ไต้หวันเดือดทรัมป์ฯ ขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าไต้หวัน แถมกล่าวหาไต้หวันแย่งงานแย่งเงินจากสหรัฐฯ ด้วย
การประกาศขึ้นภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เมื่อ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยจัดเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้าไต้หวันในอัตรา 32% ในสินค้าส่วนใหญ่ที่ไต้หวันส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยกเว้นเซมิคอนดักเตอร์ ทองแดง ผลิตภัณฑ์ยา ไม้ พลังงาน และแร่ธาตุที่สำคัญบางชนิด มาตรการดังกล่าวของทรัมป์ฯ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. ศกนี้เป็นต้นไป รวมทั้งเป็นมาตรการที่ดำเนินการต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐฯ จำนวนมหาศาลในอันดับต้น ๆ ซึ่งรวมถึงไทยที่ถูกจัดเก็บสูงกว่าไต้หวันโดยถูกจัดเก็บถึง 36%
ประเทศต่าง ๆ ล้วนมาตรการรับมือในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องขอเปิดการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเล็กที่ไม่มีหมากต่อรองมากนักอย่างไทยและไต้หวัน ส่วนประเทศยักษ์ใหญ่อย่างแคนาดาหรือจีน ก็งัดมาตรการภาษีมาตอบโต้
สำหรับในส่วนของไต้หวัน ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำไต้หวัน ได้โพสต์แสดงความไม่พอใจในทันทีที่ทราบข่าวและหลังร่วมปรึกษาหารือกับระดับสูงของไต้หวันเกี่ยวกับแนวทางการรับมือต่อนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และการประกาศขึ้นภาษีที่เกิดขึ้น โดยตอกย้ำว่า "มาตรการเหล่านี้ไม่สะท้อนความเป็นจริงของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ ซึ่งเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน” และย้ำความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจทั่วโลกอีกด้วย
ประธานาธิบดีไล่ฯ ระบุอีกว่า การขึ้นภาษีต่อไต้หวันเป็นอัตราที่สูงเกินความคาดหมาย รวมทั้งได้สั่งการให้ นายกฯ จั๋ว หรงไท่ และทีมงานติดตามผลกระทบและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสั่งการให้มีการเจรจากับฝ่ายสหรัฐฯ อย่างจริงจังต่อไป
ทางด้านนายกรัฐมนตรีจั๋วหยงไท่ ได้เปิดแถลงข่าวแสดงท่าทีของไต้หวันต่อการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ว่า "ไร้เหตุผลสิ้นดี” (deeply unreasonable) และ "เป็นสิ่งที่สร้างความผิดหวังอย่างสูง” (highly regrettable) โดยโฆษกสภาบริหารไต้หวัน สาธารณรัฐจีน ระบุว่า รัฐบาลไต้หวันจะแสดงความวิตกกังวลอย่างรุนแรงต่อรัฐบาลสหรัฐฯ (lodge a solemn representation) และจะขอเปิดเจรจากับสหรัฐฯ โดยเร่งด่วนและจริงจัง เพื่อผลประโยชน์ของไต้หวันต่อไป รวมทั้งย้ำว่า การขึ้นภาษีร้อยละ 32 ต่อไต้หวันไม่เป็นธรรม และมิได้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ที่แท้จริง เนื่องจากการส่งออกของไต้หวันไปยังสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความต้องการด้านเซมิคอนดักเตอร์และ AI ของสหรัฐฯ เอง นอกจากนี้ ไต้หวันยังมีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมมิให้สินค้าไต้หวันใช้กโลบายอาศัยประเทศที่ 3 ในการส่งผ่านสินค้า (transhipment) จากจีนหรือประเทศอื่น ๆ ไปยังสหรัฐฯ เช่นเดียวกับเวียดนาม กัมพูชา และไทย นอกจากนี้ ยังได้วิพากษ์วิจารณ์แนวทางการคิดคำณวนอัตราการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่ไม่มีความชัดเจนและไม่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา TSMC ของไต้หวันได้ประกาศแผนการลงทุนเพิ่มเติมด้านเซมิคอนดักเตอร์ มูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในมลรัฐอริโซนา และให้คำมั่นที่จะปรับเพิ่มการจัดซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ เพื่อลดมูลค่าการได้เปรียบดุลการค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งในปี 2567 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไต้หวันราว 7.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ราวร้อยละ 54.6 โดยไต้หวันคู่ค้าอันดับ ๖ ที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ มากที่สุด
ไต้หวันเตรียมทุ่ม 8.8 หมื่นล้านช่วยภาคอุตสาหกรรมผ่านพ้นวิกฤตภาษีสหรัฐฯ
ระเบิดนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจลูกใหญ่จากผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ สะเทือนไปทั่วโลก ซึ่งไต้หวันถูกจัดเก็บสูงถึง 32% แม้จะไม่ได้สูงที่สุด แต่ก็ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของไต้หวันในวงกว้างไม่แพ้ประเทศอื่น ๆ ทำให้รัฐบาลไต้หวันต้องเร่งหามาตรการรับมือนอกจากการขอเปิดเจรจากับสหรัฐฯ ในเรื่องนี้
นายจั๋วหยงไท่ นายกรัฐมนตรีได้เปิดแถลงข่าวในวันรุ่งขึ้นหลังทราบข่าวการประกาศจัดเก็บภาษีศุลกากรสินค้าไต้หวันเพิ่มเติมอีกถึง 32% งัดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไต้หวันรวม 9 ประเภท 20 มาตรการ งบประมาณช่วยเหลือรวม 8.8 หมื่นล้านเหรียญไต้หวัน ซึ่งประกอบไปด้วยเงินช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม 7 หมื่นล้าน เกษตร 1.8 หมื่นล้าน โดยจัดทำเป็นงบประมาณพิเศษ ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติจากสภาฯ แต่พรรครัฐบาลเป็นเสียงข้างน้อย จึงต้องขอเสียงสนับสนุนจากฝ่ายค้าน ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านได้แสดงจุดยืนว่า เรื่องนี้ ประธานาธิบดีไล่ฯ ควรเป็นผู้ออกมานำขบวนในการปรึกษาหารือกับฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมของรัฐบาลในตอนนี้กำลังเคลื่อนไหวถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีจุดมุ่งหมายต่อ สส. ของพรรคฝ่ายค้าน สร้างความขัดแย้งและการเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าผู้นำภาคธุรกิจไต้หวันจะมีความเห็นเป็นอื่น นายสวีซูป๋อ ประธานหอการค้าไต้หวันระบุว่า หลังจากฟังการแถลงข่าวจนจบ ก็ยังไม่เข้าใจว่า 8.8 หมื่นล้านจะเอาไปใช้ตรงไหน หรือจะช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างไร พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า ในอนาคตสินค้าส่งออกของไต้หวันมีราคาสูงขึ้น จนอาจนำไปสู่การอพยพโยกย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ ส่วนทางด้านนายหลินป๋อฟง นายกสมาคม Third Wensday ไต้หวัน ก็ระบุว่า การทุ่มเงินช่วยเหลือเหล่านี้ ไม่น่าจะมีประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อผู้ประกอบการ
นายสวี่ซูป๋อ วิเคราะห์ว่า ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดก็คือปริมาณสินค้าส่งออกของไต้หวันจะมีจำนวนลดง ราคาก็จะทะลุเพดาน สินค้าขายไม่ออก เดิมคาดว่าจะได้กำไร แต่เมื่อมีการขึ้นภาษีก็จะส่งผลต่อผลกำไร ซึ่งตอนนี้ ภาษี 32% หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว เมื่อสินค้าของไต้หวันไม่มีศักยภาพความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกแล้ว จะแก้ปัญหานี้อย่างไร? ประเด็นมิใช่อยู่ที่การเปลี่ยนทิศทางการส่งออกสู่ตลาดที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่อยู่ที่การช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนการผลิต ส่วนสินค้าที่ส่งออกก็ยังขาดช่องทางการจัดจำหน่าย อย่างอุตสาหกรรมการบินที่มีอนาคตค่อนข้างสดใส ตอนนี้ก็ขาดคำสั่งซื้อ รัฐบาลจึงควรหาทางแก้ปัญหาให้แก่แต่ละภาคอุตสาหกรรมเป็นรายประเภทแบบเฉพาะเจาะจง มิใช่ใช้วิธีสาดเม็ดเงินแบบเหวี่ยงแหเช่นนี้ ซึ่งไม่อาจแก้ไขสถานการณ์ในตอนนี้ได้ ทำให้ไต้หวันต้องเผชิญหน้ากับการอพยพโยกย้ายฐานการผลิตออกจากไต้หวันไปต่างประเทศ
ส่วนนายหลินฯ ก็ได้แนะนำว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนอยู่แล้ว จึงควรหาทางมิให้ผู้ประกอบการย้ายไปลงทุนในประเทศที่มีภาษีศุลกากรค่อนข้างต่อ ประการต่อมาก็คือ รัฐบาลควรอาศัยความได้เปรียบที่มีอยู่เปิดการเจรจากับสหรัฐฯ การใช้เงิน 8.8 หมื่นล้านมารับมือกับการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งมันไม่มีประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น