อดีตผู้นำไต้หวัน หม่าอิงจิ่ว ชี้ใช้ โพล ตัดสินการจับมือกันระหว่างน้ำเงินกับขาว
เมื่อกำหนดการเลือกตั้งผู้นำไต้หวัน 2024 งวดเข้ามาทุกขณะ ฝ่ายต่าง ๆ ในกลุ่มฝ่ายค้านต่างร้อนรนนั่งไม่ติด เพราะยังไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะต่างฝ่ายต่างยังยืนยันจุดยืนเดิมของตน อย่างไรก็ดี สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เริ่มมีเสียงจากระดับสูงของพรรคก๊กมินตั๋ง อย่างอดีตประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่ว และผู้ว่าการจังหวัดต่าง ๆ ในสังกัดของพรรคก๊กมินตั๋ง หลายท่านก็แสดงจุดยืนสนับสนุนการใช้ “โพล” ทั่วประเทศทุกกลุ่มชนมาตัดสินรูปแบบการจับมือกันระหว่างนายโหวโหย่วอี๋ จากพรรคก๊กมินตั๋ง กับนายเคอเหวินเจ๋อ จากพรรค TPP ตามแนวทางที่นายเคอฯ และพรรค TPP นำเสนอมาโดยตลอด โดยการจับคู่ “โหวฯ+เคอฯ” กับ “เคอฯ+โหวฯ” ในตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี เปรียบเทียบกับคู่สมัครจากพรรค DPP คือ รองประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ที่คาดว่าจะลงสมัครคู่กับนางสาวเซียวเหม่ยฉิน ผู้แทนไต้หวันประจำสหรัฐฯ
อดีต ปธน. หม่าอิงจิ่ว ชูธงจับมือน้ำเงิน+ขาว ลุยสนามเลือกตั้ง ปธน. 2024
หลังข่าวนี้แพร่งสะพัดออกไป สื่ออิเล็กทรอนิกส์ “ฟอร์โมซา” ที่จัดทำการสำรวจคะแนนนิยมของผู้สมัครต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งครั้งนี้เป็นการสำรวจครั้งที่ 70 ของสื่อดังกล่าว พบว่า รองประธานาธิบดีไล่ฯ ยังคงนำคู่แข่งอย่งต่อเนื่อง ตามด้วยนายโหวฯ และนายเคอฯ ตามลำดับ ในขณะที่คู่สมัครของฝ่ายสีน้ำเงินกับสีขาวแตกต่างกันลดน้อยลง
การสำรวจดังกล่าวพบว่า รองประธานาธิบดีไล่ฯ มีคะแนนนิยมอยู่ที่ 37.5% มาเป็นอันดับ 1 นายโหวโหย่วอี๋ 26.4% ตามติดเป็นอันดับ 2 ส่วนนายเคอฯ อยู่ที่ 22.3% ทำให้คะแนนนิยมของนายโหวฯ กับของนายเคอฯ ต่างกันลดลงเหลือเพียง 4.1%
อย่างไรก็ดี หากสำรวจรวมนายกัวไถหมิง ผู้สมัครอิสระเข้าไปเปรียบเทียบด้วยแล้ว จะพบว่า รองประธานาธิบดีไล่ฯ อยู่ที่ 34.5% นายโหวฯ 24.5% นายเคอฯ 18.2% ส่วนนายกัวฯ อยู่ที่เพียง 5.5% แต่ความแตกต่างกันระหว่างนายโหวฯ กับนายเคอฯ ขยับขึ้นเป็น 6.3%
ไต้หวันรุกสู่ยุโรปและแปซิฟิกใต้ รมว. กต. ไต้หวันย้ำไต้หวันไม่ยอมสยบให้ลัทธิอำนาจนิยม
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอู๋จาวเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไต้หวัน สาธารณรัฐจีน ได้รับเชิญจาก “ศูนย์ศึกษาการป้องกันและความปลอดภัยระหว่างประเทศ” ของประเทศเอสโตเนีย กล่าวปาฐกถา ย้ำความเด็ดเดี่ยวของไต้หวันที่จะเสริมสร้างศักยภาพในการป้องกันประเทศ และจะไม่ยอมสยบต่อลัทธิอำนาจนิยม ส่วนนายเถียนจงกวง รมช. กต. ไต้หวัน ก็ได้เข้าพบปรึกษาหารือกับผู้นำ 4 ประเทศในแปซิฟิกใต้ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน และเป็นครั้งแรกหลังประธานาธิบดีคนใหม่ของนาอูรูเข้ารับตำแหน่งผู้นำเป็นต้นมา
นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไต้หวัน เยือน 3 ประเทศในบอลติก ระหว่างวันที่ 6-12 พ.ย. กระทรวงต่างประเทศไต้หวันระบุว่า นายอู๋ฯ จะกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ไต้หวัน-เอสโตเนีย หุ้นส่วนประชาธิปไตยและสันติภาพ” ซึ่งเขาระบุว่า ไต้หวันกับเอสโตเนียอยู่ในสถานะที่คล้ายคลึงที่มีประเทศเพื่อนบ้านคือจีน และรัสเซียที่เป็นประเทศเผด็จการ มีความเข้าใจเป็นอย่างดีต่อแรงกดดันและภัยคุกคามจากประเทศลัทธิอำนาจนิยม ขยายอิทธิพลจนส่งผลกระทบคุกคามต่อความปลอดภัยของภูมิภาค หลังเกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย ไต้หวันก็ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการบอยคอตรัสเซีย และได้บริจาคเงินช่วยเหลือแล้วเกินกว่า 100 ล้านดอลลาร์ ผ่านประเทศยุโรปตะวันออกช่วยเหลือยูเครน โดยมีความร่วมมือกับ “สมาคมผู้อพยพเอสโตเนีย”
ในการกล่าวปาฐกถาของนายอู๋ฯ ได้ย้ำว่า ไต้หวันจะร่วมมือกับเอสโตเนียและประเทศที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย เพื่อปกป้องประชาธิปไตยและเสรีภาพ เขาได้ยกตัวอย่างการสร้างเรือดำน้ำและเครื่องบินรบด้วยตนเองของไต้หวัน ย้ำว่า เป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงความเด็ดเดี่ยวในการเสริมศักยภาพการป้องกันประเทศ และความทรหดของไต้หวัน รวมทั้งศึกษาการพัฒนากองทัพในลักษณะของ “ไร้สมดุล” จาก 3 ประเทศในบอลติก ซึ่งไต้หวันจะไม่เป็นฝ่ายยั่วยุและบุ่มบ่าม แต่ก็จะไม่ยอมสยบให้แก่แรงกดดันจากจีน ยินดีที่จะเจรจากับจีนภายใต้หลักการแห่งความเสมอภาค แสวงหาโอกาสในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ นอกจากนี้ นายอู๋ฯ ระบุอีกว่า การประชุม G7 เมื่อ พ.ค. ที่ผ่านมา ได้ออกแถลงการณ์ย้ำความสำคัญของเสถียรภาพและสันติภาพบนช่องแคบไต้หวัน
กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันย้ำเปิดสำนักงานในเอสโตเนียยังอยู่ในระหว่างการเจรจา
สืบเนื่องจากกรณีที่มีข่าวลือว่า ในระหว่างการเยือน 3 ประเทศในทะเลบอลติกของนายอู๋จาวเซี่ย รมว. กต. ไต้หวัน ไต้หวันจะเปิดสำนักงานตัวแทนในนครหลวงของเอสโตเนีย “กรุงทาลลินน์” ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลของเอสโตเนียแล้ว กระทรวงการต่างประเทศ ไต้หวันได้ออกแถลงข่าวชี้แจงว่า การจัดตั้งสำนักงานตัวแทนระหว่างกัน ยังคงอยู่ในระหว่างการเจรจา และยังไม่มีข้อสรุป อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องกันว่า การจัดตั้งสำนักงานตัวแทนระหว่างกันจะเป็นผลดีต่อการกระชับการมีปฏิสัมพันธ์ในทุกมิติระหว่างกันด้วย
การเยือนเอสโตเนียของนายอู๋จาวเซี่ย รมว. กต. ไต้หวัน ทำให้สื่อรัสเซียอ้างรายงานของสื่อในเอสโตเนียรายงานว่า รัฐบาลเอสโตเนียได้เห็นชอบให้ไตัหวันจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในเมืองหลวงของเอสโตเนียแล้ว โดยใช้ชื่อว่า “ไทเป”
นายหลิวหย่งเจี๋้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ไต้หวัน สาธารณรัฐจีน ระบุเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ยังคงอยู่ในระหว่างการเจรจากัน ทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนระหว่างกัน จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปร่วมกัน ส่วนกรณีที่ทูตจีนประจำเอสโตเนียได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวว่า หากมีการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนไต้หวันในเอสโตเนียจริง ก็เป็นเวลาที่ตนต้องออกจากเอสโตเนียนั้น นายหลิวฯ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้
