ขอเชิญร่วมตอบแบบสำรวจความคิดเห็นจากการรับฟัง Rti Podcast
ลุ้นรับของรางวัลพิเศษ !กรอกแบบสอบถามได้ที่ :https://2023appsurvey.rti.org.tw/th
8 ปีในยุคผู้นำหญิง เศรษฐกิจไต้หวันโตเฉลี่ย 3.4% ครองแชมป์ 4 เสือแห่งเอเชีย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีเจิ้งเหวินช่าน ได้กล่าวในพิธีมอบรางวัล Golden Merchant Awards ครั้งที่ 77 ระบุว่า เศรษฐกิจไต้หวันในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ขนาดของมูลค่าผลผลิตมวลรวมประชาชาติหรือ GDP ไต้หวันในปี 2016 อยู่ที่ 17.5 ล้านล้านเหรียญไต้หวัน แต่พอมาถึงปี 2022 คือปีที่แล้ว อยู่ที่ 23 ล้านล้านเหรียญไต้หวัน เฉลี่ย GDP โตปีละ 3.4% ครองแชมป์ GDP เติบโตสูงสุดในบรรดา 4 เสือแห่งเอเชีย
รองนายกฯ เจิ้งฯ ระบุว่า ในช่วงโควิดระบาดได้มีการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เศรษฐกิจไต้หวันโตขึ้นกว่า 12.7% เป็นประเทศส่วนน้อยของโลกที่มีการเติบโตสวนกระแสการระบาดของโควิด ซึ่งในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา การค้าของไต้หวันก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงเมื่อปีที่แล้วมีมูลค่าสูงถึง 907,400 ล้านดอลลาร์ การส่งออกเกือบ 5 แสนล้านดอลลาร์ เฉลี่ยส่งออกเดือนละกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ แม้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้บริษัทต่าง ๆ จะมีสินค้าในสต๊อกเป็นจำนวนมาก ความต้องการลดลง จนทำให้การส่งออกลดลงตามไปด้วยก็ตาม แต่มูลค่าการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศในช่วงไตรมาส 4 ก็มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งก็ต้องขอบคุณผู้ประกอบการภาคบริการ ภาคการผลิตอุปสงส์ภายในมีการเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก จนสามารถประคับประคองเศรษฐกิจไต้หวันให้สามารถเติบโตต่อไปอย่างต่อเนื่อง
รองนายกรัฐมนตรีเจิ้งเหวินช่าน ชี้แจงต่อไปอีกว่า จนถึงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา การปล่อยสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิดระบาดก็เป็นไปอย่างคึกคัก โดยในส่วนของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมหลังโควิด โดยแต่ละโครงการมียอดสินเชื่อสูงถึง 35 ล้านเหรียญไต้หวัน อัตราดอกเบี้ย 0.5% ซึ่งมีวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมได้รับอานิสงส์จากการนี้แล้วถึง 6.5 หมื่นราย สินเชื่อรวม 5.8 แสนล้าน ส่วนสินเชื่อการปรับตัวลดก๊าซคาร์บอนอัจฉริยะก็สูงถึง 9 หมื่นล้าน ส่วนกระทรวงการคลังไต้หวันเพิ่มการอัดเม็ดเงินสินเชื่อให้วิสาหกิจขนาดกลางและย่อมเพิ่มเติมอีก 3 แสนล้าน ปัจจุบันยังมีสินเชือเหลืออีกกว่า 1.8 แสนล้าน ซึ่งรัฐบาลหวังว่าจะเพิ่มเติมน้ำชุบชีวิตให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม แม้อัตราดอกเบี้ยพิเศษจะไม่ดีเท่ากับในช่วงหลังโควิดก็ตาม แต่ก็ยังเป็นอัตราดอกเบี้ยพิเศษ จึงขอให้ผู้ประกอบใช้ประโยชน์จากมาตรการเหล่านี้ให้มาก
นอกจากนี้ ในงานเดียวกัน สภาหอการค้าแห่งไต้หวันได้มอบรางวัลนักธุรกิจดีเด่นประจำปี หรือ Golden Merchant Awards ครั้งที่ 77 อันเป็นรางวัลเก่าแก่และมีเกียรติเป็นอย่างมากในวงการนักธุรกิจของไต้หวัน รางวัล Golden Merchant Awards แบ่งเป็น 4 สาขา คือ 1) สาขานักธุรกิจไต้หวันยอดเยี่ยม 2) สาขานักธุรกิจต่างชาติยอดเยี่ยม 3) สาขาหน่วยงานต่างประเทศยอดเยี่ยม และ 4) ร้านค้าเก่าแก่ยอดเยี่ยม โดยปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลรวม 51 ราย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ประจำไต้หวัน คว้ารางวัลสาขาหน่วยงานต่างประเทศยอดเยี่ยมร่วมกับอีก 4 ประเทศ ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตปารากวัย สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมเช็ก สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอิสราเอล สำนักงานการค้าและการลงทุนแห่งรัฐควีนส์แลนด์ ของสหรัฐฯ
สภาหอการค้าแห่งไต้หวันระบุว่า หน่วยงานของประเทศที่ได้รับรางวัลเหล่านี้ ต่างมีผลงานดีเด่นในการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้ากับไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างกันกับไต้หวันเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ไต้หวันได้มีโอกาสสร้างความร่วมมือในเชิงลึกกับประเทศต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น ทั้งในด้าน การค้า เทคโนโลยี การเกษตร การแพทย์ และวัฒนธรรม ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ระหว่างกันได้เป็นอย่างมาก
ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศไต้หวัน ระบุว่า ในปี 2565 การค้าระหว่างไต้หวันและไทยมีมูลค่ารวม 13,832.73 ล้าน USD แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกรวมจากไต้หวันไปยังไทย 7,543.40 ล้าน USD และมูลค่าการนำเข้ารวมจากไทยมายังไต้หวัน 6,289.33 ล้าน USD โดยไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 13 ของไต้หวัน โดยสินค้าส่งออกจากไทยมาไต้หวัน 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (3,470.34 ล้าน USD) (2) อาหารปรุงสำเร็จ เครื่องดื่ม สุรา น้ำส้มสายชู และยาสูบ (452.91 ล้าน USD) และ (3) พลาสติกและยาง (438.52 ล้าน USD) ขณะที่สินค้านำเข้าจากไต้หวันมายังไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (3,837.70 ล้าน USD) (2) แร่โลหะ (1,295.67 ล้าน USD) และ (3) เคมีภัณฑ์ (648.64 ล้าน USD)
นายเจิ้งเหวินช่าน รองนายกรัฐมนตรี ไต้หวัน
สกัดค่าเงินไต้หวันอ่อนค่า เงินสำรองต่างประเทศไต้หวันลดต่อเนื่อง
ธนาคารกลาง ไต้หวัน ได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เงินสำรองต่างประเทศของไต้หวัน เมื่อสิ้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 5.61079 แสนล้านดอลลาร์ ลดลงจากเดือน ก.ย. ถึง 2.930 พันล้านดอลลาร์ เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางไต้หวันระบุตรง ๆ ว่า เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลางได้พยายามที่จะรักษาระดับความเสถียรภาพของค่าเงินเหรียญไต้หวัน จึงเข้าประคองตลาด ทำให้เงินสำรองต่างประเทศของไต้หวันลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แล้ว
ตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา ค่าเงินเหรียญไต้หวันอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ครึ่งแรกของปียังสามารถรักษาอยู่ในระดับ 30 เหรียญไต้หวัน ต่อ 1 ดอลลาร์ แต่พอมาถึงสิ้นเดือน มิ.ย. ค่าเงินเหรียญไต้หวันก็อ่อนค่าลงทะลุ 30 เหรียญไต้หวัน ต่อ 1 ดอลลาร์ จากนั้นก็อ่อนปวกเปียกอย่างต่อเนื่อง กระทั้งในเดือน ก.ย. ก็ทะลุ 32 เหรียญไต้หวันต่อ 1 ดอลลาร์ ส่วนปลายเดือน ต.ค. ก็ไปแตะที่ 32.5 เหรียญไต้หวันต่อ 1 ดอลลาร์
เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินไต้หวัน ธนาคารกลางจึงได้เสริมแรงพยุงค่าเงินเหรียญไต้หวันตั้งแต่เดือน ส.ค. ส่งผลให้เงินสำรองต่างประเทศของไต้หวันลดลงอย่างต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน
คุณไช่ต้งหมิน อธิบดีกรมเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกลางไต้หวันเปิดเผยว่า 3 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินสำรองต่างประเทศของไต้หวัน ได้แก่ ผลกำไรจากการนำเงินสำรองต่างประเทศไปลงทุน แต่เดือน ต.ค. ได้รับดอกเบี้ยลดลง ซึ่งคาดว่าในเดือน พ.ย. ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น ส่วนอีก 2 ปัจจัยได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน และการเข้าแทรกแซงตลาดค้าเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางไต้หวัน
ขอเชิญร่วมตอบแบบสำรวจความคิดเห็นจากการรับฟัง Rti Podcast
ลุ้นรับของรางวัลพิเศษ !กรอกแบบสอบถามได้ที่ :https://2023appsurvey.rti.org.tw/th