วันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการประชุมสมาชิกสมาพันธ์ผู้ผลิตมันเทศครั้งที่ 2 ที่นครไถหนาน นับเป็นการระดมความคิด แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น การผลิตร่วมกันที่เกี่ยวกับต้นกล้า การเพาะปลูก การแปรรูป ช่องทางการขาย เพื่อยกระดับธุรกิจการผลิตมันเทศของไต้หวัน โดยมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมกว่า 600 คน รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ภาครัฐ อาทิ กรมการเกษตรและอาหาร สถาบันวิจัยพัฒนาการเกษตร และสถานีปรับปรุงพันธุ์ ขณะเดียวกัน ยังได้จัดตั้งสมาคมพัฒนาอุตสาหกรรมมันเทศไต้หวัน(Taiwan Sweet Potato Industry Association:TSPA) เพื่อใช้เป็นองค์กรขยายตลาดต่างประเทศด้วย
การประชุมสมาชิกสมาพันธ์ผู้ผลิตมันเทศครั้งที่ 2 ที่นครไถหนาน
ไต้หวันมีการพัฒนาสายพันธุ์มันเทศอย่างไม่ขาดสายและปลูกเป็นล่ำเป็นสัน สถิติปี 2022 มีพื้นที่เพาะปลูกเท่ากับ 8,782.02 เฮกตาร์ โดย 85% อยู่ใน 5 เขตใหญ่ ได้แก่ เมืองหยุนหลิน จางฮั่ว นครไถหนาน นครไถจง และนครนิวไทเป ส่วนสายพันธุ์หลักที่ปลูกคือ ไถหนงเบอร์ 57 (เนื้อสีเหลือง) ไถหนงเบอร์ 66 (เนื้อสีแดง) และไถหนงเบอร์ 73 (เนื้อสีม่วง) ซูเจียอี้(蘇嘉益) ผู้ก่อตั้งบริษัทมันเทศแบรนด์อากันสู่ซู(阿甘薯叔Uncle sweet) บอกว่า เมืองหยุนหลินเป็นแหล่งปลูกมันเทศที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน เฉพาะที่ตำบลสุ่ยหลิน ถือว่าเป็นแหล่งปลูกอันดับ 1 เพราะมันเทศทุก 5 หัวที่ขายในตลาด จะมี 2 หัวที่มาจากตำบลสุ่ยหลิน นอกจากนี้ ยังมีฟาร์มกัวกัว(K.K.Orchard)ที่พื้นที่เพาะปลูกมันเทศพันธสัญญากว่า 1,000 เฮกตาร์
หวงหรงชิง(黃榮清) ประธานฝ่ายบริหารบริษัทมันเทศชิ่งฉวน(慶全地瓜)บอกว่า มันเทศที่ปลูกในไต้หวันส่วนใหญ่จะมีผลผลิตในช่วงฤดูใบไม้ร่วง แม้ว่าจะหลีกเลี่ยงปลูกในช่วงฤดูฝนหรือฤดูไต้ฝุ่น แต่ผลผลิตในฤดูกาลจะกระจุกรวมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้มันเทศคุณภาพดีที่สุดขายได้ราคาแย่ที่สุด ส่วนมันเทศคุณภาพแย่ที่สุดกลับขายได้ราคาดีที่สุด เพื่อแก้ปัญหาการปลูก ผู้ประกอบการได้นำเข้าเทคนิคการเก็บรักษามันเทศจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อยืดเวลาการเก็บรักษาให้นานถึง 10 เดือนที่สามารถครอบคลุมฤดูการปลูกพอดี และยังช่วยรักษาราคามันเทศในตลาดให้คงที่ เกษตรกรยินยอมปลูกเพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาขาดแคลนแรงงานที่รุนแรง จะมีการพัฒนาเครื่องจักรขนาดเล็กให้เกษตรกรใช้งาน
การแปรรูปมันเทศมีความหลากหลาย
สำหรับสมาพันธ์ผู้ผลิตมันเทศไต้หวันที่จัดตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปี 2020 ขณะนี้ก็ดำเนินการมาครบ 2 ปีแล้ว มีการครอบคลุมธุรกิจมันเทศระดับบน ระดับกลาง และระดับล่าง ซึ่งในพื้นที่เพาะปลูกมันเทศทั่วไต้หวันที่มีมากกว่า 8,700 เฮกตาร์โดยในจำนวนนี้ เป็นสมาชิกของสมาพันธ์ผู้ผลิตมันเทศครองสัดส่วนมากถึง 60- 70% ซึ่งธุรกิจการปลูกมันเทศไม่เหมือนกับพืชผลเกษตรอย่างอื่น ห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่การปลูก การแปรรูป จนถึงการขาย ล้วนมีการร่วมมือกัน และแข่งขันด้วยกัน แต่หลังจัดตั้งสมาคมพัฒนามันเทศแล้ว จะช่วยกันเจาะตลาดต่างประเทศ ร่วมกันทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้น และการจัดประชุมในครั้งนี้ยังได้เชิญกลุ่มธุรกิจที่ขายผลิตภัณฑ์มันเทศ ได้แก่ แมคโดนัลด์ กลุ่มธุรกิจต้าเฉิง รวมทั้งร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการขาย การบริโภคมันเทศด้วย