๑. กระทรวงการต่างประเทศโต้จีน+เบลาลุสกดฐานะไต้หวัน
สืบเนื่องจากการออกแถลงการณ์ร่วมระหว่างจีนกับเบลาลุสที่ระบุว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน กระทรวงการต่างประเทศ ไต้หวัน สาธารณรัฐจีน ได้ตอบโต้อย่างรุนแรงว่า รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงดื้อดึงไม่ฟังเหตุผล ปล่อยข่าวและบีบบังคับให้ประเทศอื่น ๆ เห็นดีเห็นงามกับข้อความที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงของตน สร้างข่าวปลอมขึ้นในประชาคมโลก ส่วนเบลาลุสได้ยินยอมปฏิบัติตามพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแบบนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ไต้หวันขอประณามอย่างรุนแรง
ผู้นำเบลาลุส (ซ้าย) จับมือกับผู้นำจีน (ขวา)
กระทรวงการต่างประเทศ ไต้หวัน ระบุว่า นายสี จิ้นผิงผู้นำรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน กับนาย Aleksandr Lukashenko ประธานาธิบดีเบลาลุสได้ออกแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “ความสัมพันธ์ในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างทั่วด้าน” ซึ่งระบุว่า “ต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ คัดค้านการแยกไต้หวันเป็นเอกราชในทุกรูปแบบ” กระทรวงการต่างประเทศ ไต้หวัน จึงขอประณามในเรื่องนี้อย่างรุนแรง
กระทรวงการต่างประเทศ ไต้หวัน ย้ำว่า รัฐบาลที่เกิดจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของชาวไต้หวันเท่านั้น จึงจะมีสิทธิเป็นตัวแทนของไต้หวัน รัฐบาลเผด็จการจีนจะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้และเคารพความจริงนี้ และก็ไม่ควรที่จะนำเอาสิ่งที่มโนขึ้นมา คือ “หลักการจีนเดียว” แล้วยัดเยียดให้แก่ประเทศหรือองค์กรอื่น ๆ
กระทรวงการต่างประเทศ ไต้หวันระบุอีกว่า สาธารณรัฐจีนเป็นประเทศเอกราชอธิปไตยประเทศหนึ่ง ประชาธิปไตยไต้หวันกับเผด็จการจีนไม่ได้ขึ้นต่อกัน ซึ่งเป็นสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันที่ประชาคมโลกต่างยอมรับ เบลาลุสและประเทศอื่น ๆ เต้นตามจังหวะเพลงของจีน กดฐานะความเป็นอธิปไตยของไต้หวัน ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลและประชาชนไต้หวัน ตลอดจนสังคมนานาชาติไม่อาจยอมรับได้
นอกจากนี้ กต. ไต้หวันยังระบุว่า สมาชิกสหประชาชาติจำนวน 141 ประเทศ ได้ลงมติอย่างพร้อมเพรียงกันเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนโดยไม่มีเงื่อนไข ตลอดจนประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกต่างแสดงความวิตกกังวลต่อภัยคุกคามทางทหารและการบูลลี่ประเทศอื่นของทางการเผด็จการจีน ในขณะที่รัฐบาลเผด็จการจีนยังคงไม่แยแสต่อกฎระเบียบของสังคมนานาชาติ ยังคงป่าวประกาศว่า “ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน” สร้างข่าวปลอมขึ้นในประชาคมโลก
กระทรวงการต่างประเทศได้ระบุในตอนท้ายอีกว่า การกระทำดังกล่าวของจีน ไม่เพียงแต่ทำให้ชาวไต้หวันเอือมระอาและไม่พอใจทางการเผด็จการจีนเท่านั้น ยังทำให้สังคมโลกมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อการวางอำนาจบาตรใหญ่ของทางการจีน บ่อนทำลายสันติภาพ และพยายามขยายอิทธิพลรุกรานประเทศอื่นของจีน ซึ่งสังคมโลกยังคงยืนหยัดในการสนับสนุนและปกป้องระบอบเสรีภาพประชาธิปไตยของไต้หวันอย่างเแน่วแน่อีกด้วย
๒. สภาสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายสนับสนุนรวดเดียว 2 วัน 11 ฉบับ
ในการประชุมคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ของสหรัฐฯ ได้ผ่านญัตติสนับสนุนไต้หวันถึง 8 ฉบับ ในวันที่ 1 มี.ค. และในวันต่อมาก็ผ่านญัตติในลักษณะเดียวกันอีก 3 ฉบับรวม 11 ฉบับ อาทิ กฎหมายมอบอำนาจให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการตัดสินใจห้ามใช้โปรแกรม TikTok ของจีน จัดตั้งกองทุนต่อต้านอิทธิพลจีน และคว่ำบาตรบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบอลลูนสอดแนมของจีน นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่สนับสนุนไต้หวันเข้าเป็นสมาชิก IMF กฎหมายว่าด้วยการปกป้องน่านฟ้า กฎหมายว่าด้วยการสกัดกั้นเทคโนโลยีประเทศศัตรูของสหรัฐฯ หรือ USA Act กฎหมายว่าด้วยการมอบอำนาจให้แก่มูลนิธิต่อต้านการสร้างอิทธิพลทางความคิดของจีน หรือ Countering the PRC Malign Influence Fund Authorization Act
กล่าวโดยรวมแล้ว การออกกฎหมายสนับสนุนไต้หวันของรัฐสภาสหรัฐฯ เป็นการตอกย้ำจุดยืนที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างชัดแจน โดยนอกจากจะสนับสนุนไต้หวันในมิติต่าง ๆ แล้ว ยังแสดงจุดยืนสนับสนุนไต้หวันเข้าเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การการบินพลเรือนสากลหรือ ICAO หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF
รัฐสภาสหรัฐฯ
๓. ไบเดนอนุมัติจำหน่ายอาวุธให้ไต้หวันเป็นครั้งที่ 9 ในรอบ 3 ปี
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้อนุมัติแผนการจำหน่ายอาวุธให้แก่ไต้หวันอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 9 นับตั้งแต่ที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ เป็นต้นมา และเป็นล็อตแรกของปีนี้ โดยอนุมัติจำหน่ายขีปนาวุธติดตั้งบนเครื่องบินรบ F-16 มูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านให้ไต้หวัน เป็นการเสริมเขี้ยวเล็บให้แก่กองทัพอากาศของไต้หวัน เนื่องจากเป็นขีปนาวุธที่ยิงจากอากาศสู่อากาศ แบ่งเป็นขีปนาวุธ AIM-120C-8 จำนวน 200 ลูก และขีปนาวุธ AGM-88 High-speed anti-Radiation Missile หรือ HARM อีก 100 ลูก คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในอีก 1 เดือนข้างหน้า
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหม ไต้หวัน ได้แสดงความขอบคุณต่อสหรัฐฯ และระบุว่า ขีปนาวุธทั้งสองรุ่นนี้เป็นขีปนาวุธที่มีสมรรถนะอย่างรอบด้าน และยังได้เสริมสมรรถนะบางอย่างให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน นอกจากจะสามารถปกป้องอธิปไตยเหนือน่านฟ้าให้รอดพ้นจากการคุกคามทางอากาศของกองทัพจีนแล้ว ยังเป็นการเตรียมการล่วงหน้าเพื่อเสริมความทรหดด้านการป้องกันประเทศของกองทัพไต้หวัน
ส่วนทางด้านจีนก็มีปฏิกิริยาอย่างทันท่วงที โดยกระทรวงการต่างประเทศ จีนระบุว่า การกระทำดังกล่าวของสหรัฐฯ เป็นการละเมิดอย่างรุนแรงต่ออธิปไตยและความปลอดภัยของจีน และบ่อนทำลายอย่างร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และเสถียรภาพบนช่องแคบไต้หวัน จุดยืนของจีนคือคัดค้านในเรื่องนี้อย่างเด็ดเดี่ยว และขอให้สหรัฐฯ ยุติการจำหน่ายอาวุธให้แก่ไต้หวันและติดต่อด้านการทหารกับไต้หวันโดยทันที
ส่วนข้อมูลที่ประกาศโดยสำนักความร่วมมือความปลอดภัย กระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ ระบุว่า แผนการจำหน่ายอาวุธให้แก่ไต้หวันในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ขีปนาวุธจากอากาศสู่อากาศ HARM จำนวน 100 ลูก และขีปนาวุธฝึกซ้อมอีก 23 ลูก ขีปนาวุธ AIM-120C-8 พิสัยกลาง จำนวน 200 ลูก หัวนำวิถี AIM-120C-8 อีก 4 ชุด เครื่องยิงเอนกประสงค์ LAU-129 จำนวน 26 ชุด และยังมีอุปกรณ์มอนิเตอร์ขีปนาวุธทั้งสองชนิดด้วย รวมไปถึงอะไหล่และอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกซ้อม ตลอดจนโปรแกรมซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์
ขีปนาวุธจากอากาศสู่อากาศที่สหรัฐฯ ได้อนุมัติจำหน่ายให้ไต้หวัน
ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ก็ได้ออกแถลงการณ์ย้ำว่า การอนุมัติการจำหน่ายอาวุธให้แก่ไต้หวันคราวนี้ สอดคล้องกับนโยบาย “จีนเดียว” ของสหรัฐฯ
กระทรวงกลาโหม ไต้หวัน ระบุว่า เมื่อต้องเผชิยหน้ากับความท้าทายที่จีนส่งเครื่องบินไร้คนขับหรือโดรนรุกล้ำสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศหรือ ADIZ ของไต้หวันอยู่เป็นประจำ ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการบินของไต้หวัน กลายเป็นภัยคุกคามทางทหารต่อไต้หวันอย่างรุนแรง สหรัฐฯ จำหน่ายอาวุธในลักษณะป้องกันตนเองให้แก่ไต้หวันตามที่ระบุในกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ไต้หวัน หรือคำมั่น 6 ประการของสหรัฐฯ
ทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันระบุว่า เป็นดั่งคำสั่งของผู้นำไต้หวันที่ต้องมีการเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ เพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม ช่วยเหลือตัวเองก่อนที่จะให้คนอื่นมาช่วย ในส่วนของไต้หวันจะต้องเสริมสมรรถนะการป้องกันประเทศของกองทัพ ยกระดับความสามารถในการป้องกันประเทศ ร่วมมือกับประเทศพันธมิตรของไต้หวัน มุมานะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องความปลอดภัยแห่งชาติและสันติภาพในภูมิภาค
ศ. ซูจื่อหยุน นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของไต้หวันได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า การที่สหรัฐฯ จำหน่ายขีปนาวุธเหล่านี้ ซึ่งเป็นขีปนาวุธทันสมัยที่สุดของกองทัพสหรัฐฯ ให้แก่ไต้หวัน โดยจะไม่จำหน่ายให้แก่ประเทศที่ไม่ใช่พันธมิตรของตน แสดงว่า สหรัฐฯ มองว่า ไต้หวันเป็นประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิดของตน ส่วนคุณจางถิงถิง อดีตรอง ผบ. ทอ. ไต้หวันมีความเห็นว่า ไต้หวันควรขอซื้อขีปนาวุธที่มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงมากกว่าขีปนาวุธ AGM-88B อย่างไรก็ดี เขาเห็นว่า แม้จะมีเครื่องบินรบ และขีปนาวุธทันสมัยแล้ว แต่คุณภาพนักบินที่มีความสามารถก็มีความสำคัญ ดังนั้น การฝึกอบรมนักบินจึงมีความเร่งด่วนเป็นอย่างมาก โดยอาจใช้วิธีการฝึกอบรมนักบินที่มีความช่ำชองในการบินเครื่องบินรบ IDF และเครื่องบินรบมิราจ - 2000
ศ. ซูจื่อหยุน นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของไต้หวัน