:::

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 22 พ.ย.2565

  • 25 November, 2022
ที่นี่ไต้หวัน
หลินปิ่งหั่ว เกษตรกรตัวอย่าง ปลูกกระจับอนุรักษ์นกอีแจวฉายา “ราชินีนกน้ำ” ชนะอุปสรรคภาวะคอขวดด้านการผลิต(photo:newsmarket)

กระจับ(菱角) พืชผลการเกษตรที่มีความอร่อยและมีผลผลิตมากในช่วงฤดูใบไม้ร่วง แหล่งปลูกสำคัญครองสัดส่วนมากที่สุดอยู่ในเขตกวนเถียนของนครไถหนาน สถิติคณะกรรมการเกษตรการเกษตรปี 2021 ระบุ พื้นที่เพาะปลูกกระจับในนครไถหนานเท่ากับ 410.43 เฮกตาร์ ปริมาณการผลิต 4,760 ตันต่อปี นอกจากนี้ บึงที่ปลูกกระจับยังเป็นที่อาศัยที่สำคัญที่สุดของนกอีแจวฉายา “ราชินีนกน้ำ” ที่ใกล้สูญพันธุ์ ดังนั้น เขตอนุรักษ์นกอีแจวจึงตั้งอยู่ในเขตกวนเถียนของนครไถหนานด้วย

กระจับ 2 เขา(ซ้าย) กระจับ 4 เขา(ขวา)

ตั้งแต่ปี 2020 บึงอนุรักษ์นกอีแจวที่อยู่ร่วมกับการปลูกกระจับมีพืชน้ำลดลง ส่งผลให้นกอีแจวสร้างรังน้อยลง โชคดีต่อมา สถานีปรับปรุงพันธุ์พืชเขตไถหนานได้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ปรับปรุงสภาพดิน กำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน( IPM- Integrate Pest Management) โดยใช้บึงปลูกกระจับของเกษตรกรหลินปิ่งหั่วเป็นตัวอย่าง หวงรุ่ยจาง(黃瑞彰) ผู้ช่วยวิจัยสถานีปรับปรุงพันธุ์พืชเขตไถหนาน ได้สำรวจพื้นที่เขตอนุรักษ์นกอีแจวช่วงต้นปี 2021 พบว่า ดินปลูกกระจับมีธาตุเหล็กมากเกินไป หลังปรับปรุงกดด่างของดิน ส่งผลให้กระจับเจริญดี นกอีแจวได้กลับมาทำรังอีก จากการสำรวจปี 2020 บึงอนุรักษ์มีรังนกอีแจว 6 แห่ง แต่มีลูกนกแค่ 2 ตัว แต่ปีที่แล้ว นกอีแจวสร้างรังเพิ่มเป็น 12 รัง มีลูกนก 14 ตัว และในปีนี้ เพิ่มเป็น 18 รัง มีลูกนก 24 ตัว

นกอีแจวชอบทำรังบนใบกระจับที่เรียงหนาแน่น

กระจับที่ปลูกในไต้หวันมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ กระจับ 2 เขาที่ปลูกสลับกับการปลูกข้าว ก้านใบแดง ใบเรียงหนาแน่น จากช่วงออกดอกถึงช่วงเก็บเกี่ยว 45 วัน มักขายในท้องตลาดที่มีเปลือกติดไปด้วย เนื้อร่วนซุย อร่อย ขายได้ราคาดี จัดเป็นอาหารทานเล่นจำกัดฤดูกาล ส่วนกระจับอีกพันธุ์มี 4 เขา ก้านใบเขียว ใบเรียงหนาแน่น ช่วงออกดอกจนเก็บเกี่ยว 30 วัน รูปร่างไม่เป็นระเบียบ ขายสู่ท้องตลาดจึงมักจะปอกเปลือกขายเพื่อนำไปปรุงอาหาร และฤดูผสมพันธุ์นกอีแจวอยู่ในช่วงเดือน 4-5 มักใช้ใบกระจับสร้างรังกกไข่ และในช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่กระจับ 2 เขาเพิ่งเริ่มปลูก ใบกระจับไม่โตพอให้นกอีแจวทำรัง ส่วนกระจับ 4 เขา เติบโตช้า เก็บเกี่ยวในช่วงก่อนและหลังเทศกาลบ๊ะจ่าง เป็นช่วงที่นกอีแจวต้องการสร้างรัง

ใบกระจับใหญ่ เรียงรายหนาแน่น บ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของดิน

หลินปิ่งหั่ว ผู้ซึ่งคุ้นเคยกับการปลูกกระจับทั้ง 2 สายพันธุ์ และยังรู้ว่ากระจับ 4 เขามีรสชาติและราคาสู้กระจับ 2 เขาไม่ได้ แต่ยังเลือกปลูกกระจับ 4 เขา เพราะต้องการอนุรักษ์นกอีแจว แต่โชคดีที่รัฐบาลท้องถิ่นให้เงินอุดหนุนโครงการอนุรักษ์นกอีแจว จึงชดเชยรายได้ที่ลดลงได้ อย่างไรก็ตาม หลังมีประสบการณ์ปลูกกระจับที่อนุรักษ์นกอีกแจวจากคำแนะนำของสถานีปรับปรุงพันธุ์พืชจนได้ผลผลิตกระจับ 4 เขาเพิ่มขึ้นแล้ว ได้เชิญชวนเพื่อนเกษตรกร 7 ท่านเข้าร่วมโครงการ เพราะผลผลิตที่ได้ยังสามารถส่งขายให้กับซุปเปอร์มาร์เก็ต pxmart เพิ่มขึ้น ถือเป็นการยกระดับคุณภาพและการแปรรูป รวมทั้งยังอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนสืบต่อไป

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง