close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

The Reporter เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้แก่เยาวชน EP.38

  • 30 December, 2024
The Reporter เปิดโลกทัศน์ใหม่แก่เยาวชน
กระทรวงศึกษาธิการทุ่มงบปีละ 200 ล้านเหรียญไต้หวัน อุดหนุนโครงการผ้าอนามัยฟรีแก่นักเรียน

กระทรวงศึกษาธิการทุ่มงบปีละ 200 ล้านเหรียญไต้หวัน อุดหนุนโครงการผ้าอนามัยฟรีแก่นักเรียน แต่ทำไมนักเรียนหญิงหลายคนถึง ไม่กล้าไปรับ ?

 

 “ผ้าอนามัยแพงมาก ใช้กระดาษชำระรองบนผ้าอนามัยจะใช้งานได้นานขึ้นไหม?”
 “ประจำเดือนมา! แต่ดันลืมเอาผ้าอนามัยติดตัวมาด้วย ทำยังไงดี?”

 

     ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 กระทรวงศึกษาธิการไต้หวันได้ผลักดันนโยบาย “ผ้าอนามัยที่หลากหลายอย่างเป็นมิตร” โดยใช้งบประมาณกว่า 200 ล้านเหรียญไต้หวันต่อปี เพื่อมอบเงินอุดหนุน 200 เหรียญไต้หวันช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในการซื้อผ้าอนามัย และให้เงินอุดหนุนโรงเรียนมัธยมและโรงเรียนอาชีวศึกษาในการจัดตั้งจุดแจกผ้าอนามัยที่หลากหลายอย่างเป็นมิตร

     ผู้สื่อข่าวจาก The Reporter ได้ลงพื้นที่สำรวจโรงเรียนหลายแห่ง พบว่าบางโรงเรียนพยายามเพิ่มอัตราการแลกผ้าอนามัยของนักเรียนด้วยวิธี “การซื้อแบบกลุ่ม” บางโรงเรียนนักเรียนสามารถใช้บัตรนักเรียนดิจิทัลแลกผ้าอนามัยในร้านสะดวกซื้อได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณบางโรงเรียนเน้นแจกจ่ายให้นักเรียนที่มีฐานะยากจนเท่านั้น จะสร้างระบบที่เป็นมิตรและปราศจากการแบ่งแยกเพื่อให้นักเรียนที่ต้องการได้รับประโยชน์มากขึ้นได้อย่างไร ยังคงต้องไตร่ตรองและหาแนวทางที่ครอบคลุมต่อไป

     ที่โรงเรียนมัธยมต้นจงซานในกรุงไทเป คุณอู๋อวี้จวิน (吳郁君) หัวหน้าแผนกสุขอนามัยพร้อมด้วยนักเรียนผู้ช่วยหลายคนกำลังช่วยกันแพ็คผ้าอนามัยที่เพิ่งส่งมาถึง เธอทำสัญลักษณ์บนถุงกระดาษโดยใช้ข้อมูลที่นักเรียนกรอกไว้เกี่ยวกับยี่ห้อและรุ่นของผ้าอนามัยที่ต้องการ จากนั้นให้นักเรียนช่วยบรรจุลงถุง แพ็คใส่กล่อง และแจ้งแต่ละชั้นเรียนรับไปแจกจ่ายต่อ แม้ขั้นตอนจะดูยุ่งยาก แต่ด้วยการฝึกฝนจนชำนาญของทุกคน กลายเป็นกระบวนการที่คล้ายสายการผลิตที่รวดเร็วที่โรงเรียนปฏิบัติเป็นประจำทุกเดือนตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา

 

กรุงไทเป: นักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงมัธยมปลายปีที่ 1 แจกเงินอุดหนุนในการแลกผ้าอนามัย 200 เหรียญต่อเดือน

     กรุงไทเปซึ่งมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์เริ่มดำเนินโครงการนำร่องเงินอุดหนุนผ้าอนามัยก่อนกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 โครงการนี้ให้การอุดหนุนแก่นักเรียนหญิงในระดับมัธยมต้นทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัดทางฐานะ นักเรียนสามารถแลกซื้อผ้าอนามัยมูลค่า 200 เหรียญไต้หวันที่ร้านสะดวกซื้อที่กำหนดได้ทุกเดือน อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกเนื่องจากการประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง รวมถึงข้อจำกัดด้านรายการสินค้าและช่องทางการแลกซื้อ อัตราการแลกผ้าอนามัยในช่วงแรกมีเพียง 17.9% สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานไทเปจึงขอให้ปรับปรุงโครงการ

     กองศึกษาธิการ กรุงไทเป เปิดตัวกลยุทธ์ใหม่ นอกจากเพิ่มช่องทางแลกซื้อผ่านร้านสะดวกซื้อ 3 เจ้าใหญ่แล้ว ยังผนวกโครงการนี้เข้ากับระบบ Cool School Cloud (酷課雲) ให้ผู้ปกครองสามารถแลกสินค้าแทนนักเรียนได้ ในปี 2566 ได้ขยายกลุ่มเป้าหมายไปถึงนักเรียนหญิงในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 พร้อมส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ผ่านโรงเรียนและสนับสนุนให้ครูช่วยเหลือนักเรียนในการแลกซื้อแบบกลุ่ม ส่งผลให้อัตราการแลกผ้าอนามัยเพิ่มขึ้นเป็น 42.6%  ปีนี้ (พ.ศ. 2567) กรุงไทเปได้ขยายการอุดหนุนเพิ่มเติมให้ครอบคลุมนักเรียนหญิงชั้นมัธยมปลายและอาชีวศึกษาปีที่ 1 พร้อมเพิ่มจำนวนประเภทให้เลือกซื้อได้เป็น 19 แบบ สวัสดิการผ้าอนามัยของกรุงไทเปมีมาตรฐานสูงสุดในบรรดาเมืองต่างๆ ของไต้หวัน

 

โรงเรียนมัธยมต้นจงซาน "นักเรียนต้นแบบ" ตัวอย่างความสำเร็จในการเพิ่มอัตราการแลกผ้าอนามัยด้วยกลยุทธ์ "การสั่งซื้อแบบกลุ่ม

     โรงเรียนมัธยมต้นจงซาน กรุงไทเปได้รับการยกย่องว่าเป็น "นักเรียนต้นแบบ" ด้วยอัตราการแลกซื้อผ้าอนามัยที่สูงกว่า 90% ความสำเร็จนี้ถูกเผยแพร่ไปยังโรงเรียนต่างๆ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำตาม โดยความสำเร็จนี้เกิดจากความทุ่มเทของ คุณอู๋อวี้จวิน  หัวหน้าแผนกสุขอนามัย ผู้ถูกขนานนามว่า "ราชินีการสั่งซื้อแบบกลุ่ม"  คุณอู๋เล่าว่า ในช่วงแรกเธอเริ่มจากการประชาสัมพันธ์ในโรงเรียน และสังเกตเห็นครูบางคนช่วยนักเรียนหญิงในชั้นแลกซื้อผ้าอนามัย แถมยังเห็นนักเรียนบางคนบริจาคผ้าอนามัยที่ได้มาไว้ในห้องน้ำพร้อมเขียนการ์ดว่า "สำหรับคนที่ต้องการ" ทำให้เธอเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรให้โครงการนี้ไม่สูญเปล่าและขยายผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เธอจึงตัดสินใจแลกซื้อแบบกลุ่มซึ่งก็คือการรวมรายชื่อนักเรียนทั้งโรงเรียนและทำการสั่งซื้อ และบริจาคส่วนที่ไม่ได้ใช้ให้โรงเรียน 

     แม้แนวคิดนี้ดูเรียบง่าย แต่ในทางปฏิบัติกลับซับซ้อน ทุกๆ เดือนโรงเรียนต้องให้นักเรียนหญิงประมาณ 300 คน เลือกผ้าอนามัย 2 ชนิดที่ต้องการผ่านแพลตฟอร์ม Cool School Cloud และบันทึกภาพหน้าจอที่มีบาร์โค้ดส่วนตัว จากนั้นรวบรวมข้อมูลไว้ในบัญชีรายชื่อเพื่อสั่งซื้อจากร้านสะดวกซื้อ คุณอู๋ร่วมมือกับครูสอนคอมพิวเตอร์สอนนักเรียนใช้งานระบบคลาวด์และส่งคืนบาร์โค้ด นอกจากนี้ เธอยังปรับปรุงแบบฟอร์มอย่างต่อเนื่อง จากที่เริ่มต้นด้วยการพิมพ์บาร์โค้ดจำนวนมาก พัฒนาเป็นกระบวนการที่มีมาตรฐาน (SOP) ดำเนินการทั้งหมดทางออนไลน์ เธอยังเจรจากับร้านสะดวกซื้อ 3 เจ้าใหญ่ให้เปิดระบบหลังบ้านเพื่อสั่งสินค้า หลังจากรวมยอดสินค้าแล้ว ร้านสะดวกซื้อสามารถจัดส่งสินค้าถึงโรงเรียนโดยตรง ช่วยลดความยุ่งยากในการรับสินค้า 

     ด้วยวิธีการนี้ ทุกเดือนจะมีผ้าอนามัยหลากหลายยี่ห้อส่งถึงโรงเรียนประมาณ 600 ชิ้น คุณอู๋เล่าว่า ในช่วงแรกต้องใช้วิธีแอบแจ้งตัวแทนของแต่ละห้องมารับ หลังจากผ่านไปหนึ่งปี ทุกคนเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมชาติของร่างกายผู้หญิง ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนหญิงหรือชายก็สามารถช่วยไปรับผ้าอนามัยแทนได้ บางครั้งถึงกับมีการล้อเล่นว่านี่คือ "บริการส่งความสุขจากแมคโดนัลด์" ประจำเดือน สำหรับนักเรียนหญิงที่ไม่ได้ใช้ก็จะบริจาคผ้าอนามัยคืนให้โรงเรียน โดยห้องน้ำหญิงทั้ง 16 แห่งในโรงเรียน จะมี "กล่องผ้าอนามัย" ซึ่งมาจากน้ำใจของเพื่อนร่วมชั้น เกาอวี่เซวียน (高宇萱) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เล่าว่า ก่อนหน้านี้ต้องตั้งเตือนในแอปพลิเคชันบนมือถือเพื่อไม่ให้ลืมพกผ้าอนามัยติดตัว ตอนนี้มีผ้าอนามัยที่ได้รับจากแจกจ่ายไว้ในห้องเรียน ทำให้เธอรู้สึกสบายใจและไม่ต้องกังวลเวลาที่ประจำเดือนมา

 

 

พื้นที่นอกกรุงไทเป เน้นช่วยเหลือกลุ่มนักเรียนผู้ด้อยโอกาส นครเกาสงและเมืองจางฮั่วให้แลกซื้อผ่านร้านสะดวกซื้อได้

     นอกเหนือจากกรุงไทเป วิธีการดำเนินโครงการเมืองอื่นๆ แตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่นักเรียนผู้ด้อยโอกาส มีทั้งการแจกจ่ายโดยตรง คูปองเงินสด และการแลกซื้อผ่านระบบดิจิทัล ในเมืองฮัวเหลียน เมืองผิงตง และเมืองเจียอี้ พยาบาลประจำโรงเรียนจะจัดซื้อผ้าอนามัยให้นักเรียนในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำหรือมีความต้องการเร่งด่วน โดยพยาบาลจะสั่งซื้อตามคำขอของนักเรียน และปรับการสั่งซื้อให้เหมาะสมกับการใช้งานจริง จากนั้นแบ่งบรรจุในถุงเพื่อแจ้งให้นักเรียนมารับ

     เมื่อเปรียบเทียบกับการรับสินค้าจากโรงเรียน การแจกคูปองกระดาษหรือบัตรกำนัลให้นักเรียนไปแลกซื้อเองที่ร้านสะดวกซื้อนั้นได้รับการยอมรับมากกว่า เช่น ในนครเกาสงและเมืองจางฮั่ว โรงเรียนจะตรวจสอบนักเรียนที่ผ่านคุณสมบัติและแจกคูปองในระบบ iPass ที่เชื่อมกับบัตรประจำตัวนักเรียน มูลค่า 198 เหรียญไต้หวันต่อเดือน นักเรียนสามารถนำบัตรดิจิทัลแลกซื้อผ้าอนามัยจากร้านสะดวกซื้อที่กำหนดได้ นอกจากสะดวกและยืดหยุ่นแล้ว ยังสามารถเข้าร่วมโปรโมชันซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง มูลค่าสินค้าที่แลกซื้อมากกว่า 200 เหรียญไต้หวัน

 

ความต้องการการดูแลช่วงมีประจำเดือน ไม่ควรกำหนดจากฐานะ

     จากผลสำรวจของสมาคม With Red (小紅帽) ที่ผลักดันการให้ความรู้เกี่ยวกับประจำเดือนพบว่า 9% ของผู้หญิงในไต้หวันเคยเผชิญภาวะ "ความยากจนในช่วงมีประจำเดือน" ซึ่งต้องเลือกระหว่างการซื้อผ้าอนามัยกับการจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ หรือค่าอาหารในชีวิตประจำวัน โดยมักจะเลือกตัดค่าใช้จ่ายสำหรับผ้าอนามัยออกก่อน  หลินเวย (林薇) ผู้ก่อตั้งสมาคม With Red ชี้ว่า ความต้องการต่างๆ ในช่วงมีประจำเดือนไม่อาจเป็นเส้นแบ่งแยกความยากจนได้ บางครั้งผู้ที่มีรายได้สูงซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ากลับถูกมองข้ามไป นอกเหนือจากการให้เงินสงเคราะห์สำหรับครอบครัวพิเศษแล้ว ควรมีการจัดเตรียมผ้าอนามัยฟรีในสถานที่สาธารณะต่างๆ พร้อมกับการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับประจำเดือน สามแนวทางนี้จะช่วยตอบสนองความต้องการได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น

     มูลนิธิกองทุนไต้หวันเพื่อเด็กและครอบครัว  (Taiwan Fund for Children and Families) ได้สำรวจความยากลำบากของครอบครัวที่มีฐานะยากจนเกี่ยวกับการใช้ผ้าอนามัยผ่านนักสังคมสงเคราะห์ประจำเขตต่างๆ หลินซิ่วฟ่ง (林秀鳳) ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรสังคม ระบุว่า เงินอุดหนุนผ้าอนามัยช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้จริง แต่ยังพบปัญหา เช่น ครอบครัวยากจนมักหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยสำหรับกลางคืนที่มีราคาแพง และเลือกใช้กระดาษชำระรองหลายชั้นแทน เพื่อลดความถี่ในการเปลี่ยนผ้าอนามัย  ในครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นผู้หญิงมากกว่า ค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามัยถือเป็นภาระ ผู้ปกครองมักหาซื้อผ้าอนามัยที่ราคาถูกหรือมีโปรโมชั่น หรือหวังว่าจะได้รับผ้าอนามัยที่บริจาคจากแหล่งทรัพยากรในชุมชน 

     เนื่องจากกระบวนการแจกจ่ายในแต่ละพื้นที่ต่างกัน และการประชาสัมพันธ์มีข้อจำกัด บางครอบครัวไม่ทราบถึงการอุดหนุนนี้ หรือบางรายพบปัญหาในขั้นตอนการแลกซื้อผ้าอนามัยกับพนักงานร้านค้าที่ไม่ชัดเจนในรายละเอียด นอกจากนี้ หลินซิ่วฟ่ง ยังพบว่า ในครอบครัวที่มีผู้ปกครองเป็นผู้ชาย มักขาดความรู้ในการเลือกซื้อผ้าอนามัยที่เหมาะสม และไม่สามารถให้คำแนะนำเรื่องการใช้งานแก่เด็กหญิงวัยรุ่นในครอบครัวได้ 

 

 

นโยบายผ้าอนามัยฟรีควรขยายไปสู่หลากหลายสถานที่

     ปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการไต้หวันดำเนินนโยบายผ้าอนามัยฟรีสองแนวทาง นอกจากช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสแล้ว ยังให้เงินอุดหนุนในการจัดตั้งจุดแจกจ่ายในสถานศึกษาทุกระดับ รวมถึงสถานที่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ อย่างไรก็ตาม ในนโยบายกำหนดเพียงว่าให้มี "จุดแจกจ่าย" ภายในโรงเรียนแต่ไม่ระบุว่าควรตั้งอยู่ที่ไหน

     อาเฉียว (นามแฝง) นักเรียนหญิงที่กำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนมัธยมต้นกรุงไทเปให้สัมภาษณ์ว่า เธอเคยมีประสบการณ์ประจำเดือนมากะทันหันก่อนคาบเรียนพลศึกษา แม้โรงเรียนจะเคยประชาสัมพันธ์ว่ามีผ้าอนามัยแจกฟรีที่ฝ่ายกิจการนักเรียน แต่กลับไม่ได้แจ้งว่าให้ติดต่อใคร ก่อนเข้าเรียน เธอรีบเข้าไปที่ฝ่ายกิจการนักเรียนและถามครูผู้ชายท่านหนึ่ง ครูตอบอย่างคลุมเครือ เช่น ใช้คำว่า “อันนั้น” และต้องหันไปถามครูผู้หญิงเพื่อช่วยหาให้ แม้สุดท้ายเธอจะหาผ้าอนามัยเจอ แต่กลับรู้สึกแปลกใจว่าทำไมโรงเรียนไม่จัดวางไว้ในห้องน้ำหญิงเพื่อความสะดวกของนักเรียน 

     จากรายงานการสำรวจของสมาคม With Red ปี 2567 เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียน พบว่า 60% ของครูและนักเรียนที่ตอบแบบสอบถามระบุว่ามีผ้าอนามัยฟรีในศูนย์สุขภาพในโรงเรียน ไม่ถึง 40% ระบุว่าสามารถหยิบได้ที่ห้องน้ำ อีก 15% ระบุว่ารับได้ที่ฝ่ายกิจการนักเรียน อย่างไรก็ตาม ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 20% ระบุว่า ไม่ทราบว่าผ้าอนามัยฟรีถูกจัดวางไว้ที่ใด

 

ผ้าอนามัยควรเป็นเหมือนกระดาษชำระ ถูกจัดวางไว้ในห้องน้ำและสามารถหยิบใช้ได้ทันทีเมื่อจำเป็น

     หลิวก้วนหลิง (劉冠伶) ที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการด้านการศึกษาความเท่าเทียมทางเพศและเป็นครูโรงเรียนประถมศึกษาซินซั่ง นครเกาสง ระบุว่า กรณีที่ผู้หญิงพบว่าต้องการใช้ผ้าอนามัยมักเกิดขึ้นในห้องน้ำ ไม่ว่าจะให้เงินอุดหนุนหรือติดตั้งจุดแจกจ่าย ควรคำนึงถึงผู้ใช้มากขึ้น นอกจากนี้ วัตถุประสงค์ของการส่งเสริมให้มีจุดแจกผ้าอนามัยในที่สาธารณะ ไม่เพียงแต่เพื่อช่วยเหลือคนยากจน แต่ยังรวมถึงช่วยเหลือผู้หญิงในกรณีฉุกเฉินที่ไม่ได้พกผ้อนามัยด้วย

     หลิวก้วนหลิง ยังเล่าอีกว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โรงเรียนได้รับบริจาคผ้าอนามัยจำนวนมาก แต่เลือกวางไว้ในออฟฟิศที่มีผู้คนพลุกพล่าน ส่งผลให้นักเรียนไม่กล้าเข้ามาหยิบ ทีมงานของโรงเรียนปรับเปลี่ยนวิธีโดยจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับประจำเดือนและจัดตั้ง "กล่องใส่ใจ" ที่ประตูห้องน้ำหญิง โดยภายในบรรจุผ้าอนามัยที่จัดเก็บในถุงซิปล็อก พร้อมทิชชูเปียกและถุงร้อนบรรเทาปวด

     นอกจากผลักดันนโยบายผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียนแล้ว ยังจำเป็นต้องผลักดันสู่นอกโรงเรียน และขยายเครือข่ายความเป็นมิตรต่อทุกเพศให้กว้างขวางขึ้น  หลินเวยเสนอว่า ควรเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น เพิ่มเงินอุดหนุนหรือบริจาคผ้าอนามัยให้พันธมิตรธนาคารอาหาร หรือขยายไปยังสถานที่สาธารณะ เช่น ศูนย์กีฬา ห้องน้ำบนรถไฟหรือเครื่องบิน เป็นต้น แนวทางนี้ไม่เพียงเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้หญิงที่ออกไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ แต่ยังสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สำหรับผู้หญิงด้วย

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง