คุณเป็นสายมัทฉะหรือเปล่า? กระแสการดื่มมัทฉะกำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ไม่เพียงเพราะสีเขียวสดและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม มัทฉะมีประโยชน์ตามที่เล่าขานกันจริงหรือไม่? มาดูงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ ไปพร้อมกันเลยค่ะ
มัทฉะมีคาเฟอีนมากกว่าชาเขียวทั่วไป
จากรายงาน มัทฉะเป็นผงชาเข้มข้นที่ทำจากใบของต้นชา Camellia sinensis โดยมีรสชาติที่หวานและนุ่มนวลกว่าชาเขียวทั่วไป จุดที่แตกต่างคือ มัทฉะเติบโตในร่ม ทำให้มีความเข้มข้นของสารไฟโตนิวเทรียนท์หรือพฤกษเคมีบางชนิดสูงขึ้น อย่างเช่น โพลีฟีนอลและสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ
มัทฉะมักจะรับประทานในรูปแบบผง โดยการละลายน้ำร้อน ซึ่งแตกต่างจากชาเขียวทั่วไปที่ใช้ใบแช่ในน้ำร้อน แต่ว่าในตลาดปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มัทฉะในรูปแบบถุงชา ที่ใช้แช่ในน้ำร้อนให้เลือกด้วย อย่างไรก็ตาม ควรทราบว่า มัทฉะขนาด 8 ออนซ์ (ประมาณ 240 มล.) มีคาเฟอีนอยู่ที่ 38-89 มก.ถึง แม้ว่าจะน้อยกว่ากาแฟ แต่ก็สูงกว่าชาเขียวทั่วไป
มัทฉะช่วยลดความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีหรือ (LDL)
งานวิจัยพบว่า มัทฉะอุดมไปด้วย สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น คาเทชิน (catechin) คลอโรฟิลล์ (chlorophyll) และเควอซิทิน (quercetin)
เควอซิทินเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ เป็นสารที่ให้ฤทธิ์ในการต้าน ออกซิเดชั่นสูงที่สุด มีมากในหัวหอม หอมแดง และพืชตระกูลถั่ว ให้ฤทธิ์ในการป้องกันการอักเสบ ป้องกันแบคทีเรีย และไวรัส ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรค ควบคุมการออกฤทธิ์ของฮอร์โมน ช่วยป้องกันอาการแพ้ ป้องกันการแข็งตัวของเลือด ป้องกันการเกิดออกซิเดชั่น ในหลอดเลือด
จากผลการวิเคราะห์จากวารสาร European Journal of Nutrition พบว่า คาเทชินและรูติน (rutin) ในชาเขียวมีส่วนช่วยลดระดับความดันโลหิตและ LDL
นอกจากนี้ โพลีฟีนอลในมัทฉะยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ขณะที่ กรดอะมิโน L-theanine ในมัทฉะมีความสัมพันธ์กับการช่วยเพิ่มสมาธิและความตื่นตัว อีกทั้งยังมีงานวิจัยบางส่วนระบุว่าสารต้านอนุมูลอิสระและโพลีฟีนอลอาจช่วยเพิ่มความไวของอินซูลิน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพด้านเมตาบอลิซึม อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาในมนุษย์เพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลลัพธ์เกี่ยวกับสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการทำงานของสมอง
※ มัทฉะมีประโยชน์มากมายแและมีวิธีทานได้หลากหลาย แต่ควรหลีกเลี่ยงความร้อนสูงเพื่อลดการสูญเสียของสารต้านอนุมูลอิสระ