:::

ชีพจรเศรษฐกิจ วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๖

  • 25 May, 2023
ชีพจรเศรษฐกิจ
ชีพจรเศรษฐกิจ
นางหวางเหม่ยฮัว รมว. เศรษฐการ ไต้หวัน
ชีพจรเศรษฐกิจ
ชีพจรเศรษฐกิจ
สินค้ากระจกที่ไต้หวันจะจัดเก็บภาษีต้านการทุ่มตลาดจากไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

๑. เจรจาการค้าศตวรรษที่ 21 ไต้หวัน-สหรัฐฯ เห็นแสงสว่างรำไร คาดลงนามครั้งแรกเร็ว ๆ นี้ 

          เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา ไต้หวันกับสหรัฐฯ ได้ประกาศสาระความตกลงการค้าศตวรรษที่ 21 ชุดแรก และจะลงนามร่วมกันในเร็ว ๆ นี้ นักวิชาการวิเคราะห์ว่า สาระส่วนแรกนี้ จะทำให้การส่งสินค้าออกจากไต้หวันไปสหรัฐฯ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่า “ความสะดวกทางการค้า” สามารถลดต้นทุนทางการค้าได้เป็นอย่างมาก ส่วนสาระส่วนที่ 2 เนื่องจากเป็นประเด็นที่ไม่มีความละเอียดอ่อนมากนัก ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ ดีเยี่ยมที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน จึงเชื่อว่าจะสามารถตกลงกันได้ในไม่ช้านี้ 

       “ความตกลงการค้าศตวรรษที่ 21 ไต้หวัน-สหรัฐฯ” ชุดแรกแบ่งเป็น 81 มาตรา ใน 8 หมวด โฟกัสที่การอำนวยความสะดวกทางการค้า วิสาหกิจขนาดกลางและย่อมหรือ SME กระบวนการจัดทำกฎหมาย อุปสรรคของการค้าภาคบริการในประเทศ ตลอดจนการต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งนี้ ความตกลงดังกล่าวจะเป็นความตกลงทางการค้าระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ ที่สมบูรณ์ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา

         นายชิวต๋าเซิง นักวิจัยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจไต้หวันวิเคราะห์ว่า การตกลงกันในครั้งนี้ จะเป็นผลดีต่อการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่สินค้าไต้หวันที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ทั้งสะดวก รวดเร็วในการผ่านด่านศุลกากร และยังเป็นไปอย่างโปร่งใสด้วย ลดต้นทุนได้เป็นอย่างมากทีเดียว นายชิวฯ วิเคราะห์ว่า “โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันมีเรื่องของเวลาที่จำกัด เพราะความสะดวกทางการค้าที่ทำให้สินค้าต่าง ๆ สามารถผ่านด่านศุลกากรได้อย่างรวดเร็วและโปร่งใสเหล่านี้ สามารถหลีกเลี่ยงมิให้สินค้าต้องตกค้างอยู่ที่ด่านศุลกากรเป็นเวลานาน ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนทางการค้าลงได้มาก เพราะฉะนั้น ความตกลงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการค้าระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผลดีต่อการส่งสินค้าไต้หวันไปสหรัฐฯ”

        ส่วนความตกลงในช่วงต่อไปยังมีอีกถึง 7 ประเด็นที่ต้องเจรจาตกลงกันให้ได้  นายชิวฯ มีความเห็นว่า สาระของความตกลงช่วงที่ 2จะเป็นส่วนที่เกี่ยวกับการปรับกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ทั้งการปรับปรุง และการยกเลิกกฎระเบียบต่าง ๆ แต่ไม่ได้เกี่ยวกับระเบียบพิธีการด้านศุลกากรที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เนื่องจากก่อนการเจรจา ไต้หวันมีการทำการบ้านและปรับปรุงให้สอดคล้องกับกับระเบียบสากลก่อนที่จะเปิดการเจรจากับสหรัฐฯ บวกกับช่วงนี้เป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันดีเยี่ยมมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้การเจรจาในช่วงต่อไปจึงมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถตกลงกันได้อย่างรวดเร็ว หากจุดยืนของสองพรรคการเมืองสำคัญในสหรัฐฯ อ่อนลง ยินดีที่จะเจรจาในประเด็นศุลกากร ทั้งสองฝ่ายก็สามารถใช้พื้นฐานนี้ก้าวสู่การเจรจาการค้าเสรีหรือ FTA ต่อไป เขายังระบุอีกว่า หลังจากที่ไต้หวันกับสหรัฐฯ จัดทำความตกลงการค้าทศวรรษที่ 21 ระหว่างกันแล้ว ก็เท่ากับว่า ไต้หวันได้รับการสนับสนุนและยอมรับจากตลาดและหน่วยเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการผลักดันให้ไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกรอบหรือโครงสร้างที่สหรัฐฯ กำลังผลักดันให้เกิดการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานโลก และกรอบเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก

          ส่วนนางหวางเหม่ยฮัว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ไต้หวัน สาธารณรัฐจีน ได้แสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุความตกลงระยะที่ 1 ระหว่างกัน เป็นสัญญลักษณ์แสดงว่า ปฏิสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันลงรากปักฐานลึกมากยิ่งขึ้น และทำให้ทั้งสองฝ่ายเสริมความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ส่วนรายละเอียดการลงนามทั้งเวลาและอื่น ๆ จะดูแลรับผิดชอบโดยสำนักงานเจรจาการค้าและเศรษฐกิจ สภาบริหาร 

นางหวางเหม่ยฮัว รมว. เศรษฐการ ไต้หวัน 

 

๒. ไต้หวันจัดเก็บภาษีทุ่มตลาดสินค้ากระจกไทย 0-32.45% มาเลย์+อินโดฯ ก็โดนด้วย 

             เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงการคลัง ไต้หวัน ได้ออกประกาศจัดเก็บภาษีทุ่มตลาดสินค้ากระจก float glass, in sheets ซึ่งแบ่งเป็นกระจกประเภท clear lfoat glass และ tinted float glass ที่บริษัทของ 3 ประเทศ ได้แก่ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่งออกมายังไต้หวัน ซึ่งได้ผ่านกระบวนการสอบสวนมานานนับปี ฟังความเห็นจากทั้งสองฝ่าย จนมีมติจัดเก็บภาษีต้านการทุ่มตลาดตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. เป็นต้นไป

             ประกาศของกระทรวงการคลังระบุว่า จะมีการจัดเก็บภาษีต้านการทุ่มตลาดสินค้ากระจกดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี โดยจัดเก็บในอัตรา 0-129.32% ซึ่งจัดเก็บจากบริษัทผู้ส่งออกของมาเลเซียสูงที่สุด 

             ประกาศดังกล่าวเกิดจากการร้องเรียนของสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกระจกไต้หวัน   เรียกร้องให้จัดเก็บภาษีต้านการทุ่มตลาดสินค้ากระจกดังกล่าวข้างต้นที่นำเข้าจากบริษัทผู้ผลิตใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งมีการพิจารณารับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายทั้งฝ่ายกล่าวหาและฝ่ายที่ถูกกล่าวหา โดยแยกการจัดเก็บภาษีต้านการทุ่มตลาดตามความหนักเบาของการทุ่มตลาด โดยในส่วนของผู้ประกอบการไทยที่เคยส่งออกมายังไต้หวันได้แก่ AGC Flat Glass (Thailand) PLC ให้จัดเก็บภาษีทุ่มตลาด 0% คือไม่เก็บเลย ส่วนบริษัทส่งออกอื่น ๆ ของไทย จะถูกไต้หวันจัดเก็บภาษีต้านการทุ่มตลาดในอัตรา 32.45% 

            ส่วนของมาเลเซีย จัดเก็บภาษีทุ่มตลาด 20.89% ต่อบริษัท Xinyi Energy Smart (Malaysia) Sdn Bhd ส่วนบริษัทอื่น ๆ จะจัดเก็บภาษีทุ่มตลาดสูงถึง 129.32% 

            ทางด้านอินโดนีเซีย ก็จะถูกจัดเก็บภาษีทุ่มตลาดจากบริษัท PT Asahimas Flat Glass TBK ในอัตรา 10.32% บริษัทอื่น ๆ ของอินโดนีเซียจะถูกจัดเก็บภาษีต้านการทุ่มตลาดในอัตรา 87.76% 

             การจัดเก็บภาษีทุ่มตลาดดังกล่าวเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2566 ถึง 21 พ.ค. 2571 รวม 5 ปีเต็ม

สินค้ากระจกที่ไต้หวันจะจัดเก็บภาษีต้านการทุ่มตลาดจากไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

 

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง