เชิญร่วมตอบแบบสำรวจความคิดเห็นจากการรับฟัง Rti Podcast ลุ้นรับของรางวัลพิเศษ !
กรอกแบบสอบถามได้ที่:https://2023appsurvey.rti.org.tw/th
สืบเนื่องจากวันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (The International Organization for Migration: IOM) กำหนดให้เป็น 'วันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล' (International Migrants Day) เพื่อให้รัฐบาลทั่วโลกเล็งเห็นความสำคัญของสุขภาพผู้อพยพย้ายถิ่นทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นครเกาสงจึงได้จัดงานฉลองวันผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ได้นำเสนอวัฒนธรรมของตนเอง และให้ประชาชนในสังคมได้มีโอกาสสัมผัสวัฒนธรรมอื่นๆ นำไปสู่การสร้างสังคมที่ยอมรับ เคารพและเป็นมิตรต่อวัฒนธรรมที่แตกต่าง งานนี้มีทั้งการแสดงเต้นรำ กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านและของกินเล่นจากชาติต่างๆ ของไทยมีปืนฉีดน้ำกระบอกไม้ไผ่และไอติมหลอด ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับประชาชนในงานได้อย่างล้นหลาม ในช่วงท้ายของรายการ มาพูดคุยเกี่ยวกับ ศูนย์ป้องกันความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศ นครเกาสง ที่จัดกิจกรรมสานความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยมีเป้าหมายลดและป้องกันความรุนแรงในครอบครัวให้ได้มากที่สุด เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น คลิกฟังรายการที่นี่
บูธไทยขนเอาไอติมหลอดและการละเล่นพื้นบ้านปืนฉีดน้ำไม้ไผ่มาจัดแสดงในงาน (ภาพจากนักข่าวสวี่เจิ้งสง 許正雄)
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กองกิจการพลเรือนเทศบาลนครเกาสง ร่วมกับชมผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ 20 กลุ่ม มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจิ้งซิว มหาวิทยาลัยสือเจี้ยน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไต้หวัน เขตภาคใต้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง นครเกาสง และสำนักงานทะเบียนราษฎร์ จัดงานเฉลิมฉลองวันผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ประจำปี 2566 ขึ้นที่ห้าง Mega City เกาสง ในงานมีตลาดนัดสร้างสรรค์ และการแสดงศิลปะวัฒนธรรมจากชาติต่างๆ ทั้งไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เมียนมา มาเลเซียและอื่นๆ นอกจากจะเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในนครเกาสงได้เผยแพร่วัฒนธรรมจากบ้านเกิดตนเองแล้ว ยังทำให้ประชาชนที่มาเที่ยวชมงานได้สัมผัสถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทุกคนในงานต่างสนุกและตื่นเต้นกับการแสดงและของกินต่างๆที่คับคั่ง
งานเฉลิมฉลองวันผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่นครเกาสง เปิดฉากด้วยการแสดงจากเต้นฮิบฮอป ตามด้วยการแสดงเต้นรำพื้นบ้านของชาวบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ต่อด้วยการแสดงระบำฟลาเมงโกที่มีชื่อเสียงของประเทศสเปน การแสดงระบำหน้าท้องอันเร่าร้อนและเซ็กซี่ การแสดงระบำหมวกเวียดนาม การแสดงมายากลบับเบิ้ลโชว์ โชว์ฟองสบู่ที่เด็กชื่นชอบ ปิดท้ายด้วยการแสดงร้องเพลงยอดนิยมที่ทำให้บรรยากาศในงานสนุกครึกครื้น เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวิต มีผู้คนมาร่วมงาน ดื่มด่ำกับวัฒนธรรมต่างชาติอย่างคึกคัก
ในส่วนของ ตลาดนัดสร้างสรรค์ มีบูธผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่มากกว่า 20 บูธจากหลากหลายประเทศที่ตั้งแผงขายสินค้าที่แสดงถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมบ้านเกิดของตนเอง มีกิจกรรม DIY ให้ครอบครัวและลูกๆหลานๆได้เล่นสนุก เช่น โคมไฟรูปดาวเวียดนาม กระดิ่งลม ส่วนประเทศอินโดนีเซีย ได้จัดกิจกรรมทดลองแบกถาดผลไม้ไว้บนศีรษะพร้อมกับเดินไปข้างหน้า ซึ่งนี่คือหนึ่งในวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ที่ชาวอินโดนีเซียจัดขึ้นเพื่อให้ชาวไต้หวันได้สัมผัสประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่แปลกใหม่
แน่นอนว่าในส่วนของประเทศไทย นำทีมโดยเพจแม่บ้านเกาสง แม่บ้านขาเลาะ คุณรุ่งฟ้า เจรียงโรจน์ ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวไทยที่อาศัยอยู่ในนครเกาสง ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งตลาดนัดวัฒนธรรมในไต้หวัน ร่วมกับมหาวิทยาลัยสือเจี้ยนและที่ทำการเขตซานหมิง ก็ได้ไปจัดบูธวัฒนธรรมไทยในงาน โดยในปีนี้ ได้นำเอาการละเล่นปืนฉีดน้ำที่ทำมาจากกระบอกไม้ไผ่ มาให้เด็กเล็ก เด็กโตในงานได้ร่วมสนุก นอกจากการละเล่นและกิจกรรม DIY ในงานยังมีขนมพื้นบ้านจากประเทศต่างๆให้ทุกคนได้ชิมฟรี โดยงานนี้ บูธไทยขนเอาเครื่องทำไอติมหลอดมาทำไอติมให้ผู้คนถึงที่ มีรสชาไทยและรสกระเจี๊ยบผสมชาไทย สร้างความแปลกตาและตื่นเต้นให้ชาวไต้หวันที่เพิ่งเห็นเป็นครั้งแรก กับไอติมที่ใช้วิธีเขย่าหรือโยก คงไม่ใช่แค่คนไต้หวันที่ตื่นเต้นอย่างแน่นอน เพราะคนไทยหลายคนก็รู้สึกตื่นเต้นที่ได้ทานไอติมในความทรงจำสมัยยังเป็นเด็ก เพราะปัจจุบัน ในเมืองไทยก็หาทานได้ยากมากเช่นกัน สำหรับใครที่อาศัยอยู่ในนครเกาสง อยากทราบกิจกรรมสนุกๆอะไรแบบนี้ สามารถติดตามเพจ แม่บ้านเกาสง แม่บ้านขาเลาะแม่บ้านเกาสง ที่นำเสนอกิจกรรมต่างๆที่น่าสนใจในนครเกาสงอยู่เสมอ
การแสดงศิลปะวัฒนธรรมจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ภาพจากนักข่าวสวี่เจิ้งสง 許正雄)
ทางด้านคุณเฉิน หยิงซิ่ว (陳盈秀) รองเลขาธิการเทศบาลนครเกาสง เผยว่า เพื่อดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่อาศัยอยู่ในนครเกาสงได้อย่างครอบคลุม ทางนครเกาสงจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการกิจการผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ข้ามเขต ประสานทีมจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ ดำเนินการด้วยการบูรณาการระหว่างองค์กร การแบ่งปันทรัพยากร เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดด้านการบริการ ทั้งนี้ รายงานผลสำรวจเมืองที่มีความสุขอย่างยั่งยืนประจำปี 2023 ที่จัดทำโดยนิตยสาร CommonWealth Magazine หรือ เทียนเซี่ยจ๋าจื้อ (天下雜誌) ระบุว่า ในบรรดา 6 นคร นครเกาสงได้รับอันดับหนึ่งด้านความพึงพอใจของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในการปรับตัวเข้ากับสังคม แสดงให้เห็นว่าผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รู้สึกประทับใจกับบริการดูแลต่างๆ ของเทศบาลนครเกาสง นครเกาสงจึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งความสุขและเมืองที่มิตรต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐาน
เทศบาลนครเกาสง ระบุว่า เกาสงมีอาณาเขตที่กว้างใหญ่ ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการบริการในท้องถิ่นและชุมชนเป็นอย่างยิ่ง กระตือรือร้นในการสร้างเครือข่ายศูนย์บริการผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ขยายการบริการครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ให้ครอบคลุมในหลายมิติ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ทั้งในด้านการปรับตัวให้กับวิถีชีวิตในไต้หวัน การจ้างงาน โดยในอนาคตจะเพิ่มจุดบริการในชุมชนให้มากขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการอย่างไร้ระยะทาง
ศูนย์ป้องกันความรุนแรงในครอบครัว นครเกาสง จัดกิจกรรมงานประดิษฐ์สานสัมพันธ์ครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ศูนย์ป้องกันความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศ กองกิจการสังคม เทศบาลนครเกาสง จัดกิจกรรมงานประดิษฐ์สำหรับครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ขึ้นที่ศูนย์บริการสวัสดิการสังคมฉีซาน มีผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และลูกหลานทั้งหมด 30 คนเข้าร่วม ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมทำงานประดิษฐ์ วิทยากรได้ให้ความรู้ในเรื่องวิธีการจัดการและรับมือกับความขัดแย้งในครอบครัว โดยแนะนำว่าทุกคนในครอบครัวควรมีความเห็นอกเห็นใจกันในบทบาทหน้าที่ของผู้อื่น จากนั้นได้ให้เด็กๆที่มาร่วมงานวาดภาพระบายสี ประดิษฐ์ตุ๊กตาขนทำมือ และเล่นบอร์ดเกมร่วมกัน บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน และยังช่วยให้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
ครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ มาจากหลากหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย ฮ่องกง จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ในบรรดาครอบครัวเหล่านี้ เสี่ยวหย่า เป็นหนึ่งในผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เคยได้รับความรุนแรงในครอบครัวจากการโดนสามีด่าทอ พูดจาทำร้ายจิตใจอยู่เป็นประจำและถูกควบคุมการใช้เงิน ทำให้ลูกของเธอต้องโตมาท่ามกลางความรุนแรงในครอบครัว ด้วยความช่วยเหลือจากนักสังคมสงเคราะห์ เธอจึงตัดสินใจพาลูกของเธอออกจากสภาพความรุนแรงนั้น เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ นอกจากนี้ นักสังคมสงเคราะห์ยังให้คำปรึกษาด้านการเงิน กฎหมาย และด้านจิตใจ และด้านการศึกษา ให้เธอและลูกได้ใช้ชีวิตอย่างมั่นคง
ครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ต้องเผชิญกับความท้ายและความกดดันในการใช้ชีวิตต่างแดน ทั้งด้านภาษาและด้านประเพณีวัฒนธรรม ศูนย์ป้องกันความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศ สังเกตเห็นว่า ครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่มักยุ่งอยู่กับการทำมาหาเลี้ยงชีพ จึงไม่ค่อยเข้าร่วมกิจกรรมในสังคม และไม่ค่อยมีเวลาทำกิจกรรมกับสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้เกิดความห่างเหิน อีกทั้งความแตกต่างทางวัฒนธรรมในด้านการอบรมเลี้ยงดูลูก ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ก็มักจะกลายเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ในแต่ละปี ศูนย์ป้องกันความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศ จึงมักจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์คนในครอบครัว โดยหวังว่าจะช่วยให้ครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ได้มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัวให้หมดไป
พบเจอเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว โทรสายด่วน 113 (ภาพจากศูนย์ป้องกันความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศ นครเกาสง )
ศูนย์ป้องกันความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศ นครเกาสง ระบุว่า กิจกรรมพ่อแม่และเด็ก ไม่เพียงช่วยให้ครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เข้าถึงแหล่งข้อมูลและทรัพยากรในการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว ขณะเดียวกัน ยังช่วยให้สมาชิกในครอบครัวได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน และแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตความเป็นอยู่ในไต้หวันของแต่ละครอบครัว ให้เกิดเป็นชุมชนที่ปลอดภัยและอบอุ่นมากยิ่งขึ้น ศูนย์ป้องกันความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศ เผยว่า หากพบเจอความรุนแรงในครอบครัว โปรดโทรแจ้งสายด่วนตำรวจ 110 หรือสายด่วน 113 ของศูนย์คุ้มครองสตรีและเด็ก ซึ่งมีล่ามภาษาอังกฤษ เวียดนาม ไทยอินโดนีเซีย และญี่ปุ่นคอยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
หากท่านหรือคนในครอบครัวหรือเพื่อนกำลังทุกข์ทรมานจากความรุนแรงในครอบครัว การคุกคามหรือการล่วงละเมิดทางเพศ หรือหากท่านทราบว่ามีเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่น ผู้สูงอายุหรือบุคคลผู้พิการกำลังตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางร่างกายหรือจิตใจ หรือถูกละเลย หรือพฤติกรรมอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อพวกเขาอย่างรุนแรง สามารถโทรแจ้งความได้ที่ สายด่วน 113 โดยให้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับตัวบุคคล เรื่องราวที่เกิดขึ้น เวลาและสถานที่อย่างละเอียดมากที่สุด เพื่อให้หน่วยงานของภาครัฐเข้าไปให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองท่านได้อย่างทันท่วงที อย่าปล่อยให้ความรุนแรงในครอบครัวลอยนวล
เชิญร่วมตอบแบบสำรวจความคิดเห็นจากการรับฟัง Rti Podcast ลุ้นรับของรางวัลพิเศษ !
กรอกแบบสอบถามได้ที่:https://2023appsurvey.rti.org.tw/th