close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 18 ต.ค.2565

  • 18 October, 2022
ที่นี่ไต้หวัน
ข้าวไถหนานเบอร์ 20  ข้าวเปลือก(ซ้าย) ข้าวกล้อง(กลาง) ข้าวขาว(ขวา)

     ไต้หวันเปิดตัวข้าวสายพันธุ์ใหม่ “ไถหนานเบอร์ 20” ที่มีข้อดีหลายประการ เช่น การเพาะปลูกที่ใช้ปริมาณน้ำลดลง 20% ขณะเดียวกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ในดินมากกว่า 30%  ปัจจุบันสถานีปรับปรุงพันธุ์พืชเขตไถหนานมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีให้กับรัฐบาลเมืองเจียอี้เพื่อให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูก ในอนาคตจะผลักดันให้เมืองอื่นปลูกเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปี สามารถปลูกข้าวไถหนานเบอร์ 20 ในพื้นที่ 1,000 เฮกตาร์ ช่วยเหลือเกษตรกรลดการใช้น้ำ และยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย ซึ่งคุณหยางหงอิง(楊宏瑛) ผู้อำนวยการสถานีปรับปรุงพันธุ์พืชเขตไถหนานบอกว่า ข้าวไต้หวันที่ให้ผลผลิตสูงส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ไถหนานเบอร์ 11 แต่ข้าวสายพันธุ์นี้จำเป็นต้องขจัดปัญหาโรคใบไหม้ และเพื่อต้องการเพิ่มความอร่อย ความอยากทานข้าวให้กับผู้บริโภค ทางสถานีปรับปรุงพันธุ์พืชได้นำเข้าข้าวสายพันธุ์ญี่ปุ่น milky queen มาพัฒนาเพาะปลูกกลายเป็นข้าวที่มีความนุ่ม เหนียว หนึบ โดยตั้งชื่อว่าไถหนานเบอร์ 14 จากนั้นทำการปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้นอีกหลายครั้ง โดยใช้เวลา 9 ปี ปรับปรุงเป็นพันธุ์ข้าวอร่อยขึ้น เติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมของไต้หวัน

ข้าวไถหนานเบอร์ 20 ปลูกง่าย ประหยัดน้ำ

     เฉินหรงคุน(陳榮坤) หัวหน้าสถานีปรับปรุงพันธุ์พืชสาขาเจียอี้บอกว่า ข้าวไถหนานเบอร์ 14 เมล็ดจะเล็กกว่า ค่อนข้างเหนียว ติดฟันง่าย เวลาทานจะไม่หอมเป็นพิเศษ เวลาปลูกมีความต้านทานโรคใบไหม้ไม่มาก เพื่อต้องการปรับปรุงข้าวให้ได้พันธุ์ที่ดีขึ้น จึงใช้วิธีเพาะปลูกแบบดั้งเดิม ด้วยการนำข้าวไถหนานเบอร์ 14 ผสมข้ามสายพันธุ์กับข้าวไถเกิงเบอร์ 4 ที่มีความหอม จากนั้นนำข้าวที่ได้มาผสมกับข้าวไถหนงเบอร์ 84 ที่มีเมล็ดข้าวค่อนข้างใหญ่ ต้านทานโรคใบไหม้ แล้วนำมาลองรับประทาน โดยผ่านการปรับปรุงครั้งแล้วครั้งเล่านานถึง 9 ปี ลองทานดูหลายๆ ครั้ง จนคิดว่าได้ข้าวที่จัดว่ามีรสชาติดี หอม อร่อย ไม่ติดฟัน เหมาะสำหรับเด็กและผู้สูงวัย เหมาะในการทำข้าวซูชิ ในที่สุดตั้งชื่อข้าวนี้ว่า “ไถหนานเบอร์ 20”

ข้าวไถหนานเบอร์ 20 เหมาะในการทำซูชิ หรือข้าวปั้น

     หยางหงอิง(楊宏瑛) ผู้อำนวยการสถานีปรับปรุงพันธุ์พืชเขตไถหนานบอกด้วยว่า เวลาที่ปลูกข้าวไถหนานเบอร์ 20 เกษตรกรใช้วิธีชลประทานแบบแห้งชื้นซึ่งก็หมายความว่าลดจำนวนวันของการใช้น้ำที่ปล่อยเข้าไปในนา ในช่วงที่เพาะปลูกสามารถใช้ท่อพลาสติกเจาะรู สังเกตถ้าระดับน้ำที่อยู่ในนาข้าวต่ำกว่าพื้นผิว 5 เซนติเมตร ค่อยปล่อยน้ำเข้าไปในนาข้าวใหม่ การทำเช่นนี้จะลดการใช้น้ำประมาณ 2,500 ตันต่อเฮกตาร์ ซึ่งหมายความว่าสามารถประหยัดปริมาณการใช้น้ำไปประมาณ 21% แต่ละปีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนาข้าว 32.5% ต่อเฮกตาร์ เท่ากับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากพลังงานไฟฟ้าจำนวน 1,111 วัตต์

ข้าวขาวไถหนานเบอร์ 20 เมื่อหุงสุก นุ่ม หอม อร่อย ไม่ติดฟัน

     ทั้งนี้ แหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของไต้หวันส่วนใหญ่อยู่ในเมืองหยุนหลิน เจียอี้ และนครไถหนาน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มักจะมีปัญหาขาดน้ำจนต้องหยุดการเพาะปลูก และเพื่อต้องการให้พื้นที่เหล่านี้ประหยัดใช้น้ำปลูกข้าว ไม่กี่ปีนี้ สถานีปรับปรุงพันธุ์พืชเขตไถหนานทดลองปลูกข้าวที่ประหยัดน้ำในสายพันธุ์ที่แตกต่างกันอย่างต่อเนื่อง ในจำนวนนี้คือข้าวไถหนานเบอร์ 20 ซึ่งเหมาะกับการปลูกในพื้นที่ที่มีความชื้นแห้ง ลดการใช้น้ำในการปลูกแต่ไม่ส่งผลต่อผลผลิต นอกจากนี้ สถานีปรับปรุงพันธุ์พืชยังผนวกใช้เทคโนโลยี IPM ซึ่งก็คือการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ถูกต้อง ถูกเวลา เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพพื้นที่ เน้นความปลอดภัย ลดปริมาณศัตรูพืช มาใช้กับการปลูกข้าวสายพันธุ์ไถหนานเบอร์ 20 หากเทียบกับการปลูกข้าวสายพันธุ์ไถหนานเบอร์ 11 ที่เป็นการเกษตรแบบเน้นผลตอบแทนสูงสุด จะลดการใช้ยาฆ่าแมลง 7.9% ลดต้นทุนยาฆ่าแมลง 9.4% ด้วย

ข้าวกล้องไถหนานเบอร์ 20 ไม่ต้องแช่ก่อนหุง หุงสุกยังคงนุ่ม หอม อร่อย

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง