ไต้หวัน-ไทยจับมือพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City)
ไทยส่งคณะกว่า 400 คนร่วมงานมหกรรม Taiwan Smart City Summit and Expo 2024 พร้อมจัดสัมนา Taiwan x Thailand Smart City Forum
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไต้หวันได้จัดงานมหกรรมสมาร์ทซิตี้ ประจำปี 2024 ซึ่งตั้งชื่อว่า Taiwan Smart City Summit and Expo 2024 โดยมีตัวแทนจากประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมอย่างคับคั่งกว่า 400 คน ซึ่งได้จัดสัมนา Taiwan x Thailand Smart City Forum ในประเด็น “ไทยกับไต้หวันมีประเด็นความร่วมมือเกี่ยวกับสมาร์ทซิตี้ใดบ้าง?”
นายก่งหมิงซิน ประธานสภาพัฒนาแห่งชาติไต้หวันได้กล่าวเปิดการสัมนาว่า “เมื่อปีที่แล้วตนกับท่านเลขาธิการทำเนียบประธานาธิบดีได้นำคณะไต้หวันรวม 50 ท่าน เยือนไทย ซึ่งพบว่าไต้หวันกับไทยมีโอกาสที่จะร่วมมือกันในด้านการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ สร้างกลไกความร่วมมือในระยะยาวระหว่างกัน สนับสนุนผู้ประกอบการไต้หวันขยายตลาดสู่ต่างประเทศ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาไต้หวันประสบความสำเร็จในการผลักดันระบบอัจฉริยะมากกว่า 250 รายการ ทั้งทางด้านระบบคมนาคมอัจฉริยะ สุขภาพอัจฉริยะ การผลิตและการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งได้ส่งออกไปยังต่างประเทศแล้วถึง 88 รายการ
นายก่งฯ ระบุอีกว่า มหกรรมนี้มีบูธมากกว่า 2000 บูธ และมีรบบอัจฉริยะมากกว่า 1200 รายการ ความร่วมมือระหว่างไต้หวันกับไทยจึงไม่ใช่เรื่องเหลวไหล เป็นความร่วมมือที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสภาพความเป็นจริง เชื่อว่าต้องมีโอกาสขยายตัวไปได้อีกมาก
นายลวี่เจิ้งหัว ผอ. สำน้กอุตสาหกรรมดิจิทัล กระทรวงพัฒนาดิจิทัล ไต้หวัน ก็ได้ระบุว่า อุตสาหกรรม ICT และบุคลากรของไต้หวันเป็นจุดแข็งของไต้หวัน หากจะนำเอาฮาร์ดแวร์บูรณาการกับความต้องการของส่วนอื่น ๆ ก็จำเป็นต้องมีตัวอย่างหรือโครงการในการดำเนินการขนาดใหญ่ แต่ไต้หวันไม่มีแหล่งดำเนินการทดสอบขนาดใหญ่ จึงได้นำเอาวิธีการนับร้อยวิธี ส่งออกไปร่วมมือกับต่างประเทศจำนวน 22 เมืองแล้ว อย่างที่ประเทศไทย บริษัทฟาร์อีสท์ไต้หวันได้รับสัมปทานการจัดเก็บค่าผ่านทางด่วนแบบอัจฉริยะหรือ ETC บนทางด่วน M9 ของไทย ตลอดจนการใช้ระบบห้องผู้ป่วยอัจฉริยะที่โรงพยาบาลชลบุรี ของบริษัทจงหัวเทเลคอมไต้หวัน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ส่วนทางด้านนายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ได้กล่าวเปิดงานสัมนา Taiwan x Thailand Smart City Forum ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของงาน Taiwan Smart City Summit and Expo 2024 ที่ไต้หวันจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระหว่างไต้หวันกับนานาประเทศ
ทั้งนี้ นายณรงค์ฯ ผู้อำนวยการใหญ่ฯ ได้ระบุถึงความพร้อมของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะกับไต้หวัน โดยเฉพาะการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในระดับชุมชนเพื่อให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะของไทยมุ่งเน้นคนเป็นศูนย์กลางและตอบโจทย์การพัฒนาในระดับท้องถิ่น
พร้อมกันนี้ นายณรงค์ฯ ยังได้ระบุว่า เป้าหมายของนโยบายของไทยก็คือหวังว่า ก่อนปี 2027 จะต้องพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ได้อย่างน้อย 100 หัวเมือง รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สามารถสร้างแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและอาศัยประสบการณ์ไต้หวันที่มีอย่างโชกโชน
นายณรงค์ฯ เห็นว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้องอาศัยเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย ต้องพัฒนาเทคโนโลยีและเสริมความรู้ทางด้านดิจิทัลให้สูงขึ้น ความรู้สำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งไทยนอกจากมีเขตเมืองแล้ว ยังมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ในตอนท้าย นายณรงค์ฯ ได้ย้ำว่า สำนักงานการค้าฯ ไทเป จะระดมสรรพกำลังที่มีอยู่ทุกอย่าง ร่วมมือกับไต้หวันพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ในฐานะที่ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจของไทย เชื่อว่าในอนาคตจะมีโอกาสร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น
นายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย
ไต้หวันส่งออกระบบจัดเก็บค่าผ่านทางด่วนอัตโนมัติ (ETC)ไปไทย คาดเริ่มใช้งานได้ในปี 2026
บริษัท FETC International Co. ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มทุนฟาร์อีสท์หรือ FEG ได้ระดมผู้ประกอบการด้าน ETC เป็นทีมชาติจากไต้หวัน ส่งออกระบบจัดเก็บค่าผ่านทางด่วนของไต้หวันไปยังประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ ETC ไปแล้วจำนวน 7 ด่าน และคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2026
“มหกรรมเมืองอัจฉริยะ 2024” ซึ่งเป็นงานแสดงผลงานการพัฒนาอินเตอร์เน็ทออฟติ้งส์ หรือ IoT ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งจัดให้มีขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าหนานกั่ง เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยบริษัท FETC International Co. ของไต้หวันได้นำผลงานการส่งออกระบบจัดเก็บค่าผ่านทางด่วนที่เรียกว่าระบบ ETC ที่ใช้ในไต้หวันมานานกว่า 20 ปี และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ไปยังประเทศไทย ซึ่งเป็นการใช้ระบบ AIoT และ AI เป็นบริการใหม่ที่หลากหลาย
โครงการดังกล่าวของบริษัท FETC International Co. ในประเทศไทย เป็นโครงการติดตั้งระบบจัดเก็บค่าผ่านทางด่วนแบบอัตโนมัติบนทางด่วน M6 และ M81 จำนวน 2 สาย รวมทั้งสิ้น 28 ด่านเซ็นเซอร์อัตโนมัติ ซึ่งตอนนี้ได้ติดตั้งไปแล้ว 7 ด่าน คาดว่าจะแล้วเสร็จตามนโยบายของรัฐบาลไทยในปี 2026
ด่านเซ็นเซอร์ค่าผ่านทางด่วนอัตโนมัติ บนทางด่วนในไทย
บริษัทเดลต้าเตรียมแผนขยายลงทุนในไทย 1.6 หมื่นล้าน ในอีก 4 ปีข้างหน้า
บริษัทเดลต้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย และเป็นบริษัทลูกของบริษัทเดลต้า ของไต้หวัน มีแผนการขยายการลงทุนในไทยอีก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวันในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ของไทยได้ระบุผ่านทวิตเตอร์หรือ X ส่วนตัวเผยแพร่ข่าวดังกล่าว โดยระบุว่า "ขอแสดงความยินดีกับ Delta Electronic ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดเจ้าหนึ่งของไทยครับ ที่วันนี้ได้เปิดตัวการขยายการผลิดและการลงทุน Research Center เพื่อรองรับความต้องการรถ EV และอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกสในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่ต้องการให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสู่ความยั่งยืน และมุ่งไปในทิศทางเดียวกันกับวิสัยทัศน์ประเทศไทย ที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ว่า เราจะมุงไม่สู่ 2 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์หลักคือ อุดสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งตรงกับที่ผู้บริหาร Delta ได้แจ้งให้ผมทราบว่า บริษัทฯ จะลงทุนในไทยเพิ่มอีก 500 สำนเหรียญสหรัฐภายใน 4 ปีนี้ ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านอุตสาหกรรมอิเล็กหรอนิกส์เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างงานที่มีทักษะสูงและโอกาสทางธุรกิจอื่น ๆ ในประเทศไทยด้วย โดยR&D Center ที่ลงทุนเพิ่มนี้ Delta ใช้นักวิจัยและวิศวกรเพิ่มกว่า 1,000 คน และเป็นที่น่ายินดีที่เกือบทั้งหมดเป็นคนไทย ตามที่ผมได้เคยหารือไว้ครับ”
รายงานข่าวระบุว่า โครงการดังกล่าวของเดลต้าอิเล็กทรอนิกส์นี้จะลงทุน 3,000 ล้านบาท หรือประมาณ 2600 ล้านเหรียญไต้หวัน โดยจะนำเอาวิธีการแก้ปัญหาการประหยัดพลังงานในระดับสูงและระบบการผลิตแบบอัจฉริยะเข้ามาใช้ยกระดับในสายการผลิตและเพิ่มคุณภาพสินค้าให้สูงขึ้นด้วย
นายกรัฐมนตรีเศรษฐาฯ ได้กล่าวระบุว่า รัฐบาลไทยยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนเป็นสักขีพยานในพิธีเปิดโรงงานแห่งใหม่ของบริษัทเดลต้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะให้การสนับสนุนบริษัทเดลต้าฯ มุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์แนวหน้า ซึ่งเดลต้าฯ ก็พร้อมแล้วที่จะขานรับนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางคมนาคมแห่งอนาคต” และ “ศูนย์เศรษฐกิจดิจิทัล” และให้คำมั่นว่าจะลงทุนในไทยต่อไปอย่างต่อเนื่องด้วย