๑. พรรค DPP ประกาศไทม์ไลน์คัดสรรผู้ลงเลือกตั้งผู้นำไต้หวัน และ ส.ส. ของพรรค ส่วนก๊กมินตั๋งยังไม่เคาะ
ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของพรรค DPP พรรครัฐบาลไต้หวันได้อนุมัติแผนไทม์ไลน์การเตรียมการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภานิติบัญญัติไต้หวัน ที่จะมีขึ้นในราวต้นปีหน้า โดยมีมติ ให้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีและประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 เม.ย. ส่วนรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ก็จะประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ซึ่งต้องมีกระบวนการในการสรรหาที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นการลั่นกลองพร้อมลุยสนามเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในต้นปีหน้าพร้อม ๆ กัน
รอง ปธน. ไล่ชิงเต๋อ หัวหน้าพรรค DPP ประกาศไทม์ไลน์คัดสรรผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีและ ส.ส. 2024
ส่วนทางด้านความเคลื่อนไหวของพรรคก๊กมินตั๋ง พรรคฝ่ายค้าน จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่อง แต่ก็มีกระแสข่าวระบุว่า พรรคก๊กมินตั๋งจะใช้วิธีการ “สั่ง” ให้นายโหวโหย่วอี๋ ผู้ว่าการนครนิวไทเป ที่มีคะแนนนิยมค่อนข้างสูงในหลายโพล เป็นตัวแทนพรรคฯ ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งโดยส่วนตัวของนายโหวฯ ได้ย้ำหลายครั้งเมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีหรือไม่ว่า ทุกคนมีหน้าที่ต้องทำงานเพื่อประเทศชาติ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้ดี หรือบอกว่า ตอนนี้ขอทำหน้าที่ผู้ว่านิวไทเปให้ดีที่สุด เลี่ยงที่จะตอบตรง ๆ ในขณะทีนายเจอร์รี่ กัว หรือกัวไถหมิง เจ้าของฟอกซ์คอน์นยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือไอโฟน และมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของไต้หวัน ก็ได้แสดงจุดยืนต้องการเป็นตัวแทนพรรคก๊กมินตั๋งลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบอ้อมๆ แต่ก็มีกระแสต่อต้านในพรรคก๊กมินตั๋งไม่น้อย เนื่องจากเมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้วที่เขาอกหักไม่ได้เป็นตัวแทนของพรรคฯ ลงชิงชัยผู้นำไต้หวัน ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง รวมทั้งกล่าวโจมตีพรรคก๊กมินตั๋งต่าง ๆ นานา คราวนี้จึงคงยากที่จะได้เป็นตัวแทนของพรรคก๊กมินตั๋ง
นายโหวโหย่วอี๋ ผู้ว่าการนครนิวไทเป ตัวเก็งลงชิงตำแหน่งผู้นำไต้หวันของพรรคก๊กมินตั๋ง
นายกัวไถหมิง หรือเจอร์รี่ กัว เจ้าของฟอกซ์คอน์น เคลื่อนไหวหนักเพื่อขอเป็นตัวแทนพรรคก๊กมินตั๋งลงชิงตำแหน่งผู้นำไต้หวัน
๒. ครบรอบขวบปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไต้หวันยืนข้างยูเครนอย่างไม่ต้องสงสัย กต. ไต้หวันประณามรัสเซียรุกรานยูเครน ประธานอาร์ทีไอประกาศใช้ซอฟท์เพาเวอร์และสื่สารส่งขวัญกำลังใจให้แก่ชาวยูเครนต่อต้านการรุกราน
กระทรวงการต่างประเทศ ไต้หวัน สาธารณรัฐจีน ได้ออกแถลงข่าวในโอกาสครบรอบ 1 ปี สงครามรุกรานยูเครนของรัสเซีย เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 โดยระบุว่า รัสเซียได้ยกกำลังเข้ารุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ จนกลายเป็นการปะทะกันทางทหารที่รุนแรงที่สุดในยุโรป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงเป็นต้นมา ทำให้มีชาวยูเครนนับล้านบ้านแตกสาแหรกขาด โดยที่รัสเซียไม่สนใจต่อการประณามและการคว่ำบาตรจากทั่วโลก ละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ ไม่สนใจกฎระเบียบโลกที่อาศัยกฎระเบียบเป็นพื้นฐาน ใช้กำลังอาวุธเข้ารุกรานประเทศอื่น บ่อนทำลายอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาคและทั่วโลก ไต้หวัน สาธารณรัฐจีนขอร่วมกับประเทศประชาธิปไตยที่รักในสันติภาพทั่วโลกประณามการกระทำดังกล่าวของรัสเซีย
พร้อมกันนี้ กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ยังได้ระบุชัดว่า ในฐานะที่ไต้หวันเป็นหนึ่งในสมาชิกที่มีความรับผิดชอบของประเทศประชาธิปไตย ยืนหยัดปกป้องเสรีภาพ ปชต. นิติรัฐและสิทธิมนุษยชนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ คัดค้านการใช้ปฏิบัติการด้วยกำลังอาวุธของประเทศเข้มแข็งต่อประเทศที่อ่อนแอกว่า ในโอกาสที่วันนี้เป็นวันครบรอบ 1 ปี ที่รัสเซียรุกรานยูเครน รัฐบาลไต้หวันขอย้ำจุดยืนอีกครั้งว่า คัดค้านการใช้กำลังอาวุธหรือข่มขู่คุกคามเพื่อเปลี่ยนสถานะปัจจุบันโดยพลการ สนับสนุนประเทศต่าง ๆ อาศัยการเจรจาและพูดคุยอย่างสันติและมีเหตุมีผลภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศ แก้ปัญหาความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกัน ขณะเดียวกันก็ขอเรียกร้องให้รัสเซียยุติการรุกรานยูเครนด้วยกำลังทหารทันที เคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ซึ่งรัฐบาลไต้หวันจะเข้าร่วมการคว่ำบาตรต่อรัสเซียของสังคมโลกต่อไป จนกว่าสงครามจะยุติลง
กระทรวงการต่างประเทศย้ำจุดยืนที่รัฐบาลและประชาชนไต้หวันยืนหยัดในความยุติธรรมและอยู่ในเรือลำเดียวกัน พร้อมจับมือกับประเทศที่มีอุดมการณ์ใกล้คียงกัน ยืนหยัดในสปิริต Taiwan Can Help นับตั้งแต่ที่ยูเครนเกิดสงครามเป็นต้นมา รัฐบาลไต้หวันและชาวไต้หวันได้ร่วมกันบริจาคเครื่องมือการแพทย์และพยาบาลรวมกว่า 27 ตัน และสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคบรรเทาทุกข์อีก 700 ตัน โดยผ่านประเทศเพื่อนบ้านอย่างโปแลนด์ และสโลวัก ส่งมอบความรักความเอื้ออาทรจากไต้หวันไปถึงมือของชาวยูเครนที่ปักหลักปกป้องประเทศชาติได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ยังได้บริจาคเงินช่วยเหลืออีก 41 ล้านดอลลาร์ จับมือกับโปแลนด์ เช็ก สโลวัก และลิทัวเนีย ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาวยูเครนให้มีที่พักพิง นอกจากนี้ ยังได้ช่วยเหลือกรุงเคียฟ บูชา และเมืองคาร์คีฟ เมือง Mykolaiv และเมืองKherson ที่เป็นเมืองที่อยู่แนวหน้าสุดของสงคราม โดยให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ ศาสนา ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการช่วยเหลือส่งความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาวให้ชาวยูเครนผ่านพ้นสงครามและความหนาวเหน็บของสงครามไปได้
อาคารไทเป 101 ส่งกำลังใจให้ชาวยูเครนในโอกาสครบรอบปีสงครามรุกรานยูเครนของรัสเซีย
ส่วนในอนาคตในปี 2023 ไต้หวันจะให้ความช่วยเหลือชาวยูเครนบูรณะฟื้นฟูบ้านเกิดของตน โดยได้จัดสรรงบประมาณประจำปี 2023 ถึง 1800 ล้าน TWD หรือประมาณ 56 ล้านดอลลาร์ ให้ความช่วยเหลือบูรณะฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสงครามรุกราน โดยใช้ช่องทางทั้่งแบบทวิภาคีและพหุภาคี ร่วมกันผลักดันโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ อาทิ โรงพยาบาล โรงเรียน โบสถ์ พลังงาน ระบบน้ำประปา และสะพาน เป็นต้น
ในตอนท้ายของแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันได้ย้ำว่า ไต้หวันจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศต่าง ๆ ที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกันไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป หรือประเทศอื่น ๆ ร่วมกันผลักดันให้ยูเครนหลุดพ้นจากภาวะสงครามในเร็ววัน ฟื้นฟูการใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขและเจริญรุ่งเรือง รวมกันดำรงรักาเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาคและทั่วโลก
สำหรับในส่วนของนางไล่ซิ่วหยู ประธานสถานีวิทยุแห่งชาติของไต้หวัน หรือ อาร์ทีไอ ก็ได้กล่าวผ่านเฟซบุ๊กภาคภาษายูเครนของอาร์ทีไอ 「Radio Taiwan International Україна」ย้ำว่า อาร์ทีไอจะอาศัยซอฟท์เพาเวอร์ ข้อมูลข่าวสาร และวัฒนธรรม เชิญชวนแฟนคลับส่งกำลังใจให้แก่ชาวยูเครน
ก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ปีที่แล้ว ประธานอาร์ทีไอได้รวบรวมทรัพยากรที่มีอยู่ออกกระจายเสียงในภาคภาษายูเครนไปทั่วโลก เพื่อให้ชาวยูเครนและชาวโลกได้รับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสงครามยูเครนที่ถูกต้องแม่นยำ และเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาก็ได้เปิดเฟซบุ๊กภาคภาษายูเครนของอาร์ทีไออีกด้วย
นางไล่ซิ่วหยู ประธาน Rti ยืนยันทำหน้าที่สื่อรายงานความจริง และให้กำลังใจชาวยูเครน ในโอกาสครบรอบ1 ปี สงครามยูเครน-รัสเซีย
๓. ครั้งแรกหลังไต้หวันกับสหรัฐฯ ยุติความสัมพันธ์ระหว่างกัน รมว. กต. ไต้หวันเยือนวอชิงตัน ร่วมประชุมความมั่นคงกับสหรัฐฯ
เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ ได้ก้าวไปอีกก้าวใหญ่ เมื่อนายอู๋จาวเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไต้หวัน สาธารณรัฐจีน พร้อมด้วยนายกู้ ลี่สง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และนางสาวเซียวบีคิม ทูตไต้หวันประจำสหรัฐฯ ได้เข้าร่วมประชุมด้านความมั่นคงกับระดับสูงของสหรัฐฯ อาทิ นางเวนดี อาร์. เชอร์แมน (Wendy Sherman) รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และนายเคิร์ต แคมป์เบลล์ ( Kurt Campbell) เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานกิจการอินโดแปซิฟิกของทำเนียบขาว พร้อมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ ในประเด็นความมั่นคงแห่งชาติ ณ สำนักงานใหญ่ของสถาบันอเมริกันประจำไต้หวัน (American Institute in Taiwan, AIT) ในกรุงวอชิงตัน ใช้เวลาในการปรึกษาหารือกันแบบปิดนานกว่า 7 ชม. ทำให้สื่อต่าง ๆ ต้องคาดเดาไปต่าง ๆ นานาว่า มีการพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นใดบ้าง
เนื่องจากครั้งนี้เป็นครั้งแรกหลังไต้หวันกับสหรัฐฯยุติความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี 1979 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน สาธารณรัฐจีน ย่างกรายสู่มหานครวอชิงตัน เนื่องจากสหรัฐฯ ได้ห้าม 5 บุคคลสำคัญของไต้หวันเดินทางไปยังวอชิงตัน ได้แก่ ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้กรณีนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งย่อมสร้างความไม่พอใจให้แก่จีนอย่างแน่นอน
การประชุมว่าด้วยความมั่นคงระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของตนเข้าร่วมประชุมอย่างคับคั่ง โดยในส่วนของไต้หวัน นอกจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและทูตไต้หวันประจำวอชิงตันแล้วยังประกอบไปด้วย พลเอกป๋อหงเวย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และนายสวีซือเจี่ยน รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ส่วนเจ้าหน้าที่สหรัฐฯที่เข้าร่วมประชุมได้แก่ นายแดเนียล คริเตนบริงค์ ( Daniel Kritenbrink) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกแปซิฟิก นายริก วอเตอร์ (Rick Waters) รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียแปซิฟิก นายเอลี แรตเนอร์ ( Ely Ratner) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการความมั่นคงอินโดแปซิฟิก นายไมเคิล เชส (Michael Chase) ผู้ช่วยของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ฝ่ายดูแลกิจการจีน นางลอรา โรเซนเบอร์เกอร์ (Laura Rosenberger) ผู้อำนวยการอาวุโสประจำทำเนียบขาว ฝ่ายกิจการจีนและไต้หวัน นายรัช โดชิ (Rush Doshi) เจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ฝ่ายกิจการจีน และนางซานดรา ออดเคิร์ก (Sandra Oudkirk) ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันอเมริกันในไต้หวัน หรือ AIT สำนักงานไทเป
สองคีย์แมนสำคัญด้านความมั่นคงของไตหวัน โบกมือกับผู้สื่อข่าวก่อนเข้าร่วมประชุมความมั่นคงกับระดับสูงของสหรัฐฯ