close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 27 กรกฏาคม 2564

  • 27 July, 2021
ที่นี่ไต้หวัน
ไต้หวันใช้เวลา 8 ปี ปรับปรุงพันธุ์ “เอ็กไคนาเซีย” สมุนไพรท้องถิ่นชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเหนือ

วันนี้มีเรื่องของสมุนไพรที่ชาวยุโรปและอเมริกานิยมใช้เพื่อรักษาและป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรียมากว่า 100 ปีแล้วมาเล่าสู่กันฟัง สมุนไพรตัวนี้มีชื่อว่า “เอ็กไคนาเซีย (Echinacea)” ภาษาจีนเรียกว่า “จื่อจุยจวี๋-紫錐菊” หากพูดถึงสมุนไพรฝรั่งแล้วก็ทำให้นึกถึงสมุนไพรไทยตัวหนึ่งที่ดังมากในขณะนี้ นั่นก็คือ “ฟ้าทะลายโจร” มีสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย ใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอ ซึ่งยาฟ้าทะลายโจรไม่ได้มีส่วนช่วยในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่มีความสามารถในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส เพราะฉะนั้นจึงมีการนำไปใช้เป็นยารักษาร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ทั้งนี้ ฟ้าทะลายโจรมีสารที่ชื่อว่า “แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide)” ที่สามารถยับยั้งการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ ทำให้ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงมีอาการดีขึ้น และมีส่วนช่วยในการป้องกันปอดอักเสบ แต่ต้องกินในปริมาณที่ถูกต้องจึงมีประสิทธิภาพ และหลังจากฟังเรื่องราวความอัศจรรย์ของฟ้าทะลายโจรที่เป็นสมุนไพรไทยแล้ว วกกลับมาเรื่องของสมุนไพรฝรั่ง “เอ็กไคนาเซีย” ที่นำมาเล่าให้ฟังในวันนี้ต่อเลยนะคะ เอ็กคนาเซีย เป็นสมุนไพรที่เดิมทีชาวอินเดียแดงอาศัยอยู่ในอเมริกาค้นพบว่าเป็นพืชที่ช่วยรักษาโรค บรรเทาอาการป่วยต่างๆ เช่น เวลาปวดฟันก็นำดอกเอ็กไคนาเซียมาเคี้ยว อาการปวดฟันก็บรรเทาลง ต่อมามีการนำส่วนของดอกมาแช่กับเหล้าวอดก้า หรือเอากิ่ง ลำต้นทำเป็นยาดองเหล้า เพื่อรักษาโรคหรือสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย  และต่อมาคนยุโรปที่ย้ายเข้าไปอยู่ในอเมริกาเริ่มเรียนรู้การนำมาใช้ประโยชน์จากชาวอินเดียแดง และนำกลับไปใช้ในยุโรป จนปัจจุบันกลายเป็นสมุนไพรที่ใช้กันแพร่หลายทั้งในยุโรปและอเมริกา ครองตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่สำคัญ โดยนักวิจัยพบว่า เอ็กไคนาเซีย เป็นสมุนไพรที่สามารถเพิ่มการทำงานของเม็ดเลือดขาวกำจัดไวรัส และสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูงและไม่พบผลข้างเคียงอย่างเช่นที่พบในการใช้ยาแผนปัจจุบันที่ใช้บรรเทาอาการหวัดโดยทั่วไป ซึ่งในปัจจุบัน มีการผลิตในรูปแคปซูลเพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับประทานมากขึ้น

ดร.เฉินอวี้ซิง จดทะเบียนเอ็กไคนาเซียกับกระทรวงสาธารณสุขฯเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอาหารได้

สำหรับในไต้หวันเริ่มมีการวางแผนงานวิจัยสมุนไพรเอ็กไคนาเซียมาตั้งแต่ปี 2000 โดยมีสถานีปรับปรุงพันธุ์พืชไทจงร่วมมือกับศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เกษตรเขตแปซิฟิกของแคนาดา ทยอยนำเข้าพืชสมุนไพร 46 ชนิดเข้ามาปลูกในไต้หวัน แล้วต่อมามีการคัดเลือกพืชสมุนไพรที่เหมาะต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของไต้หวัน โดยคำนึงถึงศักยภาพการพัฒนา การนำไปใช้ ในที่สุดคัดเลือกได้สมุนไพร 14 ชนิด ในจำนวนนี้ มีเอ็กไคนาเซียรวมอยู่ด้วย ต่อมาในปี 2010 ดร.เฉินอวี้ซิง(陳裕星) ที่กำลังดำรงตำแหน่ง ผอ.สถานีปรับปรุงพันธุ์ไทจงในขณะนั้น ได้นำสมุนไพรเอ็กไคนาเซีย ยื่นขอจดทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการว่าเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอาหารได้ จากนั้นระหว่างปี 2012-2017 เริ่มทยอยให้คำแนะนำ 7 โรงงานผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรเอ็กไคนาเซียวางขายในท้องตลาดของไต้หวัน มีทั้งในรูปของถุงชาออร์แกนิกสำหรับชงดื่ม ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของเอ็กไคนาเซีย มีการถ่ายโอนเทคนิคการนำไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น

เฉินหวนปิน(นักวิจัย)ใช้เวลา 8 ปี ปรับปรุงพันธุ์เอ็กไคนาเซียเหมาะกับอากาศของไต้หวัน 

อย่างไรก็ตาม แม้ดร.เฉินอวี้ซิงได้ทุ่มเทและให้คำแนะนำพัฒนาเทคนิคต่างๆ อย่างเต็มศักยภาพแล้วก็ตาม แต่ในเรื่องของการเพาะปลูกสมุนไพรเอ็กไคนาเซียของไต้หวันก็ยังคงมีปัญหาที่ต้องมีการปรับปรุงอีกไม่น้อย ปี 2011 เฉินหวนปิน(陳鐶斌) ผู้ช่วยวิจัยสถานีปรับปรุงพันธุ์ไทจงได้เข้าไปทำหน้าที่ช่วยเหลือ แนะนำ สมาคมเกษตรตำบลเฉ่าถุนของเมืองหนานโถวที่ปลูกเอ็กไคนาเซียพบว่า ต้นเอ็กไคนาเซียที่ปลูกในท้องทุ่งโตไม่เท่ากัน ออกดอกน้อย ระยะห่างของการออกดอกระหว่างต้นแรกกับต้นสุดท้ายห่างกันเกือบ 2 เดือน หลังวิเคราะห์อย่างละเอียดพบว่า สายพันธุ์ของเอ็กไคนาเซียที่ขายในท้องตลาดไต้หวันส่วนใหญ่มาจากอเมริกาและเนเธอแลนด์ ไม่เหมาะต่อไต้หวันที่ช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ผลิได้รับแสงแดดส่องสั้นและต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีการสกัดสมุนไพรเอ็กไคนาเซียในไต้หวันเริ่มพัฒนาดีขึ้น แต่การเพาะปลูกเอ็กไคนาเซียที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศยังไม่ดีนัก เพราะฉะนั้น เฉินหวนปิน จึงตัดสินใจปรับปรุงพันธุ์ของสมุนไพรเอ็กไคนาเซีย โดยใช้เวลา 8 ปีในการวิจัยพัฒนาเพาะต้นกล้า คัดเลือกแบบวิธีสลับหมุนเวียนถึง 3 เจเนอเรชัน ปี 2017-2018 เริ่มทดลองปลูกในปริมาณมากและทำการวิเคราะห์องค์ประกอบที่มีประสิทธิภาพ ในที่สุดในปี 2019 รายงานผลสรุปได้เอ็กไคนาเซียสายพันธุ์ใหม่

เปรียบเทียบเอ็กไคนาเซียพันธุ์เดิมที่เคยปลูกกับพันธุ์ใหม่ "ไทจงเบอร์1"

ปัจจุบัน การขยายพันธุ์และเทคโนโลยีเอ็กไคนาเซียสายพันธุ์ “ไทจงเบอร์ 1 ”ได้ถ่ายโอนเทคนิคให้กับโรงงาน 3 แห่งในไต้หวัน เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกเอ็กไคนาเซียคุณภาพดี ถ่ายโอนสิทธิ์ให้กับบริษัทไบโอเทคโนโลยีปลายน้ำพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ สำหรับการนำเอ็กไคนาเซียมาใช้ประโยชน์ นอกจากใช้พัฒนผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพดังกล่าวข้างต้นแล้ว ไม่กี่ปีนี้ สถานีไทจงร่วมกับแผนกเด็กของโรงพยาบาลแห่งชาติไต้หวัน ทดลองในห้องแลปพบว่า สารสกัดจากเอ็กไคนาเซียสามารถยับยั้งเอนเทอโรไวรัสหรือโรคมือ เท้า ปาก และอะดีโนไวรัสได้ จากนั้นจะนำไปจดสิทธิบัตรที่อเมริกาและแคนาดา อนาคตขอเพียงมีการนำมาใช้ทางการแพทย์ของสหรัฐและแคนาดาที่มีการยืนยันว่า เอ็กไคนาเซียยับยั้งเอนเทอโรไวรัสและอะดีโนไวรัสได้ ก็ต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรให้กับไต้หวัน ดร.เฉินอวี้ซิงกล่าวปนหัวเราะว่า เอ็กไคนาเซียมีการนำมาใช้ในยุโรปและอเมริกาเป็นเวลานับร้อยปีแล้ว แต่ถ้าได้สิทธิบัตรในรายการนี้ ก็เสมือนกับไต้หวันทำกิมจิอร่อยกว่าเกาหลี ถือเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง

สถานีปรับปรุงพันธุ์ไทจงร่วมกับแผนกเด็กโรงพยาบาลไถต้า ทดลองสกัดสารในเอ็กไคนาเซีย ช่วยยับยั้งเอนเทอโรไวรัสและอะดีโนไวรัสได้

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง