close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

ชีพจรเศรษฐกิจ ไต้หวันพร้อมเปิดรับแรงงานต่างชาติอย่างมีเงื่อนไข คาดเริ่มได้สิ้นปี

  • 21 October, 2021
ชีพจรเศรษฐกิจ
คาดสิ้นปีนี้ ไต้หวันคลายล็อกนำเข้าแรงงานข้ามชาติ
ชีพจรเศรษฐกิจ
นางหวางเหม่ยฮัว (ซ้าย) รมว. เศรษฐการ ไต้หวัน ย้ำ เก็บภาษีคาร์บอน เอสเอ็มอีกระทบน้อย
ชีพจรเศรษฐกิจ
เอ็นจีโอแรงงานร่วมกับ สส. ฟ่านหยุน (ที่ 2 จากซ้าย) เรียกร้องออกกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ
ชีพจรเศรษฐกิจ
นางสวี่หมิงชุน รมว. แรงงาน ไต้หวัน คาดสิ้นปีนี้คลายล็อกนำเข้าแรงงานข้ามชาติ แก้ปํญหาขาดแคลนแรงงานในไต้หวัน

๑. ไต้หวันเตรียมเปิดประตูรับแรงงานต่างชาติ แต่มีเงื่อนไขต้องฉีดวัคซีนครบโดส กักตัว และตรวจเชื้อแบบ PCR

          นางสวี่หมิงชุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไต้หวัน ได้ตอบข้อซักถามของ สส. ในการประชุมคณะกรรมาธิการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติไต้หวัน เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในไต้หวันมีความเป็นไปได้ที่จะพิจารณาผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนจนครบโดสแล้วก่อนเป็นอันดับแรก รวมทั้งเมื่อเดินทางเข้าไต้หวันต้องกักตัวแบบ “1 คน 1 ห้อง” มาตรฐานเดียวกับชาวต่างชาติทั่วไปที่เดินทางเข้าไต้หวัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในสิ้นปีนี้

         นอกจากนี้ นางสวี่ฯ ยังระบุเงื่อนไขเพิ่มเติมอีก 2 ประการ ได้แก่ ต้องแสดงหลักฐานการตรวจ PCR ขณะเข้าเมือง และเมื่อเข้าไต้หวันแล้วต้องกักตัว 14 วัน กับการดูแลสุขภาพด้วยตนเองอีก 7 วัน ในช่วงการกักตัวยังต้องตรวจ PCR อีก 1 ครั้ง เช่นเดียวกับชาวต่างชาติทั่วไปที่เดินทางเข้าไต้หวัน

        ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ นางสวี่หมิงชุน ก็ได้ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการที่จะให้ความช่วยเหลือนายจ้างที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำว่า คาดว่าจะให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากโควิด-19 ทั้งในส่วนของกิจการเพื่อการบริโภคภายในและภาคบริการ อาทิ ร้านอาหาร ภัตตาคาร บริษัททัวร์ ซึ่งอาจเป็นการให้เงินช่วยเหลือค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของเงินเดือน และค่าจ้างรายชั่วโมง ส่วนรายละเอียดจะประกาศให้ทราบได้ในราวปลายเดือน ต.ค. นี้

นางสวี่หมิงชุน รมว. แรงงานไต้หวัน 

๒. เอ็นจีโอผู้ใช้แรงงานในไต้หวันเรียกร้องออกกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำภายในวันแรงงานสากลปีหน้า

         คณะกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ปีใหม่หน้าเป็นต้นไป อย่างไรก็ดี การปรับค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่มีกฎหมายรองรับ นางฟ่านหยุน สส. พรรคดีพีพี พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มเอ็นจีโอผู้ใช้แรงงานได้เปิดแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดทำกฎหมายว่าด้วย “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เพื่อให้เป็นไปตามแนวนโยบายที่ท่านประธานาธิบดีไช่อิงเหวินได้ประกาศไว้ ให้ได้ก่อนวันแรงงานสากล 1 พ.ค. ปีหน้า เป็นของขวัญให้แก่ผู้ใช้แรงงานในไต้หวัน

         นางฟ่านหยุน สส. พรรคดีพีพี ระบุว่า ค่าจ้างขั้นต่ำได้ปรับเพิ่มอีก 5.21% แล้ว จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดทำกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายของผู้นำไต้หวัน

นางฟ่านหยุน ระบุอีกว่า นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินดำรงตำแหน่งผู้นำไต้หวันเป็นต้นมา ได้มีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องทุกปีถึง 6 ปีติดต่อกัน แต่ในปี 1997 – 2007 ถูกแช่แข็งนานถึง 10 ปี ดังนั้น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงพึ่งเฉพาะความเมตตาจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ซึ่งนางฟ่านหยุนได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า งานวิจัยของเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ระบุชัดว่า การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะไม่ทำให้โอกาสการมีงานทำลดน้อยลง แต่กลับจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นด้วย

         นางฟ่านฯ ระบุว่า ตอนนี้มีร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องถึง 6 ร่าง จึงหวังว่าสภาบริหารและกระทรวงแรงงานจะเสนอร่างของตนเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เพื่อให้ผ่านการพิจารณา 3 วาระ ก่อนวันแรงงานสากลปีหน้า ก่อนหน้านี้ นางสวี่หมิงชุน รมว. แรงงานไต้หวัน ได้ระบุว่า ตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมความคิดเห็น ยังไม่ตกผลึก แต่เรื่องนี้ไม่ต้องตกผลึก สภาฯ จะเป็นแหล่งสร้างความเข้าใจร่วมกันจนตกผลึก เพราะนายจ้างต้องคัดค้านอยู่แล้ว นางฟ่านฯ เคยเสนอร่างกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อเม.ย. ปีนี้ ซึ่งให้ความสำคัญกับดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน กับตัวเลขการเพิ่มขึ้นของการบริโภครายเดือนโดยเฉลี่ยต่อหัว ดัชนีทั้งสองตัวต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน เพื่อให้ค่าจ้างขั้นต่ำไล่ตามทันการเติบโตทางเศรษฐกิจ และไล่ทันราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นด้วย

๓. ไต้หวันเล็งอีกสองปีข้างหน้าจัดเก็บภาษีคาร์บอน คาดเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบไม่มากนัก

         เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจสภานิติบัญญัติไต้หวัน ได้เชิญนางหวางเหม่ยฮัว รมว. เศรษฐการ ไต้หวันนายก่งหมิงซิน ประธานสภาพัฒนาแห่งชาติ นายจางจื่อจิ้ง รมว. ทบวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรายงานเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการพัฒนาและปรับตัวอย่างยั่งยืน ซึ่งนายจางจื่อจิ้งได้ระบุว่า กฎหมายว่าด้วยการควบคุมปฏิกิริยาเรือนกระจกจะประกาศล่วงหน้าในเดือนนี้ เปลี่ยนชื่อเป็นกฎหมายรับมือการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ซึ่งตอนนี้กำลังรวบรวมความคิดเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ เพื่อสรุปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน จะให้ผ่านการพิจารณาของสภาฯ ภายในสมัยประชุมนี้อย่างไร จะมีการออกกฎหมายลูกกำหนดอัตราค่าคาร์บอน เพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างเป็นทางการในปี 2023

         นายจางฯ ระบุว่า จะเริ่มต้นจัดเก็บจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนปีละเกินกว่า 2.5 หมื่นตัน เพราะส่วนนี้คิดเป็นถึง 80% ของปริมาณคาร์บอนทั้งหมด สำหรับในส่วนของเอสเอ็มอีก็จะขอให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้น้อยลง ส่วนกลไกการแบ่งระดับการตรวจสอบคาร์บอนก็จะให้เอสเอ็มอีเข้ามาลงทะเบียนไว้

         ส่วนทางด้านนางหวางเหม่ยฮัว รมว. เศรษฐการ ไต้หวัน ก็ได้ชี้แจงว่า อุตสาหกรรมภาคการผลิตได้มีการจัดคณะทำงานลดคาร์บอนขึ้นแล้ว โดยจะดำเนินการในรูปแบบ “จากเล็กสู่ใหญ่” และเนื่องจากผู้ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่จะเป็นเป้าหมายแรกในการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ทำให้ในระยะแรกเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก

นางหวางเหม่ยฮัว (ซ้าย) รมว. เศรษฐการ ปะทะคารมกับนายเจิงหมิงจง สส. พรรคฝ่ายค้าน (ขวา) 

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง