต้หวัน

        ล่ามแปลภาษามือจะไม่มีสคริปต์ให้เตรียมตัวล่วงหน้า ส่วนใหญ่จะเป็นการแปลสด นอกจากนี้เรื่องที่ต้องแปลก็ยังกว้างมาก ทั้งการรักษาพยาบาล การฝึกอบรมอาชีพ การแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัว อาทิ การแบ่งมรดก การหย่าร้าง และสิทธิ์ในการเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น กรณีครอบครัวเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่จัดการได้ยาก เนื่องสมาชิกในครอบครัวที่พิการทางการได้ยินไม่รู้จักภาษามือ เราจึงต้องเป็นกลางในการแปล ผู้พิการฯ บางคนที่รู้ว่าผมจบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาแห่งชาติไต้หวัน ก็เริ่มมาขอคำแนะนำทางกฎหมายกับผมมากขึ้น ซึ่งผมจะบอกพวกเขาอย่างชัดเจนเสมอว่า คุณสามารถเลือกได้เพียง 1 อย่างเท่านั้น ว่าจะให้ผมเป็น “ที่ปรึกษากฎหมาย” หรือเป็น “ล่ามแปลภาษา” ไม่สามารถนำมาปะปนกันได้ ซึ่งผู้พิการฯ หลายคนไม่เข้าใจ และคิดว่าผมหยิ่งหรือใจแคบเกินไป อย่างไรก็ตามอาชีพที่เรียกว่าล่ามภาษามือนั้นก็คือการถ่ายทอดภาษาเพื่อสื่สาร ไม่สามารถให้คำปรึกษาแนะนำได้ แม้กระทั่งการสื่อสารของผู้พิการต่อหน้าผู้พิพากษาในศาล ล่ามภาษามือก็จำเป็นต้องคงความเป็นกลางให้ได้

        ผมยังเคยพาผู้พิการทางการได้ยินไปเรียนหลักสูตรการดูแลรถยนต์ที่ศูนย์ฝึกอาชีพด้วย เราเริ่มเรียนกันตั้งแต่ต้นจนจบเป็นเวลา 600 ชั่วโมง เมื่อเขาเรียนจบหลักสูตรแล้ว ผมก็จบด้วยเช่นกัน ไม่เพียงแค่นั้นผมยังเคยไปเรียนหลักสูตรการประปา 900 ชั่วโมงกับเพื่อนที่เป็นคนหูหนวกด้วยครั้งหนึ่ง หลังจากเรียนจบคุณครูสนับสนุนให้พวกเราสอบใบรับรองด้วย

        การเป็นล่ามภาษามือในการพิจารณาคดีต่างๆ ของศาลในช่วงแรก เป็นสิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจอย่างมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้มีการจัดทำระบบล่ามภาษามือในโอกาสสำคัญต่างๆ มากขึ้น เหตุผลที่ผมมาทำระบบเพิ่มเติมภายหลัง เพราะว่าผู้พิการทางการได้ยินเข้าถึงข้อมูลข่าวสารน้อยเกินไป ซึ่งนั่นส่งผลทำให้เกิดความเข้าใจผิดมากมาย

 

เปิดประตูภาครัฐ เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ได้มากขึ้นผ่าน 6,000 คำศัพท์ของภาษามือ

        ภาษามือที่ผู้พิการทางการได้ยินใช้มีเพียง 6,000 คำเท่านั้น สิ่งที่แตกต่างจากภาษาพูดมากที่สุดคือ ภาษามือใช้โดยการมองเห็น ตรรกะทางไวยากรณ์ของภาษาก็แตกต่างกันออกไป ในตอนแรกภาษามือสร้างมาจากภาพสัญลักษณ์ของสิ่งที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเห็นเท่านั้น แต่เมื่อมีคำศัพท์เชิงนามธรรมหรือเชิงวิชาชีพอื่นๆ เข้ามาประกอบด้วย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ผู้พิการทางการได้ยินเข้าใจได้

        ยกตัวอย่างในกรณีทางกฎหมายที่ผมเคยเจอ คือมีคนสับสนระหว่างเรื่อง “กฎหมายแพ่ง” และ “กฎหมายอาญา” เนื่องจากสามีของเธอถูกจับในข้อหาปล้นทรัพย์ ซึ่งเธอคิดว่าการจ่ายเงินที่ปล้นมาคืนให้กับเหยื่อก็จะสามารถถอนฟ้องได้ นั่นเพราะเธอไม่รู้ว่าการปล้นเป็นคดีอาญาที่สามารถดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องมีผู้ร้องเรียน แม้ว่าเหยื่อจะไม่แจ้งความ แต่ผู้กระทำความผิดก็จะยังคงถูกดำเนินคดีหรือถูกตัดสินลงโทษ

        การทำหน้าเป็นสะพานเชื่อมให้กับระหว่างผู้พิการทางการได้ยิน ทำให้พวกเราจำเป็นต้องแก้ไขในสิ่งที่ผู้พิการฯ มีความเข้าใจผิด เพื่อช่วยพวกเขากำจัดอุปสรรคที่มองไม่เห็น และนอกจากการรับทำคดีต่างๆ แล้ว พวกเรายังพัฒนาทรัพยากรสำหรับบริการภาษามือ จากไทเปสู่ไทจง และยังได้เดินทางไปที่เถาหยวน ซินจู๋ กับฮัวเหลียนด้วย ในไต้หวันมีผู้สอนภาษามือไม่มากนัก ดังนั้นเราจึงได้เดินทางไปทั่วประเทศตั้งแต่เหนือจรดใต้ เพื่อสอนภาษามือและฝึกอบรมคุณครู ตารางงานประจำวันของผมเต็มไปด้วยงานภาษามือ จนแทบจะไม่มีวันหยุด แต่กระบวนการทั้งหมดนี้ก็นำมาซึ่งความสำเร็จที่น่าพึงพอใจมากเช่นกัน เพราะตอนนี้หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐล้วนยินดีเปิดรับทรัพยากรบุคคลด้านภาษามือ แม้กระทั่งสภาบริหารและสภานิติบัญญัติที่เพิ่งมีล่ามภาษามือเข้ามาเพิ่มในภายหลัง นั่นก็ถือเป็นอีกความฝันอันยิ่งใหญ่ของเราในอดีต ที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นได้จริงในชาตินี้

        การแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ประชาชนให้ความสนใจเมื่อเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.2020 ก็ถือเป็นการเปิดประตูบานใหญ่ให้กับล่ามภาษามือ เพราะตอนนั้นพวกเรายังไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 มากนัก ทั่วไต้หวันจึงถูกปกคลุมไปด้วยความกลัว และการแถลงข่าวเกี่ยวกับโรคระบาดครั้งแรกก็เริ่มขึ้นโดยไม่มีล่ามภาษามือ พวกเราจึงไปประท้วง เพราะพวกเรายอมไม่ได้ที่ผู้พิการฯ จะไม่ได้รับทราบคำบรรยายแบบเรียลไทม์ผ่านหน้าจอ ไม่มีการจัดล่ามภาษามือไว้ให้บริการ ไม่มีอะไรเลย? ถัดจากนั้นต่อมาการแถลงข่าวเกือบทั้งหมดจึงมีล่ามภาษามืออยู่ด้วย นอกจากนี้ยังมีการแถลงข่าวของกระทรวงกลาโหมที่ใช้ล่ามภาษามือด้วย ซึ่งผมถือว่านี่เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะที่ใดก็ตามที่มีการสื่อสารด้วยภาษา ก็ควรจะต้องมีล่ามภาษามือด้วย

     หลังจากตัดสินใจทำอาชีพเป็นล่ามภาษามือ ผมก็ไม่มีเสื้อผ้าสีสันสดใสในตู้ และผมก็ไม่สามารถใส่เสื้อผ้าสีอ่อนได้เช่นกัน ผมมีเพียงเสื้อผ้าสีเข้มๆ เท่านั้น เพราะสีเสื้อผ้าถือเป็นพื้นฐานสำคัญของล่ามภาษามือ พวกเราจะไม่ทำให้ผู้พิการฯ รู้สึกว่าข้อมูลนั้นน่าสับสน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วเสื้อผ้าสีเข้มๆ เรียบๆ เช่นนี้ ทำให้ผมดูมีออร่ามากกว่าเครื่องแบบสีกากีของโรงเรียนเจี้ยนจงในสมัยวัยรุ่นเสียอีก และผมยังค้นพบว่าในการทำอาชีพล่ามภาษามือสิ่งที่สำคัญกว่า “ออร่า” ก็คือวินาทีที่สายตาของผู้พิการฯ บอกผมว่า "พวกเขาเข้าใจแล้ว!" ซึ่งนี่คือสิ่งที่ผมตามหามาตลอดในช่วงเวลา 38 ปีที่ผ่านมา

     จนถึงปัจจุบันนี้ล่ามภาษามือยังคงถูกเข้าใจผิดได้ง่ายว่าเป็นงานอาสาสมัคร ทั้งที่ในความจริงแล้วนี่คืออาชีพ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในยุคที่โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีข้อมูลในลักษณะนามธรรมอีกมากมายที่ต้องถ่ายทอดออกมาให้ได้ลึกซึ้งมากขึ้น เราจึงยอมไม่ได้ที่จะให้ผู้พิการฯ ถูกเลือกปฏิบัติแบ่งแยกออกจากสังคม แม้ในช่วงแรกๆ ภาษามืออาจเหมือนแสงเทียนที่ริบหรี่ แต่ตอนนี้ภาษามือเปรียบเสมือนกับคบเพลิงที่ส่องแสงสว่างให้กับคนที่เคยรู้สึกมี “ปมด้อย” อย่างผม และผลักดันให้ผมก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างสุดกำลัง

     คบเพลิงนี้กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และส่องแสงสว่างให้กับกลุ่มคนที่อยู่ข้างหลัง เพื่อนำพาพวกเขาให้เดินต่อไปข้างหน้าอย่างถูกต้อง

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง