ขอเชิญร่วมตอบแบบสำรวจความคิดเห็นจากการรับฟัง Rti Podcast
ลุ้นรับของรางวัลพิเศษ !กรอกแบบสอบถามได้ที่ :https://2023appsurvey.rti.org.tw/th
เขียวยังนำโด่ง ส่วนน้ำเงิน+ขาว ยังตกลงกันยาก ลุ้นสัปดาห์หน้า จับมือกันได้หรือไม่
การเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน 2024 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 ม.ค. 2567 งวดเข้ามาทุกขณะ โพลต่าง ๆ ก็ออกมาเป็นระยะไม่ขาดสาย ล่าสุด สื่ออิเล็กทรอนิกส์ฟอร์โมซา ซึ่งสำรวจคะแนนนิยมของผู้สมัครจากฝ่ายต่าง ๆ อยู่เป็นประจำก็ได้ประกาศผลการสำรวจเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ยังคงมีแนวโน้มไปในลักษณะเดิมและมีทิศทางที่ผู้มาเป็นอันดับ 1 เริ่มทิ้งห่างคู่แข่งมากขึ้น เมื่อน้ำเงินกับขาวยังไม่สามารถตกลงวิธีการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีร่วมกัน
นายจูลี่หลุน หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง
ผลการสำรวจคะแนนนิยมในครั้งนี้เป็นการสำรวจของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ฟอร์โมซา ครั้งที่ 65 โดยแบ่งเป็นการสำรวจระหว่าง 3 ผู้สมัคร กับระหว่าง 4 ผู้สมัคร โดยเมื่อสำรวจเปรียบเทียบกันระหว่าง 3 ผู้สมัคร พบว่า นายไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีในฐานะผู้สมัครของพรรค DPP ยังคงนำโด่งคู่แข่งอยู่ที่ 39.7% ส่วนนายโหวโหย่วอี๋ ผู้ว่าการนครนิวไทเป ผู้สมัครจากพรรคก๊กมินตั๋ง อยู่ที่ 25.2% ตามมาเป็นอันดับ 2 นายเคอเหวินเจ๋อ หัวหน้าพรรค TPP ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคฯ มีคะแนนนิยมอยู่ที่ 18% ตามมาห่าง ๆ
หากสำรวจรวมนายกัวไถหมิง เจ้าของฟอกซ์คอน์นที่สามารถรวบรวมรายชื่ีอผู้สนับสนุนส่งมอบให้ กกต. ได้แล้ว 1.03 ล้านฉบับ เตรียมลงสมัครคู่กับศิลปินอาวุโส ไล่ เพ่ยเสีย ในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ซึ่งพบว่า รองประธานาธิบดีไล่ฯ ยังคงมาเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 36.9% นายโหวฯ 21.8% นายเคอฯ 15.5% นายโหวฯ กับนายเคอฯ ห่างกันเพียง 6.3% ส่วนนายกัวฯ อยู่ที่เพียง 6% เท่านั้น
ความพยายามในการจับมือกันระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรค TPP เพื่อส่งผู้สมัครร่วมกันลงชิงตำแหน่งผู้นำไต้หวันเพื่อเอาชนะรองประธานาธิบดีไล่ฯ เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า หากแยกกันลงสมัครรับเลือกตั้ง โอกาสชนะเป็น 0 แน่ ๆ อย่างไรก็ดีจนถึงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ยังไม่สามารถตกลงวิธีการในการตัดสินว่าใครจะลงสมัครเป็นเบอร์ 1 กับเบอร์ 2 ซึ่งในส่วนของนายจูลี่หลุน หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง ได้เสนอแนวทางการคัดเลือกในรูปแบบของเยอรมนี หรือ ญี่ปุ่น ซึ่งก็คือการใช้วิธีการ “สำรวจคะแนนนิยม” ในสองรูปแบบ ให้นายเคอฯ เลือก ซึ่งนายเคอฯ ยืนยันให้ใช้วิธีการสำรวจคะแนนนิยมแบบเดียวทั่วประเทศ มากำหนดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งร่วมกัน แต่ก็ได้แสดงจุดยืนที่ยอมถอยให้ 1 ก้าว โดยบอกว่า ตอนนี้เราได้เสนอแนวทาง วิธีการที่แน่ชัด ก็รอเพียงคำตอบจากพรรคก๊กมินตั๋งเท่านั้น
แนวทางของนายเคอฯ ก็คือใช้การสำรวจคะแนนนิยมแบบทั่วประเทศ ไม่ว่าผลจะออกมาว่าตนชนะหรือแพ้ หากตนชนะไม่ถึงระดับเกินความคลาดเคลื่อน ซึ่งปกติก็จะอยู่ที่ประมาณ 3% ตนก็ยินดีที่จะถอยไปเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งรองประธานาธิบดี ส่วนทางด้านนายจูลี่หลุน หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋งระบุว่า ใช้การตัดสินในรูปแบบของญี่ปุ่น คือจะให้สมาชิกพรรคและสมาชิกของพรรคพันธมิตรร่วมกันลงคะแนนเสียงเลือกตัว นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย ส.ส. มีคนละเสียง คิดสัดส่วน 50% โดยพรรคก๊กมินตั๋งเสนอว่า ในส่วนของแนวร่วมพันธมิตรฝ่ายค้านก็ประกอบไปด้วยผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคก๊กมินตั๋ง พรรค TPP และพรรคพันธมิตรอื่น ๆ ประมาณ 85-86 คน ใช้การลงคะแนนลับ คิดสัดส่วน 50% ส่วนที่เหลืออีก 50% ก็ให้ใช้วิธีการของพรรค TPP คือสำรวจแบบทั่วประเทศ
ส่วนรูปแบบเยอรมนีของนายจูฯ ก็คือรูปแบบการสำรวจในลักษณะการจับคู่ระหว่าง “โหวกับเคอ” “เคอกับโหว” เปรียบเทียบกับคู่สมัคร “ไล่กับเซียว” ในสัดส่วน 50% ส่วนที่เหลือ 50% มาจากการสำรวจคะแนนนิยมระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรค TPP
อย่างไรก็ดี นายเคอเหวินเจ๋อ ยังคงยืนยันใช้วิธีการสำรวจคะแนนนิยมแบบเดียวทั่วประเทศ พร้อมเสนอเงื่อนไขยอมถอยให้ 1 ก้าว คือหากผลการสำรวจไม่ว่าตนจะชนะหรือแพ้ หากชนะไม่ถึง 3% คือระดับความคลาดเคลื่อน ตนก็ยินดีที่จะถอยไปเป็นเบอร์ 2 คือตำแหน่งรองประธานาธิบดี แล้วให้นายโหวฯ ลงสมัครในตำแหน่งประธานาธิบดี
เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยังคงต้องลุ้นกันต่อไป ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายค้านใจจดใจจ่อด้วยความวิตกกังวลจนหัวใจแทบจะหล่นไปอยู่ใต้ตาปุ่มทีเดียว
ฝ่ายความมั่นคงไต้หวันจับตากลยุทธ์ “สงครามไร้กระสุน” ของจีน
ไต้หวันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “ไต้หวันเอเชีย-แปซิฟิกฟอรั่ม - ความปลอดภัยและการปราบปรามอาชญากรรมระหว่างประเทศในภูมิภาค 2023” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนายไช่หมิงเหยียน อธิบดีกรมความมั่นคงแห่งชาติไต้หวันได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ภัยคุกคามในรูปแบบผสมของจีนที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของไต้หวัน” ซึ่งเขาระบุไว้ในการกล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า จีนได้คุกคามไต้หวันในรูปแบบของ “สงครามไร้กระสุน” มาอย่างต่อเนื่อง และอาศัยไต้หวันเป็น “หนูทดลอง” พยายามใช้วิธีนี้กับประเทศอื่น ๆ และภูมิภาคอื่น ๆ ขณะเดียวกันก็ใช้รูปแบบการคุกคามในรูปแบบผสม มาส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวัน นายไช่ฯ ย้ำว่า รัฐบาลจะกระชับความร่วมมือกับนานาชาติอย่างต่อเนื่องต่อไป ร่วมกันธำรงค์รักษาเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาคร่วมกัน
นายไช่หมิงเหยียน อธิบดีกรมความมั่นคงแห่งชาติไต้หวัน
นายไช่หมิงเหยียน ระบุว่า จีนมีความเคลื่อนไหวเพื่อแทรกซึมในรูปแบบหลากหลายต่อประเทศต่าง ๆ ซึ่งทุบสถิติที่เคยมีมาด้วย ซึ่งทำให้ความมั่นคงแห่งชาติถูกคุกคามและท้าทายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ จีนยังอาศัยการข่มขู่ทางทหาร การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ การกดดันทางการทูต การแฮกระบบออนไลน์ รวมทั้งการทำสงครามจิตวิทยา ซึ่งเป็นการใช้วิธีการอย่างหลากหลายคุกคามต่อไต้หวัน เพื่อต้องการส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน 2024 ให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ
ส่วนทางด้านการเมือง นายไช่ฯ ระบุว่า จีนพยายามเสริมกระชับ “จีนเดียว” กดดันการเข้าร่วมกิจกรรมระหว่างประเทศของไต้หวัน บ่อนทำลายการมีความสัมพันธ์ทางการทูตของไต้หวันและเสริมความร่วมมือในทุกมิติกับรัสเซีย เกี่ยวโยงกับเสถียรภาพความปลอดภัยบนช่องแคบไต้หวันและในภูมิภาค ส่วนทางด้านความปลอดภัยด้านการทหาร จีนได้อาศัยทั้งกองทัพเรือและกองทัพอากาศข่มขู่ไต้หวันอยู่เป็นเนือง รวมทั้งใช้วิธีการ “สร้างตัวอย่างแรกขึ้น เพื่อให้กลายเป็นเรื่องปกติ” ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวก่อกวนโจมตีที่คลุมเครือ ทดสอบ “จุดต่ำสุด” ที่ไต้หวันจะรับได้ ส่วนด้านการค้า จีนก็ได้ใช้วิธีการขู่บังคับให้ธุรกิจไต้หวันในจีนต้องแสดงจุดยืนทางการเมืองของตน ขณะเดียวกันก็เคลื่อนไหวขโมยความลับทางเทคโนโลยีและดึงบุคลากรด้านเทคโนโลยีของไต้หวันด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนของปฏิสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวัน นายไช่ฯ ระบุว่า หลังโควิดจีนพยายามเชิญผู้นำระดับรากหญ้าและกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้เยือนจีน เพื่อก่อกระแสบรรยากาศ “ปฏิสัมพันธ์ครั้งใหญ่” ระหว่างช่องแคบไต้หวัน นำไปสู่การเสริมสร้างขยายแนวร่วมในไต้หวัน ส่วนทางด้านการทำสงครามจิตวิทยากับการแฮกเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็เริ่มมีการปล่อยข่าวอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับ “ทางสองแพร่งระหว่างสันติภาพกับสงคราม” เพื่อทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิดความลังเลในการใช้สิทธิเลือกตั้งของตน ตลอดจนอาศัย APT、DDoSแฮกทำลายโครงสร้างพื้นฐานของไต้หวัน บ่อนทำลายทรัพยากรของรัฐบาลไต้หวัน
นายไช่ฯ ระบุว่า จีนดำเนินนโยบาย “สงครามไร้กระสุน” ต่อไต้หวันมาเป็นเวลายาวนาน และใช้ไต้หวันเป็นจุดทดลองการใช้นโยบายดังกล่าว ทดสอบเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการข่มขู่คุกคามไต้หวัน และยังจะขยายการใช้วิธีการเหล่านี้ไปยังประเทศอื่น ๆ ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาด้านความมั่นคงร่วมกันของสังคมนานาชาติ
ส่วนทางด้านนายกู้ลี่สง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติไต้หวัน ได้ตอบกระทู้ของ ส.ส. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันจีนได้วางเป้าหมายในการบริหารประเทศไว้ที่การเสริมความมั่นคงเป็นหลัก ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นรอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของทุนต่างชาติและทุนไต้หวัน ด้วยเหตุนี้ เมื่อภายในของจีนต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจ จีนก็จะดำเนินนโยบายในการควบคุมความเสี่ยงจากภายนอก รวมทั้งต้องพยายามให้เกิดการพบปะกันระหว่างผู้นำจีนกับผู้นำสหรัฐฯ ในการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปกให้ได้ ส่วนนโยบายต่อไต้หวัน ยังไม่มีวี่แววว่าจีนมีจุดประสงค์ที่จะใช้กำลังทหารเพื่อยึดครองไต้หวันแต่อย่างใด
นายเจิงหมิงจง ส.ส. พรรคก๊กมินตั๋ง ได้ตั้งกระทู้ถามนายกู้ฯ ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เสนอกฎหมายเพิ่มเติมงบประมาณช่วยเหลือด้านการทหารให้แก่อิสราเอล ยูเครนและไต้หวัน จะทำให้ไต้หวันตกอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่? ซึ่งนายกู้ฯ ได้ตอบว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ดำเนินการดังกล่าวตามที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ไต้หวันที่จะให้ความช่วยเหลือไต้หวันเสริมความสามารถในการป้องกันตนเอง ซึ่งสภาทั้งสองของสหรัฐฯ ก็สนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มที่ เขาเห็นว่า นี่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่สหรัฐฯ ได้ประกาศที่จะปกป้องเสถียรภาพและสันติภาพในอินโดแปซิฟิก
นายกู้ลี่สง (ซ้าย) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ขณะตอบกระทู้ ส.ส.
ขอเชิญร่วมตอบแบบสำรวจความคิดเห็นจากการรับฟัง Rti Podcast
ลุ้นรับของรางวัลพิเศษ !กรอกแบบสอบถามได้ที่ :https://2023appsurvey.rti.org.tw/th