สหรัฐฯ ประกาศให้สินเชื่อด้านการทหารแก่ไต้หวัน 2,540 ล้านเหรียญไต้หวัน กลาโหมไต้หวันขอบคุณ จีนเดือดลั่น ตอบโต้แน่ ฝ่ายค้านเกรงยั่วยุสร้างความตึงเครียดบนช่องแคบไต้หวันเพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่ง ให้ความช่วยเหลือสินเชื่อการทหารแก่ไต้หวันเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ไต้หวันในลักษณะดังกล่าวเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยครั้งนี้จะให้สินเชื่อด้านการทหารแก่ไต้หวันจำนวน 80 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2,540 ล้านเหรียญไต้หวัน เพื่อเสริมศักยภาพความสามารถด้านการทหารของไต้หวัน
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้แจ้งให้รัฐสภาสหรัฐฯ ทราบอย่างเป็นทางการเมื่อ 29 ส.ค. ตามเวลาท้องถิ่น โดยสหรัฐฯ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ “Foreign Military Financing,FMF”และย้ำว่า การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายจีนเดียวของสหรัฐฯ และนโยบายนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
นายไมเคิล แมคคอล (Michael McCaul)ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร สหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีต่อเรื่องนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย Taiwan Enhanced Resilience Act ที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ร่วมกันพิจารณารับรองไปแล้ว
กฎหมายTaiwan Enhanced Resilience Act ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายมอบอำนาจกลาโหมด้านการคลังประจำปี 2023 (NDAA FY2023) ได้มอบอำนาจให้กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ในช่วงระหว่างปี 2023-2027 ให้สินเชื่อด้านการทหารแก่ไต้หวันปีละ 20 ล้านดอลลาร์
นายไมเคิลฯ ระบุว่า อาวุธเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเหลือไต้หวันเท่านั้น แต่ยังเป็นอาวุธที่จะสามารถคุ้มครองปกป้องประเทศประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ได้อีกด้วย และยังเป็นการเสริมศักยภาพของกองทัพสหรัฐฯ ในการข่มขู่มิให้ฝ่ายตรงข้ามบุ่มบ่าม เป็นหลักประกันให้แก่ความมั่นคงแห่งชาติ หลีกเลี่ยงมิให้ถูกคุกคามทางทหารจากการยั่วยุของจีนอีกด้วย
เมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐสภาสหรัฐฯ ได้พิจารณารับรองและประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการมอบอำนาจการคลังประจำปี 2023 (Consolidated Appropriations Act, FY2023) ซึ่งได้เริ่มจัดทำงบประมาณสินเชื่อด้านการทหารจำนวน 20 ล้านดอลลาร์ตามโครงการให้เงินกู้ด้านการทหารแก่ไต้หวันหรือ FMFแล้ว
Financial Times ของอังกฤษ ได้รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ระบุว่า กรมบริหารและงบประมาณ ทำเนียบขาว สหรัฐฯ (Office of Management and Budget) มีแผนการที่จะเสนองบประมาณช่วยเหลือยูเครนเพิ่มเติมต่อรัฐสภาฯ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มงบช่วยเหลือการทหารให้แก่ไต้หวันด้วย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเร่งให้ความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ไต้หวันให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
นาย John Kirby ผู้ประสานงานยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ระบุว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ไต้หวัน สนับสนุนให้ไต้หวันมีความสามารถในการป้องกันตนเองอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลสหรัฐฯ มีอำนาจในขอบเขตต่าง ๆ ที่จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา และจะหาวิธีการที่เหมาะสมด้วย
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ใช้อำนาจว่าด้วยการเงินหรือ presidential drawdown authority เมื่อ 28 ก.ค. ให้ความช่วยหลือด้านการทหารแก่ไต้หวันในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 345 ล้านดอลลาร์ ต่อมา สำนักความร่วมมือเพื่อความปลอดภัยด้านกลาโหม สหรัฐฯ หรือ DSCA ก็ได้ประกาศเมื่อ 23 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า กระทรวงการต่างประเทศได้อนุมัติการจำหน่ายอาวุธรายการหนึ่งให้แก่ไต้หวัน ระบบอินฟาเรดติดตามเป้าหมายหรือ IRSTรวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมูลค่ารวมประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการจำหน่ายอาวุธให้แก่ไต้หวันครั้งที่ 11 ในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
ทางด้านกระทรวงกลาโหม ไต้หวัน ได้แสดงความขอบคุณต่อสหรัฐฯ ในกรณนี้ และย้ำว่าสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือด้านกลาโหมแก่ไต้หวันบนพื้นฐานของ “กฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ไต้หวัน” และ “คำมั่น 6 ประการ” เป็นผลดีต่อเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาค อย่างไรก็ดี กระทรวงกลาโหมไต้หวันมิได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการดังกล่าวของสหรัฐฯ
กฎหมาย NDAAมอบอำนาจให้กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ให้สินเชื่อด้านการทหารแก่ต่างประเทศ FMF ได้ระบุให้สินเชื่อด้านการทหารแก่ไต้หวันโดยไม่ต้องชำระคืนปีละ 2,000 ล้านดอลลาร์ ติดต่อกัน 5 ปี และมอบอำนาจให้ประธานาธิบดีให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แก่ไต้หวันเป็นอาวุธในคลังแสงปีละไม่เกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำเนียบขาวได้ประกาศเมื่อ 27 ก.ค. แล้ว ให้ความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ไต้หวัน 345 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือด้านการทหารต่อไต้หวันของสหรัฐฯ ย่อมต้องทำให้จีนไม่พอใจ และประกาศที่จะตอบโต้สหรัฐฯ อย่างแน่นอน แต่จะใช้วิธีการใด ยังไม่เป็นที่แน่ชัด หรือรายละเอียดใดๆ
ไต้หวันจัดงบต้านการใช้อาวุธชีวภาพ และจัดซื้อโดรนนับพันลำ รับมือภัยคุกคามจากจีน
งบลงทุนด้านกลาโหมของไต้หวันในปีหน้า จัดไว้ที่ 1.306 แสนล้านเหรียญไต้หวัน ทุบสถิติที่เคยมีมา ในจำนวนนี้ เป็นงบประมาณจัดซื้ออาวุธ 4 รายการของ 3 เหล่าทัพที่เพิ่มเติมเข้ามาเพียงรายการเดียว ก็คือ งบจัดซื้อเครื่องบินไร้คนขับหรือโดรนจำนวนเกือบ 2000 ลำ มูลค่ากว่า 5 พันล้านเหรียญไต้หวัน เพื่อใช้งานด้านการสอดแนมและข่าวกรองของกองทัพ รวมทั้งการต่อต้านการก่อการร้ายจากจีน นอกจากนี้ ในส่วนของหน่วยแพทย์กองทัพก็จัดทำงบประมาณไว้ 1000 ล้านเพื่อใช้ในการวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับการป้องกันอาวุธชีวภาพ ซึ่งถูกจับตามองเป็นพิเศษ
การจัดซื้อโดรนจำนวนเกือบ 2,000 ลำ แบ่งเป็นกองทัพบก 320 ลำ กองทัพอากาศ 315 ลำ ซึ่งเป็นโดรนขนาดเล็ก ส่วนโดรนทั่วไป กองทัพบก 72 ลำ ใช้งบประมาณทั้งสองรายการประมาณ 1,284 ล้านเหรียญไต้หวัน
นอกจากนี้ ยังมีแผนการจัดซื้อโดรนระยะที่ 2 กองทัพบกต้องการ 201 ลำ มูลค่า 1,280 ่ล้านเหรียญไต้หวัน โดรนสอดแนมของกองทัพเรือจำนวน 960 ลำ งบประมาณ 2,414 ล้านเหรียญไต้หวัน โดรนอีก 4 รุ่น 4,978 ล้านเหรียญไต้หวัน รวมทั้งสิ้น 1,868 ลำ
ไต้หวันเตรียมเป็นเจ้าภาพมหกรรมแสดงสินค้าอุตสาหกรรมกลาโหมและอวกาศ
ไต้หวันมีกำหนดการเป็นเจ้าภาพ “มหกรรมอุตสาหกรรมกลาโหมและอวกาศนานาชาติไทเป” ระหว่างวันที่ 14-16 ก.ย. 2566 ณ ศูนย์แสดงสินค้าหนานกั่ง ไทเป โดยมีสมาคมพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับต่างประเทศ (TAITRA) ไต้หวันจะเป็นเจ้าภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการอุปกรณ์อะไหล่อุตสาหกรรมกลาโหมและอวกาศทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับงบกลาโหมของรัฐบาลไต้หวันทะลุเพดาน 6 แสนล้านดอลลาร์ไต้หวันเป็นครั้งแรก สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้มหกรรมแสดงสินค้าอุตสาหกรรมกลาโหมและอวกาศที่กำลังจะมีขึ้นในกลางเดือนนี้ ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่ง สรอ. จะเข้าร่วมจัดบูธระดับชาติในงาน และยักษ์ใหญ่ค้าอาวุธของ สรอ. อย่าง Raytheon และ Lockheed Martin ก็จะเข้าร่วมงานในคราวนี้ด้วย ทำให้ประเด็นการร่วมมือเป็นหุ้นส่วนในอุตสาหกรรมกลาโหมระหว่างไต้หวันกับ สรอ. ได้รับความสนใจมากขึ้นอีกครั้ง
สมาคมพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับต่างประเทศ (TAITRA) ไต้หวัน เปิดเผยว่า มหกรรมอุตสาหกรรมกลาโหมและอวกาศนานาชาติไทเป 2023 มีกำหนดการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 ก.ย. เวลา 9.00-17.00 น. ณ ศูนย์แสดงสินค้าหนานกั่ง ไทเป โดยเชิญผู้ประกอบการจาก 10 ประเทศ รวมกว่า 280 แห่งทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมด้วย มีบูธทั้งสิ้น 970 บูธ ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ส่วนประเด็นการจับมือกันระหว่างไต้หวันกับ สรอ. ในการร่วมมือพัฒนาเครื่องบินไร้คนขับ ถูกจับตามองเป็นพิเศษ
รายงานข่าวระบุว่า มหกรรมแสดงสินค้าอุตสาหกรรมกลาโหมและอวกาศในปีนี้ เป็นมหกรรมเดียวที่เป็นมหกรรมการแสดงสินค้าที่รวมเอาสินค้าอุตสาหกรรมกลาโหม อวกาศ เครื่องบินไร้คนขับและอุปกรณ์ด้านการทหารต่าง ๆ เข้าไว้ในงานเดียวกัน และยังได้รับความสนใจจากบริษัทค้าอาวุธต่างชาติเป็นจำนวนมากที่จะนำสินค้าของตนมาจัดแสดงรวมทั้งแสวงหาความร่วมมือด้วย
ท่ามกลางการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม การจับมือกันในระดับนานาชาติ และความต้องการด้านกลาโหม บริษัทต่าง ๆ จึงคาดว่า มูลค่าของอุตสาหกรรมอวกาศและกลาโหม ตลอดจนอุตสาหกรรมอุปกรณ์การทหารจะสูงเกินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ไต้หวัน
ผู้จัดเปิดเผยว่า “อุตสาหกรรมกลาโหมและอวกาศ” ปีนี้ ประสานกับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมกลาโหมแบบพึ่งตนเองของรัฐบาล “Show Off Your ARMS” ในรูปโฉมใหม่ ร่วมมือกับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐ และผู้เชี่ยวชาญ นำผลงานล่าสุดมาจัดแสดง โดยมีจุดเด่น 3 ประการ ได้แก่ “ปรับเปลี่ยนตัว นวัตกรรม และร่วมเป็นพันธมิตร”
สปิริต “Show Off Your ARMS” จะจัดการแสดงวิสัยทัศน์ 40 กว่ารอบ ใน 4 ด้าน ได้แก่ “A: Aerospace” “R: Rotorcraft” “M: Military” และ “S: Solutions” ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการพึ่งตัวเองด้านกลาโหม รวมทั้งได้วางแผนจัดสัมนา TADTE รวม 5 รอบ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์แนวโน้มการพัฒนาเครื่องบินไร้คนขับ ตลาดสินค้าอวกาศและกลาโหม สรอ. การวิจัยพัฒนาเครื่องบินไร้คนขับ
สำหรับในส่วนของผู้ประกอบการไต้หวัน นำโดยกระทรวงกลาโหม บริษัทที่เข้าร่วมประกอบไปด้วย บริษัทวิจัยพัฒนาอาวุธที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงกลาโหม และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทหารและอวกาศ คาดว่านอกจากจะมีขนาดของงานที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาแล้ว ยังจะมีจำนวนผู้เข้าชมทุบสถิติด้วย
บริษัทไต้หวันที่เข้าร่วมงานประกอบไปด้วย กระทรวงกลาโหม Aerospace Industrial Development Corporation (AIDC) Thunder Tiger Coretronic Intelligent Robotics Corporation (CIRC) GEOSAT Aerospace & Technology Inc. เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานด้านวิชาการอีกหลายแห่งอาทิ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (ITRI) มหาวิทยาลัยจงหยาง ม. หยางหมิงเจียวทง เป็นต้น
ส่วนผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศ อาทิ สถาบันอเมริกันในไต้หวัน (AIT) GE Raytheon Lockheed Martin และNorthrop Grumman
