หนึ่งสิ่งที่ชาวไต้หวันนิยมรับประทานในช่วงเทศกาลเช็งเม้งก็คงจะหนีไม่พ้น 潤餅 (รุ่นปิ่ง) หรือเปาะเปี๊ยะสดสไตล์ไต้หวัน และไส้ของเปาะเปี๊ยะสดแบบฉบับไต้หวันก็จะประกอบด้วย หัวใชโป๊ะ ถั่วงอก กะหล่ำปลี แครอท ไข่ไก่ หมูฝอย รวมถึงเต้าหู้และถั่วลิสง ซึ่ง 2 อย่างสุดท้ายนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบว่าไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารมากที่สุดเลยก็ว่าได้ เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา กองอนามัยเทศบาลกรุงไทเปเปิดเผยว่า เพื่อเป็นการรับประกันความปลอดภัยของผู้บริโภค ทางกองอนามัยจึงได้ส่งเจ้าที่ไปตามร้านขายเปาะเปี๊ยะสด ร้านขายอาหารไหว้เช็งเม้งชื่อดังและร้านละแวกวัดและศาลเจ้าต่างๆ ตลอดจนร้านขายวัตถุดิบตามตลาด ซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายของชำเป็นต้น โดยมีการสุ่มตรวจจุลินทรีย์ในอาหาร สารกันบูด 12 ชนิด ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อะฟลาทอกซิน ตลอดจนสารปรุงรสแต่งสีในผลิตภัณฑ์อาหารที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลเช็งเม้งทั้งหมด 49 รายการ ปรากฎว่าในจำนวนนี้มี 3 รายการที่ไม่ผ่านมาตรฐาน หรือคิดเป็น 6.12% ซึ่ง 2 ใน 3 รายการที่ไม่ได้มาตรฐานคือ ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองที่อยู่ในรูปของ "เต้าหู้แห้ง" และ "เต้าหู้เส้น" ที่มีปริมาณกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน ส่วนอีก 1 รายการเป็น “ถั่วลิสงป่น” ที่ตรวจพบอะฟลาทอกซิน
แล้วอะฟลาทอกซินคืออะไร? รับประทานเข้าไปแล้วเกิดโทษต่อร่างกายเราอย่างไรบ้าง?
ศาสตราจารย์เจาหมิงเวย (招名威) ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาเปิดเผยว่า อะฟลาทอกซิน คือสารพิษที่ผลิตจากเชื้อรา Aspergillus flavus และ Aspergillus paraciticus ซึ่งเชื้อราสองชนิดนี้จะสร้างสารพิษในภาวะที่อาหารมีความชื้นสูงและในสภาวะที่อุณหภูมิประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้สารอะฟลาท็อกซินเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ตับ การรับประทานสารอะฟลาท็อกซินเข้าจะก่อให้เกิดการอักเสบของตับ จนนำไปสู่ภาวะตับแข็ง และกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด นอกจากนี้ อะฟลาท็อกซินอาจมีผลต่อไตและหัวใจด้วย มีงานวิจัยระบุว่า อะฟลาทอกซินในปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง
จริงๆแล้ว อะฟลาท็อกซินสามารถพบในอาหารหลายชนิด นอกจากพบมากในถั่วลิสงและถั่วชนิดอื่นๆ แล้ว ยังพบในพืชผลทางการเกษตรประเภทพืชน้ำมันและธัญพืชอื่นๆ อีก เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าว แป้ง มะพร้าว หัวหอม และกระเทียม นอกจากนี้ยังสามารถพบในอาหารแห้งชนิดอื่นๆ เช่น ผัก-ผลไม้อบแห้ง ปลาแห้ง กุ้งแห้ง เนื้อมะพร้าวแห้ง พริกแห้ง พริกไทย และงา เป็นต้น โดยอาจปนเปื้อนได้ทั้งในระหว่างกระบวนการผลิต หรืออาจจะปนเปื้อนจากการเก็บรักษา อะฟลาท็อกซินนั้นเป็นสารที่ทนความร้อนได้สูงถึง 300 องศาเซลเซียสหรืออาจจะมากกว่านั้น ดังนั้น ระดับความร้อนที่ใช้ในการหุงต้มอาหารจึงไม่สามารถทำลายสารพิษนี้ลงได้ ดังนันวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้สารพิษชนิดนี้ปนเปื้อนในวัตถุดิบที่นํามาใช้ประกอบอาหาร
เนื่องจากไต้หวันมีภูมิอากาศที่ค่อนข้างร้อนและชื้น เมื่อซื้อของแห้งมาแล้วจึงควรเก็บรักษาอย่างดี ควรเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น ทางที่ดีควรซื้อมาแต่พอรับประทาน ควรรับประทานครั้งเดียวให้หมด นอกจากนี้ ขณะที่เราเลือกซื้อ ควรเลือกที่ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สมบูรณ์ ไม่แตกหรือชำรุด มีส่วนประกอบและมาตรฐานความปลอดภัยที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ หากเป็นอาหารที่หาซื้อได้ตามตลาด ควรเลือกของสดใหม่ ไม่มีกลิ่นเหม็นหรืออับชื้น