close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

กระแสประชาธิปไตย จับตาอุณหภูมิความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวัน

  • 20 September, 2021
กระแสประชาธิปไตย
จับตาอุณหภูมิความสัมพันธ์ไต้หวัน-จีน ดิ่งลงเหว? มีนชา? มึนตึง? ตึงเครียด?
กระแสประชาธิปไตย
กลุ่มเอ็นจีโอไต้หวันรณรงค์ให้ไต้หวันเป็นเข้าสมาชิกยูเอ็น 100%
กระแสประชาธิปไตย
กระแสประชาธิปไตย
กระแสประชาธิปไตย
การ์ดอวยพรวันไหว้พระจันทร์ของ ปธน. ไช่อิงเหวิน
กระแสประชาธิปไตย
ปธน.ไช่อิงเหวิน เป็นประธานการฝึกซ้อมบนถนนยุทธศาสตร์เจียตง ผิงตง ของกองทัพอากาศไต้หวัน

อุณหภูมิสัมพันธ์ช่องแคบไต้หวัน ห่างเหินมากยิ่งขึ้น

      ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีน เป็นไปในลักษณะฝ่ายเดียว คือมีแต่ศิลปินไต้หวันไปจีน ในขณะที่ศิลปินจีนไปไต้หวันไม่ได้หรือไม่ยอมมาเพื่อต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ตามคำสั่งอย่างไม่เป็นทางการของจีน ซึ่งนักวิชาการไต้หวันได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันจีนปิดกั้นทางความคิดและกระแสเลือดคลั่งชาติก็พุ่งขึ้นสู่กระแสสูงด้วย จนทำให้ชาวไต้หวันมีความรู้สึกเอือมระอามากขึ้นเป็นลำดับ และการสำรวจความคิดเห็นของชาวไต้หวัน โดยคณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ หรือ MAC ไต้หวันเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็พบว่า ชาวไต้หวันส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน คือการกระชับความร่วมมือกับประเทศที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกันอย่างสหรัฐฯ รวมทั้งมีความเห็นว่า ควรยืนหยัดในจุดยืนเสมอภาคขณะดำเนินความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ด้วย ส่วนการกระชับความสัมพันธุ์กับประเทศในยุโรปตะวันออกให้ล้ำลึกยิ่งขึ้น ก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตยและคุณค่าแห่งประชาธิปไตยต้านทานการหว่านเม็ดเงินของจีนในประเทศเหล่านี้

        นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่าน เสี่ยวเอส ศิลปินชื่อดังไต้หวันก็ถูกแฟนคลับในเมืองจีน “ทัวร์ลง” หลังจากส่งเสียงเชียร์ทีมนักกีฬาไต้หวันที่ไปร่วมการแข่งขันโอลิมปิก ส่วนจางจวินนิ่ง ศิลปินสาวไต้หวันอีกผู้หนึ่งก็โดนเล่นงานหลังจากแฟนคลับไปขุดผลงานวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่ใช้คำว่า “ประเทศของฉัน” หรือ “我國” โดยกล่าวหาว่า เป็นพวกแยกไต้หวันเป็นเอกราช โดนหนักว่า เสี่ยวเอส เยอะเลย ส่วนนางจูฟ่งเหลียน โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันของจีนก็ได้ระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ศิลปินไต้หวันที่ไปทำมาหากินที่เมืองจีนถูก “ทัวร์ลง” คนแล้วคนเล่าในช่วงที่ผ่านมา ต้องมีเบื้องหลังอะไรสักอย่างเป็นแน่ ซึ่งเราต้องตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

        “คลั่งชาติ” พุ่งทะลุปรอท ส่งผลให้ความผูกพันระหว่างประชาชนช่องแคบไต้หวันนับวันห่างเหินกันมากยิ่งขึ้น โดยผลสำรวจล่าสุดของคณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน พบว่า 57.9% เห็นว่า ทางการจีนคอมมิวนิสต์ไม่มีความเป็นมิตรต่อชาวไต้หวัน รศ.หวางหงเหยิน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง ไต้หวัน ระบุผ่านอาร์ทีไอว่า ลัทธิคลั่งชาติของจีนพุ่งทะลุปรอท บรรดาแฟนคลับในอินเตอร์เน็ตไม่ว่าจะมีภูมิหลังถูกทางการชักใยใช้ประโยชน์อยู่หรือไม่หรือแสดงความคิดเห็นของตนเองก็ตาม การใช้คีย์บอร์ดโจมตีไต้หวันต่าง ๆ นานา ก็เป็นเพราะเห็นว่าบุคคลที่พวกเขาโจมตีมีจุดยืนการเมืองที่ไม่ถูกต้อง ใช้คำด่าหยาบคาย และรุนแรง บรรดาแฟนคลับที่เต็มไปด้วยความคลั่งชาติเหล่านี้มักจะนำสิ่งที่พบที่เห็นมาขยายความหรือมองด้วยแว่นขยายหลายร้อยหลายพันเท่า ตามล้างตามเช็ดศิลปินไต้หวันเหล่านี้ที่ไปขุดทองในจีนอย่างไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ทำให้เสียภาพลักษณ์ในสายตาของชาวไต้หวันโดยทั่วไป ส่วนจะทำอย่างไรให้จีนอยู่ร่วมกันกับไต้หวันอย่างสันติ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในแง่ของอารมณ์ความรู้สึกกับสภาพความเป็นจริงนั้นยากที่จะทำให้ชาวไต้หวันมีความรู้สึกว่า จีนเป็นมิตรกับไต้หวัน หรืออาจจะเรียกได้ว่า จีน “พูดอย่างทำอย่าง” หรือ “คำพูดกับการกระทำ” ย้อนแย้งกันอย่างชัดเจน      

        คุณหวางหงเหยิน ในฐานะนักวิชาการไต้หวันได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายต่อไต้หวันของจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า ทิศทางหลักของจีนก็คือการสร้างแนวร่วมในไต้หวัน ในอดีตที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวันเป็นไปอย่างคึกคัก ก็มีนักธุรกิจไต้หวัน นักท่องเที่ยว นักศึกษาแลกเปลี่ยนไปมาหาสู่กันค่อนข้างมาก ซึ่งก็รวมถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักวิชาการของทั้งสองฝ่ายด้วย มีทั้งการสัมนา การประชุมร่วมกัน หรืออาจจะมีการประชุมแบบปิดระหว่างทางการของทั้งสองฝ่ายด้วย แต่เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวันอยู่ในสภาพตึงเครียดและข้อจำกัดจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันจึงเหลือเพียงทางเดียว อย่างหน่วยงานที่เป็นคลังสมองของจีนในมณฑลฝูเจี้ยนของจีนจัดงานสัมนาเกี่ยวกับช่องแคบไต้หวัน โดยไม่มีการเชิญนักวิชาการจากไต้หวัน ทำให้มีความเข้าใจไต้หวันในระดับที่จำกัด ในขณะที่บุคคลหรือนักวิชาการที่มีแนวความคิดใกล้เคียงกับของจีนหรือมีจุดยืนรวมประเทศ “จีนเดียว” มักจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมการสัมนาทำให้ความเข้าใจต่อไต้หวันเป็นไปอย่างผิวเผินและด้านเดียว แต่กระแสหลักในไต้หวันก็อาจจะทำให้ทางการจีนรู้สึกไม่สบายใจมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อารมณ์ความรู้สึกต่อต้านจีนและสะอิดสะเอียนต่อจีนนับวันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ก็ยังมาจากสาเหตุที่ก่อนหน้านี้ มีนักวิชาการ นักวิจัยบางส่วนไปประชุมที่จีน แล้วมีรายงานข่าวว่าถูกข่มขู่ คุกคาม และยังได้ข่าวว่า ถูกกักตัวไว้ในโรงแรมด้วย ทำให้นักวิชาการเหล่านี้ต้องชะงักหรือหยุดที่ก้าวออกไปร่วมการปฏิสัมพันธ์กับจีน ในขณะที่นโยบายต่อไต้หวันของจีนก็กลับไปอยู่ในวังวนแห่งความเลวร้ายเหมือนในอดีต รวมทั้งนับวันยิ่งจะไม่สามารถปรับความเข้าใจกันได้อีกต่อไป และยิ่งปรับนโยบายมากเท่าไรก็ยิ่งเข้าใจไต้หวันเพียงด้านเดียวเท่านั้นมากยิ่งขึ้น


รศ.หวางหงเหยิน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง ไต้หวัน

        นอกจากนี้ การสำรวจดังกล่าวยังพบว่า 88.6% สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไต้หวันที่กระชับความร่วมมือและความสัมพันธ์กับประเทศที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน อาทิ สหรัฐฯ เพื่อปกป้องเสถียรภาพและสันติภาพบนช่องแคบไต้หวัน ในขณะที่สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานทำให้ผู้คนตั้งข้อสงสัยว่า เมื่อถึงตอนนั้น สหรัฐฯ จะยังคงปกป้องไต้หวันต่อไปหรือไม่ ซึ่งนาย Antony Blinken รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้กล่าวย้ำเมื่อสัปดห์ที่แล้วว่า สหรัฐฯ จะยึดมั่นในคำมั่นสัญญาที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ไต้หวันหรือ TRA ซึ่ง รศ. หวางหงเหยินเห็นว่า ตอนนี้ปฏิสัมพันธ์ทั้งในระดับทางการและภาคเอกชนระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ นับวันใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น และดีวันดีคืน ยินดีที่สหรัฐฯ ได้กลายเป็นเพื่อนที่วางใจได้ ซึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มหมากต่อรองกับจีนได้มากขึ้น แต่ก็ควรเข้าใจว่า ไต้หวันมีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่อาจที่จะอาศัยประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงประเทศเดียวเท่านั้นได้ เพราะสหรัฐฯ ก็ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนหรือเพื่ออะไรบางอย่างเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ดี ก็มิได้หมายความว่าสหรัฐฯ จะขายไต้หวัน หรือสหรัฐฯ ไม่ได้ถือว่าไต้หวันเป็นเพื่อน ควรให้สหรัฐฯ เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ไม่ต้องการให้สหรัฐฯ ขายผลประโยชน์ของไต้หวัน และหวังว่าสหรัฐฯ จะเคารพความเป็นตัวของตัวเองและอธิปไตยของไต้หวัน ซึ่งก็คือทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันเพื่อป้องกันภัยคุกคามที่อาจมาจากจีนร่วมกัน สหรัฐฯ ควรแบ่งปันข้อมูลข่าวสารอย่างโปร่งใสกับไต้หวัน และการนั่งบนโต๊ะเจรจาด้วยความเสมอภาคกับไต้หวัน มีฐานะที่เท่าเทียมกัน

ซ้อมรบฮั่นกวงหมาย 37 สกัดความฮึกเหิมของฝ่ายตรงข้าม

        กองทัพไต้หวัน จัดการซ้อมรบประจำปีที่ตั้งชื่อว่า “ฮั่นกวง 37” ซึ่งจัดให้มีขึ้นเป็นเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 13-17 กันยายน 2564 โดยมีไฮไลท์อยู่ที่การฝึกซ้อมของเครื่องบินรบนานาชนิดของไต้หวันทั้ง IDF F-16V M2000-5 และ E-2K ขึ้นลงลานบินยุทธศาสตร์ที่ใช้ถนนยุทธศาสตร์เจียตงในผิงตงภาคใต้สุดของไต้หวัน ตลอดจนทดสอบความพร้อมเพียงของการสู้รบในภาพรวมด้วย ซึ่งประธานาธิบดีไช่อิงเหวินเป็นประธานในการฝึกซ้อมดังกล่าวด้วยตนเอง พร้อมแสดงความชื่นชมต่อสมรรถนะในการสู้รบของกองทัพอากาศไต้หวัน ซึ่งมิใช่ได้มาง่าย ๆ แต่ต้องผ่านการฝึกฝนฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี ต้องเสียเหงื่อและเหน็ดเหนื่อยกว่าจะมีผลงานเช่นนี้ รวมทั้งแสดงศักยภาพในการปกป้องน่านฟ้าไต้หวัน

        นอกจากนี้ ยังได้ฝึกซ้อมจำลองเหตุการณ์ที่ไต้หวันถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีระบบสื่อสารทั้งหมด มีการเคลื่อนย้ายเครื่องบินรบทางฝั่งตะวันตกเคลื่อนไปทางตะวันออกแถบฮัวเหลียน ไถตง กองทัพเรือออกจากท่าเรือในยามฉุกเฉิน เรือกวาดทุ่นระเบิดนำหน้าเคลื่อนกำลังไปยังจุดรวมพล

        มีการฝึกซ้อมที่สำคัญคือ การปกป้องฐานสำคัญของกรุงไทเปในยามค่ำคืน การตั้งสิ่งกีดขวางป้องกันข้าศึกที่ชายฝั่งสี่ซู่(喜樹) นครไถหนาน การเคลื่อนกำลังและการต่อต้านการบุกรุกของข้าศึกในฐานที่มั่นเมืองฮัวเหลียน การต่อต้านการจู่โจมที่แม่น้ำตั้นสุ่ยกรุงไทเป

        พร้อมกันนี้ ก็ได้ฝึกซ้อมรับมือการจู่โจมยามวิกาลด้วย ในกรุงไทเป โดยจำลองสถานการณ์ข้าศึกบุกโจมตีศูนย์ควบคุมระบบสื่อสาร ระบบโทรศัพท์ ของบริษัทจงหัว เทเลคอม ที่เขตสือไผ โดยกองทัพไต้หวันได้เคลื่อนกองกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าต่อต้านการรุกล้ำของข้าศึกอย่างสุดความสามารถ จนข้าศึกต้องถอยร่นไป ประสานกับกองกำลังท้องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ได้ปิดหรือควบคุมถนนบางส่วน เนื่องจากการซ้อมรบในครั้งนี้เป็นช่วงที่ต้องใช้มาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 จึงจำเป็นต้องลดขนาดของการซ้อมรบให้เล็กลงกว่าทุกปีที่ผ่านมา

เอ็นจีโอไต้หวันประสานมือรณรงค์ไต้หวันเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ

        สหประชาชาติมีกำหนดการจัดการประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปีนี้ระหว่างวันที่ 21-27 ก.ย. ศกนี้ ณ สำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์ก โดยจัดพิธีเปิดประชุมในวันที่ 14 ก.ย. ซึ่งกลุ่มองค์กรเอ็นจีโอหลายองค์กรได้จับมือประสานรณรงค์ให้ไต้หวันเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ โดยตั้งชื่อว่า “ไต้หวันเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ 100%” โดยย้ำว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นต่างสนับสนุนและช่วยเหลือส่งเสียงสนับสนุนไต้หวันอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีทองของไต้หวัน จึงขอเรียกร้องให้ชาวไต้หวันทั้งมวล  ซึ่งรวมถึงชาวไต้หวันในต่างประเทศและชาวต่างชาติทั้งมวล ช่วยกันผลักดันคลื่นกระแสดังกล่าว สนับสนุนไต้หวันเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในนามของ “ไต้หวัน”

        นายถูซิ่งเจ๋อ นายกสมาคมส่งเสริมให้ไต้หวันเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติระบุว่า สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างส่งเสียงสนับสนุนไต้หวันอยู่ไม่ขาดสาย ส่วนการสำรวจความคิดเห็นของชาวไต้หวันพบว่า มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เห็นว่ตนเป็นคนจีน ประเทศประชาธิปไตยส่นใหญ่ต่างก็ยอมรับสถานะความเป็นประเทศของไต้หวัน ปีนี้จึงเป็นปีทองที่ไต้หวันจะขอเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เราจึงได้ร่วมกันรณรงค์ภายใต้แผนที่มีชื่อว่า “ไต้หวันเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ 100%”

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง