กาแฟเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มยอดฮิตที่หลายคนดื่มเพื่อปลุกสมองให้ตื่นตัว คลายความเหนื่อยล้าทั้งทางกายและทางจิตใจ และนอกจากประโยชน์ที่เราได้ยินบ่อยๆเหล่านี้ จากการศึกษาวิจัยพบว่ากาแฟนั้นยังอาจมีประโยชน์ทางการแพทย์ด้านอื่น ๆ อีกมากมาย อย่างเช่น ป้องกันโรคพาร์กินสัน โรคนิ่วในถุงน้ำดี หรือโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นต้นครับ
หลายงานวิจัยชี้ว่าการได้รับคาเฟอีนสามารถช่วยเพิ่มความกระปรี้กระเปร่าในระหว่างวัน เช่น มีการศึกษาหนึ่งที่ให้ผู้เข้าร่วมทดลองที่มีสุขภาพดีรับคาเฟอีน 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ในเวลา 9 โมงเช้าและบ่ายโมง เป็นเวลานาน 3 วัน จากการศึกษาพบว่าคาเฟอีนช่วยลดความง่วง เพิ่มความตื่นตัวและความจดจ่อในช่วงระหว่างวันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้กาแฟยังเป็นตัวเลือกของผู้ที่อดนอนหรือนอนไม่เต็มอิ่มและต้องการความตื่นตัวในวันต่อไป มีการศึกษาประสิทธิภาพของการดื่มกาแฟในชายสุขภาพดีที่อดนอนเป็นเวลา 48 ชั่วโมง พบว่าคาเฟอีนช่วยเพิ่มความตื่นตัวและคลายความอ่อนล้าจากการอดนอนได้อย่างดี ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการศึกษาพบว่าการผสมคาเฟอีนเข้ากับน้ำตาลเป็นเครื่องดื่มชูกำลังยังน่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการใช้ความคิดและการทำงานของสมองได้มากกว่าการได้รับกลูโคสหรือคาเฟอีนเพียงอย่างเดียวอีกด้วย
นอกจากคาเฟอีนจะมีประโยชน์ในการทำให้สมองตื่นตัวแล้ว ยังมีหลายงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า คาเฟอีนอาจช่วยรักษาอาการป่วยต่อไปนี้ได้ด้วย
1. ป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสัน เป็นภาวะอาการที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวผิดปกติและมีอาการสั่นตามร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมได้เนื่องจากการเสื่อมหรือเสียหายของเซลล์สมอง จากผลการวิจัยพบว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนอย่างกาแฟ ชา และน้ำอัดลมเป็นประจำนั้นมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคนี้ได้ การศึกษาหนึ่งที่สนับสนุนสรรพคุณข้อนี้ของคาเฟอีนก็คือ การทดลองให้อาสาสมัคร 317 คนดื่มกาแฟและเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีคาเฟอีนเข้าไป ผลลัพธ์พบว่าการได้รับคาเฟอีนในปริมาณสูง มีความสัมพันธ์กับอัตราความเสี่ยงต่อโรคพาร์กินสันที่น้อยลงทั้งในเพศชายและเพศหญิง ทั้งนี้จากงานวิจัยทั้งหมดที่มี ประสิทธิภาพของคาเฟอีนในการลดความเสี่ยงโรคพาร์กินสันในเพศชาย จะขึ้นอยู่กับปริมาณกาแฟที่ได้รับ สำหรับผู้หญิง ปริมาณคาเฟอีนที่ได้รับไม่ได้มีผลต่อระดับความเสี่ยงเกิดโรคพาร์กินสันมากนัก โดยในเพศชายพบว่าการดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีน 3-4 แก้วต่อวันนั้น จะช่วยให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคพาร์กินสันลดน้อยลงมาก แต่การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนเพียง 1-2 แก้วต่อวันก็ช่วยลดอัตราเสี่ยงได้อย่างมีนัยสำคัญเช่นกันสำหรับผู้หญิง การดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีน 1-3 แก้วต่อวันจะให้ผลดีที่สุดในการรับมือกับโรคพาร์กินสัน นอกจากนี้ผลการศึกษาที่น่าสนใจยังพบว่าการดื่มกาแฟจะไม่มีผลต่อการลดโอกาสเสี่ยงจากโรคนี้ในผู้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ทั้งเพศชายและเพศหญิง ดังนั้นคุณผู้ฟังท่านไหนที่ต้องการดื่มกาแฟเพื่อป้องกันการเกิดโรคพาร์กินสัน ก็ต้องงดเหล้างดบุหรี่ด้วยนะครับ
2. ประโยชน์ด้านการป้องกันโรคนิ่วในถุงน้ำดีครับ
การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างกาแฟอย่างน้อยวันละ 400 มิลลิกรัมดูเหมือนจะมีส่วนช่วยลดการเกิดโรคนี้ได้ โดยจากการศึกษาในผู้ที่ไม่เคยมีประวัติป่วยด้วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีมาก่อนจำนวนหลายพันคน ปรากฏว่าความเสี่ยงต่อโรคทั้งชายและหญิงจะยิ่งลดลงเมื่อได้รับคาเฟอีนในปริมาณที่มากขึ้น โดยการดื่มกาแฟวันละ 800 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่ากับกาแฟประมาณ 4 แก้วขึ้นไปต่อวัน จะให้ผลดีในการป้องกันการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ดีที่สุด
3. ประโยชน์ในการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่มีผู้เข้าร่วมทดลอง 5,145 คนพบว่า ปริมาณการดื่มกาแฟที่มากขึ้นจะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง และยังมีบางงานวิจัยที่กล่าวแนะนำประสิทธิภาพของกาแฟต่อการป้องกันโรคนี้ว่าการบริโภคกาแฟวันละ 3 แก้วอาจช่วยลดโอกาสเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงได้อย่างมีนัยสำคัญ ทว่าผลการศึกษาที่เป็นไปในทางตรงข้ามก็มีเช่นกัน โดยมีการรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นก่อนหน้างานวิจัยข้างต้น ผลสรุปว่าการบริโภคกาแฟหรือชาที่มีคาเฟอีนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง แต่การบริโภคกาแฟที่ผ่านการลดคาเฟอีนแล้วต่างหากที่มีความสัมพันธ์กับอัตราการเกิดโรคที่ลดลง ผลการศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณในด้านนี้ของกาแฟจึงยังมีความขัดแย้งและไม่อาจสรุปได้ชัดเจน
4. ประโยชน์ในการป้องกันโรคเบาหวาน
มีงานวิจัยพบว่าการดื่มกาแฟโดยไม่ใส่น้ำตาลหรือครีมเทียมอย่างน้อยวันละ 3 ครั้งต่อวันให้ผลดีที่สุดในการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานในกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรค ทั้งนี้การศึกษาเกี่ยวกับการใช้กาแฟป้องกันโรคเบาหวานที่มีนั้นยังพบว่าปริมาณที่ให้ผลดีมีความแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มประเทศ เช่น จากการศึกษาในชาวญี่ปุ่น ผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 3 แก้วขึ้นไปจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ลดลง 42 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับผู้ที่ดื่มกาแฟเพียงวันละ 1 แก้วหรือน้อยกว่า ในขณะที่่ในยุโรปที่พบว่าการดื่มกาแฟวันละ 5-6 แก้วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานในเพศชาย 30 เปอร์เซ็นต์ และเพศหญิง 61 เปอร์เซ็นต์
แล้วกาแฟแบบไหนที่เหมาะกับเราบ้างวันนี้ผมมีคำแนะนำจากนักโภชนาการไต้หวันมาฝากครับ
- สำหรับคุณผู้ฟังที่ชอบออกกำลังกาย การดื่มกาแฟดำก่อนออกกำลังกาย 1 ชั่วโมง ก็จะช่วยคลายความเหนื่อยล้า เพิ่มสมรรถภาพและส่งเสริมให้การออกกำลังกายมีผลลัพธ์ที่ดีด้วย
- สำหรับในคุณผู้ฟังที่กำลังลดน้ำหนัก เมื่อพิจารณาจากจำนวนแคลอรีแล้ว กาแฟดำไซส์กลาง 1 แก้วจะให้พลังงาน 20 แคลอรี แต่ถ้าเป็นลาเต้ก็จะอยู่ที่ประมาณ 200 แคลอรี นักโภชนาการกล่าวว่า การดื่มกาแฟไม่ใส่ลมและน้ำตาลก็จะช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนักได้
- สำหรับในคนไม่มีเวลากินอาหารเช้านั้น แนะนำให้ดื่มลาเต้ เพราะเนื่องจากคาเฟอีนนั้นมีฤทธิ์ในการกระตุ้นการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ดังนั้นนการดื่ม “ลาเต้ ” ขณะท้องว่างก็จะทำร้ายกระเพาะอาหารเราน้อยกว่ากาแฟดำ นอกจากนี้ในลาเต้โปรตีนจากนมซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพของเราด้วย
- สำหรับในผู้ที่กระเพาะอาหารอักเสบบ่อยๆแนะนำให้ดื่มกาแฟคั่วเข้ม เนื่องจากในการแฟจะมีสารตัวหนึ่งชื่อ N-methylpyridium สารตัวนี้จะไม่ปรากฎในเมล็ดกาแฟ แต่จะถูกสร้างขึ้นเมื่อกาแฟผ่านการคั่วแล้ว สารดังกล่าวนี้มีฤทธิ์ในการลดการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร ดังนั้นการดื่มกาแฟคั่วเข้มก็จะสามารถลดการระเคืองในกระเพาะอาหารได้
คอกาแฟหลายคนบอกว่า ตัวเองนั้นเสพติดกับการดื่มกาแฟไปแล้ว วันไหนที่ไม่ได้ดื่มกาแฟ ก็จะปวดหัวง่าย อันนี้นักโภชนาการอธิบายว่า การบริโภคคาเฟอีนมากเกินไปนั้นอาจทำให้ไมเกรนกำเริบได้ ข้อสังเกตคือ บางคนจะมีอาการปวดศีรษะหากวันไหนที่ไม่ได้ดื่มกาแฟ โดยเฉพาะในผู้ที่บริโภคคาเฟอีนมากกว่า 200 มก. ต่อวัน ซึ่งเราสามารถหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวได้ดังต่อไปนี้
1. ควบคุมการบริโภคโดยจำกัดปริมาณคาเฟอีนให้น้อยกว่า 200 มก. ต่อวัน
2. ลดความถี่ในการดื่มกาแฟ แต่ไม่ควรหยุดดื่มกะทันหัน ให้ค่อยๆ ลดอย่างเช่นจากเดิม 2 แก้วต่อวันก็ให้เหลือ 1 แก้วต่อวัน
หลายคนมีคำถามว่าการดื่มกาแฟทำให้กระดูกพรุน จริงไหม? นักโภชนาการกล่าวว่า จากผลการวิจัยทางการแพทย์ในปัจจุบันพบว่าการดื่มกาแฟนั้นไม่เกี่ยวข้องกับโรคกระดูกพรุนอย่างมีนัยสำคัญ จริงอยู่ที่กาแฟมีกรดออกซาลิกซึ่งจะส่งผลต่อการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารและเพิ่มการขับออกของแคลเซียมในปัสสาวะ แต่ก็ไม่ได้มีผลมากจนนำไปสู่โรคกระดูกพรุนได้ ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนมักเกิดจากการกินแคลเซียม วิตามินดี เข้าไปไม่เพียงพอ และการไม่ออกกำลังกายเป็นต้น
สำหรับบางคนที่ดื่มกาแฟแล้วปวดอุจจาระ อันนี้นักโภชนาการกล่าวว่าเป็นความจริง จากสถิติพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่ดื่มกาแฟแล้วจะมีอาการอยากขับถ่าย เหตุผลก็เนื่องจากเมื่อกาแฟเข้าไปถึงผนังด้านในของกระเพาะอาหาร มันจะไปกระตุ้น "Gastrocolic Reflex" และเริ่มสั่งให้ลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหว ส่งผลให้เราอยากถ่ายอุจจาระได้