โรคฝีดาษลิง เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ Monkeypox virus ใน genus Orthopoxvirus ซึ่งมีความใกล้ชิดกับไวรัสไข้ทรพิษ หรือไวรัสฝีดาษ โรคฝีดาษลิง มีการค้นพบครั้งแรกจากลิงแสม (Cynomolgus macaque) ที่นำไปใช้ในห้องทดลองในประเทศเดนมาร์กในปี 1959 (2502) จึงมีการตั้งชื่อไวรัสดังกล่าวว่า Monkeypox virus หรือไวรัสฝีดาษลิงนั่นเอง ต่อมาในปี 1970 (2513) มีการรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในมนุษย์รายแรก ซึ่งเป็นเด็กวัย 9 ขวบ ที่อาศัยอยู่ในประเทศคองโก โรคฝีดาษลิงมีการระบาดหลักในแถบแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง ซึ่งไวรัสตัวนี้นอกจากจะพบในลิงแล้วก็ยังพบใน สัตว์ฟันแทะ (rodents) เช่น หนู กระรอก อีกด้วย
โดยทั่วไปแล้วโรคนี้จะมีอาการประมาณ 14-21 วัน เชื้อไวรัสจะมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 5-14 วัน หรือบางทีก็อาจจะนานถึง 21 วัน หลังจากนั้นผู้ป่วยก็จะเริ่มมีอาการมีไข้สูง หนาวสั่น เหงื่อออก ปวดหัว ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองบวมโตไม่ว่าจะเป็นที่บริเวณใบหู รักแร้ คอ หรือขาหนีบ ต่อมาจะเริ่มมีอาการทางผิวหนังภายใน 1-3 วัน หลังเริ่มแสดงอาการป่วย โดยเริ่มจากมีอาการผื่นแดง เป็นตุ่มพอง ตุ่มหนอง ตามผิวหนังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หลังจากนั้นอาการต่าง ๆ จะค่อยๆหายแล้วกลายเป็นสะเก็ดแห้ง ซึ่งผู้ป่วยสามารถหายจากโรคได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์ อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 1-10% เท่านั้น นอกจากนี้ ในแต่ละคนก็จะแสดงอาการบนผิวหนังในบริเวณที่แตกต่างกันออกไป บางคนก็กระจุกอยู่บนใบหน้า บางคนเป็นที่ฝ่ามือฝ่าเท้า และบางคนก็อาจเป็นที่ปาก อวัยวะเพศ และดวงตาได้ด้วย อาการป่วยของโรคฝีดาษลิง จะค่อนข้างคล้ายโรคสุกใส ถ้ามีอาการดังกล่าวก็ควรรีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้เพื่อจะได้ลดการแพร่กระจายของโรค
การติดต่อของโรคฝีดาษลิงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ทางหลักได้แก่ การติดต่อจากสัตว์สู่คนและจากคนสู่คน
1. การติดต่อจากสัตว์สู่คน
ส่วนใหญ่สัตว์ที่จะแพร่เชื้อฝีดาษลิงให้คนก็ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก แพรรี ด็อก เป็นต้น จริงๆสัตว์ตระกูลลิงก็สามารถป่วยจากโรคฝีดาษลิงได้ แต่โอกาสในการแพร่เชื้อสู่คนก็ยังถือว่าต่ำกว่าสัตว์ฟันแทะ การติดต่อจากสัตว์พาหะสู่มนุษย์ มักเกิดจากการโดนกัด โดนข่วน การสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ป่วย หรือการชำแหละสัตว์พาหะที่มีเชื้อ บางทีก็มาจากกินสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคนี้ แล้วปรุงไม่สุก เชื้อมันเลยไม่ตาย คนกินเลยรับเข้าไปเต็มๆ เพราะฉะนั้นอย่าไปซี้ซั้วกินสัตว์อะไรแปลกๆนะครับคุณผู้ฟัง
2. การติดต่อระหว่างคนสู่คน
ผู้ที่เป็นโรคฝีดาษลิงจะแพร่เชื้อได้ก็ต่อเมื่อแสดงอาการ ซึ่งปกติก็ช่วงประมาณ 2 ถึง 4 สัปดาห์ จะเป็นการติดต่อจากการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วย ซึ่งทำให้มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อจากผู้ป่วย เช่น จากสะเก็ดแผล (scrab) ตุ่มน้ำพอง (vesicle) ตุ่มหนอง (pustule) หรือการสัมผัสสิ่งคัดหลั่ง (body fluid) ของผู้ป่วย เช่นน้ำลาย น้ำมูก แล้วก็เข้าทางเยื่อเมือกต่าง ๆ
กลุ่มเสี่ยงที่ติดโรคนี้ได้ง่ายก็ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะเด็กเล็กและเด็กทารกแรกเกิด คนกลุ่มนี้ก็จะมีอาการรุนแรงกว่าและมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าคนปกติ ส่วนใหญ่สาเหตุของการเสียชีวิตนั้นมาจากการมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่นการติดเชื้อที่ผิวหนัง ปอดอักเสบ หรือติดเชื้อที่บริเวณรอบดวงตาก็จะทำให้ตาบอดและเสียชีวิตเป็นต้น ปัจจุบันในประเทศที่มีการระบาดหนัก มีการรายอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ 3-6 %เท่านั้น
เมื่อติดเชื้อฝีดาษลิงแล้วไปพบแพทย์ โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะเฝ้าดูอาการและให้ยาบรรเทาอาการ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาการมักหายได้เอง โดยไม่ต้องรักษา จะเน้นการดูแลแผลที่เป็นผื่น โดยต้องอย่าให้แผลเปียกน้ำ หรืออาจใช้ก๊อซปิดแผลไว้ จากนั้นก็จะแยกตัวผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค สำหรับยาที่ใช้ในการรักษาโรคฝีดาษลิงนั้น ยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย โดยทั่วไปยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ในการรักษาโรคไข้ทรพิษก็อาจใช้รักษาโรคฝีดาษลิงได้เนื่องจากเป็นไวรัสในกลุ่มเดียวกัน ส่วนข้อมูลประสิทธิภาพต้องอาศัยการศึกษาวิจัยในคนเพิ่มเติม
แล้วเราจะมีวิธีการป้องกันตอนเองจากไวรัสชนิดนี้อย่างไร แน่นอนต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่จำเพาะต่อโรคนี้ แต่จากการศึกษาพบว่าการทำวัคซีนฝีดาษ (smallpox vaccination) หรือที่เราเรียกว่าปลูกฝี สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ถึง 85% นอกจากนี้การใช้มาตรการสุขอนามัยส่วนตัวที่ใช้ในการป้องกันโรคโควิด-19 ก็สามารถใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ จากธรรมชาติในการติดต่อของโรค นอกจากนี้การหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะ หากสัมผัสแล้วควรล้างมือด้วยสบู่ หรือเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ หรือหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค หากจำเป็นต้องสัมผัสกับผู้ป่วย ก็ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน โดยสามารถทำได้โดยสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ใกล้ผู้ป่วย และ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผิวหนังของผู้ป่วย หากจำเป็นต้องสัมผัสก็ควรสวมถุงมือป้องกันด้วย ถ้าจะซักผ้าให้ผู้ป่วยก็อาจจะใช้น้ำอุ่นร่วมกับผงซักฟอก เท่านี้ก็สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้แล้ว
ทางศูนย์บัญชาควบคุมโรคไต้หวันกล่าวว่า จริงๆโรคนี้ได้ถูกจัดเป็นโรคระบาดประเภทที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2565 เว็บไซต์ของศูนย์ฯก็มีการให้ข้อมูลโรคนี้ไว้แล้วด้วย ประชาชนท่านใดที่สนใจก็สามารถไปหาอ่านได้บนเว็บไซต์ นอกจากนี้ไต้หวันก็เคยเจรจาจะนำวัคซีนฝีดาษลิงเข้ามาฉีดให้คนในประเทศ แต่องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำ แนะนำให้ฉีดให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น เช่นบุคลากรทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องคุกคลีกับผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยง ตลอดจนในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
หลายฝ่ายกังวลว่าโรคนี้มีโอกาสจะระบาดเป็นวงกว้างไหม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ไวรัสชนิดนี้ไม่ได้ถูกจัดในกลุ่มไวรัสที่มีความสามารถในการแพร่กระจายสูง คิดว่าโรคนี้อาจจะไม่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักเหมือนโควิด-19 อย่างแน่นอน
หลายคนมีคำถามว่าโรคนี้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไหม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อได้ผ่านน้ำอสุจิหรือไม่ อย่างไรก็ตามขณะมีเพศสัมพันธ์ก็หลีกเลี่ยงที่จะไม่กอดจูบและ ถูกเนื้อต้องตัวกันก็ได้ ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์ก็ถือเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงที่จะทำให้ติดโรคนี้
หากบังเอิญไปสัมผัสผู้ป่วยมาแล้วต้องทำอย่างไร ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าผู้สัมผัสใกล้ชิดควรสังเกตอาการตนเองเป็นเวลา 3 สัปดาห์ หากไม่มีอาการจึงจะแน่ใจได้ว่าตนไม่ติดเชื้อ
ฝีดาษลิงเป็นแล้วเป็นอีกได้ไหม จะมีภูมิคุ้มกันแบบอีสุกอีไสหรือเปล่า ประเด็นนี้ผู้เชี่ยวชาญก็ยังตอบไม่ได้ เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยที่มากพอ