สองทูต สองแรงแข็งขัน ดันสัมพันธ์ไต้หวัน-ไทย ก้าวไปอีกก้าวใหญ่
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2565 สมาคมพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับต่างประเทศ หรือ TAITRA ของไต้หวันได้จัดงานสัมนาว่าด้วย “ห่วงโซ่อุปทานลงทุนในไทย” โดยเชิญทูตไต้หวันประจำประเทศไทยคนใหม่คือนายจวง ซั่วฮั่น และทูตไทยประจำไต้หวันคือนายทวีเกียรติ เจนประจักษ์ ผู้อำนวยการใหญ่ สนง. การค้าและเศรษฐกิจไทย และมีนายหวงจื้อฟัง ประธาน TAITRA (Taiwan External Trade Development Council) กล่าวเปิดการสัมนา มีนักธุรกิจยักษ์ใหญ่ไต้หวันนับสิบเข้าร่วมงานสัมนาในครั้ง ได้แสดงทัศนะและสะท้อนปัญหาที่ประสบในการลงุทนในไทย ให้ทูตของทั้งสองประเทศได้รับทราบ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมการลงทุนระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ได้เข้าร่วมกิจกรรมพบปะนักธุรกิจไต้หวันที่ได้ลงทุนในประเทศไทย ซึ่งนายหวง จื้อฟาง ประธาน TAITRA ได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของไทยว่า ไทยเป็นประเทศเป้าหมายที่สำคัญที่สุดตั้งแต่นโยบาย “มุ่่งใต้” ในยุคทศวรรษที่ 1990 ซึ่งทำให้มีนักลงทุนไต้หวันไปลงทุนเป็นจำนวนมาก การค้าระหว่างไทยกับไต้หวันก็มีมูลค่าเกินกว่า 13,000. ล้านดอลลาร์ เมื่อปีที่ผ่านมา ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 13 ของไต้หวัน ทุนไต้หวันในไทยก็มากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของทุนต่างชาติในไทย เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าไทยมีความสำคัญต่อการค้าและเศรษฐกิจของไต้หวันเป็นอย่างมาก และมีความรู้สึกว่า การที่ประธานาธิบดีไช่ฯ แต่งตั้งให้นายจวงฯ ซึ่งมีความรู้ความสามารถทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ไปดำรงตำแหน่งผู้แทนไต้หวันประจำประเทศไทย ชี้ชัดว่า ไต้หวันให้ความสำคัญกับไทยหวังว่าเมื่อทูตไต้หวันคนใหม่ได้ไปรับหน้าที่ที่ไทยแล้ว จะผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น บนพื้นฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนนายจวง ซั่วฮั่น ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทยคนใหม่ ซึ่งกำลังจะไปรับหน้าที่ในราวต้นเดือน ส.ค. ศกนี้ ได้ระบุว่า หลังจากได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากท่านประธานาธิบดีไช่ฯ แล้ว งานแรกคือการขอเข้าพบท่านทูตทวีเกียรติฯ เมื่อต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา พบกันเป็นครั้งแรกแต่เหมือนกับรู้จักกันมานาน และก็มีแนวความคิดใกล้เคียงกันที่จะร่วมมือกันผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการลงทุน ซึ่งช่วงนี้เป็นโอกาสเหมาะที่จะดึงนักลงทุนไต้หวันไปลงทุนในไทยให้มากขึ้น เนื่องจากในช่วงสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้นักธุรกิจไต้หวันในจีนต้องย้ายฐานการผลิตออกจากจีน บางส่วนมาไต้หวัน บางส่วนก็ย้ายไปเวียดนาม แต่หลายคนบอกว่า ไปลงทุนเวียดนามไม่ค่อยประสบความสำเร็จ จึงต้องหาแหล่งลงทุนอื่น ซึ่งไทยเป็นแหล่งลงทุนที่มีความพร้อมและเหมาะสำหรับการลงทุนของนักลงทุนไต้หวัน ซึ่งก็เป็นช่วงการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกด้วย
นายทวีเกียรติ เจนประจักษ์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป ในฐานะทูตไทยประจำไต้หวัน ก็ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับความสำคัญของนักธุรกิจไต้หวันในประเทศไทย บทบาทของไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC และการประชุมคู่ขนาน APEC Business Advisory Council (ABAC) ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับไต้หวัน นโยบายของไทยต่อการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไต้หวันมีศักยภาพ ตลอดจนรับฟังข้อเสนอแนะจากกลุ่มนักธุรกิจไต้หวันที่มีต่อการลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ฯ และผู้แทนไต้หวันฯ เห็นพ้องที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการส่งเสริมความสัมพันธ์ในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการศึกษาระหว่างสองฝ่าย
ผู้บริหารของธุรกิจไต้หวันที่เข้าร่วมการสัมนาในวันนี้ ต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า ไทยเป็นแหล่งลงทุนที่ดีมาก ทั้งในแง่ของผู้คน การใช้ชีวิต อย่างธนาคารไชน่าทรัสต์ หรือ CTBC ไต้หวัน ที่เข้าถือหุ้นใหญ่ของ H&L Group ต้องส่งพนักงานไปดูแลกิจการร่วมกับหุ้นไทย และในอนาคตก็ต้องส่งพนักงานไปประจำที่ไทยมากขึ้น โดยพนักงานของตนกว่า 80% ขอเลือกที่จะไปประจำการในไทย หากต้องถูกส่งตัวไปทำงานในต่างประเทศ
ในช่วงท้ายของการสัมนานายทวีเกียรติฯ ได้ให้คำมั่นว่า จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาเรื่องวีซ่า ซึ่งจะใช้วิธีการออกวีซ่าธุรกิจหรือ Business Visa ไม่ต้องไปรายงานตัวด้วยตนเองทุก 90 วัน โดยให้ใช้วิธีการรายงานตัวผ่านระบบออนไลน์แทน
นายทวีเกียรติ เจนประจักษ์ ผอญ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป ทักทายผู้เข้าร่วมสัมนา